ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โอ้...อชันตา มิ่งมณีแห่งกาลเวลา  (อ่าน 1325 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
โอ้...อชันตา มิ่งมณีแห่งกาลเวลา
« เมื่อ: มีนาคม 09, 2014, 07:52:22 pm »
0


โอ้ อชันตา มิ่งมณีแห่งกาลเวลา
คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...เรื่อง / ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล

เคยนำท่านไปสัมผัสความมหัศจรรย์พันลึกของอินเดียที่ถ้ำเอลลอรา เมืองออรังกาบัดมาแล้ว มีคำถามว่า แล้วถ้ำอชันตา ไม่มีอะไรน่าชมหรือ ทั้งๆ ที่ใครๆ ต่างเรียกรวมกันมานานแล้วว่า “อชันตา - เอลลอรา: บรมคูหาอันวิจิตร” แหล่งโบราณคดีกลุ่มแรกๆ ของโลกที่องค์การยูเนสโกยกย่องเป็น “มรดกโลก” มาตั้งแต่ปี 2526

ซึ่งยามนั้นคนไทยยังไม่รู้จักคำว่า “มรดกโลก” กันเลย เพราะประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (State Party of the World Heritage Convention) ในปี 2530 และกว่าอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากับสุโขทัย จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมรุ่นแรกของไทย ก็ในปี 2534

 

จุดสำคัญที่ทำให้ “อชันตา-เอลลอรา” ทรงคุณค่าในระดับมรดกโลก คือเป็นผลงานการสร้างสรรค์ประติมากรรมตามคติความเชื่อทางศาสนา ที่งดงาม อลังการ และเก่าแก่ แต่ยังได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดี ทั้งสองแหล่งนี้ มีจำนวนถ้ำหรือคูหาพอๆ กัน คือราว 30 คูหา ส่วนใหญ่มีสถานะเป็นโบสถ์ วิหาร เจดีย์ และกุฏิพระในศาสนาพุทธ รองลงมาเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู และส่วนน้อยเป็นโบสถ์ วิหารในศาสนาเชน

แต่ที่ “เอลลอรา” มีจุดเด่นสุดที่คูหาหมายเลข 16 ซึ่งช่างโบราณใช้วิธีขุด เจาะ ตัดแต่ง สลักเสลาภูเขาหินทั้งลูก เพื่อนิรมิตเป็นวิมานไกรลาส เทวสถานที่ประทับของพระศิวะมหาเทพ สูงใหญ่ขนาดตึก 13 ชั้นได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อราว 1,200-1,500 ปี อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้ว

 
 :49: :49: :49:

อชันตา ก็มีถ้ำเรียงรายไปตามแนวเขาสหยาทรี นับได้ 30 คูหา แม้ไม่มีคูหาใดใหญ่โตและโดดเด่นเท่าถ้ำวิมานไกรลาสของเอลลอรา แต่ที่น่าตื่นเต้นชวนตะลึง คือเขาค้นพบหลักฐานว่าบางคูหาของกลุ่มถ้ำอชันตา สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 4 หรือราว พ.ศ.300 กว่า นั่นหมายถึงเก่าแก่เกินกว่า 2,200 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ชาวพุทธยังไม่มีธรรมเนียมสร้างพระพุทธรูป เป็นรูปเคารพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแต่การวาด ปั้น หรือแกะสลักรูปสัญลักษณ์ อาทิ ธรรมจักร กวางหมอบ รอยพระพุทธบาท ฯลฯ (พระพุทธรูปองค์แรกของโลกสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 7-8)

โดยมีราชวงศ์ที่อุปถัมภ์ค้ำจุน หรือเป็นสปอนเซอร์หนุนหลังให้ช่างขุดเจาะตัดแต่งภูเขาหิน เพื่อรังสรรค์งานศิลป์ล้ำเลอค่า คือราชวงศ์เมารยะ และสตวาหนะ โดยเฉพาะราชวงศ์แรก เป็นที่ทราบกันดีว่าในยุคนั้นมีจอมจักรพรรดิราช และธรรมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ คือพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง

 
 
     “กาลเวลา” เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาคุณค่าของสิ่งของและสถานที่ เหตุนี้เอง การจัดอันดับ “7 สิ่งมหัศจรรย์ในโลกยุคใหม่” (New Seven Wonders) จึงไม่น่าเชื่อถือและกลายเป็นเรื่องตลกในวงการโบราณคดี เพราะยกย่องรูปปั้นบนภูเขาในบราซิล อายุไม่เกิน 50 ปี เทียบเท่าทัชมาฮัล อายุร่วม 400 ปี และกำแพงเมืองจีน ที่เก่าแก่นับ 4,000 ปี แถมไม่มีปราสาทนครวัดในกัมพูชา และมหาพีระมิดแห่งกีซ่าของอียิปต์ รวมอยู่ด้วย ด้วยข้ออ้างว่านครวัดนั้นแพ้คะแนนโหวตที่ให้ชาวโลกโหวตออนไลน์เข้าไป?
 
ฉันใดก็ฉันนั้น กลุ่มถ้ำอชันตา แม้ไม่หวือหวาฮือฮาเท่ากลุ่มถ้ำเอลลอรา ทว่าดูจากอายุอานามแล้วเหลือเชื่อจริงๆ ที่เมื่อราว 2,000-3,000 ปีก่อน บางเผ่าพันธุ์มนุษย์เพิ่งเริ่มจักการทำนาปลูกข้าว แต่ที่ชมพูทวีปเจาะภูเขาหินสร้างงานศิลป์อันอลังการกันแล้ว

 
 :s_hi: :s_hi: :s_hi:

โดย 30 คูหาที่อชันตา เป็นถ้ำพุทธล้วนๆ แบ่งเป็นยุคแรก พุทธศตวรรษที่ 4-8 เป็นถ้ำพุทธนิกายเถรวาท รูปลักษณ์ถ้ำจะเรียบง่าย ไม่มีพระพุทธรูป มีแต่รูปสัญลักษณ์แทนดังกล่าวมาแล้ว แต่น่าตื่นตะลึงในความเก่าแก่ และเป็นหลักฐานว่าพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาผู้เบิกนำทาง ในการสร้างงานศิลปะถ้ำล้ำเลอค่าจากแรงศรัทธาอันสูงส่ง ก่อนจะถึงยุคถ้ำในศาสนาพุทธนิกายมหายาน ราวพุทธศตวรรษที่ 8-12 ด้วยแรงหนุนจากราชวงศ์วัคตคะ อันถือเป็น “ยุคทองของศิลปะอินเดีย”

เพราะมีทั้งพระพุทธรูป และรูปเคารพพระโพธิสัตว์มากมายหลายองค์ตามคติมหายาน ได้แก่ พระอวโลกิเตศวร พระวัชรปาณี พระปัทมปาณี ฯลฯ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันวิลิศมาหรา เล่าเรื่องทศชาติชาดก อาทิ พระเตมีย์ใบ้ พระมหาชนก ฯลฯ ซึ่งแม้จะผ่านกาลเวลามานานกว่าสหัสวรรษ แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังในหลายถ้ำ ยังงดงามด้วยสีสันและลายเส้นวิจิตรตาเกินบรรยาย



ครั้นเมื่อพุทธศาสนาแบบมหายานแพร่กระจายไปยังดินแดนอื่น พุทธศิลป์ที่อชันตาก็ส่งอิทธิพลไปทางเหนือถึงอัฟกานิสถาน ทางใต้ถึงศรีลังกา และทางตะวันออกถึงลุ่มน้ำหวงเหอ-แยงซี บนแผ่นดินจีนอันไพศาล ดังปรากฏถ้ำพุทธศิลป์บนเส้นทางสายแพรไหมที่เมืองตุนหวง มณฑลกานซู ซึ่งภายหลังได้รับการยกย่องเป็น “มรดกโลก” เช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้ศาสนาอื่นโดยเฉพาะฮินดู มิอาจอยู่นิ่งได้ ต้องลุกขึ้นมารังสรรค์งานศิลป์แบบอลังการงานสร้าง คือถ้ำวิมานไกรลาสที่เอลลอราดังกล่าวมาแล้ว ก่อนที่พุทธศาสนาในชมพูทวีปจะล่มสลาย เมื่อพัฒนาแนวคิดและคำสอนไปไกลถึงขั้นเกิดนิกาย “วัชรยานตันตระ” ราวพุทธศตวรรษที่ 16 หลังจากนั้น กาลเวลาก็กลืนกิน “อชันตา” จนเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน

 
 :88: :88: :88:

จนกระทั่งถึงยุคอาณานิคม เกิดมีนายทหารอังกฤษ นามว่ากัปตันจอห์น สมิธ บุกป่าไปล่าสัตว์บริเวณโตรกแม่น้ำวาโกเร ในปี 2362 แล้วพบโดยบังเอิญว่าเบื้องหลังป่าอันรกชัฏตรงคุ้งโค้งรูปเกือกม้าของสายธารวาโกเร คือกลุ่มถ้ำพุทธศิลป์อันประเมินค่าบ่มิได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูบูรณะให้กลับมาทรงคุณค่าตราบจนปัจจุบัน
 
งานนี้ไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า “กาลเวลา” เป็นทั้งผู้สร้างสรรค์ กลืนกิน ค้นพบ และขัดเกลา “อชันตา” ให้สุกสกาววาวแวว ควรค่าแก่การได้ไปประจักษ์ตา สักครั้งหนึ่งเถิดหนา...ในชีวิตนี้

 
ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140309/180390.html#.UxxiI849S4l
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ