ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บุญประเพณีหกเป็ง งานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน  (อ่าน 2533 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29347
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


บุญประเพณีหกเป็ง งานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

“ใครมาเยือนแล้วไม่ได้มานมัสการพระธาตุแช่แห้ง ก็เหมือนไม่ได้มาเมืองน่าน”


ไม่เป็นคำพูดที่เกินความจริงเลย ด้วยเหตุผลว่า พระธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานสำคัญ ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน มานานกว่า ๖๐๐ ปี

พระธาตุแช่แห้งในปัจจุบันตั้งอยู่วัดพระธาตุแช่แห้ง ทางทิศตะวันออกของเมืองน่าน องค์พระธาตุเป็นสถูปแบบพื้นเมือง เดิมเป็นสถูปทรงลังกา แต่ได้หักพังและมีการปฏิสังขรณ์สืบกันมาหลายครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่างฝีมือและคตินิยมของแต่ละยุคสมัย

รูปแบบของเจดีย์ยังคงได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย หากมีการต่อเติมแก้ลายบางส่วนจากอิทธิพลศิลปะพม่า เช่น ฐานหน้ากระดานกลม แก้เป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยมตกแต่งเป็นลายกลีบบัวแทน



ตำนานและประวัติศาสตร์การสร้างพระธาตุแช่แห้ง มีหลากหลายซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของเมืองน่านมาตั้งแต่อดีต ในพงศาวดารเมืองน่าน เล่าว่า ในสมัยเจ้าพระยาการเมืองครองเมืองน่านอยู่ ก็ได้มีพระยาโสปัตตกันทิ เจ้าเมืองสุโขทัยได้มาเชิญพระยาการเมืองไปสร้างวัดหลวงอุทัยถึงสุโขทัย ซึ่งพระยาการเมืองก็ไปช่วย จนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความดีความชอบที่พระยาการเมืองได้ช่วยพระยาโสปัตกันทิ สร้างวัดหลวงอุทัย ทำให้พระยาโสปัตกันทิ มีความชื่นชอบพระยาการเมืองเป็นอันมาก ก่อนจะกลับเมืองน่าน ก็ได้มอบพระธาตุเจ้า ๗ องค์ เพื่อตอบแทนที่พระยาการเมืองได้มาสร้างคุณงามความดีให้แก่สุโขทัย
 
ในขณะที่พงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออกที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่าต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง

 
 :96: :96: :96:

ทุกๆ ปีจะมีงานนมัสการพระธาตุแช่แห้งในราวขึ้น ๑๑ ค่ำ-๑๕ เดือน (เดือน ๖ เหนือ) หากจะนับจันทรคติก็อยู่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือประมาณเดือนมีนาคมทุกปี หรือที่เรียกว่า "งานประเพณีหกเป็ง" ซึ่งเป็นงานที่สำคัญที่คนเมืองน่านจะไปปฏิบัติไหว้สา นมัสการองค์พระธาตุ ซึ่งจะมีพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม การปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาว การสวดมนต์เทศมหาชาติ รวมถึงการละเล่นทางวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมานาน เช่น การแข่งขันประกวดการตี “กลองแอว” การจ๊อย การซอ การอ่านค่าว เป็นต้น



งานประเพณีหกเป็ง หรืองานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ของคนน่าน ในปี ๒๕๕๗ นี้จะมีการแห่ผ้าทิพย์ห่มพระธาตุในวันศุกร์ที่ ๑๔ มีนาคม ๑๕.๐๐ น.ทำพิธีแห่ผ้าจากด้านหน้าวัดตรงลานโพธิ์เข้ามายังลานพระธาตุแล้วทำพิธีอธิษฐานผ้าจนเสร็จแล้วนำผ้าขึ้นห่ม เป็นอันเสร็จพิธี โดยในวันดังกล่าวพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวจะแห่แหนกันมาทำบุญ นมัสการองค์พระธาตุแช่แห้งกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์พระธาตุแช่แห้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ ตามคติการไหว้พระธาตุตามปีนักกษัตรของชาวล้านนา

คนเมืองน่านและจังหวัดน่านได้ยกให้งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ และถือเป็นปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดน่านที่สำคัญอีกงานหนึ่งด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากแรงศรัทาของพุทธบริษัทและพุทธศาสนิกชนชาวน่านทั้งมวล อันถือเป็นมหากุศลยิ่งใหญ่และวันนี้... องค์พระธาตุแช่แห้ง ได้ตั้งตระหง่านอยู่บนดอยภูเพียงแช่แห้ง แลดูเหลืองอร่ามตั้งแต่ยอดถึงฐาน คู่บ้านคู่เมืองของเมืองน่านสืบต่อไปอยู่ตราบนานเท่านานตลอดไป


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140314/180804.html#.UyMNy849S4l
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ