ปั่นรถถีบ แอ่ว “เมืองน่าน” ยลวัดงาม สัมผัสวีถีชาวบ้าน ม่วนอ๊กม่วนใจ๋
มาแอ่วจ. น่าน เที่ยวแบบสนุกสนานได้โดยการปั่นจักรยาน
“ไปปั่นจักรยาน เที่ยวเมืองน่านกันมั้ยครับ….”
เสียงทักทายสั้นๆ ส่งมาทางปลายสายจากพี่ที่รู้จัก ซึ่งทำงานอยู่ที่สายการบินนกแอร์ โทรศัพท์มาหา “ตะลอนเที่ยว” พร้อมกับเอ่ยประโยคนี้เป็นการทักทายแบบเชิญชวน
แค่ได้ยินว่าไปปั่นจักรยาน ไปเที่ยวจ.น่าน เราก็รีบตอบกลับคำชวนนั้นทันทีแบบไม่คิดอะไรเลย เพราะด้วยความที่เรามีใจรักในจ.น่าน และหลงใหลในเมืองน่าน ที่แม้ว่าจะเป็นเพียงเมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ของภาคเหนือ แต่ว่ากลับเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์อยู่ในตัวเป็นอย่างมาก
เพราะเมืองน่านมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ มีวัดวาอารามสวยๆ มีความน่ารักในเรื่องของวีถีชีวิตของคนน่าน ที่มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ไม่วุ่นวาย ดูไม่รีบร้อน และมีมิตรไมตรีกับนักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยือนอย่างใจจริงจักรยานโบราณมากมาย มีให้ชมที่เฮือนรถถีบ
ทำให้ในทริปนี้หลังจากตบปากรับคำชวนแล้ว เรารีบเก็บกระเป๋าแล้วออกเดินทางมาพร้อมกับสายการบินนกแอร์ บินตรงจากกรุงเทพฯ มาสู่จ. น่านทันที และพร้อมที่จะแอ่วเมืองน่าน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วยการปั่นจักรยานไปกับทริป “อิ่มเอมใจ ปั่นในน่าน” ที่ทางสายการบินนกแอร์จัดขึ้น โดยจะพาไปสัมผัสเมืองน่าน ชมวีถีชีวิตชาวน่าน และชมวัดวาอารามอันโดดเด่นและสวยงามมากมาย
เมื่อมาถึง จ. น่าน แล้วเรายังไม่ได้ไปออกกำลังขากับการปั่นจักรยานกันทันที แต่ได้ไปกระตุ้นต่อมอารมณ์ความอยากปั่นรถถีบให้มากขึ้นสักนิดก่อน ด้วยการเดินทางไปชมจักรยานโบราณสวยๆ ที่หาชมได้ยากที่ “เฮือนรถถีบ” ตั้งอยู่ที่ อ. เวียงสา ที่นี่เป็นสถานที่เก็บสะสมจักรยานส่วนบุคลคลของ คุณสุพจน์ เต็งไตรรัตน์ ที่แม้ว่าจะไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนเข้ามาชมได้ตลอดเวลา แต่ถ้าใครชื่นชอบจักรยานเป็นชีวิตจิตใจก็สามารถติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้าได้ที่โทร. 0-5478-1359
ทางเฮือนรถถีบก็จะยินดีเปิดให้เข้าไปชมจักรยานที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจักรยานโบราณที่มีคุณค่าและยังสามารถใช้งานได้จริง เรียกได้ว่าที่นี่จัดว่าเป็นสวรรค์ของคนรักจักรยานโบราณก็ว่าได้ เพราะว่ามีจักรยานโบราณล้ำค่าเป็นร้อยๆ คัน ถูกจัดแสดงไว้อย่างเป็นระเบียบ มีจักรยานโบราณที่ผลิตจากประเทศโซนยุโรป หลายยี่ห้อ หลายรุ่น มีแต่จักรยานสวยๆ เก๋ๆ ให้ได้เดินชมกันอย่างใกล้ชิด จับได้ แตะได้ (แต่ห้ามถีบนะจ๊ะ)
พระประธานจตุรทิศ ที่วัดภูมินทร์
เอาล่ะหลังจากได้เดินชมจักรยานโบราณสวยๆ จนต่อมความอยากปั่นจักรยานตื่นตัวกันมากแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะออกตะลอนทัวร์เมืองน่าน ด้วยแรงสองขาน้อยๆ กับการปั่นรถถีบแอ่วเมืองน่านกันเสียที ซึ่งที่เมืองน่านแห่งนี้ ก็ช่างเหมาะแก่การปั่นจักรยานเที่ยวเสียจริง เพราะว่ามีเลนสำหรับการปั่นจักรยานไว้ให้ด้วย ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถปั่นรถถีบเที่ยวเมืองน่านได้อย่างสบาย และค่อนข้างจะปลอดภัยพอสมควร
เรานัดรวมพลคนปั่นจักรยานกันที่ข่วงเมือง ซึ่งเป็นลานกว้างใจกลางเมืองน่าน เป็นลานสาธารณะ ลานแห่งวัฒนธรรมที่อยู่ด้านหน้าวัดภูมินทร์ คนน่านนิยมมาใช้ลานข่วงเมืองนี้เป็นสถานที่นั่งเล่น ออกกำลังกาย หรือนัดพบปะพูดคุยกันภาพจิตกรรม ปู่ม่าน ย่าม่าน ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
เมื่อทั้งคนและจักรยานพร้อม สองล้อของจักรยานก็เริ่มหมุนเคลื่อนตัว แต่ก่อนที่จะออกแรงปั่นไปไหนไกล เราก็ขอปั่นไปใกล้ๆ ด้วยการแวะเข้าไปชม “วัดภูมินทร์” ที่ตั้งอยู่บนถ.ผากลอง กันก่อน ที่นี่เป็นวัดเก่าแก่สำคัญคู่เมืองน่านมานานกว่า 400 ปี ถ้าใครมาจ. น่านแล้วไม่มาที่วัดภูมินทร์ก็เหมือนมาไม่ถึงจ.น่าน
“วัดภูมินทร์” เป็นวัดที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัวที่ช่างโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างดงาม เมื่อเดินเข้ามาภายในพระอุโบสถ บริเวณใจกลางพระอุโบสถ จะพบกับความงดงามของ “พระประธานจตุรทิศ” เป็นพระประธานปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน(หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 ถือว่าเป็นพระประธาน ที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่ว่าจะมองจะทิศไหนก็จะสัมผัสได้ถึงความขรึมขลังขององค์พระ อันน่าเลื่อมใส เราก็ไม่ลืมที่จะขอพรจากองค์พระท่านด้วย
และอีกหนึ่งสิ่งที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ เมื่อเข้ามายังพระอุโบสถแล้วก็ต้องไม่พลาดที่จะต้องเดินชมภาพจิตกรรมฝาผนังที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะภาพของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพกระซิบรักบันลือโลก อันมีชื่อเสียงโด่งดังใครมาก็ต้องมาชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันทั้งนั้น
วัดศรีพันต้น งดงามด้วยโบสถ์สีทองอร่ามตา
เอาล่ะหลังจากได้ไหว้พระขอพรที่วัดภูมินทร์กันเสร็จสิ้นแล้ว วงล้อจักรยานก็ได้เวลาเคลื่อนตัวออกเดินทาง โดยเราปั่นมากันยังวัดต่อไป คือที่ “วัดศรีพันต้น” ที่อยู่บริเวณแยกศรีพันต้น ถ.เจ้าฟ้า เมื่อมาถึงวัดนี้ก็ต้องตะลึงกับความยิ่งใหญ่ดูอลังการของโบสถ์ ที่ถูกทาสีเหลืองทองอร่ามจับตา งดงามโดดเด่นด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรตระการตาที่ประดับประดาอยู่ตามหน้าบัน และมีบันไดนาค 7 เศียรที่แกะสลักไว้ได้อย่างงดงามอลังการ และด้านในโบสถ์โดนเด่นด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียวเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองน่านให้ได้ชมและได้ความรู้ไปในตัว และมีประประทานที่งดงามให้ได้กราบขอพรพระมหากัจจายนะ ที่วัดศรีพันต้น
และเมื่อเดินออกมาจากโบสถ์ ด้านนอกยังมีวิหารพระมหากัจจายนะ ซึ่งมีพระมหากัจจายนะประดิษฐานอยู่ให้ได้กราบสักการะ อีกทั้งด้านหน้าวัดยังเป็นสถานที่เก็บเรือแข่ง “เลิศเกียรติศักดิ์” (พญามึ) ซึ่งเป็นเรือแข่งหัวนาคลำงาม ถูกตั้งแสดงไว้ พร้อมกับมีถ้วยรางวัลที่ได้จากการแข่งเรือตั้งโชว์ไว้ให้ได้ชมกันด้วยปั่นจักรยานชมกำแพงเมืองน่าน
ออกจากวัดศรีพันต้น เราออกแรงปั่นรถถีบมาเที่ยวกันต่อ โดยมาชม “กำแพงเมืองน่าน” เป็นกำแพงเก่าแก่คู่เมืองน่านมาแต่อดีตกาล ที่ยังคงหลงเหลือซากของกำแพงโบราณที่มีความแข็งแกร่งและมั่นคงที่ดูสมบูรณ์ที่สุดให้ได้เห็นกันเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเราสามารถนำจักรยานเข้าไปปั่นชมกำแพงได้เลย เพราะมีเส้นทางเล็กๆ อันร่มรื่นให้ได้ปั่นไปตามแนวกำแพงโบราณ ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นกำแพงก่ออิฐทั้งอิฐสี่เหลี่ยมและอิฐบัว แนวกำแพงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านยาวทอดไปตามลำน้ำน่าน มีเชิงเทินทอดยาวไปตลอดตามความยาวของแนวกำแพง เหนือเชิงเทินประดับด้วยกำแพงใบเสมาคาดด้วยเส้นลวด 2 ชั้น เหนือแนวกำแพงเป็นรูปใบเสมารูปสี่เหลี่ยมตัดมุมบน ตรงมุมกำแพงทั้ง 4 ด้าน ก่อเป็นป้อมพระเจ้าทองทิพย์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดสวนตาล
“ตะลอนเที่ยว” ได้ปั่นจักรยานชมกำแพงเมืองน่านไปตามเส้นทางเรื่อยๆ จนสุดแนวกำแพง แล้วเราก็ปั่นมุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไป คือที่ “วัดสวนตาล” ตั้งอยู่ที่ถ.มหายศ ที่นี่เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของเมืองน่าน มีอายุกว่า 600 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระนางปทุมมาวดีชายาของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน
พอเราปั่นจักรยานเข้ามายังเขตวัดด้านใน ก็ต้องสะดุดตากับ “บ่อน้ำทิพย์” ที่ตั้งเด่นอยู่ตรงกลางลานหน้าวัด เชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทางราชการเมืองน่านจะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำทิพย์นี้ไปใช้ในงานพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย
เราจอดรถจักรยานไว้ที่ลานหน้าวัด แล้วก็เดินเข้าไปยังวิหารวัดสวนตาล เพื่อเข้าไปกราบขอพร “พระเจ้าทองทิพย์” เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน สร้างโดยพญาติโลกราช เจ้านครพิงค์เชียงใหม่ และถือว่าเป็นพระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัยสมาธิราบองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนา ที่มีพุทธลักษณะสง่างามเป็นอย่างมาก ซึ่งเราก็ได้ร่วมทำบุญและกราบขอพรจากองค์พระท่านให้กับตัวเองด้วยภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิดมีของโบราณให้ชมมากมาย
จากนั้นก็ได้เวลาปั่นรถถีบไปยังที่เที่ยวต่อไป เราปั่นจากถ.มหายศ มาที่ถ.ราษฎร์อำนวย เพื่อมายัง “วัดพระเกิด” เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของเมืองน่าน สร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2370 ได้รับประราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปีพ.ศ.2381 วัดแห่งนี้เป็นวัดไม่ใหญ่นัก แต่มีของดีซ่อนอยู่ คือ บริเวณวัดมี "พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด" เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความเห็นร่วมกันของชาวชุมชนบ้านพระเกิด ให้ปรับปรุงกุฏิ "ครูบาอินผ่อง วิสารโท" อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเกิด ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัตถุภายในวัดอันล้ำค่า ให้คงอยู่และเป็นที่ศึกษาหาความรู้ของคนรุ่นหลังตุงก้าคิง เป็นตุงที่มีความยาวเท่าตัวคน ทำขึ้นเพื่อใช้สะเดาะเคราะห์
เมื่อเดินขึ้นไปยังตัวพิพิธภัณฑ์ฯ ที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 จะพบการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของวัดและชุมชุน ซึ่งถูกจัดแสดงไว้อย่างเป็นระเบียบชวนชม อาทิ หีบพระธรรมโบราณลงรักปิดทอง พระพุทธรูปโบราณ ตู้เก็บ "ตั๋วเมือง" หรือคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา การจำลองเครื่องสืบชะตาล้านนาให้ได้ชม มีตาลปัตรเก่า บานประตูไม้แกะสลัก เครื่องจักรสาน และข้าวของเครื่องใช้โบราณอื่นๆ อีกมากมาย
และมีอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ หากได้มาที่วัดพระเกิด จะได้เห็นชาวบ้านทำ “ตุงก้าคิง” เป็นตุงชนิดหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ตรงที่ เป็นสัญลักษณ์แทนบุคคลที่ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีสืบชะตาหลวงตามความเชื่อของชาวล้านนา โดยตุงก้าคิงนี้จะมีรูปแบบคล้ายกับตัวคน มีหน้า มีตา และตัวตุงจะมีความสูงเท่ากับตัวเจ้าของตุงเอง บนตัวตุงจะมีสัญลักษณ์ปีนักษัตรของเจ้าของติดอยู่บนตุงด้วย แล้วก็จะนำตุงนี้ไปทำพิธีสืบชะตาหลวง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เสริมบารมี ให้มีโชคมีลาภบรรยากาศภายในโฮงเจ้าฟองคำ
“ตะลอนเที่ยว” ใช้เวลาอยู่ที่วัดพระเกิดสักพักใหญ่ และถือโอกาสได้พักขาจากการปั่นจักรยานมานานให้หายเหนื่อยกันสักหน่อย ก่อนที่เราจะได้ออกแรงขาปั่นรถถีบกันต่อ โดยปั่นไปทางด้านหลังวัดพระเกิดไม่ไกลมากนัก ก็พบกับ “โฮงเจ้าฟองคำ” (โฮง หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย ชาวน่านจะเรียกบ้านหลังใหญ่ว่า โฮง ไม่เรียกว่า คุ้ม เหมือนชาวเชียงใหม่) โฮงเจ้าฟองคำ แห่งนี้จัดว่าเป็นหนึ่งในเรือนเก่าแก่ที่สวยงามของเมืองน่าน ที่ยังคงได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี และเปิดจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ได้เข้าไปชมกันฟรีๆการสาธิตการทอผ้าที่โฮงเจ้าฟองคำ
เมื่อได้ขึ้นไปชมโฮงเจ้าฟองคำจะได้สัมผัสกับเรือนไม้สักโบราณที่ทรงคุณค่า มีความสวยงามและน่าอยู่มาก ภายในเรือนจัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม มีห้องรับแขก ห้องพระ ห้องนอน ห้องครัว และมีการจัดแสดงของโบราณล้ำค่า อาทิ เงินตราที่เคยใช้ในสมัยก่อน เครื่องเงินโบราณ และส่วนด้านล่างของเรือนที่เป็นใต้ทุนสูง มีการโชว์การทอผ้าพื้นเมืองให้ได้ชม หากนักท่องเที่ยวสนใจก็สามารถลองทอผ้าได้ หรือจะเลือกซื้อผ้าสวยๆ ที่มีจำหน่ายติดไม้ติดมือกลับไปก็ได้ชมการเผาข้าวหลามที่ชุมชนบ้านสวนตาล
หลังจากที่ได้เดินชมโฮมเจ้าฟองคำกันจนทั่วแล้ว เราก็ออกแรงปั่นรถถีบกันอีกครั้ง โดยปั่นมายัง "ชุมชนบ้านสวนตาล" ที่นี่เป็นชุมชนที่มีการเผาข้าวหลาม ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของเมืองน่าน เมื่อมาถึงก็จะได้เห็นชาวบ้านกำลังนั่งเผาข้าวหลามกันอยู่ส่งกลิ่นหอมเชียว ถ้าสนใจก็สามารถซื้อข้าวหลามและให้ชาวบ้านปอกให้กินกันได้เลย ซึ่งข้าวหลามของที่นี่มีความอร่อยหอม หวานมันกำลังดี มีข้าวหลามหลากหลายไส้ให้เลือกลิ้มรส อาทิ ไส้สังขยา ไส้ถั่วดำ ไส้เผือก เราได้ทั้งชิมข้าวหลามที่เผาร้อนๆ แบบสดๆ และก็ได้ซื้อข้าวหลามติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนทางบ้านด้วยการทำข้าวแต๋นที่บ้านดอนศรีเสริม
ได้ชิมข้าวหลามอร่อยๆ กันจนแทบจะอิ่มท้อง และเหมือนได้เติมพลังให้มีแรงปั่นจักรยานต่อ คราวนี้เราปั่นมุ่งหน้ามากันที่ "ชุมชนบ้านดอนศรีเสริม" มาสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีการทำข้าวแต๋น ซึ่งเป็นขนมของฝากอีกชนิดหนึ่งที่ชวนลองลิ้ม ข้าวแต๋นของที่นี่จะทำแบบสดใหม่ มีหลายหน้าให้เลือกกิน อาทิ หน้าไก (เป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง) หน้างาขาว ได้ชิมแล้วอร่อยถูกปากดี ข้าวแต๋นชิ้นเล็กเคี้ยวพอดีคำ เนื้อแน่น กรอบกรุบหอมหวานอร่อยดี เรียกว่าได้ชิมจนติดใจ เลยต้องขอซื้อข้าวแต๋นกลับบ้านไปหลายถุงกันเลยทีเดียว
วัดหัวเวียงใต้ มีพระประทานปูนปั้นศิลปะแบบพม่า
เอาล่ะเดี๋ยวจะอิ่มมากเกินไปจนหนักพุง เรารีบขึ้นรถจักรยานกันดีกว่า พร้อมกับออกแรงปั่นออกจากบ้านดอนศรีเสริม เพื่อไปปิดทริปการปั่นจักรยานในครั้งนี้กันที่ “วัดหัวเวียงใต้” ตั้งอยู่ที่ถ. สุมนเทวราช เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่เมืองน่านมานานกว่า 273 ปี มีความโดดเด่นอยู่ที่ ภายในวัดมีพระประทานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบพม่าที่งดงามและหาชมได้ยากยิ่งแล้วในเมืองน่านให้ได้กราบสักการะขอพร และที่กำแพงวัดก็ยังมีรูปพญานาค 2 ตัว เลื้อยอยู่บนกำแพงซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 160 ปี
แม้ว่าการปั่นจักรยานแอ่วเมืองน่าน ของเราจะปิดฉากลงแต่เพียงเท่านี้ แต่ที่เมืองน่านแห่งนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย มีวัดต่างๆ พิพิธภัณฑ์ และชุมชนอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบให้ได้เดินทางไปสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ขอแค่เพียงอยากให้นักท่องเที่ยวทุกคนมาแอ่วเมืองน่านแบบร่วมใจอนุรักษ์ ทำให้ “น่าน” ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเล็กๆ อันเงียบสงบและน่ารักอย่างนี้ต่อไปตราบนานเท่านาน ที่ไม่ว่าจะกลับมาเยือน “น่าน” กี่ครั้งก็จะได้รับแต่ความม่วนอ๊กม่วนใจ๋กลับไปเน้อขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000030739