ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เอเลแฟนตา : ทิพยจินดากลางวารี  (อ่าน 1676 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
เอเลแฟนตา : ทิพยจินดากลางวารี
« เมื่อ: เมษายน 20, 2014, 10:30:06 am »
0


เอเลแฟนตา : ทิพยจินดากลางวารี

ท่องไปกับใจตน : เอเลแฟนตา ทิพยจินดากลางวารี
โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล teeraparb108smile@gmail.com

จาก “อชันตา” มุกมณีแห่งกาลเวลา สู่ “เอลลอรา” บรมคูหาอันวิจิตร วันนี้ผมอยากนำท่านไปสัมผัสมหัศจรรย์ถ้ำแห่งศรัทธาในอินเดียอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งวิจิตรพิสดารไม่ด้อยไปกว่าสองถ้ำนั้นเลย การเดินทางไปก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะโดยปกติ ผู้ไปเยือนอชันตา เอลลอรา ต้องบินไปลงที่มุมไบ เมืองเอกของรัฐมหาราษฏระ และเมืองท่าสำคัญทางตะวันตกของอินเดีย จากนั้นต้องต่อเครื่องบินในประเทศ จากมุมไบไปเมืองออรังกาบัด แล้วต้องนั่งรถอีกหลายชั่วโมงกว่าจะถึง แต่ “เอเลแฟนตา” เป็นถ้ำบนเกาะเล็กๆ ไม่ไกลจากชายฝั่งเมืองมุมไบ นั่งเรือไปเพลินๆ ไม่เกินชั่วโมงก็ถึงแล้ว
 
“เอเลแฟนตา” เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่าช้าง ชื่อนี้ปรากฏขึ้นในราว 500 ปี ช่วงที่เจ้าอาณานิคมโปรตุเกสเดินเรือมายึดครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกของชมพูทวีป ทหารโปรตุเกสเห็นมีหินแกะสลักเป็นรูปช้างตั้งอยู่โดดเด่น จึงเรียก “เกาะช้าง” นานวันเข้า ชื่อเดิมว่า เกาะฆรบุรี ก็ค่อย ๆ เลือนไป

 

เกาะนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ด้วยมีงานประติมากรรมอันอลังการประดับอยู่ในถ้ำถึง 7 ถ้ำ โดยเฉพาะถ้ำประธาน มีภาพแกะสลักหินเล่าเรื่องพระอิศวร หรือพระศิวะมหาเทพ 8 ภาพใหญ่ อยู่รายรอบแท่นประทับองค์ศิวลึงค์ - รูปเคารพแทนองค์พระศิวะ จนกล่าวได้ว่า นี่คือสถานที่ซึ่งถูกเนรมิตให้เป็นทิพยวิมานของพระศิวะมหาเทพบนโลกมนุษย์ ตามแรงศรัทธาของกษัตริย์ผู้ทรงเลื่อมใสในศาสนาฮินดู เมื่อราว 1,300 ปีก่อน ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ไตรกุฏกะ ผู้ครอบครองชุมทางการค้าแห่งที่ราบสูงเดคคาน ตรงรอยต่อระหว่างอินเดียเหนือกับอินเดียใต้
 
ความมั่งคั่งในสมัยนั้น ส่วนหนึ่งถูกนำมาบำรุงบำเรอเทพเจ้าที่กษัตริย์นับถือ ด้วยวิธีการเฉกเช่นเดียวกับที่อชันตาและเอลลอรา คือ การขุดเจาะภูเขาหินทั้งลูกให้เป็นถ้ำหรือคูหา แล้วแกะสลักโดยออกแบบให้เป็นโบสถ์ วิหาร หรือวิมานของเทพเจ้า ซึ่งเป็นงานที่ต้องยอมรับว่ายากกว่าการตัดหิน แล้วนำขึ้นไปก่อเรียงเป็นปราสาทเสียอีก

 

ความแตกต่างของเอเลแฟนตา คือ เป็นถ้ำในศาสนาฮินดูล้วน ไม่มีถ้ำในศาสนาพุทธ และศาสนาเชน เหมือนอชันตา เอลลอรา แต่การแกะสลักภาพขนาดใหญ่ และนูนสูงมากจนเกือบเป็นประติมากรรมลอยตัว ก็เป็นเอกลักษณ์ของเอเลแฟนตาซึ่งไม่มีที่ใดเสมอเหมือน โดยเฉพาะภาพสำคัญสุดตรงกลางคูหา ถือเป็นความกล้าของสถาปนิกผู้ออกแบบยิ่งนัก ที่ออกแบบสลักเสลารูปบุคคลครึ่งตัวแต่สูงใหญ่ถึง 5 เมตร และยังมีสามพักตร์ เฉลิมนามว่า “มเหศวรมูรติ” หรือพระอิศวรผู้ยิ่งใหญ่ในสามภาค คือภาคที่เป็นพระผู้สร้าง ผู้ปกปักรักษา และผู้ทำลายสิ่งชั่วร้าย
 
พระพักตร์กลางเรียก “จันทรเศขรมูรติ” (เทพเจ้าผู้ทัดพระจันทร์เป็นปิ่น) คือศิวะเทพผู้ทรงเมตตาในฐานะพระผู้สร้าง ในขณะที่พระพักตร์ซ้ายแลดูขมึงทึง เรียก “ไภรวะมูรติ” หรือพระไภรพ (แปลว่าผู้ขจัดสิ้นซึ่งความกลัว) อวตารภาคที่ดุร้ายและทำลายล้างของพระศิวะ ในยามที่ต้องไปปราบเหล่าอสูร ส่วนพระพักตร์ขวาอ่อนหวานปานอิสตรี เรียก “อุมาภควดี” หรือปางพระอุมาเทวี มเหสีของพระศิวะในภาคปกปักรักษา ภาพนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับ “ตรีมูรติเทพ” หรือการรวมกันของพระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ แต่ในรายละเอียดมีความแตกต่าง เพราะเป็น “มเหศวรมูรติ” คือพระอิศวรหรือพระศิวะองค์เดียว แต่ปรากฏเป็นสามปางหรือสามภาค

 

ไตรศุลี หรือตรีศูล หรือสามง่าม ที่เป็นอาวุธประจำองค์พระศิวะ ก็คือสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะพระผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลายของมหาเทพองค์นี้นั่นเอง 
 
ภาพสำคัญอีกภาพหนึ่งที่เอเลแฟนตา จึงเป็นภาพ “ศิวนาฏราช” หรือพระศิวะกำลังร่ายรำทำลายล้างโลกเก่าที่เสื่อมทรามเกินกว่าจะเยียวยา เพื่อจะทรงสร้างโลกใหม่ที่สดใสกว่าขึ้นมาแทนที่ ทว่า แม้จะทรงร่ายรำเพื่อทำลายล้าง ก็ยังมีทวยเทพอย่างพระพรหมและพระนารายณ์ เห็นว่าเป็นท่ารำที่งดงามควรแก่การบันทึกไว้ จึงทูลขอให้พระศิวะร่ายรำอีกครั้ง แล้วมอบหมายให้พระภรตฤษี ทำหน้าที่จดบันทึกท่ารำนั้นไว้ได้ 108 ท่า

ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบท่ารำในวิชานาฏยศาสตร์ของอินเดีย ซึ่งแพร่หลายมาเป็นวิชานาฏศิลป์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ หรืออาเซียนด้วย เหตุนี้เอง บรรดาศิลปินจึงรำลึกบุญคุณของพระภรตฤษีที่บันทึกท่ารำพระศิวะไว้ให้เป็นวิชาชีพทำกิน ด้วยการจัดพิธีครอบครูโขน เพื่อความเป็นสิริมงคลและเจริญรุ่งเรืองในวิชาชีพ โดยขั้นตอนสำคัญสุดในพิธีนี้ คือการนำหัวโขนของพ่อแก่มาครอบศีรษะ คำว่า “พ่อแก่” ก็หมายถึงพระภรตฤษีนั่นเอง   

 

น่าเสียดาย ที่ท่อนล่างของ “ศิวนาฏราช” ณ เอเลแฟนตานั้น หักพังไป เพราะถูกกองกำลังสุลต่าน และทหารโปรตุเกสที่เข้ามายึดครองภายหลังทุบทำลายไปด้วยความมืดบอดทางปัญญา (ส่วนที่ค่อนข้างสมบูรณ์และงามวิจิตรตาเหลือเกิน ผมยกให้ “ศิวนาฏราช” ที่หน้าบันปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ตั้งอยู่เหนือทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อันโด่งดังนั่นแหละครับ)

อย่างไรก็ตาม ภาพอื่นๆ ที่เอเลแฟนตา ก็ล้วนน่าชม คือ ภาพพิธีสยุมพรพระศิวะกับพระนางปารตี (ภาคที่สวยงามอ่อนหวานของพระอุมาเทวี) ภาพพระศิวะปราบอันธกาสูร ภาพทศกัณฐ์โยกเขาไกรลาส ภาพพระศิวะลดความรุนแรงของพระคงคา ภาพอรรถนารีศวร หรือพระศิวะในภาคที่ครึ่งหนึ่งเป็นบุรุษ ครึ่งหนึ่งเป็นสตรี หรือครึ่งพระศิวะครึ่งพระอุมา

 

ภาพเหล่านี้ล้วนเป็น “เทพปกรณัม” หรือเรื่องเล่าเพื่อเทิดทูนบูชาเทพเจ้าของชาวฮินดูลัทธิไศวนิกาย ที่ยกย่องพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ซึ่งหากมีเวลาก็คุ้มค่าที่จะชมทุกๆ ภาพ สำหรับท่านที่ไปประชุมสัมมนา หรือติดต่อธุรกิจการค้าที่มุมไบ แล้วไม่มีเวลามากพอไปชมความงามของถ้ำอชันตา เอลลอรา ผมแนะนำว่า เอเลแฟนตา คือทางเลือกที่ดี
 
หากอชันตา เปรียบดั่งมุกมณีแห่งกาลเวลา เอลลอรา เป็นบรมคูหาอันวิจิตร ผมยกให้เอเลแฟนตา คือ “ทิพยจินดากลางวารี” ที่ไม่น่าพลาดชมด้วยประการทั้งปวงครับ


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140413/182794.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ