ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิจัย 'มจร' แนะผู้นำ อย่ารักษาศีล 5 แต่ปาก  (อ่าน 1760 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


วิจัย 'มจร' แนะผู้นำ อย่ารักษาศีล 5 แต่ปาก

เปิดงานวิจัยมจร....ชี้ทางออกสังคมไทย แนะผู้นำอย่ารักษาศีล5แต่ปากต้องปฏิบัติจริง : สำราญ สมพงษ์รายงาน

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  เปิดแถลงข่าวผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี ๕๗ ที่นำหลักพุทธศาสนามาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่อย่างสอดคล้องและสามารถนำไปใช้ได้จริง พร้อมได้องค์ความรู้ใหม่ที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม มวลมนุษยชาติ ถือเป็น “ยอดมงกุฎ” อันล้ำค่าทางวิชาการพระพุทธศาสนาที่พร้อมเผยแพร่ให้สาธารณชนเข้าใจ เข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง เตรียมจัดงานสัมมนาใหญ่เผยแพร่ต่อสาธารณชน
   
ดร.ประพันธ์ ศุภษร รองคณบดี บัณฑิตวิทยาลัย กล่าวว่า ในปีนี้ มีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาเขตและวิทยาลัยสงฆ์ในสังกัดของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง ได้ผ่านการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๒๘ เรื่อง ให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น ผลงานวิจัยทุกเรื่อง เป็นงานที่ทรงคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่ง ตลอดจนเป็นการนำเสนองานวิจัยทางพระพุทธศาสนาที่ชี้ทางออกให้กับสังคม และนับเป็นโมเดลใหม่แห่งวงการวิชาการทางพุทธศาสนา อาทิเช่น


 ans1 ans1 ans1

ผลงานวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ของคุณตวงเพชร สมศรี เรื่อง “วิธีการพัฒนาจริยธรรมของข้าราชการตำรวจเชิงพุทธบูรณาการ” เป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงตำรวจที่ดี และมุมมองของตำรวจต่อข้อบกพร่องและพร้อมจะนำหลักพุทธธรรมเข้ามาแก้ไข  ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า วิธีการพัฒนาจริยธรรมของข้าราชการตำรวจ  มี ๘ วิธี  ทั้งนี้ในทุกวิธีการได้พบปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาไม่ประสบผลสำเร็จ จึงเสนอให้นำหลักพุทธธรรมมาใช้บูรณาการวิธีการพัฒนาจริยธรรมของข้าราชการตำรวจ และองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยนี้ คือ “ PTTFCTTD = GOOD POLICE MODEL”

ผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ ๑ วิธีจากโมเดลนี้คือ การแก้ปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก โดยการนำหลักธรรม "อคติ๔" มาบูรณาการ โดยการจัดฝึกอบรมตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการให้คุณให้โทษ ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้หลักอคติ๔ โดยไม่ลำเอียงเพราะรักพวกพ้อง เกลียดผู้อื่นที่ทำความดีความชอบ หลงในลาภยศสรรเสริญ อามิสสินจ้าง หรือเกรงกลัวในอิทธิพล ให้ขจัดอคติเหล่านี้ด้วยความเป็นกลาง อยู่บนพื้นฐานของการมีคุณธรรม จริยธรรมประจำใจ อันจะก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรอย่างยั่งยืนและขณะนี้ผู้วิจัยได้ส่งมอบงานวิจัยนี้ให้กับหน่วยงานต่างๆในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายหน่วยงานที่สนใจติดต่อเข้ามา และพร้อมที่จะนำการวิจัยสู่การปฏิบัติต่อไป

 :49: :49: :49:

ผลงานวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกที่น่าสนใจของคุณสรณีย์ แสงศร ในหัวข้อเรื่อง “กระบวนการหลักการทางพระพุทธศาสนาในการทำงานจิตอาสา” เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนในสังคมมีการเสียสละมากขึ้น เพราะรัฐไม่อาจให้การดูแลช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึง จิตอาสาจึงมีบทบาทเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม เติมเต็มในสิ่งที่ขาด แต่การทำงานจิตอาสานั้นก็เผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ซึ่งวิทยานิพนธ์นี้ได้องค์ความรู้ที่เรียกว่าโมเดล “หลักการทำงานจิตอาสาแนวพุทธเชิงบูรณาการ”

ที่เน้นสร้างความเข้าใจหรือสร้างคุณสมบัติภายในจิตใจให้เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานที่ต้องเสียสละเพื่อผู้อื่นโดยอาศัยการประยุกต์หลักการทางพระพุทธศาสนา พระพุทธจริยา และพุทธธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างการเตรียมความพร้อมภายนอกในการลงภาคสนามของการทำงานจิตอาสาจะช่วยให้การทำงานจิตอาสา มีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อค้นพบสำคัญที่ได้จากการวิจัยคือ การพัฒนาตน โดยใช้หลักสติปัญญา ควบคู่ไปกับเมตตากรุณา และพึงระลึกรู้ตัวอยู่เสมอว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม มิใช่เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือ แต่การเป็นจิตอาสานั้นเป็นแบบฝึกหัดที่ดีในการพัฒนาตนตนเอง ซึ่งจะช่วยพัฒนางานจิตอาสาให้สุขทั้งผู้ให้และผู้รับตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้เกิดจิตอาสาเพื่อพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น



ผลงานวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ “กระบวนการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ สำหรับผู้นำ” ของคุณขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ ซึ่งผู้วิจัยเล็งเห็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำไม่ควรมองข้าม สังคมและประเทศชาติจะเข้มแข็ง หากผู้นำมีศีล ๕ จึงนับเป็นวาระสำคัญอีกประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการพัฒนาบุคลากรในองค์กรปัจจุบันที่ใช้กิเสสใช้รางวัลมาเป็นแรงจูงใจให้บรรลุเป้าหมาย

แต่ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้พัฒนาผู้นำจากการสร้างแรงจูงใจในการรักษาศีล ๕ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต ข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยคือ การที่จะทำให้คนสนใจรักษาศีล ๕ นั้น ต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ ดำเนินตามแนวทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามแบบจำลอง “K A M” ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เพราะการรักษาศีล ๕ มิใช่เพียงแค่การพูดว่าจะรักษาศีล แต่ต้องตั้งเป้าหมายของชีวิตด้วยนำศีล ๕ มาเป็นพื้นฐาน และเมื่อผู้นำปฏิบัติได้ ก็จะเกิดแรงผลักดันให้มีผู้ปฏิบัติตามมากขึ้น จนเกิดเป็นเครือข่ายสังคมศีล ๕ ขยายออกไป ทำให้การดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม หากสามารถขยายเครือข่ายสังคมศีล ๕ ออกไปในทุกชุมชน ทุกองค์กร สังคมจะสงบสุขและประเทศชาติก็จะพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น

 :96: :96: :96:

นอกจากนั้นยังมีวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง “พุทธวิธีในการอบรมสั่งสอนบุตรธิดาที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท” ซึ่งพระมหาจันทราวุฒิ วชิรเมธี (อรรถโยโค) ได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงที่ปรากฏในสังคมที่บุตรกระทำรุนแรงกับบิดามารดาถึงขั้นมาตาปิติฆาต ตลอดจนปัญหาสังคมต่างๆ ล้วนเริ่มต้นจากครอบครัว การเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนบุตรธิดาเป็นจึงสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ข้อค้นพบจากการวิจัยคือ พระพุทธเจ้าได้ทรงกล่าวไว้ตั้งแต่ในพุทธกาล ตั้งแต่ครั้งก่อนทรงผนวชว่าต้องอบรมบุตรธิดาอย่างไร ตลอดจนสิ่งที่ทรงสั่งสอนแก่ปัจวัคคีย์ คำสอนนั้นยังใช้ได้จวบจนปัจจุบัน คือการสอนให้บุตรมีความพร้อมในการดำรงชีวิต เชื่อมั่นในตนเอง รู้จักใช้ปัญญาและประสบการณ์ในการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการสั่งสอนนั้นคือการเป็นแบบอย่างที่ดี การรู้จัก “หน้าที่” พ่อ แม่ รู้จักหน้าที่ของพ่อแม่ รู้จักหน้าที่ที่สามีพึงกระทำต่อภรรยา และพึงกระทำต่อบุตรธิดา ตลอดจนสอนให้รู้จัก “ทาน” หากสังคมในหน่วยที่เล็กที่สุดมีความสุข ก็จะลดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและประเทศชาติได้

 :49: :49: :49:

วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งที่เป็นที่สนใจในสังคมปัจจุบัน คืองานของคุณจงจิต พานิชกุล เรื่อง “การทำศัลยกรรมความงามในมุมมองของพระพุทธศาสนา” ซึ่งการทำศัลยกรรมความงามเป็นที่ยอมรับในสังคม งานวิจัยนี้ชี้ให้ที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต และผลข้างเคียงจากการทำศัลยกรรม เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อนทำศัลยกรรม แม้รูปกายภายนอกที่สามารถปรุงแต่งได้ แต่ก็ต้องร่วงโรยตามการเวลา การทำศัลยกรรมความงามเป็นการสนองตัณหาเพียงชั่วคราว

ท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามกฎของไตรลักษณ์โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากข้อค้นพบผู้วิจัยได้ข้อสรุปจากองค์ความรู้ที่ศึกษาว่า หากมีความเข้าใจในหลักธรรม และสลัดทิ้งค่านิยมการมองที่รูปกายภายนอก เสริมคุณค่าความงามและคุณธรรมภายในก็จะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตตนเองและการพัฒนาประเทศชาติ


 st12 st12 st12 st12

นอกจากนั้น ดร.ประพันธ์ ศุภษร กล่าวย้ำว่า ผลงานวิจัยทุกเรื่องนั้น ผู้วิจัยได้ทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้า โดยนำหลักพุทธธรรมมาบูรณาการเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ จนได้องค์ความรู้ใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ แต่งานวิจัยนั้นจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย หากไม่ได้รับการเผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ จะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อเป็นประโยชน์ แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป

งานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นปีนี้ จัดขึ้นในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ หอประชุม มวก.๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในงานช่วงเช้าจะได้รับฟังการปาฐกถาโดยพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. มีการมอบโล่เกียรติยศแก่ผู้ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีและชมเชย

และมอบทุนการศึกษาหลากหลายทุน อาทิ ทุนท่าน ว.วชิรเมธี, ทุนธรรมพัฒน์ เป็นต้น ช่วงบ่ายจะมีการเสวนาวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และเคล็ดลับการทำวิทยานิพนธ์โดยนิสิตป.โท. – เอก อย่างน่าสนใจ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับของที่ระลึกและร่วมกิจกรรมในงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐๘๕-๘๒๙-๐๕๙๙, ๐๙๑-๑๗๒-๓๗๒๙


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140807/189723.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ