ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทองแท้ คนข่มไม่ลง คนชมไม่ลอย  (อ่าน 2189 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ทองแท้ คนข่มไม่ลง คนชมไม่ลอย
« เมื่อ: กันยายน 13, 2014, 08:22:51 am »
0


ทองแท้ คนข่มไม่ลง คนชมไม่ลอย - รู้โลกไม่สู้รู้ตน

ได้มีโอกาสไปดูเฟซบุ๊กของ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดที่ ๖๑ ของไทย หรือชุดใหม่ล่าสุดนี้ และพบว่า ท่านได้ใช้พื้นที่ชี้แจงถึงการที่ท่านใช้โซเชียล มีเดีย

ได้มีโอกาสไปดูเฟซบุ๊กของ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดที่ ๖๑ ของไทย หรือชุดใหม่ล่าสุดนี้ และพบว่า ท่านได้ใช้พื้นที่ชี้แจงถึงการที่ท่านใช้โซเชียล มีเดีย ในการชี้แจงการทำงานของท่านมาโดยตลอด และนำไปสู่การที่มีคนบางกลุ่ม โจมตีว่าท่านสื่อสารมากเกินไป ฯลฯ

ก็นานาจิตตังกันไป เพราะโลกเราก็อย่างที่รู้ครับว่า ไม่มีใครทำอะไรให้ถูกใจคนทุกคนได้ แม้ว่าท่านจะเป็นข้าราชการเลือดดี ความตั้งใจดี แต่ในสังคมที่เปิดกว้างทางความคิด แถมยังมีโลกโซเชียลมีเดียมาคอยติดอาวุธให้ทุกคนแสดงความคิดความเห็นกันออกมาได้อย่างไม่มีขอบเขตนี้ ทำให้ การปะทะกันของวจีกรรมมันดุเดือดรุนแรงต่อเนื่อง ท่านก็จึงต้องตอบและชี้แจงในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะด้วย


 :41: :41: :41: :41:

ประเด็นไม่ใช่เรื่องที่ว่า ใครคิดอย่างไรมองสิ่งนี้อย่างไร แต่หนึ่งในคอมเมนต์ที่ให้กำลังใจกับ ม.ล.ปนัดดา คือ การหยิบยกเอาวลีที่มีค่าวลีหนึ่งจากหนังสือ “เข็มทิศชีวิต” ของ คุณอ้อย ฐิตินาถ ณ พัทลุง มาที่มีใจความว่า “ทองแท้ คนข่มไม่ลง คนชมไม่ลอย” ฟังแล้วให้รู้สึกกินใจ เพราะมีใจความเชิงพุทธที่มีคุณค่ามากมายครับ ต้องยอมรับว่าคำพูดคำจาของคนนั้น แม้ว่าจะไม่ได้คมกริบดั่งศัสตราวุธ และไม่ได้มีอานุภาพการทำลายล้างรุนแรงดุจดั่งยุทโธปกรณ์ หากแต่มันมีผลในการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้ได้ยินได้ฟัง มากมายมหาศาล

คนเราจะจิตเกษม จิตตก ก็ขึ้นอยู่กับคำพูดคนนี่แหละ ทั้ง ๆ ที่บ่อยครั้งคำพูดของคนที่พูดดี หรือพูดไม่ดีใส่เรานั้นไม่ได้มีผลต่อความเป็นอยู่ เป็นมาและเป็นไปของเราแม้แต่น้อย แต่มันมีผลกระทบไม่มากก็น้อย


 :96: :96: :96: :96:

แต่แม้ว่า “วจีกรรม” ที่ผู้อื่นกระทำต่อเรานั้นจะมีอานุภาพรุนแรงขนาดไหน หากแต่ภูมิธรรมในการต้านทาน ผลของวจีกรรมเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นต่อการเสาะแสวงหา เพราะมันอยู่ในศักยภาพทางธรรมของผู้รับฟังนั่นแหละ สิ่งนี้ซื้อหาไม่ได้ จะได้มาต้องสร้างภูมิธรรม อุเบกขาจิต ด้วยตัวของเราเอง วลีของ คุณอ้อย ฐิตินาถ ณ พัทลุง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง ความสามารถที่คนเราสามารถที่จะพัฒนาภูมิต้านทานทางธรรม ต่อวจีกรรมทั้งที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบต่อเราได้ ที่เรียกว่า “ทองแท้” น่าจะหมายถึง “ความหนักแน่น และไม่โอนเอนไป เมื่อมีวจีกรรมมากระทบต่อจิตใจของเรา”

เพราะที่สุดแล้ว คนเราจะดำเนินเดินหน้าต่อไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับกรรมที่แต่ละคนประกอบ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดคำจาของคนรอบข้างว่าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคำชื่นชมสรรเสริญ หรือจะเป็นคำด่าทอโจมตี เสียดสี กล่าวคือ มีความหนักแน่นเชื่อในหลักเหตุผลกฎแห่งกรรม มิได้ปล่อยจิตใจให้โอน เอนไปตามความคิดความเห็นของคนอื่น ที่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีใครเป็นที่รักของคนทุกคน  และแม้บุคคลที่กระทำความชั่วต่อแผ่นดินบ้านเมืองอย่างมโหฬารก็ยังมีคนชื่นชมรักใคร่ สรรเสริญไม่เว้นแต่ละวันก็มีให้เห็นอยู่เนือง ๆ


 :29: :29: :29: :29:

ในหนังสือ “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” ของ พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ท่านได้อรรถาธิบายเอาไว้ว่า วจีกรรมจะมีผลได้ก็ต่อเมื่อ เราเอา “ตัวตน” ของเรานั้นไปรับวจีกรรมพวกนั้น จนเกิดแรงปะทะขึ้นมา หากว่า เราทำให้ตัวตนของเราเป็นความว่าง ก็เหมือนกับเราทำตัวเป็นตาข่าย ที่ไม่ว่าจะมีอะไรมาปะทะแรงแค่ไหน อย่างมากก็กระเพื่อมเพียงเล็กน้อย หรือ หากว่า สิ่งที่มาปะทะเป็นเพียงลม การที่ตาข่ายเอาไปดักลมก็ไม่เกิดการทำลายล้างอะไร

ใครว่าอย่างไร ก็ไม่ได้มีผลกระเพื่อมต่อจิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นคำชมที่อาจจะด้วยความชื่นชมอย่างไร้เหตุผล หรือจะด้วยคำตำหนิที่ดุเดือดรุนแรงก็ตามแต่ หากเป็นสัตตบุรุษที่ ไตร่ตรองสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผลก็หยิบยกสิ่งต่าง ๆ มาเรียนรู้ว่า จริงเท็จอย่างไร สมเหตุสมผลหรือไม่ มากกว่าที่จะนำเอาส่วนของอารมณ์ ไปทำให้จิตขุ่นมัว


 ans1 ans1 ans1 ans1

ที่อยากหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะปัจจุบันนี้ สังคมของเราเป็นสังคมที่ทุกคน มีความคิดเห็น มี “เมนต์” หรือคอมเมนต์มีความเห็นกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านหูผ่านตามาทุกเรื่องทั้งที่บางเรื่องอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตของตนเองแม้แต่สักนิดเดียว โลกโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเราได้รู้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น แถมยังมีอาวุธคือพื้นที่เฉพาะตัวในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น แถมยังเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นที่มีคนรับรู้รับฟังตลอดเวลา สิ่งนี้แตกต่างไปจากอดีตที่คิดแล้วเก็บเอาไว้กับตัวเอง การขยายผลต่ำกว่านี้ เมื่อตอบสนองกับความต้องการที่จะ “มีตัวตน” ของคนในสังคมก็เลยนำเอาเวทีนี้มาแสดงความคิดอ่านกันโดยต่อเนื่อง สิ่งที่สร้างสรรค์ก็ดี สิ่งที่นำไปสู่แรงกระเพื่อมในใจของคนก็มหาศาล

เมื่อเราหยุด เทรนด์ของโลก และจิตของมนุษย์ในการแสดงความคิดความเห็นผ่านเวทีสาธารณะแบบโลกไซเบอร์ไม่ได้ ก็คงจำเป็นต้องพัฒนาจิตของตนเองให้แข็ง มีภูมิธรรมหนักแน่นในหลักการของเหตุผล และหลักการที่เชื่อในกรรมดีกรรมชั่วมากกว่าเรื่องของวจีกรรมที่มาสั่นกระเพื่อมจิตของตนเอง

    คงเหมือนกับโคลงโบราณที่กล่าวขานกันมานาน
    “ใครชม ใครชอบ ช่างเถิด
     ใครเชิด ใครชู ช่างเขา
     ใครเบื่อใครบ่น ทนเอา
     ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ”


     
จาก คอลัมน์ : รู้โลกไม่สู้รู้ตน โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
ที่มา www.dailynews.co.th/Content/Article/265506/ทองแท้+คนข่มไม่ลง+คนชมไม่ลอย+-+รู้โลกไม่สู้รู้ตน 
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ