• ญี่ปุ่นขุดพบเศษกระเบื้องหลังคา เชื่อมโยงพระจีนในวัดโบราณ ญี่ปุ่น : สถาบันโบราณคดีแห่งเมืองคาชิฮารา จังหวัดนารา ประเทศญี่ปุ่น เผยว่าได้ขุดพบเศษกระเบื้องหลังคาลวดลายลูกคลื่น ที่เชื่อกันว่าใช้ตกแต่งวัดโตโชไดจิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นวัดที่สร้างในปี 759 โดยพระเจี้ยนเจิ้น ภิกษุจีนที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงศตวรรษที่ 8
โดยพบเศษกระเบื้องหลังคา 65 ชิ้น ภายในพื้นที่ขุดสำรวจของวัดโตโชไดจิ ที่อยู่ระหว่างศาลาการเปรียญและกุฏิเก่า “เป็นไปได้ว่า บรรดาพระสงฆ์ได้สร้างแท่นเล็กๆ เพื่อบูชารูปพระเจี้ยนเจิ้นในกุฏิ โดยตกแต่งแท่นบูชาด้วยหลังคากระเบื้องลวดลายลูกคลื่น เพื่อเป็นการรำลึกถึงภิกษุต่างแดน ที่ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมา” ฟูมิโนริ ซุกายา ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าว
เศษกระเบื้องดังกล่าว เคลือบด้วยสีเขียว ขาว และน้ำตาล ซึ่งเป็นสีที่ใช้ทำเครื่องเคลือบเซรามิกแบบ “นารา ซี ไซ” (นารา 3 สี) ซึ่งแพร่หลายในยุคนารา (710-784) และยุคเฮอัง (794-1185) ที่ทำเลียนแบบเครื่องปั้นดินเผาซานฉ่าย (3 สี) ของจีนในยุคราชวงค์ถัง (618-907)
อนึ่ง พระเจี้ยนเจิ้น (688-763) หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า พระกันจิน มีชื่อเสียงในเรื่องความเพียรพยายามถึง 6 ครั้ง ในการเดินทางจากจีนไปญี่ปุ่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนสำเร็จในปีค.ศ.753 ท่านได้ตั้งรกรานในเมืองนารา จวบจนวาระสุดท้ายในปี ค.ศ. 763
จากบันทึกข้อเขียนในยุคเฮอัง ชี้ว่า พระเจี้ยนเจิ้นจำวัดที่กุฏิไดวาโจ ภายในวัดโตโชไดจิ ซึ่งรูปของท่านยังคงตั้งแสดงภายในกุฏิหลังมรณภาพ จาก The Asahi Shimbun
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย เภตรา
http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000126310