คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผมมีหนังสือสองเรื่องที่ชาวพุทธพึงอ่าน เล่มหนึ่งเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก ถอดความสรุปทำให้ง่าย ผู้ถอดความใช้คำว่า "สำหรับผู้เริ่มศึกษา" แสดงว่าคนทั่วไปที่พึ่งเริ่มศึกษาพระไตรปิฎก อ่านเข้าใจ ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย
อีกเล่มหนึ่ง เป็นคู่มือปฏิบัติเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ชื่อ ศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิต ผู้แปลและเรียบเรียงจั่วปกว่า "พุทธวิธีเพื่อคุณภาพชีวิตร่วมสมัย" สมัยนี้ถ้าไม่มีคำกำกับด้วยว่า "ร่วมสมัย" ก็กลัวคนสมัยใหม่ไม่จับ
1.เล่มที่หนึ่ง พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา เป็นหนังสือ 18 เล่มชุด ต้องชมอาจารย์อุทัย บุญเย็น ที่แปลเรียบเรียงพระไตรปิฎกตั้ง 45 เล่ม ย่อลงใน 18 เล่ม นับเป็นวิริยะอุตสาหะที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง ผมถามท่านว่าเป็นงานคนเดียวทำหรือ ท่านบอกว่า คนเดียวครับ เนื่องจากเคยทำงานเป็นคณะกรรมการมาแล้ว เมื่อคราวทำงานพระไตรปิฎกให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง งานล่างช้ามาก และที่สำคัญสำนวนไม่เป็นเอกภาพ เพราะต่างคนต่างก็มีสไตล์เป็นของตน ที่ต้องชมก็เพราะผมคิดจะทำเช่นเดียวกับอาจารย์อุทัย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เมื่อมีผู้ทำสำเร็จก็ต้องยินดีอนุโมทนาเป็นธรรมดา
ท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรญาณก็คงเห็นทำนองเดียวกัน ท่านจึงรับไว้ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระไตรปิฎก 45 เล่มนั้น เมื่อเก็บความมาเรียงร้อยเป็นฉบับพระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา จำนวน 18 เล่ม ได้ดังนี้
1.พระวินัยปิฎก 8 เล่ม สรุปได้ 4 เล่ม
2.พระสุตตันตปิฎก 25 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหามาก สรุปได้ 12 เล่ม
3.พระอภิธรรมปิฎก 12 เล่ม สรุปได้ 2 เล่ม
ในการแบ่งเนื้อหาพระไตรปิฎกนั้น ท่านแบ่งเป็นธรรมขันธ์ (หัวข้อธรรม) 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยพระสุตตันตปิฎกมี 12,000 พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎกมี 12,000 พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎกมี 24,000 พระธรรมขันธ์ เท่ากับสองปิฎกข้างต้นรวมกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในพระอภิธรรมปิฎกมีเนื้อหาธรรมะล้วนๆ ไม่มีเหตุการณ์ บุคคล สถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ที่ผู้เรียบเรียงได้สรุปลงใน 2 เล่มเท่านั้น ดูเหมือนจะย่นย่อมาก ท่านผู้เรียบเรียงอธิบายไว้ในคำนำข้อ 10 ว่า
วิธีเรียงร้อยเนื้อหาแต่ละปิฎก คำนึงถึงผู้อ่านเป็นหลัก พระวินัยปิฎก-เน้นให้ผู้อ่านเข้าใจ เพื่อประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทได้ และให้สอดคล้องกับแนวอธิบายในวินัยมุขของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนวนแปลสิกขาบท ได้พยายามรักษาสำนวนของหนังสือวินัยมุขและหนังสือนวโกวาท ซึ่งเป็นหลักสูตรนักธรรมของคณะสงฆ์
พระสุตตันตปิฎก-เน้นเก็บรายละเอียดทุกแง่ทุกมุม และพิถีพิถันเป็นพิเศษในการแปลและถอดความในส่วนที่เป็นพุทธวจนะ จำเป็นต้องแทรกเสริมคำบาลีและภาษาแปลของชาวยุโรปด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้อ่าน
ส่วนพระอภิธรรมปิฎก-เน้นให้เห็นเนื้อหากว้างๆ รวมๆ ในลักษณะสรุปใจความให้รู้ว่าปรมัตถธรรมคืออะไร และพระอภิธรรมปิฎกบรรจุเรื่องอะไรไว้บ้าง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในคำนิยมตอนหนึ่งว่า
"พระ ไตรปิฎกบาลีเป็นจุดร่วมของความเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และกำลังขยายวงออกไปที่จะเป็นจุดร่วมของพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั่วทุกนิกายใน โลก แต่ด้วยเหตุว่าพระไตรปิฎกบาลีนี้มีขนาดใหญ่มหึมา คนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสเข้าถึง และจำนวนมากไม่รู้จักเลย ความเป็นจุดร่วมนั้นจึงยากที่จะเริ่ม เพื่อก้าวไปสู่ความจริงอย่างนั้น"
เห็นด้วยกับพระเดชพระคุณครับ แม้เนื้อหาพระไตรปิฎกจะส่องทางชีวิตของคนให้พบแสงสว่าง ให้พบทางพ้นทุกข์ ก็นิ่งสงบอยู่ในพระคัมภีร์ เพราะคนส่วนมากไม่รู้จัก ถึงรู้จักอยู่บ้าง ก็ไม่รู้จะหยิบส่วนไหน เล่มไหนมาศึกษา
เมื่ออุบาสกอุทัย บุญเย็น นำมาเรียงร้อยให้ง่าย กะทัดรัด สำนวนภาษาพอที่ผู้เริ่มศึกษาเข้าใจได้ จึงช่วยให้ก้าวสู่จุดร่วมนั้นง่ายขึ้น ขออนุโมทนาอีกครั้งครับ ผู้ประสงค์จะหามาศึกษา ติดต่อที่บริษัท สำนักพิมพ์โพธิเนตร จำกัด โทร.0-2668-6700-1 โทรสาร 0-2243-0638
เล่มที่สองคือ ศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิต พุทธวิธีเพื่อคุณภาพชีวิตร่วมสมัย งานเขียนของ เลียวนาร์ด เอ บุลเลน แปลโดย ประชา หุตานุวัตร หนังสือเล่มนี้เคยพิมพ์มาแล้ว คู่กับ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ คราวนี้สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย นำมาพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง ผู้แปลคือ อดีตพระประชา ปสนฺนธมฺโม เห็นสำนักพิมพ์บอกว่า "ให้ความ สำคัญสำหรับการดูต้นฉบับและการพิสูจน์อักษรเป็นพิเศษ หากท่านผู้อ่านพบข้อบกพร่อง หรือมีคำเสนอแนะประการใด ทางสำนักพิมพ์ยินดีรับฟังเสมอ" ก็เห็นแล้วละครับในหน้านี้แหละ ฉายาว่า ปสนฺนธมฺโม ถ้าจะเขียนสะกดแบบไทยก็ควรเป็น ปสันนธัมโม ไม่ใช่บาลีปนไทยว่า ปสันฺนธมฺโม จะเอาอะไรก็เอาสักอย่าง
ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ เขียนโดยพระเวียดนาม ผู้ซึ่งเป็นกวี มีสำนวนการเขียนกระจ่าง เข้าใจง่าย สมสมัย เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่จะอ่านและนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง ส่วนศาสตร์แห่งดำเนินชีวิตนั้น เขียนโดยฝรั่งนาม (ที่คนไทยชอบออกเสียงว่าเลียวนาร์ด แต่เวลาฟังฝรั่งพากย์มวยชื่อ เลียวนาร์ด ผมกลับได้ยินว่า "เลินเนิร์ด" อะไรประมาณนั้น)
ส. ศิวรักษณ์ เขียนไว้เมื่อคราวพิมพ์ครั้งแรกว่า "ส่วน ศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิตนั้น เป็นข้อเขียนของฝรั่ง ซึ่งหันมาสนใจพุทธวิธีจนนำพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของเขา แล้วเขียนวิธีดำเนินชีวิตแบบชาวพุทธให้เป็นที่รู้จักกัน เพื่อแพร่หลายออกไปสู่หมู่ชาวอัษฎงคตด้วยกัน โดยให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติธรรมอย่างสมัยใหม่เป็นเดือนๆ ไป แต่โดยที่ชาวไทยปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากวิถีชีวิตตะวันตกมากขึ้นทุกทีแล้ว เรื่องที่เขียนสู่ฝรั่งด้วยกันอ่าน จึงมีผลพลอยได้เป็นถูกใจคนไทยรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน"
ในการพิมพ์ครั้งนี้ ผู้แปลคือคุณประชา หุตานุวัตร ได้นำต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเทียบเคียงอีกครั้งหนึ่ง และได้แก้ไขบางตอนให้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ กรอง คำแก้ว ขัดเกลาภาษาไทยอีกชั้นหนึ่ง จึงรบประกันได้ถึงความถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมายของผู้เขียน ไม่มีการ
"แปลงสาร" แน่นอน
ผมคงไม่มีเวลาเข้าสู่รายละเอียดของเนื้อหา เพราะหน้ากระดาษจำกัด เพียงต้องการแนะนำให้ผู้อ่านรู้คร่าวๆ ว่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง ผู้เขียนได้แบ่งเป็นบทๆ สำหรับปฏิบัติเป็นเดือนๆ ไป คือ
บทที่ 1 ผ่อนคลายความเครียด
บทที่ 2 หลักการพื้นฐานเรื่องเข้าใจตนเอง
บทที่ 3 กระบวนการให้คุณค่าสิ่งทั้งปวงใหม่
บทที่ 4 วิธีเสริมสร้างความรู้ตัวทั่วพร้อม
บทที่ 5 หลักแห่งการยอมรับความจริง
บทที่ 6 สติรู้เท่าทันอารมณ์
บทที่ 7 กลไกของการหลอกตัวเอง
บทที่ 8 หลักพุทธธรรมว่าด้วยความไม่มีตัวตน
บทที่ 9 ฝึกควบคุมความคิด
บทที่ 10 ฝึกปล่อยวาง
บทที่ 11 เข้าถึงความสงบ
บทที่ 12 เรียนรู้ที่จะเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้
ฟังแต่หัวข้อก็ชวนให้อยากอ่านแล้วใช่ไหมครับ โดยเฉพาะหลักแห่ง การฝึกปล่อยวาง เขาวิธีอย่างไร น่าหามาอ่านดูนะครับ "อย่ายึดมั่น หัดปล่อยวางเสียบ้าง" พูดง่ายแต่ทำยาก คนพูดเองก็ทำไม่ได้ แต่อยากเห็นคนอื่นทำ เหมือนใครบางคนชอบย้ำว่าเราควรสมานฉันท์ แต่ก็เห็นแต่ "ฉัน" ไม่ "สมาน" เอาเสียเลย
อาจารย์เซนที่ยึดมั่นในความงามของถ้วยลายคราม พร่ำสอนลูกศิษย์ให้เห็นอนิจจังเสมอ วันหนึ่งเณรน้อยเผลอทำถ้วยลายครามนั้นแตก ได้ยินเสียงอาจารย์เดินเข้ามา รีบเอามือกอบเศษถ้วยซ่อนข้างหลัง ถามอาจารย์ว่า "อาจารย์ครับ อาจารย์ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นใช่ไหมครับ" อาจารย์ยิ้ม "เออ เอ็งเริ่มเข้าใจแล้วสินะ"
"เหมือนถ้วยลายครามใบนี้ใช่ไหมครับ"
ต้องให้ถ้วยสุดรักสุดหวงแตก จึงจะพอเข้าใจอนิจจังที่ตนเองพร่ำสอนศิษย์ ได้บ้าง
หมายเหตุ เกือบลืม ติดต่อได้ที่ สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย โทร.037-333182-3
ที่มา : มติชน
http://www.matichon.co.th/matichon/m...day=2006/08/06