ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เสียง...จากเนปาล  (อ่าน 962 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
เสียง...จากเนปาล
« เมื่อ: สิงหาคม 18, 2015, 12:32:30 pm »
0


เสียง...จากเนปาล
สินีพร มฤคพิทักษ์/เรื่อง สินีพร มฤคพิทักษ์, มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์/ภาพ

ข่าวแผ่นดินไหวที่เนปาลเมื่อสามเดือนก่อน ทำให้ผู้คนจำนวนมากไร้บ้าน ทรัพย์สิน บ้างก็ถูกพรากชีวิตอันเป็นที่รัก ธารน้ำใจจากนานาประเทศหลั่งไหลไปยังดินแดนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ รวมทั้ง “มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์” (DT Families Foundation) จากประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนการสร้างที่พักชั่วคราว (shelter) และชุดกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพา ผ่านโครงการ Giving Hands to Nepal

ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์เพื่อสังคม มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นแนวคิดและแผนงานที่ต่อยอดจากงานเพื่อสังคม ที่กลุ่มบริษัท ดีที โดยคุณทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษ

โครงการนี้เป็นการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรสองกลุ่มคือ 1.เชนจ์ ฟิวชั่น (Change Fusion) ทั้งที่ตั้งอยู่ในไทยและเนปาล เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยที่หมู่บ้านสองแห่งคือ บัตเดดันด้า(Bhattedadha) โดยสนับสนุนเงินทุนสำหรับสร้างที่พักพิงชั่วคราว จำนวน 50 หลัง จัดหาและส่งมอบชุดกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพาจำนวน 112 ชุด 2.ร่วมกับ Asian Coalition for Housing Rights (ACHR) และ Lumanti สร้างที่พักพิงชั่วคราว 90 หลังที่หมู่บ้านมาชเชเกา(Machchhegaun)

 :25: :25: :25: :25:

เราคุยกับพาร์ทเนอร์ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ตอนนั้นชุลมุนมากเริ่มจากให้ที่พักพิง เนื่องจากบริษัททำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีพาร์ทเนอร์ทำโซลาร์เซลล์ด้วย ประเทศนี้ขาดพลังงาน ในเขตเมืองหลวงมีการเปิดและดับไฟเป็นเวลา ไม่ได้มีไฟฟ้าใช้ตลอดทั้งวัน หากสนับสนุนโซลาร์เซลล์ เด็กจะได้ใช้ไฟฟ้าตอนกลางคืน แม่บ้านก็ทำงานบ้านได้ ส่วนจุดที่สอง เน้นสร้างที่อยู่อาศัย ดูว่าจะพัฒนาศักยภาพชาวบ้านอย่างไร เพื่อให้ชุมชนมีความยั่งยืน

ที่หมู่บ้านบัตเดดันด้าซึ่งมี 100 หลังคาเรือน เชนจ์ ฟิวชั่น ได้มาส่งเสริมการทำธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ผู้ชายเข้าทำงานในเมือง คนที่อยู่ในหมู่บ้านคือแม่ เด็ก ผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ตัวหมู่บ้านอยู่บนยอดเขา ชาวบ้านทำนาขั้นบันได บ้านที่สร้างจากดินและอิฐเสียหายทั้งหมด ยกเว้นบ้านที่สร้างด้วยซีเมนต์ ไม่ได้รับผลกระทบนัก

“บริษัทช่วยสร้าง 50 หลัง และเอาโซลาร์เซลล์ไปช่วย คิดแค่ว่าการสื่อสารสำคัญหากแผ่นดินไหว ยังชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือเพื่อสื่อสารได้ เชนจ์ ฟิวชั่น ทำงานในพื้นที่ รู้จักคนในพื้นที่ก็ปรึกษากันว่าจะสร้างอย่างไร ทำให้ใครก่อน ตกลงกันเองในชุมชน สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือโซลาร์เซลล์ เราสั่งจากซัพพลายเออร์ที่จีนให้ส่งตรงมากาฐมัณฑุ ยุ่งยากเหมือนกันกว่าจะผ่านศุลกากร”

 st12 st12 st12 st12

หน้าตาของที่พักพิงชั่วคราวหรือ “เชลเตอร์” เป็นรูปครึ่งวงกลม ส่วนที่เป็นโครง หลังคา และผนังด้านข้างทำจากสังกะสีดัดเป็นรูปทรงโค้ง ภายในเป็นห้องโล่งพื้นที่ประมาณ 5 คูณ 3 เมตร มีเตียงนอน เสื้อผ้าและของใช้ในชีวิตประจำวัน มุมด้านหนึ่งมีเตาแก๊ส (บางครอบครัวแยกไว้ด้านนอก) บนหลังคาด้านนอกมีแผงโซลาร์เซลล์รูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กติดตั้งอยู่

ถามว่าทำไมต้องเป็นเชลเตอร์ทรงนี้คำตอบคือ มีแปลนอยู่แล้ว ประการสำคัญคือสร้างได้ง่ายและเร็ว ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงต่อหลัง เหมาะสำหรับครอบครัวเดี่ยว ค่าก่อสร้างหลังละ 13,000-14,000 รูปีเนปาล (อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น 1 บาท ต่อ 2.8 รูปี)

ในสายตาคนนอกอย่างเรา ที่พักแห่งนี้ดูคับแคบและไม่สะดวกสบายนัก ทว่า สำหรับชาวเนปาลีแล้ว นี่คือ “บ้าน” ของพวกเขา

ทิระทะ บาหะดูร์ ลามะ อายุ 26 ปี ที่ในเชลเตอร์หลังนี้มีกันสามคนคือ ตัวเขา ภรรยา และลูก ยังชีพด้วยการทำเกษตร โดยปลูกผัก ทำนา ใช้น้ำจากภูเขา ส่วนไฟฟ้าซึ่งได้จากแผงโซลาร์เซลล์ เปิดใช้เฉพาะช่วงค่ำเป็นเวลา 3 ชั่วโมงก่อนหน้านี้เขาอยู่บ้านสองชั้น ซึ่งสร้างจากดินและอิฐ

“ตอนนี้อยู่ได้ ตั้งตัวได้ กำลังเก็บเงินสร้างบ้านใหม่ คิดว่าอีก 3-4 ปีค่าใช้จ่าย ประมาณ 8-9 แสนรูปีเนปาล ขนาดพออยู่ได้”


 st11 st11 st11 st11

อูม่า ตามัง แม่บ้านอีกครอบครัวหนึ่งบอกว่า

“ตอนเกิดแผ่นดินไหวอยู่บ้าน บ้านพังครึ่งหลัง แต่อยู่ไม่ได้ ต้องไปอยู่เต็นท์ชั่วคราว 7 วัน ซึ่งมี 7 ครอบครัวพักด้วยกัน ไม่สะดวกเหมือนอยู่เชลเตอร์แบบนี้ ครอบครัวมี 4 คน พ่อแม่และลูกสาวสองคน อายุ 3 และ 8 ปี เราสามารถทำงานทุกอย่างในบ้าน ได้ทำอาหารด้วย สามีอาชีพขับรถรับจ้าง ส่วนตัวทำงานในสวน รู้สึกดีที่ได้อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว ยังไม่รู้ว่าอีกเมื่อไรจะมีบ้านของตัวเอง ไม่มีเงินสร้างบ้านใหม่ ยังกลัวๆ แผ่นดินไหว แต่คิดว่าบ้านแข็งแรงพอ"

ลูน่า เชษฐา ผู้ประสานเชนจ์ ฟิวชั่น เนปาล เล่าว่า หน่วยงานของเธอทำกิจกรรมกับชุมชน มีกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม (SE) 300 แห่ง พอแผ่นดินไหว สิ่งที่ทำให้แก่ชุมชนพังเสียหายหมด รู้สึกเคว้งเหมือนกัน

แผ่นดินไหวกระทบทุกชีวิต แม้แต่ทีมงาน พื้นที่ตรงนี้เป็นบ้านชั่วคราวของดีดี้หรือ ฟุลมาย่า ตามัง ซึ่งเชนจ์ ฟิวชั่น ไทยแลนด์ เปิดรับบริจาคได้เงินมา 1 หมื่นดอลลาร์และให้มา คิดหนักว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่ทำคือ 1.ซื้ออาหารได้มาจำนวนหนึ่ง 2.ชาวบ้านต้องการการฟื้นฟูด้านจิตใจด้วย จึงช่วยกันลงมือสร้าง ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน เชลเตอร์ราคาหลังละ 120 ดอลลาร์ ทำ 100 หลัง ตอนแรกที่ไทยบอกจะมาดูงาน ดิฉันบอกว่าอย่ามา เพราะงานที่ทำมันเล็กๆ งานที่เห็นเป็นเงินสนับสนุนจากประเทศไทยทั้งหมด” ลูน่ากล่าว

 :25: :25: :25: :25:

ฟุลมาย่า ตามัง สตรีที่ถูกกล่าวถึงข้างต้นเป็นแกนนำกลุ่มสตรีของหมู่บ้านบัตเดดันด้า เธอเป็นผู้ริเริ่ม ผลักดัน และก่อตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนในหมู่บ้าน เพราะสถานะของผู้หญิงเป็นได้เพียงแม่บ้านเท่านั้น

“ผู้หญิงเนปาล มีหน้าที่อยู่ในครัว ทำกับข้าว ทำนา เก็บฟืนมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงหาอาหาร ไม่มีรายได้ เราอยากมีรายได้พิเศษ เพื่อซื้อเสื้อผ้าดีๆ ใส่บ้าง ขอบคุณลูน่า ที่มาช่วยอบรมการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำให้ได้เงินมาบ้าง วันนี้ดีใจได้เจอทีมสื่อไทย”

“แผ่นดินไหวผ่านไป 3 เดือนแล้ว เราผ่านวิกฤติมาได้ ตอนนี้ทุกคนเริ่มทำงานเพื่อตัวเอง หลังจากที่ผ่านมาทำงานเพื่อกลุ่ม เราเก็บเงินสมาชิกรายละ 50 รูปีต่อเดือน ปัจจุบันมีสมาชิก 400 คน ใครต้องการใช้ก็กู้ได้ เก็บดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (ดอกเบี้ยธนาคาร 18-20 เปอร์เซ็นต์) สมาชิกกู้ได้ครั้งละ 5 หมื่น-1 แสนรูปี มีคนยืมไปซื้อควาย หรือเปิดร้านน้ำชาเล็กๆ”


 st12 st12 st12 st12

โครงการต่อไปคือจะสร้างร้านอาหารของกลุ่ม โดยใช้พืชผักที่สมาชิกปลูกเอง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ในเขตท่องเที่ยวของอำเภอดูลิเกล

ทั้งนี้ ทางการเนปาลประกาศให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย 2 แสนรูปี โดยจ่ายรอบแรกแล้ว 15,000 รูปี และรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศว่าจะให้รับเงินงวดต่อไปเมื่อไร

บนลานกว้างใกล้ๆ กับที่พำนักของกุมารี ภายในพระราชวังกาฐมัณฑุ ชายเนปาลีนายหนึ่งกำลังยืนโปรยยิ้ม พร้อมโบกธงชาติไปมา พอนักท่องเที่ยวยกกล้องขึ้นถ่ายรูป เขาก็ยืนโพสท่าให้ทันที เพื่อนคนหนึ่งขอถ่ายภาพด้วย หลังถ่ายภาพเสร็จก็ควักเงินให้ เขาโบกมือปฏิเสธและตอบด้วยภาษาเนปาลีว่า “คนเนปาลก็รักคนอื่น ไม่ใช่อยากได้แต่เงิน”

 st11 st11 st11 st11

เมื่อแรกฉันคิดว่าเขาเป็นพนักงานของการท่องเที่ยว ทว่าลักษมี นารายัน ศิลปกาน (Laxmi Narayan Silpakan) บอกว่าเขาเป็นอาสาสมัคร และยืนโบกธงแบบนี้มาสามปีแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว

“เป็นความสุขของผมที่ทำเช่นนี้ อยากให้คนรู้จักเนปาลมากขึ้น เนปาลแม้จะยากจน แต่ทุกคนมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ มีความรับผิดชอบ ยังมีหลายแห่งในประเทศที่ปลอดภัย กาฐมาณฑุก็ปลอดภัย เชิญมาเที่ยวได้ ขอบคุณทุกคนในโลกที่ช่วยเหลือ ให้พวกเรายืนขึ้นมาได้อีกครั้ง หวังว่าพวกคุณจะมาประเทศเราอีก” มาสคอตชายสูงวัยกล่าว

ดูเหมือนว่าพันธกิจหลักของคนท้องถิ่นยามนี้คือ “เชิญชวน” ให้ชาวต่างชาติมาเยือน เพราะหลังจากแผ่นดินไหวสามเดือนก่อน ตัวเลขนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ และเพิ่งขยับขึ้นมาไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์


 ans1 ans1 ans1 ans1

ก่อนที่รถบัสจะเลี้ยวเข้าสนามบิน ไกด์ชาวเนปาลสองรายฝากความถึงคนไทยว่า...

“รายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว การที่คุณมาเที่ยวเนปาล เท่ากับช่วยเหลือพวกเรา ดีสำหรับพวกเรามากกว่าการรับเงินบริจาค หลังจากนี้อีก 1-2 เดือน ถนนและบ้านเรือนจะดีขึ้น ตอนนี้ยังเก็บกวาดไม่หมด” อาบิน ศากยะ ไกด์คนที่ 1 กล่าว

ราชุ ศากยะ ไกด์คนที่ 2 ปิดท้ายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า

“เนปาลยังอยู่ไม่ได้พังทลายทั้งหมดเหมือนที่เป็นข่าว คุณได้ไปเห็นสถานที่ต่างๆ แล้ว บ้านยังอยู่ คนยังมีชีวิตอยู่ บางแห่งเท่านั้นที่เสียหาย การท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ การมาเที่ยวคือสิ่งที่ช่วยพวกเราได้ ช่วยบอกคนอื่นๆ ด้วยว่าเนปาลปลอดภัย"

“เราเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ร่ำรวยด้วยวัฒนธรรม และสถานที่ กาฐมาณฑุ เป็นเมืองวัฒนธรรม, โปกขรา-เป็นเมืองแห่งการผจญภัย อยากให้ประชาสัมพันธ์ว่าเนปาลปลอดภัย มีที่ท่องเที่ยวเยอะ คนน่ารัก เดินทางมาได้ ไม่ต้องกลัว เช้านี้ถ้าอากาศเคลียร์ ตอนมองไปที่เอฟเวอเรสต์ จะเห็นว่าเหมือนแดนสวรรค์ และคุณจะอยากมาอีก”

พักร้อนปีนี้หากยังไม่มีแพลนไปไหน เนปาลยังรอคุณอยู่ !


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20150818/211802.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ