ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เทศนากัณฑ์ ‘อริยทรัพย์’ สู่น้ำพระทัย ‘สมเด็จพระสังฆราช’  (อ่าน 2321 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



เทศนากัณฑ์ ‘อริยทรัพย์’ สู่น้ำพระทัย ‘สมเด็จพระสังฆราช’

ความสงสัยใคร่รู้ไม่หยุดเพียงเท่านั้นว่า บทเทศน์กัณฑ์ อริยทรัพย์ จะทำให้คนเราเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ จึงเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ไปต่อถึงตอน ถอดลายพระหัตถ์จากหน้า 14

ได้กราบพระศพ“สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ยังวัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้ง ทำให้ระลึกได้ว่า วันที่ 3 ตุลาคมนี้ เป็นวันประสูติของพระองค์ และในวันที่ 24 ตุลาคม จะครบรอบ 2 ปีที่พระองค์ได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ

ด้วยความคิดถึงจึงได้หยิบหนังสือ “เทศนากัณฑ์ อริยทรัพย์” เมื่อครั้งเป็นสามเณรพรรษาแรก มาพลิกอ่านพระประวัติชีวิตของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์อย่างละเอียดอีกครั้ง ไม่น่าเชื่อว่า องค์สังฆบิดรนี้ จะเริ่มต้นชีวิตนักบวชจากการ “บวชแก้บน”   


:96: :96: :96: :96:

ในใจหยุดคิด อะไรที่ทำให้พระองค์เกิดจุดเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ขนาดนี้ ต้องเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ ตามความรู้สึกคนธรรมดาอย่างเรา ๆ จึงพลิกอ่านต่ออย่างตั้งใจ มีข้อความตอนหนึ่งเขียนบอกไว้ว่า เข็มทิศที่ทำให้สามเณรเจริญ คชวัตร เปลี่ยนจากบวชแก้บน มาเป็นบวชแก้ทุกข์ คือ บทเทศน์กัณฑ์ อริยทรัพย์

ความสงสัยใคร่รู้ไม่หยุดเพียงเท่านั้นว่า บทเทศน์กัณฑ์ อริยทรัพย์ จะทำให้คนเราเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ จึงเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ไปต่อถึงตอน ถอดลายพระหัตถ์จากหน้า 14 เหมือนกระแสธรรมของพระองค์แผ่มาถึงเราผู้โง่เขลาได้ รู้จักคำว่า ทรัพย์กับอริยทรัพย์นั้นเป็นเช่นไร คำว่าทรัพย์นั้นใครก็อยากได้ หากใครไร้ทรัพย์ย่อมได้รับความขัดข้องหมองใจ แต่เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วทรัพย์นั้นก็ตกเป็นของคนอื่น ต่างจากอริยทรัพย์ มีด้วยกัน 7 ประการ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา ที่ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มไม่มีวันหมด





พระองค์ได้อธิบายอริยทรัพย์ไว้ตามลำดับ เริ่มจาก ศรัทธา บุคคลจะกระทำอะไร ก็ต้องอาศัยความเชื่อจึงจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้หมั่นขยัน ไม่พรั่นพรึงต่อเย็นร้อน ถ้าไม่มีความเชื่อแล้วก็ทำให้อ่อนแอหรือละเลิกเสีย และสิ่งที่ควรบำเพ็ญให้ติดต่อกับศรัทธา คือ ศีล เพราะศีลเป็นธรรมที่ควรประพฤติก่อน อันนั้นได้แก่ การรักษากายวาจาใจให้สะอาดดีงาม คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่เสพสุราเมรัย ศีล 5 ประการนี้ไม่มีส่วนยกเว้น และการที่บุคคลจะมีศีลได้นั้น จะต้องมีอริยทรัพย์ที่ชื่อว่า หิริ ได้แก่ ความละอายต่อบาป และโอตตัปปะนั้น ได้แก่ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป

 :25: :25: :25: :25:

หิริและโอตตัปปะนี้เป็นธรรมอันรักษาโลก ถ้าโลกไม่นับถือหิริโอตตัปปะแล้ว ต่างคนก็ต่างเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่เมื่อคนเรามีหิริโอตตัปปะแล้วก็ยังไม่เพียงพอ ความเป็นมนุษย์นั้นจะต้องมี สุตะ ได้แก่ การสดับฟังอรรถกรรม ตั้งแต่คำสั่งสอนของมารดาบิดา ครูอาจารย์ และพระศาสดาผู้แสดงธรรมโดยลำดับ นับว่า การฟังเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของชีวิตที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ได้ เมื่อบุคคลสำเร็จประโยชน์ที่ตนต้องการแล้ว ควรให้ประโยชน์ที่ตนได้รับแก่ผู้อื่นด้วย ด้วยการสร้างอริยทรัพย์ที่ชื่อว่า จาคะ ให้มีในตน จาคะนั้น ได้แก่ การบริจาค เพื่อเป็นการขจัดความตระหนี่ในสันดานก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นและโลก

ทั้งนี้การบริจาคไม่ใช่กระทำตามเขา แต่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วย เช่น อนุเคราะห์แก่ผู้ที่ควรให้ บูชาแก่ผู้ควรบูชา คือ บุคคลผู้ใดเป็นผู้ทรงคุณความดี เป็นต้น อริยทรัพย์ทั้ง 6 ประการจะบริบูรณ์ก็ต้องอาศัยปัญญา ซึ่งเป็นอริยทรัพย์ที่ 7 นี้คอยเกื้อหนุน ปัญญานั้น ได้แก่ ความรู้จักเหตุผลตามเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นเหตุของความเสื่อม สิ่งนี้เป็นเหตุของความเจริญ รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ อันนี้เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์

ธรรมที่ยกมาแสดงนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า เอาศรัทธาซื้อสุตะ ต่อซื้อปัญญา ตลอดมรรคผลนิพพาน อันมีศีลเป็นต้นต่อให้เกิดคุณธรรมอื่น ๆ ทรัพย์นี้แม้จะซื้อหาคุณธรรมอื่น ๆ มาก็ไม่มีหมดสิ้น ไม่ทำให้เจ้าของเดือดร้อนในกาลใดกาลหนึ่ง ชีวิตของบุคคลนั้นชื่อว่าไม่อยู่เปล่าประโยชน์มีแก่นสาร





เพียงได้อ่านมาถึงข้อความสุดท้ายถอดลายพระหัตถ์ ก็ทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า ทำไมพระองค์จึงครองเพศบรรพชิตตลอดพระชนม์ชีพ และเข้าใจด้วยว่า ทำไมน้ำพระทัยของพระองค์ไม่มีวันหมด ถึงแม้พระองค์จะจากพวกเราไปแล้วก็ตาม น้ำพระทัยของพระองค์ยังคงยังประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ต่อประเทศชาตินานัปการ ดั่งที่พระราชรัตนมงคล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร หนึ่งในผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระบาท ได้เล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงสร้างตึกสกลมหาสังฆปริณายก เพื่อเป็นพระอนุสรณ์และอุทิศพระกุศลถวาย สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ ซึ่งตึกนี้จะสร้างให้แก่โรงพยาบาลจำนวน 17 แห่ง และโรงเรียน 2 แห่ง ทั้งนี้การสร้างตึกให้โรงพยาบาลเพื่อให้พระสงฆ์และประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ส่วนโรงเรียนก็จะได้เป็นที่สร้างความรู้ให้แก่เด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ขณะนี้สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างด้วยน้ำพระทัยได้สำเร็จลุล่วงแล้ว

 st12 st12 st12 st12

“เพื่อให้งานสานต่อน้ำพระทัยสมเด็จพระสังฆราชต่อเนื่อง สมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ปรารภว่า อยากให้มีพระเถระดูแลอาคารที่ทรงสร้างไว้ทั้ง 19 แห่ง โดยสมเด็จพระวันรัต รับเป็นประธานกรรมการดูแลตึกสกลมหาสังฆปริณายก และอาตมาเป็นเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ช่วยดูแลว่าโรงพยาบาล หรือโรงเรียนขาดแคลนอะไร จะให้มีความอุปถัมภ์ต่อเนื่อง เช่น อุปกรณ์การแพทย์ บูรณะอาคารที่ทรุดโทรม เป็นต้น โดยอาจจะมีการตั้งมูลนิธิขึ้นในโรงพยาบาลนั้นในพระนาม สมเด็จพระญาณสังวร เพื่ออาคารสกลมหาสังฆปริณายก ในทุกภูมิภาค โดยสมเด็จพระสังฆราช ทรงระบุไว้ด้วยว่าตึกหลังไหนสร้างถวายสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดและที่วัดไหน อาทิ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 2 พระองค์ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 1 พระองค์ ดังนั้น คณะกรรมการดูแลตึก จึงมีแนวคิดว่า จะขอให้วัดที่มีสมเด็จพระสังฆราชทั้ง 19 พระองค์มาช่วยอุปถัมภ์โรงพยาบาลและโรงเรียนดังกล่าวเพื่อร่วมสานน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่นี้ด้วย”





อีกน้ำพระทัยหนึ่งเมื่อยามชาวไทยมีภัย พระองค์ไม่เคยทอดทิ้ง โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ซึ่งพระครูสังฆสิทธิกร พระฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราช เล่าให้ฟังว่า นอกจากมรดกทางธรรมที่พระองค์ทรงทิ้งไว้ให้อย่างมากมายแล้ว พระองค์ยังได้ประทานมรดกทางวัตถุหรือน้ำพระทัยที่มีต่อศาสนิกชนชาวไทยตลอดพระชนมชีพมาอย่างยาวนาน มีมูลนิธิต่าง ๆ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือผู้ประสบภัย นิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมาก อาทิ มูลนิธิส้มจีน ซึ่งพระองค์ทรงตั้งขึ้นเองในการสนับสนุนการศึกษาให้แก่ผู้เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ พยาบาล บุรุษพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตลอดมา ทรงรับเป็นประธานก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ คือ อาคารภปร อาคารสก แม้ในช่วงสุดท้ายของพระชนมชีพก็ทรงรับอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รวมถึงรับเป็นประธานจัดหาเครื่องมือแพทย์อุปถัมภ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

วัดต่าง ๆ ที่ทรงอุปถัมภ์และทรงสร้างมีเป็นจำนวนมาก เช่น วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย เป็นต้น นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีโครงการต่าง ๆ สู่ต่างประเทศด้วย โดยในปี 2551 ประเทศจีนเกิดแผ่นดินไหว ที่เมืองเฉินตู พระองค์ทรงให้สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชนำความช่วยเหลือส่งมอบให้แก่ผู้ประสบภัย และปีเดียวกันก็เกิดพายุใหญ่ในเมียนมา พระองค์ก็ประทานความช่วยเหลือโดยให้พระสงฆ์ นำสิ่งของไปช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาที่ได้รับความเดือดร้อน และที่น่าจะจดจำแม้พระองค์มีพระชันษาถึง 98 ปี ในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย พระองค์ก็โปรดให้สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชออกช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในนามน้ำพระทัยสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลกลงมาเป็นเวลานานนับเดือน


 ans1 ans1 ans1 ans1

“น้ำพระทัยที่พระองค์ฝากไว้ไม่ได้สิ้นสุดตามพระองค์ ยังมีกิจการที่จะสานต่ออยู่ในรูปมูลนิธิและกองทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยังมอบทุนการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี นักเรียน นักศึกษาผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ กองทุนมูลนิธิช่วยคนตาบอด หากพุทธศาสนิกชนชาวไทยจะร่วมสานต่อน้ำพระทัยสมเด็จพระสังฆราชในโครงการต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ที่คณะเหลืองรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร โทร. 0-2281-2831-3”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในน้ำพระทัยของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกที่มีต่อปวงชนชาวไทย หากเราไม่มีบทเทศน์ที่ พระครูอดุลยสมณกิจ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี พระอาจารย์ของพระองค์ทรงสอนให้เมื่อครั้งเป็นสามเณรนั้น เราอาจจะไม่ได้เห็น สังฆราชาผู้เปี่ยมด้วยอริยทรัพย์เช่นนี้ก็เป็นได้.


   มนตรี ประทุม


ขอบคุณภาพและบทความจาก : http://www.dailynews.co.th/education/350911
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 30, 2015, 09:13:54 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ