ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จัก "พระมหาผ่อง" อดีตสังฆราชลาว - ลูกชายร่วมอุดมการณ์ของโฮจิมินห์  (อ่าน 762 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29302
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


รู้จัก "พระมหาผ่อง" อดีตสังฆราชลาว - ลูกชายร่วมอุดมการณ์ของโฮจิมินห์

นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงเมื่อพระมหาผ่องปิยะทีโร(สะมาเลิก) ประธานศูนย์กลางการพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส) พระสังฆราชลาวรูปที่ 4 เจ้าอาวาสวัดองค์ตื้อ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ละสังขารลงเมื่อเวลา 17.11 น. วันที่ 7 ตุลาคม 2558 หลังจากมีอาการอาพาธและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สิริรวมอายุ 100 ปี 6 เดือน 81 พรรษา

สำหรับชีวประวัติ พระมหาผ่อง สะมาเลิก หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า "พระอาจารย์ใหญ่" อริยสงฆ์ 2 แผ่นดิน เกิดที่ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2459 บรรพชาและอุปสมบทที่วัดโพธิ์ศรี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2479

จากนั้นเข้ามาอยู่วัดชนะสงคราม บางลำพู ญาติพี่น้องสำทับว่า หากไม่ได้เป็นมหาเปรียญ อย่ากลับ จ.อุบลราชธานี ท่านจึงทุ่มเทเรียนปริยัติธรรมที่วัดชนะสงครามอย่างเต็มที่ สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค เข้ารับพระราชทานพัดเปรียญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในปี 2489 และทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมที่วัดชนะสงครามอีก 6 ปี รวมเวลาที่เป็นนักเรียนและครู 16 ปี

 :s_hi: :s_hi: :s_hi: :s_hi:

หลังจากนั้นเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยประเทศลาวอย่างเต็มตัวเมื่ออายุได้26ปีและอยู่ฝั่ง สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา

การเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการกู้ชาตินี้ พระมหาผ่องมองว่าชาติกับศาสนาแยกกันไม่ออกแม้อยู่ในฐานะสงฆ์ แต่เมื่อประเทศชาติตกอยู่ในความลำบาก ชาวพุทธก็ย่อมทุกข์ยาก จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากร่วมขบวนการกู้ชาติ โดยใช้วิธีอหิงสาเพื่อสร้างสันติภาพ ภายใต้หลักคิดที่ว่า "ธรรมะย่อมชนะอธรรม" น้อมนำเรื่องการกตัญญูกตเวทีต่อชาติมาปลุกระดมชายหนุ่มให้รักชาติ เสียสละเพื่อชาติ แล้วลุกขึ้นสู้ อย่ายอมตกเป็นทาสของประเทศอื่น

และในช่วงเวลานี้เอง ท่านได้มีโอกาสเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าเพชรราช รัตนวงศา วีรบุรุษแห่งลาว และโฮจิมินห์ นักปฏิวัติคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เวียดนาม ซึ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองวุ่นวาย ลาวมีความพยายามปลดแอกตนเองจากการปกครองของฝรั่งเศส โฮจิมินห์ก็พาผู้คนมาหลบอยู่ฝั่งอีสานแล้วถูกจับ เมื่อมีคนไปประกันตัวก็พามาพบเจ้าเพชรราชที่เรือนพักใน จ.หนองคาย ซึ่งขณะนั้นพระมหาผ่องอยู่ที่นั่นพอดี

 :41: :41: :41: :41:

เมื่อโฮจิมินห์เห็นเข้าก็ถามว่าเป็นใครเจ้าเพชรราชจึงตอบว่า"ลูกชายและเป็นเจ้าราชครูหลวงของเจ้าเพชรราช"

รัฐบุรุษเวียดนามจึงบอกว่า "ลูกชายเจ้าเพชรราชก็ต้องเป็นลูกชายโฮจิมินห์ด้วย" โดยกล่าวอีกว่า พระมหาผ่องไม่ได้เป็นลูกชายโดยกำเนิด แต่เป็น "ลูกชายร่วมอุดมการณ์" เจ้าเพชรราชก็เห็นพ้องในเรื่องดังกล่าว

ต่อมาในปี 2498 พระมหาผ่องรับอาราธนาให้ไปสอนหนังสือที่วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ กระทั่งปี 2500 จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองโพนทอง

ครั้นปี 2515 ได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาสัก แต่ก็ยังไม่ละทิ้งบทบาทด้านการกู้ชาติ ทำงานทั้งด้านการปกครอง ศาสนา และฝ่ายบ้านเมือง จนวันที่ 2 ธันวาคม ปี 2518 ฝ่ายศาสนา มีพระมหาผ่องเพียงรูปเดียวที่อยู่บนเวทีประกาศยึดอำนาจ และเป็นพระสงฆ์รูปเดียวที่เป็นกรรมการพรรคขณะยึดอำนาจ โดยมีจุดยืนสำคัญคือ พระพุทธศาสนาต้องไปกับทุกระบบการปกครอง แต่ไม่ร่วมหัวจมท้ายกับระบบการปกครองใดการปกครองหนึ่ง พุทธศาสนาจะเป็นกำลังขับเคลื่อนนำสันติสุขมาสู่ประชาชน


 :s_hi: :s_hi: :s_hi: :s_hi:

หลังจบความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหลายพระอาจารย์ใหญ่ยังได้สร้างผลงานอันโดดเด่นในโลกพระพุทธศาสนากล่าวคือเมื่อปี2519 ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปดำรงตำแหน่งรองประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ประจำ ณ วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ และประสานงานรอมชอมพระสงฆ์ 2 นิกาย อันได้แก่ มหานิกายและธรรมยุตินิกาย ซึ่งแตกแยกมานานให้สมานฉันท์ ยินยอมพร้อมใจกันรวมนิกายเข้าเป็นหนึ่งเดียว

รวมทั้งยุบเลิกสมณศักดิ์และตำแหน่งทั้งปวงพระสงฆ์ลาวทั้งสองนิกายพร้อมใจกันทำสังฆสามัคคีอุโบสถณนครหลวงเวียงจันทน์ ในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก (ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 1 เดือนมิถุนายน ปี 2523) ณ บัดนี้ ไม่มีนิกายสงฆ์ในลาวอีกต่อไปแล้ว มีแต่ "พระสงฆ์ลาว" เท่านั้น

ต่อมาเมื่อปี 2553 ญาท่านพระมหาวิจิตร วีรญาโณ (สิงหะราช) ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวรูปที่ 3 ได้ถึงแก่มรณภาพลง ญาท่านพระมหาผ่อง ปิยธีโร (สมาเลิก) จึงได้รับการยกย่องขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เป็นรูปที่ 4 ซึ่งตำแหน่งนี้เทียบเท่ากับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของไทย

 st12 st12 st12 st12

นอกจากพระมหาผ่องจะเป็นพระสงฆ์ที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้พบเห็นท่านยังทำงานหนักในด้านการก่อสร้างสาธาณูปการทั้งยังมีงานการรจนาประพันธ์หนังสือธรรมะและสารคดีประวัติเช่น
    1.หนังสือประวัติพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
    2.ประวัติหลวงปู่สมเด็จลุน
    3.ประวัติพระอาจารย์สุกาว ญาณวุฑโฒ (วิปัสสนาจารย์)
    4.ประวัติพระลูกแก้ว คูนมณีวง และหนังสืออานิสงส์เทศนา
    5.ประวัติย่อพระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก
    6.พุทธทำนายความฝัน 16 ข้อของพระเจ้าปเสนทิโกสล
    7.หนังสือสวดมนต์และรวมบทเทศน์อานิสงส์เทศนา

ช่วงบั้นปลายชีวิต พระอาจารย์ใหญ่ยังคงเทศนาสั่งสอนให้ผู้คนรักในแผ่นดินเกิด ดังเช่นคำกล่าวในงานบุญนมัสการพระธาตุหลวง เมื่อปี 2556 ความตอนหนึ่งว่า

"ผืนแผ่นดินลาวนี้ บ่ได้ยืมไผมา บ่ได้ตบตียาดแย่งเอาจากไผมา มันแม่นทรัพย์สมบัติที่มีมาแต่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษลาวได้ปกปักรักษา ต่อสู้หวงแหนมายาวนาน จึงสามารถพร้อมกันปกป้องรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้ยาวนานตลอดไป"


 :25: :25: :25: :25:

ศาสนกิจสุดท้ายของท่านพระมหาผ่องคือเดินทางไปร่วมงานเสวนา"พุทธพลิกสุวรรณภูมิ: สามัคคีธรรม แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" จัดโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และมูลนิธิวีระภุชงค์ ที่โรงแรมโซพิเทล อังกอร์ โภคีธรา กอล์ฟ @ สปา รีสอร์ท จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 9-13 กันยายนที่ผ่านมา มีคณะสงฆ์อาเซียน 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว เข้าร่วม โดยท่านเป็นประธานกล่าวเปิดงานและแนะนำพระธรรมทูตว่า

    การเผยแผ่ธรรมะของคณะสงฆ์ 5 ประเทศ จะสำเร็จสู่เป้าหมายโดยเร็วต้องละสังโยชน์ 3 ประการ ได้แก่
      1.สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเชื่อผิดในตัวตน
      2.วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย และ
      3.สีลัพพตปรามาส คือ ความถือมั่นในข้อบังคับและข้อปฏิบัติที่ทำตามกันมาอย่างงมงาย
    หากละ 3 สิ่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์ถือว่าบรรลุขั้นโสดาบันแล้ว

ทั้งหมดคือเรื่องราวชีวิตอันน่าเลื่อมใสยิ่งของพระสงฆ์ผู้อยู่ในใจของทั้งชาวลาวและอีสานไม่ใช่เพียงเพราะตำแหน่งอันเทียบเท่าพระสังฆราชหากแต่ด้วยวัตรปฏิบัติและประโยชน์นานัปการที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้พระพุทธศาสนาอันจะมั่นคงสืบไป


หมายเหตุ - ขอบคุณภาพและข้อมูลจากหนังสือ "100 ปี สมณธรรมนำสันติภาพ" โดย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

ที่มา มติชนรายวัน 9 ตุลาคม 2558
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444395415
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ