ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทอดกฐิน กับ พฤติกรรม บอกบุญ แจกซอง อะไรบาปอะไรบุญ.?  (อ่าน 1078 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ทอดกฐิน กับ พฤติกรรม บอกบุญ แจกซอง อะไรบาปอะไรบุญ.?

พระท่านอธิบายว่า กฐิน แปลว่ายาก ลำบาก เพราะจะทอดกฐินแต่ละครั้งก็ต้องมีจิตศรัทธาจริงๆ จึงจะทำได้ นี่ยากประการที่หนึ่ง บุญอย่างอื่นทำได้ตลอดเวลาที่อยากทำ แต่ทำบุญทอดกฐินนี้จะทำได้เฉพาะหลังออกพรรษาไปเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากนั้นแล้วทำไม่ได้ นี่ยากประการที่สอง ท่านว่าอย่างนั้น

ถึงคำกฐินจะแปลว่ายาก, กระด้าง, กล้าแข็ง ได้ แต่ก็ไม่เกี่ยวกับที่มาของพิธีกรรมการทอดกฐินของชาวพุทธ คำว่ากฐินมีต้นเหตุมาจาก "ไม้สะดึง" หรือ "ไม้แบบสำหรับตัดเย็บจีวร" ครับ สมัยพุทธกาลเขาไม่เอาผ้าสำเร็จรูปอย่างที่เห็นทุกวันนี้ไปถวายพระ เขาทำตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอ เย็บ ย้อมให้เสร็จทีเดียวเลย ผ้าที่จะเย็บจีวรจึงต้องนำมาขึงที่ไม้สะดึงหรือไม้แบบ ชาวบ้านช่วยกันปั่นด้าย ทอเป็นผืนผ้าถวาย พระก็นำเอาผ้ามาขึงไม้สะดึง กะ ตัด เย็บ ย้อม ทำพินทุกัปปะ อธิษฐานเป็นผ้าจีวรครอง ตามวินัยสงฆ์

เรียกการขึงผ้าที่ไม้สะดึงเพื่อตับเย็บจีวรว่า "กรานกฐิน" เรียกพระภิกษุผู้ทำตั้งแต่ขึงผ้า กะ ตัด เย็บ ย้อม ทำพินทุกัปปะ อธิษฐานเป็นจีวรครองว่า "ผู้กรานกฐิน" กราน มาจากคำเขมรว่า กราล แปลว่า ขึง, ปู, ลาด ไทยเราเรียกว่าทอดกฐิน


 :96: :96: :96: :96:

ปัจจุบันนี้ไม่ต้องทำอย่างนั้นแล้ว เพียงนำผ้าไตรเดียวไปถวายพระสงฆ์ก็เรียกว่าทอดกฐินแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาพระท่านอธิบายว่า ที่เรียกว่ากฐินเพราะเกี่ยวข้องกับไม้สะดึง เด็กสมัยนี้จึง "เป็นงง" โยงกันไม่ถึงว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ไปทอดกฐินไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ไม่เห็นไม้สะดึงสักที

อย่างไรก็ดี การทอดกฐินแบบเดิมยังทำกันอยู่ประปราย เรียกกันว่า "จุลกฐิน" พจนานุกรมอธิบายว่า "งานที่ต้องทำอย่างชุลมุนวุ่นวาย เพื่อให้เสร็จทันเวลาอันจำกัด" ชาวบ้านเรียกว่า "กฐินแล่น"

วัตถุประสงค์ของการทอดกฐินก็เพื่อให้พระได้เปลี่ยนจีวรใหม่ พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระชาวเมืองปาฐา 30 รูป ลุยน้ำลุยโคลนไปเฝ้าพระองค์หลังออกพรรษาแล้ว จึงทรงอนุญาตให้ญาติโยมถวายผ้าให้พระท่านเปลี่ยนใหม่ จึงเป็นประเพณีทอดกฐินสืบทอดมาจนบัดนี้


 :25: :25: :25: :25:

ทอดกฐินตามพระวินัยจริงๆ ผ้าไตรเดียวก็ได้ แต่ที่เพิ่มอะไรต่อมิอะไรเข้าไปก็ถือว่าเป็น "บริวารกฐิน" ดังคำกล่าวถวายจะมีคำว่า "พร้อมทั้งเครื่องบริวารทั้งหลายเหล่านี้" เครื่องบริวารที่ว่านี้ เท่าที่เห็นก็มีเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น ถ้วยโถโอชาม มีดพร้า ขวาน จอบ เสียม ตลอดจนบริขาร (ของใช้ที่จำเป็น) สำหรับพระ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นคนเขาถวายสิ่งเหล่านี้แล้ว กลายเป็นของอย่างอื่นที่ทันสมัยกว่าแทน เช่น พัดลม ตู้เย็น

ที่ขาดไม่ได้ก็คือ "ปัจจัย" (ในที่นี้หมายถึงเงิน) ทอดกฐินทุกแห่งจะต้องรวบรวมเงินไปถวายสงฆ์ เพื่อใช้สำหรับบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ หรือสมทบทุนสร้างถาวรวัตถุอื่นๆ มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังศรัทธา เจ้าภาพทอดกฐินจึงมักออกฎีกาเรี่ยไรหรือบอกบุญไปยังเพื่อนฝูงและผู้ที่รู้จักคุ้นเคยพูดง่ายๆ ว่าแจกซองนั่นแหละ ใครมีศรัทธาก็ใส่ซองทำบุญด้วย


 st12 st12 st12 st12

เมื่อไม่กี่วันมานี้้ยินท่านอาจารย์ดอกเตอร์ท่านหนึ่งท่านปรารภให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้มีการแจกซองขาวกันมาก ถึงเทศกาลกฐินผ้าป่าก็ได้รับแจกซองคนละหลายๆ ซอง ท่านบอกว่าในพระไตรปิฎกไม่เห็นบอกว่าต้องทำอย่างนี้เลย

พูดอย่างนั้นก็ถูกครับ แต่ก็ไม่ควรลืมว่า พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาได้พัฒนามาตามลำดับ จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไปด้วย ตราบใดที่การพัฒนานั้นไม่ "เลยเถิด" ยังเอื้อประโยชน์แก่พระศาสนาด้วย แก่สังคมไทยส่วนรวมด้วย ก็ต้องถือว่าดีอยู่ ใช้ได้อยู่

อย่างกรณีผ้าป่า เดิมท่านก็ให้ถวายผ้าแก่พระได้ใช้สอย ต่อมาจะพัฒนามาเป็นรวบรวมหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียน กลายมาเป็น "ผ้าป่าหนังสือ" ดังกรณีกระทรวงศึกษาธิการเคยทำมาแล้ว ทั้งๆ ที่มิได้เกี่ยวกับพระสงฆ์เลย เราก็ถือว่าอยู่ในขอบเขตที่ทำได้ ตราบใดที่เอาแนวคิดทางพิธีกรรมไปสร้างประโยชน์แก่สังคมอยู่


 ans1 ans1 ans1 ans1

อย่าให้เพี้ยนมากถึงขนาดเอาพิธีกรรมทางศาสนาไปแอบอ้างหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองก็แล้วกัน

การบอกบุญเป็นบุญกิริยาอย่างหนึ่งการอนุโมทนาบุญก็เป็นบุญกิริยาอย่างหนึ่ง ใครๆ จะทำบุญคนเดียวก็ย่อมได้ แต่อยากให้คนอื่นมีส่วนร่วมด้วยจึงบอกกล่าวต่อกันไป เมื่อใครมาบอกบุญ เราไม่ทำก็ได้ แต่ไม่ควรบ่น เพราะนอกจากจะไม่ได้บุญแล้วยังได้บาปอีกต่างหาก

แม้จะไม่บริจาคสักบาท แต่มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาบุญกับเขาด้วยก็เป็นบุญครับ เรียกว่า "ปัตตานุโมทนามัย" (บุญที่สำเร็จด้วยการยินดีในความดีที่คนอื่นทำ)



มติชน 22 พ.ย. 2558 คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ   โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก ทอดกฐิน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1448172467
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ