ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เยี่ยมยามสาละวัน ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สัมพันธ์แน่น ไทย-ลาว  (อ่าน 1203 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เยี่ยมยามสาละวัน ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สัมพันธ์แน่น ไทย-ลาว

งานเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานทอดถวายยังวัดต่างๆ ใน สปป.ลาว เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างมิตรประเทศ เป็นงานประจำปีสำคัญของสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538
   
นับถึงปัจจุบัน ก็เข้าปีที่ 20 แล้ว และสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ก็เชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายที่วัดต่างๆ เกือบทั่วทุกแขวงของลาวแล้ว นับจากแขวงเวียงจันทน์ ไปจนถึงนครหลวงเวียงจันทน์, แขวงสะหวันนะเขต แขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงพระบาง แขวงอัตตะปือ แขวงจำปาสัก แขวงคำม่วน แขวงเชียงขวาง และ แขวงหัวพัน


   
ล่าสุด ระหว่าง 19-22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดสีมุงคุน แขวงสาละวัน
   
คนไทยส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยนครหลวงเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบางในแขวงหลวงพระบางมากกว่าเมืองสาละวันและแขวงสาละวัน แต่ถ้าเอ่ยถึงเพลง “สาละวันรำวง” ของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติผู้เพิ่งล่วงลับไปไม่นานมานี้ คงรู้จักกันดี



   
“สาละวันรำวง” ของไทย ดัดแปลงมาจาก “ลำสาละวัน” ของแขวงสาละวันนี้เอง  ซึ่งมีที่มาดั้งเดิมจากการลำผีไท้ผีแถนแล้วพัฒนามาเป็นเพลงประจำถิ่น กล่าวได้ว่าเป็นเพลงที่ชาวสาละวันภูมิใจ
   
มุกประจำของแขวงสาละวันที่เจ้าแขวงคนปัจจุบัน สีสุวัน วงจอมสี ไม่ลืมที่จะยกมากล่าวกับคณะเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน และเรียกเสียงหัวเราะได้ครื้นเครงก็คือ “สาละวันเป็นเมืองแห่งความเสมอภาค ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร เพราะทุกคนล้วนต้องทำตามคำสั่งหมอลำ หมอลำสั่งให้เตี้ยก็ต้องเตี้ย ตำแหน่งสูงมาจากไหนก็ต้องเตี้ยเท่ากับคนอื่น”
   
งานบุญกฐิน ไม่มีลำสาละวัน แต่ทุกคนที่มาร่วมทำบุญก็อยู่ในฐานะเสมอภาคเช่นเดียวเมื่ออยู่ในวงลำสาละวัน



   
งานกฐินที่สาละวัน หรืออันที่จริงควรกล่าวว่าทั้งประเทศลาวนั้น เป็นงานไม่มีชนชั้นวรรณะ จะมีเงินหรือทรัพย์สินมากน้อยอย่างใด เมื่อมากฐินเดียวกันย่อมถือว่าได้มาร่วมบุญเดียวกัน หากไม่สมทบเงินแขวนเป็นราวใต้ร่มคันใหญ่ ก็นำเงินน้อยๆเท่าที่มีเสียบกิ่งไม้น้อยหรือดอกไม้น้อยมาร่วมสมทบ เมื่อแห่องค์กฐินรอบ “หอแจก” หรือศาลาการเปรียญ ทั้งหญิงชายไม่เกี่ยงเพศวัยและฐานะก็พร้อมใจกันโห่ร้องบอกเทวดาให้ร่วมเป็นพยานงานบุญสำคัญนี้
   
เสียงโห่เรียกเทวดาที่เมืองสาละวันฟังไพเราะแปลกหูดีไม่น้อย ไม่ใช่ “โห่ฮิ้ว”แบบเมืองไทย แต่ฟังคล้ายๆ “สาเด้อ” ซึ่งจะมีลูกคู่ร้องรับว่า “ก้า” ตามด้วย “โฮ่เด้อ” ซึ่งลูกคู่จะร้องรับว่า “ยิ้ว”


   
ส่วนพิธีอื่นๆ คงคล้ายกับไทย นั่นคือพิธีสมโภชองค์กฐินซึ่งลาวเรียกว่าพิธีคบงันหนึ่งคืนก่อนหน้าวันทอดผ้า หลังจากสมโภชแล้วก็จะมีงานรื่นเริงและรอบบริเวณวัดก็มีงานออกร้านต่างๆ ให้ชาวบ้านได้มาเที่ยวจับจ่ายใช้สอย ส่วนวันรุ่งขึ้นหลังจากทอดผ้าแล้วก็มีถวายเพล พิธีบายศรี และแยกย้ายกันกลับบ้าน
   
แน่นอนว่างานหลายอย่างมีบรรยากาศแบบไทยๆ ที่เราคุ้นชินเพราะคนจัดงานหลักของสมาคมไทย-ลาวเป็นคนไทยจากฝั่งไทย เครื่องสมโภชสวยงามต่างๆ ที่เราเห็นสวยงามแปลกตา มีบางส่วนทำโดยคนลาวและเป็นลักษณะลาวเช่นบายศรีดอกไม้สดกับร่มคันใหญ่ที่ห้อยธนบัตรเป็นราวเพื่อสมทบกฐิน แต่ดอกไม้ประดิษฐ์หลายชนิดก็ส่งตรงจากเมืองไทย 
   
หนุ่มสาวะวันคนหนึ่งบอกกับคณะชาวไทยว่างานกฐินพระราชทานจากเจ้ามหาชีวิตแห่งราชอาณาจักรไทยนี้เป็นงานที่ทำให้เขาและครอบครัวตื้นตันใจมาก“สาละวันไม่ได้มีงานใหญ่อย่างนี้นานแล้ว ยิ่งทอดกฐินยิ่งยากเพราะส่วนใหญ่คนสาละวันเป็นชนเผ่าและนับถือผี งานนี้คนถือพุทธมากันหมด แม้ละแวกใกล้เคียงเมืองสาละวันก็มา”


   
คำบอกเล่าของหนุ่มสาละวันผู้นี้ มีหลักฐานเป็นจำนวนผู้คนเนืองแน่นทุกเพศวัยที่แต่งตัวสวยงามมาร่วมงานบุญทั้งในคืนสมโภชองค์กฐินและในวันทอดถวายพระกฐินพระราชทาน
   
งานนี้นอกจากสมาคมไทย-ลาวจะช่วยสมทบทุนทรัพย์ให้แต่ละวัดที่เชิญผ้าพระกฐินมาทอดถวายแล้ว สมาคมยังชักชวนองค์กร บริษัทห้างร้านเอกชนต่างๆในประเทศไทย (ซึ่งขอเอ่ยนามไว้ ณ ที่นี้โดยมิได้เป็นการโฆษณาแฝง) เช่น ไทยเบฟ, โตโยต้า, บ้านปู, ซีเคพาวเวอร์ เป็นต้น มาร่วมกันทำบุญสร้างโรงเรียนพระสงฆ์และสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาอีกด้วย นับเป็นการคืนกำไรสู่สังคมในอีกรูปแบบ
   
สำหรับวัดสีมุงคุนนั้น มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยตั้งแต่เริ่มก่อสร้างในปี 2400 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี โดยตามประวัติบอกว่า ท้าวเหง้า เชียงกันยา แห่งเมืองสาละวัน ได้นิมนต์พระครูจากนครราชสีมา ประเทศสยาม มาเป็นหัวหน้าช่างก่อสร้างหอไตรและศาลา
   
ในปัจจุบัน การเดินทางจากประเทศไทยมาแขวงสาละวันซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของ สปป ลาว สามารถมาได้จากเส้นทางมุกดาหาร-สะหวันนะเขต-ปากเซ-สาละวัน หรือเส้นทางอุบลฯ (ช่องเม็ก)-ปากเซ-สาละวัน คณะใช้เส้นทางที่สอง ขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯมาอุบลฯแล้วเดินทางจากอุบลฯ เข้าปากเซ เข้าสาละวัน ส่วนขากลับขึ้นเครื่องบินจากปากเซ-สะหวันนะเขต แล้วตรงสู่สุวรรณภูมิ
   
ไม่ว่าจะใช้เส้นทางไหน ก็ต้องผ่านเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก


   
ในทางประวัติศาสตร์ สถานที่น่าสนใจมากในแขวงจำปาสักคือปราสาทหินวัดพู โบราณสถานในอารยธรรมเขมร ซึ่งอยู่ห่างจากปากเซประมาณ 30 กิโลเมตร ปราสาทหินแห่งนี้ได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก และมีความสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ เพราะถือเป็นจุดกำเนิดอารยธรรมกัมพูชาสมัยเจนละซึ่งมีอิทธิพลเหนือดินแดนนี้ในยุคหนึ่ง
   
ในโลกสมัยใหม่ จำปาสักคืออาณาจักร “ดาวเรืองกรุ๊ป” ของเจ๊ดาวเรือง หรือ นางเฮือง ลิด ดัง เจ้าแม่ดิวตี้ฟรีของลาวและเจ้าของกาแฟ “ดาว” ที่คนไทยรู้จักกันดี

นอกจากเป็นฐานที่มั่นทางธุรกิจและเป็นที่ตั้งโรงงานกาแฟดาว ขนมอบแห้งตลอดจนอื่นๆอีกมากมายของดาวเรืองกรุ๊ปแล้ว จำปาสัก โดยเฉพาะเมืองปากเซ ยังเป็นที่ตั้งคฤหาสน์สไตล์ยุโรปมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาทของครอบครัวเจ๊ดาวเรือง

กาแฟที่ดาวเรืองกรุ๊ปปลูกและส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกนั้น เป็นพันธุ์อาราบิก้าซึ่งได้ชื่อว่ามีคุณภาพระดับโลก เพราะเป็นผลผลิตที่เติบโตในผืนดินที่เหมาะสม จึงไม่เพียงมีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นในไทย หากยังน่าเชื่อว่าจะขยายตัวได้ดีเมื่อเปิดตลาดอาเซียนอีกด้วย



เรื่องราวของเจ๊ดาวเรืองน่าสนใจและน่านับถือทุกวันนี้ดาวเรืองกรุ๊ปคือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจลาวอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เจ๊ก็มีหนี้เงินกู้ก้อนมหึมาเช่นกัน หากเพราะเธอเป็นคนสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ทั้งรับจ้างจิปาถะ และปิ้งกล้วย ปิ้งข้าวโพดขายเพื่อส่งเสียน้องๆ ในฐานะเป็นพี่คนโต อุปสรรคใดๆ ก็ไม่ทำให้เธอถอยปัจจุบันเธอมี”บุนเฮือง”ลูกสาวคนโตมาช่วยเป็นกำลังสำคัญร่วมกับน้องชาย ส่วนลูกสาวคนเล็กซึ่งจบแพทย์ศิริราช หวังจะเดินตามรอยพ่อซึ่งเป็นแพทย์ โดยฝันจะสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่จำปาสักในเร็ว ๆนี้ เพื่อดูแลคนในพื้นที่บ้านเกิดของครอบครัว

แน่นอนว่าเจ๊ดาวเรืองประกาศให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

แขวงสาละวันไม่มีเจ๊ดาวเรือง แต่ก็ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์มากเพราะเต็มไปด้วยป่าทึบและภูเขาสูงซึ่งเป็นแหล่งแร่สำคัญ แขวงนี้มีประชากรเพียง 363,000 คน แต่มีชนเผ่าถึง 14 ชนเผ่าคือ ลาวลุ่ม ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุด ตามมาด้วยชนชาติมอญ-เขมร เช่น กะตาง ซ่วย ปะโก ละเวน ตะโอย พูไท อิน กะโด แงะ ต้ง กะตู กะไท และอาลัก
   
นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่นิยมมาสาละวันมักแวะอุทยานแห่งชาติเชียงทองทางตะวันตกของแขวงซึ่งนอกจากธรรมชาติสวยงามก็ยังมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา นอกจากนั้นก็แวะไปเที่ยวบึงจระเข้ที่ตำบลเซโดน เยี่ยมหมู่บ้านชนเผ่าต่างๆ และเที่ยวน้ำตกซึ่งมีชื่อเสียงมากๆอยู่สองแห่งคือน้ำตกเซเซ็ดทางทิศใต้ของเมืองสาละวันกับน้ำตกตาดเลาะทางทิศตะวันตกเฉียงใต้น้ำตกทั้งสองแห่งนี้แม้ไม่ใหญ่มาก แต่สายน้ำที่ค่อยๆ ซอนเซาะโขดหินลงสู่แอ่งน้ำใหญ่เบื้องล่างซึ่งมีหินใหญ่น้อยให้นั่งพักก็ทำให้เกิดบรรยากาศงดงามและร่มรื่นอย่างที่สุด
   
น้ำตกตาดเลาะซึ่งถือกำเนิดจากแม่น้ำเซเซ็ดเป็นน้ำตกที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในลาวและส่งขายไทยโดยการไฟฟ้าลาวร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นและจีน

น่าสนใจว่าขณะที่สปป.ลาวยังคงพยายามรักษาขนบประเพณีดั้งเดิมไว้โดยไม่มีการปิดกั้นหรือตีกรอบเหมือนประเทศสังคมนิยมบางประเทศและพุทธศาสนายังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวลาวอย่างลึกซึ้ง



การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางทุนนิยมก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ทว่าค่อยเป็นค่อยไป ไม่พรวดพราดแบบจีน สะท้อนผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ร่วมกับคู่ค้าจากมิตรประเทศต่างๆ เช่นตัวอย่างข้างต้น ไปจนถึงอาคารบ้านเรือนรูปทรงสมัยใหม่ที่มีให้เห็นหนาตามากขึ้น พร้อมกับรถราที่วิ่งกันขวักไขว่กว่าแต่ก่อนแม้ในจังหวัดห่างไกล

คาดกันว่า สปป.ลาวในปีที่กำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.8%  เพียงแต่การเติบโตนี้ มิได้มาจากการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนทั่วไป

หากมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจในระบบสัมปทานรัฐในโครงการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่รัฐและเอกชน(รายใหญ่) ผู้ลงทุนต่างวิน-วิน ด้วยกัน

ประเด็นปัญหาที่ลาวยังต้องใส่ใจจึงเป็นเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐ โยงไปถึงสภาพคล่องที่ยังตึงตัว ซึ่งยังคงกระทบถึงการจ่ายเงินเดือนภาครัฐในวันนี้

เฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจ เท่าที่ได้แลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่และนักลงทุนในไทยใน สปป.ลาว  เชื่อกันว่าภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วิถีชีวิตคนลาวคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะทุกวันนี้สินค้าหลักๆ ในลาวก็มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งไทย เวียดนามและจีน โดยที่จีนจะมีอิทธิพลต่อธุรกิจการค้าในลาวตอนเหนือเป็นหลัก ขณะที่เวียดนามมีอิทธิพลต่อลาวตอนใต้ ส่วนไทยจะแทรกซึมอยู่ทั่วไป ในระหว่างสองส่วนนี้

จำนวนประชากรที่ไม่มากนักซึ่งนำไปสู่ข้อจำกัดของตลาดในประเทศ ทำให้รัฐบาลลาวยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาหรือส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ยกเว้นในรูปสัมปทานระยะยาว ล่าสุดคือการลงทุนจากจีนเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงตามยุทธศาสตร์บุกลงใต้ที่รัฐบาลลาวเพิ่งลงนามกับจีนไปเมื่อไม่นานเพื่อก่อสร้างมาจ่อเข้าไทยที่หนองคายโดยมีกำหนดจะวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 2 ธันวาคม 2558 นี้

ไม่เกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อในไทย ซึ่งดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้า


ขอบคุณภาพและบทความจาก
รายงานจากงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ เมืองสาละวัน 19-22 พย 2558 โดย “ผู้สื่อข่าวพิเศษ”
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1448965564
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ