คนพวน จากเชียงขวาง ในลาว สร้างเจดีย์แบบเชียงขวาง ในไทย
คนพวนนับถือพุทธศาสนาเถรวาท ที่เมืองพวน แขวงเชียงขวาง ในลาว มีวัด มีพระพุทธรูปปูนปั้นและมีเจดีย์ ทั้งหมดเป็นศิลปะเชียงขวาง เมื่อถูกกวาดต้อนจากลาว มาอยู่ที่ดงศรีมหาโพธิ์ อ. ศรีมโหสถ เมืองปราจีนบุรี และที่อื่นๆ สมัย ร.3 ราวหลัง พ.ศ. 2380 คนพวนตั้งชุมชนหมู่บ้านแล้วสร้างวัดประจำหมู่บ้าน จึงสร้างเจดีย์ศิลปะเชียงขวาง เช่น เจดีย์วัดแสงสว่าง บ้านโคกไทย (เปลี่ยนจากชื่อเก่าว่า บ้านโคกมอญ) ต. โคกไทย อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี
ฐานบัวคว่ำบัวหงาย สูงขึ้นไปด้วยฐานเอนลาดซ้อนลดหลั่นในผังย่อมุม แล้วต่อด้วยองค์ระฆังกลม มีปล้องไฉน และฉัตรโลหะเป็นยอดสุด มีศาลผีอารักษ์พระธาตุเจดีย์อยู่รอบฐาน เจดีย์แบบเดียวกันนี้ ยังพบอยู่ในชุมชนชาวพวนที่อื่นๆ อีก เช่น วัดมหาเจดีย์ (อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา) และวัดเชียงงา (อ. บ้านหมี่ จ. ลพบุรี)โคกมอญ ไม่เคยมีชาวมอญตั้งกองจับช้าง ที่ถูกต้องคือ โคกมอน หมายถึงที่เนินมีต้นมอนหนาแน่น (ต้นมอน บางทีเรียกต้นไม้กวาด)
ผู้เขียน สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา มติชนออนไลน์ เผยแพร่ 21 ก.พ. 59
http://www.matichon.co.th/news/46173