แผนที่กรุงศรีอยุธยาเขียนโดยบาทหลวงกูร์โตแล็ง ชาวฝรั่งเศส พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2229 ตรงกับรัชสมัยพระนารายณ์ แสดงที่ตั้งชุมชนโปรตุเกส ดูในวงสีแดง
อิงกระแสแชมป์ยูโร เผยพระราชสาส์น ร.4 ชี้สัมพันธ์แนบแน่น “สยาม-โปรตุเกส” นับร้อยปีเมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเทศโปรตุเกส แชมป์บอลยูโร 2016 โดยระบุถึงพระราชสาส์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยาม กับโปรตุเกส ซึ่งในเอกสารใช้คำว่า “โปรตุเคศ” เนื้อหาโดยสรุปว่า ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในสยาม ทั้งยังมีจดหมายเหตุ ระบุถึงชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดินเรื่องการขุดคลอง และเมื่อกรุงศรีอยุธยาเกิดสงคราม ชาวโปรตุเกสก็ยังคงอยู่ ในขณะนี้ชาวยุโรปกลุ่มอื่น “หลีกเลี่ยงไปเสียหมด”
ข้อความมีดังนี้...วันนี้อิงกับกระแสโปรตุเกส เป็นแชมป์ยุโรป เลยมีเล็กๆ น้อย ๆ กับ เรื่อง โปรตุเกสรัชกาลที่ 4 ทรงเล่าเรื่องโปรตุเกส

ในพระราชสาส์น
“ขอท่านราชทูตกรุงลิศบอนเมืองโปรตุคอล กับขุนนางโปรตุเคศ ซึ่งมาด้วยนี้จงฟังคำเราจะกว่างความตั้งแต่เดิมให้ฟัง...ในกรุงสยามนี้ เมื่อครั้งกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาเก่า แลกรุงลพบุรี ยังเป็นกรุงที่ตั้งพระเจ้าแผ่นดินสยามอยู่นั้น มีคนในเมืองยุโรปหลายชาติหลายภาษาคือ ฝรั่งเศส, แสปเนียศ, และโปรตุเคศ
สามพวกที่ไทยได้เรียกว่า ฝรั่ง ตามคำแขกอินเดียผู้ชักนำมาเรียกอยุ่แต่ก่อน และอังกฤษ, คริก, ฮอลันดา, ก็มีบ้างตามที่ได้ยินมา แต่พวกโปรตุเคศนี้ได้มาอยู่ในเมืองไทยก่อนกว่าคนยุโปรเมืองอื่น มีจดหมายเหตุเก่าในเวลานานกว่าสามร้อยปีมาแล้วว่า มีคนโปรตุเคศเป็นเอนเยเนีย ช่วยแนะนำพระเจ้าแผ่นดินตัดทางพระพุทธบาท แลตัดทางขุดคลองตรง แลการอื่นๆ
ครั้นเมื่อเมืองเดิมของโปรตุเคศมีความวุ่นวายเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินแลอำนาจ แผ่นดินโปรตุคอลแปรปรวนไปด้วยแผ่นดินไหว แลข้าศึกภายนอกเบียดเบียนแลอื่นๆ คนโปรตุเคศที่อยู่ในเมืองสยามไม่มีที่พึ่งที่อ้างในเมืองเดิมแล้ว ก็กลับกลายเป็นคนเป็นข้าแผ่นดินสยามไป
ครั้นนานมาได้ภรรยาสยามแลเขมร มอญ ญวนต่าง ในกรุงสยามนี้ก็มีบุตรชายหญิงเกิดต่อๆ ลงมามีรูปคล้ายกับคนในประเทศนี้ไป ถึงกระนั้นก็ยังถือศาสนาโรมันคาทอลิคมั่นคงอยู่ แลถือธรรมดากิริยาว่าเป็นพวกโปรตุเคศที่เรียกว่าฝรั่งนั้นอยู่ บางคนก็ยังรู้ภาษาโปรตุเคศอยู่บ้าง
ครั้นเมื่อกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาเก่า มีการศึกใหญ่แล้วเป็นเมืองร้างไป คนยุโรปชาติอื่นภาษาอื่นก็หลีกเลี่ยงไปเสียหมด ยังมีอยู่แต่คนซึ่งเป็นตระกูลบุตรหลานโปรตุเคศยังคงมีอยู่ในกรุงสยามเป็นอัน มาก ทำราชการเป็นทหารบ้าง เป็นล่ามบ้าง เป็นหมอบ้าง เป็นต้นหนเดินเรือบ้าง พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนมีวัดโรมันคาทอลิคอยู่หลายตำบลด้วย สืบมา”
จาก ราชกิจจานุเบกษา ปีที่ 1 แผ่นที่ 16 ฉบับพิมพ์ ร.ศ. 109 หน้า 180 – 182) รายละเอียดมีเพิ่มเติมในหนังสือ กระดานทองสองแผ่นดิน (หนังสือว่าด้วย ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส) เขียนโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี
http://www.matichonbook.com/…/art-and-cultural-hi…/-365.html
ที่มา
http://www.matichon.co.th/news/208146