ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “วัดปทุมวนาราม” เปิดประตูสู่ดินแดนแห่งธรรม ท่ามกลางคอนกรีต ใจกลางกรุง  (อ่าน 1360 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

“วัดปทุมวนาราม” ตั้งอยู่ใจกลางกรุง



“วัดปทุมวนาราม” เปิดประตูสู่ดินแดนแห่งธรรม ท่ามกลางคอนกรีต ใจกลางกรุง

ฉันเคยได้ยินชื่อเสียงของ "วัดปทุมวนารามมานาน" แล้วว่า เป็นวัดกลางเมืองที่มักจะมีตึกรายล้อมเต็มไปหมดทั่วทั้งสี่ทิศ แต่ถึงแม้ภายนอกจะมีคนจะพลุกพล่านมากมายแค่ไหนก็ไม่ทำให้วัดแห่งนี้ไหลไปตามกระแสได้เลย ยังคงมีความเงียบสงบเสมอ และกลายเป็นวัดที่พึ่งใจให้แก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย ยิ่งเข้าใกล้ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาแล้วด้วย ฉันจึงขออาสาพาเที่ยวชมวัดแห่งนี้ นอกจากเที่ยวชมความสวยงามแล้วถือเป็นการสงบจิตสงบใจ คิดดีทำดี ในช่วงเทศกาลสำคัญที่จะถึงอีกด้วย

บรรยากาศท่ามกลางตึกที่รอบล้อม


        การเดินทางมายังวัดนั้นก็ง่ายสะดวกเพียงแค่ฉันลงจากรถไฟฟ้าสถานีสยาม ฉันก็เดินตรงเข้ามายังวัดปทุมวนาราม พร้อมกับนึกถึงประวัติของวัดที่รู้มาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดทำรมณียสถาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือสถานตากอากาศที่อยู่นอกพระนคร โดยทรงมีนาหลวงอยู่บริเวณทุ่งพญาไท ริมคลองบางกะปิ ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดเวลาและมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของชาวล้านช้าง หรือชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งแต่สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ ในการก่อสร้างครั้งนั้น ได้มีการจ้างชาวจีนมาขุดลอกสระ 2 สระเชื่อมต่อกัน สระทางด้านเหนือเรียกว่าสระใน เป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์และฝ่ายใน ส่วนทางด้านใต้เรียกว่าสระนอก ทรงอนุญาตให้ข้าราชการและราษฎรทั่วไปมาเล่นเรือกันได้ และภายในสระทั้งสองนั้นก็ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ฯลฯ ออกดอกงดงามเต็มสระ

พระวิหาร ใน“วัดปทุมวนาราม”


        และบริเวณสระบัวนั้นยังได้สร้างที่ประทับสำหรับพระองค์และเรือนฝ่ายในเป็นที่ประทับของเจ้าจอม รวมไปถึงโรงเรือนโรงครัวต่างๆ ซึ่งพระองค์ให้พระราชทานนามให้แก่สถานที่แห่งนี้ว่าปทุมวัน และทรงเรียกบริเวณที่ประทับว่าวังสระปทุม
       
       ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่ประทับเท่านั้น แต่พระองค์ยังได้ทรงสร้างวัดขึ้นบริเวณด้านทิศตะวันตกของสระนอกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสี และพระราชทานนามวัดว่า "วัดปทุมวนาราม" แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสระปทุม โดยในเวลาที่พระองค์เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมนี้ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์จากวัดปทุมวนารามพายเรือเข้าไปบิณฑบาตในสระนี้ด้วย
       มาจนถึงวันนี้ แม้ดอกบัวที่เคยมีอยู่เต็มสระจะเหลือเพียงแค่ไม่กี่ดอกอยู่ในอ่างบัวเท่านั้น แต่ภายในวัดปทุมฯ ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายสิ่งด้วยกัน สิ่งแรกก็ต้องเป็นเรื่องของพระพุทธรูป เพราะที่วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากฝั่งลาวถึง 3 องค์ด้วยกัน นั่นก็คือ "พระเสริม" "พระแสน" และ "พระสายน์"


"พระเสริม" ในระวิหาร


        สำหรับพระเสริมและพระแสนนั้นประดิษฐานอยู่ด้วยกันในพระวิหาร "พระเสริม" นั้นเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับพระสุก และพระใส ซึ่งพระราชธิดาของกษัตริย์ล้านช้างทั้ง 3 พระองค์ เป็นผู้สร้างขึ้นและถวายนามของพระองค์เองให้เป็นชื่อของพระพุทธรูปด้วย
       ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพสยามเดินทางไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อกองทัพจะเดินทางกลับบ้านเมือง ก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเวียงจันทน์มาด้วยหลายองค์ด้วยกัน รวมทั้งพระสุก พระใส และพระเสริมด้วย


พระอุโบสถของวัดปทุมวนาราม


        แต่ในขณะที่เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปมาทางลำน้ำงึมออกแม่น้ำโขงก็ได้เกิดพายุฝนตกหนัก จนทำให้พระสุกหล่นจากแท่นประดิษฐานจมลงใต้แม่น้ำ บริเวณนั้นต่อมาจึงเรียกกันว่าเวินพระสุก หรือเวินสุก ส่วนพระเสริมและพระใสก็ได้อัญเชิญข้ามมายังฝั่งไทยได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อจะอัญเชิญต่อมายังกรุงเทพฯ ก็ปรากฏว่าเกวียนที่ประดิษฐานพระใสนั้นเกิดหักลงอยู่ตรงหน้าวัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย ทำอย่างไรก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องอัญเชิญพระใสให้ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหนองคายมาแต่บัดนั้น ส่วนพระเสริมนั้นอัญเชิญต่อมาได้จนถึงกรุงเทพฯ และมาประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมวนารามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
       
       ส่วน "พระแสน" พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารเดียวกันกับพระเสริมนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำที่เมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง แต่ได้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณจากล้านช้างมาประดิษฐานไว้ในพระอารามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่หลายแห่ง


"พระสายน์" ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดปทุมวนาราม


        เช่นเดียวกับ "พระสายน์" ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดปทุมวนาราม ก็เป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองมหาไชย แขวงล้านช้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน โดยพระแสนและพระสายน์นั้นต่างก็มีความศักดิ์สิทธิเหมือนกันตรงที่เมื่อใดเกิดฝนแล้ง ก็จะอัญเชิญท่านออกมาบูชากลางแจ้งและบูชาขอฝนจากท่านได้

พระเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองทำด้วยหินอ่อน


        นอกจากพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้แล้ว ระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถก็ยังมีพระเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองทำด้วยหินอ่อน และพระพุทธไสยาสน์หินอ่อนซึ่งได้มาจากลังกาอีกด้วย ส่วนด้านหลังเจดีย์ ตรงข้ามกับพระวิหารนั้นก็มีมณฑปของรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นมา

“พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล”


        หากกราบพระเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเดินไปทางด้านหลังพระวิหารออกประตูเล็กๆ ไปเพื่อกราบ “พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล” ตั้งอยู่บริเวณหน้ามุขด้านทิศตะวันออกของโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระอัฐิ (กระดูก) และพระราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของพระบรมวงศานุวงศ์หรือพระประยูรญาติผู้ที่สืบสายตรงแห่งราชสกุลมหิดล ซึ่งภายในเจดีย์นั้นเป็นที่บรรจุพระสรีรางคารพครบทุกพระองค์ที่ล่วงลับไปแล้วแห่งราชสกุลมหิดล ซึ่งสืบสายตรงจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้วยพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันกับวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เป็นอย่างมาก โดยพระองค์ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์แห่งนี้มีลักษณะเป็นพระสถูปเจดีย์ครึ่งองค์

"สวนป่าพระราชศรัทธา" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังวัด


        หากใครที่เข้ามาชมวัดตรงบริเวณนี้แล้วยังคิดว่าวัดปทุมฯ ยังสงบไม่พอ ก็ต้องไปที่ "สวนป่าพระราชศรัทธา" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังวัด ที่เรียกว่าสวนป่าก็เนื่องจากว่า บรรยากาศในแถบนี้ร่มครึ้มเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น และมี "ศาลาพระราชศรัทธา" ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้ที่ศรัทธามากราบไหว้ รวมทั้งศาลานี้ยังเปิดให้ประชาชนเข้าไปนั่งสมาธิ และฟังธรรมได้ โดยจะมีเทปธรรมะเปิดให้ฟังตลอดทั้งวันอีกด้วย หรือหากใครต้องการเดินจงกรมก็สามารถทำได้เช่นกัน

        ในตอนที่ฉันเดินชมพระอุโบสถ และพระวิหารอยู่นั้นก็รู้สึกขัดตาอยู่บ้างกับตึกสูงทั้งหลายที่ล้อมรอบวัดอยู่ แต่เมื่อเข้ามายังสวนป่าฯ แห่งนี้แล้ว บรรยากาศเหล่านั้นก็ถูกบดบังไปด้วยต้นไม้ใหญ่มากมายที่อยู่เต็มบริเวณ ซึ่งทำให้ฉันเชื่อแล้วว่า แม้ว่าวัดปทุมวนารามจะอยู่ในย่านที่พลุกพล่านที่สุด แต่ก็ยังมีความสงบและมีบรรยากาศของความเป็นวัดอยู่ครบถ้วนไม่ตกหล่นไปไหนจริงๆ
       
       ดังนั้นหากใครที่ต้องการมาสัมผัสบรรยากาศสงบของวัดที่อยู่ท่ามกลางชุมชน อยากมานั่งสมาธิฟังธรรม นอกจากจะได้มาร่วมทำบุญถวายสังฆทาน และไหว้พระพุทธรูปสำคัญๆ ภายในวัดแล้ว ถือว่าเป็นการทำบุญเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เพื่อความสงบในจิตใจอีกด้วย



ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000070641
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ขออนุโมทนาสาธุ
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา