อยุธยา มรดกโลก
เทวรูปพระเจ้าอู่ทอง คือพระเทพบิดร เคยมีที่ซุ้มพระปรางค์ประธาน วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา
วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งในศาสนาผีและศาสนาพุทธ ตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา หรือตั้งแต่แรกสร้างก็ได้ ศาสนาผี ถือเป็นที่สิงสู่ของผีบรรพชน คือพระเจ้าอู่ทอง ศาสนาพุทธ ถือเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ในกฎมณฑียรบาล จึงกำหนดให้เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมสำคัญของราชอาณาจักร เช่น พิธีขอขมาน้ำและดิน เดือน 12 (ปัจจุบันเรียกลอยกระทง)พระตำหนักเวียงเหล็กบริเวณวัดพุทไธศวรรย์ เชื่อกันว่าเดิมเป็นที่ตั้งพระตำหนักของพระเจ้าอู่ทอง (หมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดี) ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เรียกกันว่าพระตำหนักเวียงเหล็ก หมายถึงพระตำหนักซึ่งตั่งอยู่ในเวียงเหล็ก [ตรงไหน คือ เวียงเหล็ก? ยังเป็นปัญหาที่อาจเกี่ยวข้องกับปทาคูจาม ซึ่งต้องพิจารณาศึกษาอีกต่อไป]
เวียงเหล็ก หมายถึง เวียงที่มีความมั่นคงแข็งแรงเหมือนสร้างด้วยเหล็ก (เป็นคำยกย่องสรรเสริญ เหมือนกำแพงเพชร) มีใช้ในยวยพ่ายโคลงดั้น พรรณนาเมืองเชียงชื่น (ศรีสัชนาลัย) มีกำแพงเมืองมั่นคงแข็งแรงเหมือนเวียงแหล็กว่า “เร่งหมั้นเหลือหมั้นยิ่ง เวียงเหล็ก” เอกสารบางแห่งเรียกเพี้ยนว่าเวียงเล็ก จึงไม่ใช่ เพราะไม่เคยพบในเอกสารอื่น
หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 บริเวณเป็นพระตำหนักที่ประทับ ให้สร้างพระบรมธาตุ มีวิหารล้อม มีบอกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า
“ศักราช 714 ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. 1896) วันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 1 ค่ำ เพลา 2 นาฬิกา 5 บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่ตำหนักเวียงเหล็กนั้น ให้สถาปนาพระวิหารและพระบรมธาตุเป็นพระอารามแล้วให้นามชื่อว่า วัดพุทไธสวรรย์”
จะเห็นว่ายังมีปัญหาทางวิชาการอีกมากที่ต้องศึกษาค้นคว้าร่วมกันหลายฝ่าย แต่สถาบันการศึกษาหยุดนิ่ง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีมีแต่เป็นซาก ทางวัดก็เอาแต่หลอกขายอิทธิปาฏิหาริย์
ซุ้มปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์
ซุ้มพระปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ กรุงเก่า เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระเชษฐบิดร คือ พระรูปสนอง พระองค์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ชาวบ้านในย่านนั้นนับถือกันมาก เพราะเหตุว่าดุร้ายนัก ในสมัย ร.1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ (ภายหลังได้เลื่อนกรมเป็นกรมหลวง) อัญเชิญลงมาที่กรุงเทพฯ และพระองค์ก็โปรดให้ปั้นพระพุทธรูปประดับที่ซุ้มนั้นแทนองค์พระเชษฐบิดรที่อัญเชิญลงมา (อธิบายโดย อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ม.รามคำแหง )
เทวรูปพระเจ้าอู่ทองความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพชนต้นวงศ์สถาปนาอยุธยา ยังมีสืบเนื่องต่อมาจนยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อถึงปัจจุบัน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจเรื่องราวความเป็นมาไว้ในลายพระหัตถ์ กราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ [ลงวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2481 อ้างไว้ในหนังสือโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เล่ม 1) กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2551 หน้า 271-272] จะคัดมาโดยจัดย่อหน้าใหม่ กับขึ้นหัวข้อย่อย ดังต่อไปนี้
“นานมาแล้ว หม่อมฉันไปเที่ยววัดพุทไธสวรรย์ เมื่อเดินดูองค์พระปรางค์ไปตามทางฐานประทักษิณถึงมุขหน้าทางข้างซ้ายเห็นมีบายศรีตองกับเครื่องสักการะทิ้งอยู่ หม่อมฉันถามพระยาโบราณกับพวกชาวกรุงเก่าที่ไปด้วย ว่านี่เขาบูชาอะไรกัน
เขาบอกว่าคนชอบมาบูชาพระเทพบิดรที่อยู่ในซุ้มคูหาฝามุขพระปรางค์ตรงนั้นแลขึ้นไปดูเห็นเป็นซุ้มจระนำ มีประตูบานไม้อย่างมีอกเลาปิดอยู่ หม่อมฉันให้เปิดประตูดูองค์พระเทพบิดรเป็นพระพุทธรูปยืน (ดูเหมือนจะเป็นมุทรยกพระหัตถ์ข้างขวาประทานพร) สูงขนาดสักเท่าคนปั้นติดไว้กับฝาผนังข้างใน ดูฝีมือที่ทำไม่งดงามเป็นแต่ปิดทองไว้อร่ามทั้งองค์
พระยาโบราณเล่าเรื่องตามคำบอกเล่าของชาวกรุงเก่าให้หม่อมฉันฟังว่า พระเทพบิดรองค์นั้นเดิมเป็นเทวรูป พวกชาวกรุงเก่าเรียกกันว่า ‘พระเจ้าอู่ทอง’ ศักดิ์สิทธิ์นัก ผู้คนจึงชอบบนบานเซ่นสรวงเสมอไม่ขาด แต่อยู่มาพระเจ้าอู่ทองนั้นเกิดดุร้ายจนชาวกรุงเก่าพากันหวาดหวั่นครั่นคร้ามทั่วไป พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมช้างเสด็จขึ้นบัญชาการซ่อมแซมพะเนียด ทรงทราบ จึงโปรดให้ปั้นแปลงรูปพระเจ้าอู่ทองเป็นพระพุทธรูป แต่นั้นก็หายดุร้าย ถึงกระนั้นคนก็ยังนับถือกลัวเกรงพากันไปบนบวงสรวงอยู่เสมอ บายศรีที่หม่อมฉันเห็นๆ จะเป็นของสินบนถวายเมื่อกลางคืนที่ล่วงมาจึงยังทิ้งอยู่”พระเทพบิดร
“เวลานั้นหม่อมฉันก็ไม่ได้เอาใจใส่ไต่สวน เมื่ออ่านลายพระหัตถ์คิดถึงศักราชขึ้น จึงแลเห็นวินิจฉัยกว้างขวางออกไป คือ เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา หอพระเทพบิดรอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในการพิธีถือน้ำประจำปี บรรดาราชการต้องไปบูชาพระเทพบิดรเสมอเป็นนิจมาจนเสียกรุง ในปีกุน พุทธศักราช 2310 และเมื่อเสียกรุงนั้นไฟไหม้วัดพระศรีสรรเพชญ์หมดทั้งวัด ของที่หล่อด้วยโลหะ เช่น พระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญดาญาณ เป็นต้น
ตลอดจนรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้าง บรรดาที่อยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ถูกไฟไหม้ละลายเหลืออยู่แต่ซากเป็นท่อนๆ แทบทั้งนั้น พระเทพบิดรก็คงเป็นเช่นนั้นเหมือนกันจนถึงปีมะโรง พุทธศักราช 2327 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้เชิญพระเทพบิดรลงมากรุงเทพฯพระเทพบิดรอยู่ที่ไหน ข้อนี้ส่อว่าเทวรูปพระเทพบิดรที่วัดพุทไธสวรรย์กับที่เชิญลงมากรุงเทพฯ เห็นจะเป็นองค์เดียวกันนั่นเอง”ประวัติพระเทพบิดร“เรื่องประวัติของพระเทพบิดรในตอนนั้นดูพอจะคิดเห็นได้ไม่ยาก ด้วยเมื่อสมัยกรุงธนบุรี ราชธานีเก่ายับเยินหมด ราชธานีใหม่ก็ยังไม่ตั้งเป็นปึกแผ่น หม่อมฉันอยากจะลงเนื้อเห็นว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเองทรงปรารภถึงพระเทพบิดร ซึ่งเคยนับถือว่าเป็นรูปพระมหาชนกของเมืองไทย แต่จะทำอย่างอื่นให้คืนดีเหมือนเดิมยังไม่ได้ เพราะเป็นเวลากำลังติดการทัพศึก และยังสร้างราชธานีใหม่ไม่สำเร็จ
จึงโปรดให้เชิญไปปฏิสังขรณ์อย่างติดต่อปั้นพอกพอเป็นรูปประดิษฐานไว้ที่ซุ้มพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ อันเป็นวัดที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้าง ก็เทวรูปพระเทพบิดรนั้นนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว คนก็พากันชอบไปบูชาตลอดเวลาที่อยู่ ณ วัดพุทไธสวรรย์ หม่อมฉันเห็นว่าเมื่อเชิญพระเทพบิดรลงมากรุงเทพฯ นั้น คงเชิญมาจากวัดพุทไธสวรรย์และเลาะเอาแต่ชิ้นโลหะของเดิมมา จึงเกิดกรณีที่ต้องหล่อใหม่”แปลงเป็นพระพุทธรูป“ที่สร้างแปลงเป็นพระพุทธรูปนั้น หม่อมฉันคิดว่าอีกอย่าง 1 ด้วยจำเดิมแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มา ในงานพิธีถือน้ำประจำปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ข้าราชการถวายบังคมพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมหาชนกแทนพระเทพบิดรมา 3 ปีแล้ว ถ้าหล่อพระเทพบิดรเป็นเทวรูปอย่างเดิม เกรงจะเกิดปัญหาว่าควรคงถวายบังคมพระบรมมหาชนก หรือกลับถวายบังคมพระเทพบิดรตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระวิตกเกรงจะเกิดเกี่ยงแย่งกันขึ้น จึงโปรดให้หล่อแปลงเป็นพระพุทธรูปเพื่อจะตัดปัญหานั้นมิให้มีขึ้นทีเดียว ที่ว่าข้อนี้เป็นแต่เพียงคะเนนึกซึ่งอาจจะผิดไม่มีมูลเลยก็ได้ หากทรงพระราชดำริเช่นนั้นจริงก็ถูก เพราะพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นพระราชวงศ์ซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเป็นต้นพระราชวงศ์ซึ่งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์”วัดพุทไธสวรรย์
พระพุทธรูปในซุ้มพระปรางค์
เหตุที่กรมหลวงเทพพลภักดิ์แปลงเทวรูปพระเทพบิดร วัดพุทไธศวรรย์ เป็นพระพุทธรูป สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า เมื่อเชิญองค์พระเทพบิดรมาแล้ว ชาวกรุงศรีอยุธยาจะเลื่องลือกันอย่างอุตริ อาทิ ผีพระเจ้าอู่ทองยังอยู่และดุร้ายขึ้น หรือมิฉะนั้นจะยังมีคนไปเซ่นสรวงกันอยู่ไม่ขาด จึงมีรับสั่งให้กรมหลวงเทพพลภักดิ์ทำรูปพระเทพบิดรขึ้นไว้ที่วัดพุทไธศวรรย์แทนองค์เดิม แต่ให้แปลงเป็นพระพุทธรูปเช่นเดียวกับองค์กรุงเทพฯ จึงยังปรากฏอยู่ที่วัดพุทไธศวรรย์ และคนยังไปบนบวงสรวงสืบมาผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
วันที่ : 19 ก.ค. 59
http://www.matichon.co.th/news/217042