« เมื่อ: กรกฎาคม 24, 2016, 07:28:53 am »
0
นักประวัติศาสตร์จี้ “กรมศิลป์”งานไหนบูรณะผิดต้อง”สั่งรื้อ” จวกบ.รับเหมารีบจบงาน เหตุศาลาฯวัดใหญ่สุวรรณารามเสียหายสืบเนื่องจากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณีช่างซ่อบูรณะศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม อ.เมือง จ.เพชรบุรีอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการของช่างเมืองเพชรโบราณ อาทิ ใช้ตะปูตอกลงบนเนื้อไม้แทนการใช้สลักไม้-เข้าไม้แบบดั้งเดิม รวมถึงผลงานที่ไม่มีความประณีต จนศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร ต้องออกมาแสดงความเห็นติติงในรายละเอียดตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อ.ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามลดต้นทุนของบริษัทรับเหมา ซึ่งประมูลงานจากรมศิลปากร โดยการใช้ไม้คุณภาพปานกลาง อีกทั้งการตอกตะปู ก็ผิดหลักการบูรณะ ซึ่งความผิดพลาดในครั้งนี้ นอกกจากบริษัทรับเหมาแล้ว กรมศิลปากรก็ควรเปลี่ยนแนวคิด ในการบูรณะของฝ่ายช่างด้วย โดยจะต้องทำตามแนวทางที่นักโบราณคดีวางไว้ ไม่ใช่ทำตัวเป็นนายใหญ่
“กรณีศาลาการเปรียญที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ถือว่าเป็นการบูรณะผิดหลัก เรื่องเสาไม้ที่ใช้ไม้ “คุณภาพปานกลาง” คือความพยายามในการลดต้นทุนของบริษัทที่รับเหมาเสียมากกว่า
ส่วนการบูรณะโดยใช้ตะปูตอกเสริมเข้าไปนั้น ก็ถือว่าผิดหลักการบูรณะเช่นกัน ถึงจะอ้างว่าต้องการเสริมความมั่นคง แต่ก็สามารถตั้งคำถามย้อนกลับไปได้ง่ายๆ ว่าของเดิมซึ่งใช้การเข้าสลักไม้นั้นก็มีความมั่นคงเช่นกัน เรื่องนี้สะท้อนว่าช่างต้องการรีบจบงานให้ไว เพื่อจะได้ประหยัดต้นทุนในการทำงาน ยิ่งไวบริษัทก็ยิ่งได้กำไร
อาจมีช่างหัวหมอบางคนบอกว่าการเสริมความมั่นคงทำกันในหลายกรณีเช่นการสอดเหล็ก เข้าไปในตัวอาคาร แต่อันนั้นคือการใช้กับกรณีของอาคารปูนที่ขาดความมั่นคงสูง แต่ความเป็นจริงแล้วต้องพยายามเลียนแบบเทคนิคเดิม
นอกจากนี้แล้ว ในหลักการบูรณะ กรณีของไม้ ถ้าไม่เสื่อมคุณภาพก็ต้องพยายามใช้วัสดุเดิม ไม่ใช่เปลี่ยนทิ้งออกทั้งหมด นอกจากนี้แล้ว ไม้เก่าที่รื้อออกจากตัวอาคารเดิม ตามหลักการแล้วควรเก็บ เพราะถือเป็นโบราณวัตถุประเภทหนึ่ง ซึ่งในอนาคตสามารถเอามาศึกษาในประเด็นอื่นๆ ได้เช่น แหล่งไม้ที่คนสมัยอยุธยาเอามาใช้สำหรับการสร้างอาคาร วิธีการคัดเลือกเนื้อไม้เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของตัวอาคาร หรือกระทั่งการศึกษาสภาพภูมิอากาศสมัยโบราณด้วยการศึกษาจากวงปีไม้ เป็นต้น
แนวคิดในการบูรณะของฝ่ายช่างของกรมศิลปากรควรเปลี่ยน ผมเคยเถียงมาแล้วกับช่างว่า ช่างนั้นต้องทำหน้าที่ในการรองรับแนวคิดด้านการอนุรักษ์จากนักโบราณคดี ไม่ใช่มาทำตัวเป็นนายใหญ่ ที่สำคัญด้วยคือ แนวคิดในการอนุรักษ์สมัยใหม่คือ ความพยายามในการรักษาสภาพเดิมของโบราณสถานให้มากที่สุด ไม่ใช่ก่อเทียมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด จนโบราณสถานกลายเป็นของใหม่ เสริมความมั่นคงก็เสริมไป แต่ไม่ใช่ก่อเสียจนสมบูรณ์แบบทั้งองค์ งานไหนบูรณะผิดก็ต้องสั่งให้รื้อ ไม่ใช่เซ็นต์ผ่านให้จบๆ กันไป” ผศ.พิพัฒน์กล่าวขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.matichon.co.th/news/221773