ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ภาษาไทย รากเหง้าเก่าสุด 3,000 ปีมาแล้ว อยู่มณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน  (อ่าน 1420 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ภาษาไทย รากเหง้าเก่าสุด 3,000 ปีมาแล้ว อยู่มณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน อักษรไทย คืออักษรเขมรที่ถูกทำให้ง่าย อักขรวิธีง่ายที่สุด

อักษรไทย คืออักษรเขมรที่ถูกทำให้ง่าย แต่ยิ่งง่ายคืออักขรวิธีง่ายที่สุดในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ (จำจากข้อเขียนของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ กำลังพิมพ์เป็นเล่มโดยสำนักพิมพ์มติชน)

อักษรไทยและอักขรวิธีเก่าสุด ใช้เขียนบนสมุดข่อย ยุคอยุธยา (จำจากงานค้นคว้าของ จิตร ภูมิศักดิ์) หลังจากนั้นจึงมีผู้ปรับปรุงเพื่อใช้สลักหิน เช่น รัฐสุโขทัย (มีเค้าอยู่ในพงศาวดารเหนือ) แต่ภาษาไทย ถูกผู้พิทักษ์ภาษาไทยสถาปนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยอิงนิยายเรื่องประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหง


แผนที่แสดงตำแหน่งมณฑลกวางสี ทางภาคใต้ของจีน (ติดเวียดนาม) แหล่งเก่าสุดทางตระกูลไต-ไท รากเหง้าของภาษาไทย


รากเหง้าเก่าสุดภาษาไทยอยู่กวางสี

ภาษาไทย ตามหลักฐานวิชาการว่ามีรากเหง้าจากตระกูลภาษาไต-ไท พบเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณมณฑลกวางสี (ภาคใต้ของจีน) ต่อเนื่องถึงเมืองแถง ที่เดียนเบียนฟู (ภาคเหนือของเวียดนาม) คนยุคนั้นไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย และไม่เรียกภาษาที่พูดว่าภาษาไทย ตราบจนปัจจุบันนี้ บริเวณกวางสีกับเมืองแถง ยังมีคนพูดตระกูลภาษาไต-ไท แต่ก็ไม่เรียกภาษาไทย และไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย

ตระกูลภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าภายในภูมิภาค เพราะไม่ยุ่งยากซับซ้อน (เมื่อเทียบกับภาคอื่น) ทำให้แพร่กระจายออกไปกว้างขวาง ย่อมมีอำนาจมากทางการเมืองและเศรษฐกิจพร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะตั้งแต่ ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฯลฯ

คนพูดภาษาอื่นในชีวิตประจำวัน เช่น มอญ, เขมร, เจ๊ก, แขก, ม้ง, เมี่ยน, ลาว ฯลฯ ต้องใช้ภาษาไต-ไท และคุ้นกับวัฒนธรรมไต-ไท กระทั่งราวหลัง พ.ศ. 1700 คนหลายเผ่าพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง รวมกันเรียกตัวเองด้วยชื่อสมมุติขึ้นใหม่ว่า ไทย, คนไทย แล้วดัดแปลงอักษรเขมรกับอักษรมอญเป็นอักษรไทย

มณฑลกวางสี แหล่งเก่าสุดของภาษาไต-ไท ผมเคยไปสังเกตการณ์เมื่อ พ.ศ. 2537 แล้วบันทึกมาพิมพ์เป็นเล่ม ชื่อ คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ จะยกบางตอนมาปรับเพื่อแบ่งปันสู่กันอ่าน ต่อไปนี้


ปกหนังสือคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ คำให้การเรื่องจ้วง (มณฑลกวางสีในจีน) เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2537


ตามล่าหาจ้วง แต่ไม่เคยพบจ้วง

ผมได้ยินครั้งแรกสุดในชีวิต ชื่อ “จ้วง” ชนชาติพูดตระกูลภาษาไทยในมณฑลกวางสีของจีนภาคใต้ จากท่านศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี (ปราชญ์สามัญชนคนสำคัญอีกท่านหนึ่งของประเทศไทยที่ถึงแก่กรรมแล้ว) ตอนที่ผมยังเรียนสอบตกวิชาภาษาอังกฤษอยู่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ระหว่าง พ.ศ. 2507-2513)

อาจารย์ชินเอาบทความภาษาอังกฤษเรื่องจ้วงให้ผมแปลเป็นภาษาไทย แต่ผมต้องส่งคืนท่าน เพราะอ่านไม่ออก แปลไม่ได้สักตัวเดียว ไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อเรื่องว่า “จ้วง” หลังจากนั้นท่านก็แปลเอง แถมอบรมเรื่องจ้วงให้ผมรู้อีกต่างหาก

ตั้งแต่นั้นมาผมก็จดจำเรื่องจ้วงใส่กบาลไว้ จนได้อ่านหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยามฯ” ของจิตร ภูมิศักดิ์ อ้างถึงเรื่องจ้วงไว้อีก และอ่านดูรู้ว่าจิตรอ้างบทความเดียวกันกับที่อาจารย์ชินเคยบอก ผมยิ่งกระหายใคร่รู้เรื่องให้กว้างขวางออกไป ทั้งอยากเดินทางไปสำรวจและศึกษาที่เมืองจ้วง

ครั้งเป็นนักข่าวติดตาม ฯพณฯ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับจีน (พ.ศ. 2518) ทางการจีนพาไปสถาบันชนชาติที่ปักกิ่ง ได้พบปะสนทนากับพวกลื้อสิบสองพันนา แต่ไม่ได้พบพวกจ้วง ถึงพบก็คงไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นยังตื่นๆ หลับๆ และสับสนอลเวงเรื่องชนชาติไทย


 :96: :96: :96: :96: :96:

คราวเดินทางไปยูนนาน (พ.ศ. 2527) เพื่อศึกษาเรื่องลื้อที่สิบสองพันนากับเรื่องน่านเจ้า ผมก็สอบถามนักวิชาการจีนที่คุนหมิงอย่างศาสตราจารย์เฉินหลี่ฟ่าน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาแห่งยุนนาน และศาสตราจารย์เจีย แยนจอง เรื่อง “จ้วง” อีก ท่านทั้งสองได้เล่าเรื่องย่อๆ ให้ฟัง แล้วบอกว่ายินดีจะประสานงานให้ผมได้ไปเมืองจ้วง เพื่อรู้จักจ้วง แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่พร้อมจะเดินทาง เพราะขณะนั้นยังมีภาระอื่นๆ ท่วมหัว โดยเฉพาะ “ดอกเบี้ย”

เมื่อบรรดานักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปศึกษาและวิจัยที่เมืองจ้วง ผมก็ติดตามและเฝ้ารอผลการศึกษาและวิจัยอย่างใจหายใจคว่ำ

จนกระทั่งได้อ่านบทความเรื่อง “ประเพณีแห่กบของชาวจ้วง : นิทานกับความเชื่อ” ที่อาจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าไว้ในวารสารภาษาและวรรณคดีไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 – สิงหาคม 2529) ทำให้อยากไปศึกษาเรื่องกบ เพราะเกี่ยวข้องกับมโหระทึก และผมเชื่อเป็นส่วนตัวว่ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเครื่องตีโลหะตระกูลฆ้องในวงดนตรีไทย ดังที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ “ร้องรำทำเพลง” (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2532)

 :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2534 ผมติดตามอาจารย์ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง กับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายท่านไปเวียดนามเพื่อประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับ “ไทเฮียน” (ไทศึกษา) ที่ฮานอย แล้วไปศึกษาเรื่องราวของตระกูลไทยที่เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) และเมืองอื่นๆ ที่อยู่ใกล้พรมแดนเวียดนาม-จีนด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องถึงชนชาติจ้วงในกวางสีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้คนตระกูลไทย-ลาว กับชาวเวียดนามเอง และวัฒนธรรมสำริดตั้งแต่กลุ่มเทียนในยุนนาน ลงมาถึงกลุ่มดงเซินในเวียดนาม กลุ่มจ้วงในกวางสี และกลุ่มบ้านเชียงในประเทศไทย ที่ผมเขียนร่วมกับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไว้แล้วในหนังสือชื่อ “ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม” (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ จัดพิมพ์จำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2534)

ขณะนั้นตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่ายังขาดความรู้เรื่องชนชาติจ้วง และคิดว่าจะต้องไปศึกษาต่อที่เมืองจ้วงให้ได้-สักวันหนึ่งเถอะ คอยดู แต่ช่วงเวลาทำงานที่ “ศิลปวัฒนธรรม” ยังไม่ลงตัว จึงยังไม่ได้เดินทางไปเมืองจ้วงอย่างที่ต้องการสักที ทำได้เพียงติดตามความรู้เรื่องจ้วงจากเอกสารและงานประชุมสัมมนาทางวิชาการของนักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำวิจัยมาหลายปีแล้วเท่านั้น

ครั้นจะหาเอกสารจากนักวิชาการจ้วงและจีนมาศึกษานั้นอย่าพึงหวัง เพราะล้วนเป็นภาษาจีน ผมอ่านไม่ได้ แปลไม่ออก บอกไม่ถูก ที่ทำได้และทำอยู่เรื่อยๆ คือขอให้คุณทองแถม นาถจำนง เรียบเรียงเรื่องจ้วงจากเอกสารจีนลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ“ศิลปวัฒนธรรม”


หนานหนิง เมืองหลวงของมณฑลกวางสี เขตปกครองตนเองจ้วง (พ.ศ. 2537)


ไปเมืองจ้วง

“ตามล่าหาจ้วง แต่ไม่เคยพบจ้วง” ที่ยกมา ผมเขียนไว้เมื่อกลับจากไปเมืองจ้วง กวางสี พ.ศ. 2537 ที่ไปคราวนั้นเพราะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยประสานงานกับนักวิชาการที่กวางสี เพื่อไปสังเกตการณ์พิธีฝังศพกบจ้วง ที่มีเป็นประเพณีช่วงหลังตรุษจีน เข้าหน้าแล้ง

นักวิชาการกวางสี คือรองศาสตราจารย์ฉิน เซิ่งหมิน (Qin Shengmin) เป็นรองผู้อำนวยการสถาบันชนชาติแห่งมณฑลกวางสี (Vice Director of Guangxi Research Institute for Nationalities) และเป็นชาวจ้วง เกิดปีระกา ปัจจุบันอายุ 49 ปี เรียนจบวิชาโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีผลงานวิชาการเกี่ยวกับชนชาติจ้วง และมณฑลกวางสีหลายเรื่อง

สำหรับปีนี้ (พ.ศ. 2537) พิธีกรรมฝังศพกบจ้วงจะมีในวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม ที่หมู่บ้านหนาหลี่ชุน อำเภอเทียนเอ๋อ ทางตอนเหนือของมณฑลกวางสี (ติดเขตมณฑลกุ้ยโจวหรือกุยจิ๋ว) ต่อไปนี้เป็นเนื้อความที่ผมสรุปไว้ในหนังสือตั้งแต่ พ.ศ. 2537



บ้านชาวจ้วงตามไหล่เขา (พ.ศ. 2537)


จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทย ผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด

ที่ว่า “จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทย” ก็เพราะภาษาจ้วงกับภาษาไทยอยู่ในตระกูลเดียวกัน ฉันทลักษณ์ในบทร้อยกรองของจ้วงกับของไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมีพื้นฐานจากคำคล้องจองเช่นเดียวกัน

นิทานปรัมปราและนิยายศักดิ์สิทธิ์ที่ถ่ายทอด “ปากต่อปาก” ด้วยภาษาจ้วงหรือภาษาตระกูลไทย เช่น เรื่องกำเนิดคน เรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสัมพันธ์กับน้ำฝน เช่น กบ ฯลฯ ล้วนคล้ายคลึงกับนิทานและนิยายของชนชาติไทยทุกกลุ่มทุกเหล่า รวมทั้งคนไทยในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ชาวจ้วงย่อมพูดว่า - “ไทยเป็นเครือญาติตระกูลจ้วง” - ด้วยก็ได้

ที่ว่า – “ผู้ยิ่งใหญ่” – ก็เพราะในมณฑลกวางสีมีชาวจ้วงถึง 12-13 ล้านคน และอยู่เขตมณฑลอื่นๆ อีกเกือบ 1 ล้านคน นับเป็นเครือญาติตระกูลไทยมีจำนวนมากที่สุดที่อยู่นอกดินแดนประเทศไทยซึ่งนับว่าใหญ่มาก นอกจากนั้นชาวจ้วงยังมีส่วนเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึกที่เป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วย นี่แหละ “ผู้ยิ่งใหญ่”

ที่ว่า -“เก่าแก่ที่สุด”- ก็เพราะมีร่องรอยและหลักฐานว่าจ้วงมีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว โดยดูจากภาพเขียนที่ผาลายกับมโหระทึกและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ “ผี”



ชาวจ้วงที่มณฑลกวางสี (พ.ศ. 2537)

 
ภาพเขียนมหึมาบนภูผามหัศจรรย์-หรือผาลาย เป็นภาพพิธีกรรมขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ มีภาพมโหระทึกและกลุ่มคนประโคมตีมโหระทึก มีภาพคนประดับขนนกบนหัวแล้วทำท่ากางขากางแขนคล้ายกบ

มโหระทึกเป็นกลองหรือฆ้องทำด้วยสำริดที่มีตัวตนเป็นวัตถุจริงๆ เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอุษาคเนย์โดยเฉพาะ และมีพัฒนาการเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว อาจนับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ก่อนรับอารยธรรมจากจีนและอินเดีย

เฉพาะบริเวณที่เป็นถิ่นฐานของชาวจ้วงในมณฑลกวางสี พบมโหระทึกฝังอยู่ใต้ดินไม่น้อยกว่า 600 ใบ และชาวจ้วงทุกวันนี้ยังมีมโหระทึกประจำตระกูลกับประจำหมู่บ้านใช้งานในพิธีกรรมที่ทำสืบเนื่องมาแต่ดึกดำบรรพ์อีก รวมแล้วนับพันๆ ใบ แสดงว่า ชาวจ้วงให้ความสำคัญต่อมโหระทึกมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่าจ้วงเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึก (แม้ชนชาติอื่นจะมีมโหระทึกด้วย แต่รวมแล้วไม่มากเท่าจ้วง)


 :25: :25: :25: :25:

ทุกวันนี้ชาวจ้วงยังใช้มโหระทึกประโคมตีในพิธีสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรม “ขอฝน” เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ดังพิธีบูชากบประจำปี ตามหมู่บ้านต่างๆ มีขบวนมโหระทึกแห่กบ มีการละเล่นที่คนแต่งตัวเป็นกบช่วยเหลือมนุษย์ ฯลฯ ล้วนสอดคล้องกับภาพเขียนที่ผาลาย แสดงว่าชาวจ้วงยังสืบทอดประเพณีและพิธีกรรมตั้งแต่ยุคสำริดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานราว 3,000 ปีมาแล้ว

พิธีกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นระบบความเชื่อ “ผี” ที่มีอยู่ในนิทานและนิยาย ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันกับความอุดมสมบูรณ์ที่เกี่ยวกับลมมรสุมอันเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และทางวัฒนธรรมที่มีความเจริญมาช้านาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงว่าชาวจ้วงตั้งหลักแหล่งเป็นปึกแผ่นมั่นคงอยู่บริเวณมณฑลกวางสีและเขตใกล้เคียงอย่างสืบเนื่องมาแต่ดั้งเดิมเริ่มแรก ยิ่งการที่มีประชากรเพิ่มขึ้นมากถึง 12-13 ล้านคน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้มาช้านานมากทีเดียว

นี่แหละ “จ้วง-เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด”


 :s_hi: :s_hi: :s_hi: :s_hi:

แต่-ทุกวันนี้จ้วงไม่ใช่คนไทย เพราะไม่ได้เป็นประชากรของประเทศไทย และไม่ได้อยู่ในดินแดนประเทศไทย ทุกวันนี้ชาวจ้วงเป็นคนจีน เพราะเป็นประชากรจีน และอยู่ในดินแดนประเทศจีน รวมทั้งมีวิถีชีวิตที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีน ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องที่อยู่อาศัย และขนบธรรมเนียมประเพณีหลายๆ อย่าง

และแม้จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองจ้วงกวางสี แต่อาจมีชาวจ้วงบางกลุ่มเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยสมัยโบราณก็ได้ ส่วนชาวจ้วงเกือบทั้งหมดก็อยู่ที่เมืองจ้วงนั่นแหละ

เหตุที่ต้องสนใจศึกษาเรื่องจ้วง ก็ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวไว้ว่า “จ้วง เป็นกลุ่มชนชาติไทยที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ อย่างสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งอย่างน้อยก็ราว 2,300-2,400 ปีมาแล้ว ฉะนั้น วัฒนธรรมของชาวจ้วงก็คือวัฒนธรรมไทยที่มีความเก่าแก่ เป็นอารยธรรมเริ่มแรกของภูมิภาคนี้ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลอารยธรรมจีนและอินเดีย”


       ans1 ans1 ans1 ans1

      “แสดงว่าคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย พูดภาษาไทย มีระบบความเชื่อและประเพณีหลายอย่างคล้ายคลึงกับชาวจ้วง ไม่ได้เพิ่งมีความเจริญรุ่งเรืองและมีวัฒนธรรมของตนเองเพียงสมัยสุโขทัยราว 700-800 ปีอย่างที่ใครต่อใครคิดกันไปเองเท่านั้น”

      “ถ้าไม่มีชาวจ้วงที่เป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดเป็นผู้สืบทอดอารยธรรมต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วเอาไว้ คนไทยก็คงไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าตนเองก็มีพื้นเพรากเหง้าเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์”



คนไทย เพิ่งเรียกตัวเองราวหลัง พ.ศ. 1700 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง มีศูนย์กลางอยู่อยุธยา ไม่อพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนจากเทือกเขาอัลไต ส่วนภาษาไทยมีรากเหง้าเก่าสุดอยู่มณฑลกวางสี ทางตอนใต้จของจีน ที่อัลไตไม่มีภาษาไทย [พรุ่งนี้ อ่าน- จ้วงมณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน พูดภาษาไต-ไท แต่ไม่ใช่คนไทย]


ผู้เขียนb: สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา : มติชนออนไลน์
เผยแพร่ : 29 ก.ค. 59
http://www.matichon.co.th/news/229852
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ