ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระ-เณร” ใต้พระร่มเกล้ารัชกาล 9  (อ่าน 1250 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 29300
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

“ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระ-เณร” ใต้พระร่มเกล้ารัชกาล 9

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง“โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” สนับสนุนพระภิกษุสามเณรให้มีโอกาสทางการศึกษา

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมา โยมก็ได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสแลได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ โยมได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้ากับจะได้จัดการให้ความคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงทรงจำไว้ด้วยดีว่า โยมเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิดฯ” พระบรมราโชวาทในวันเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม2453

อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจของ“ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" รัชกาลที่9ทรงสนับสนุนพระภิกษุสามเณรให้มีโอกาสทางการศึกษาพระพุทธศาสนาชั้นสูง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง“โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” และพระราชทานทุนปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2547 โดยพระราชทานทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาในสถานศึกษาของคณะสงฆ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) มหามกุฎราชวิทยาลัย(มมร.) และกองบาลีสนามหลวง เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นมา

ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย จะมอบให้แก่สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานของคณะสงฆ์ที่กำกับดูแล โดยจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการศึกษา เพื่อการลงทะเบียนเรียน ค่าหน่วยกิต ค่าหนังสือตำราเรียน และค่าธรรมเนียมต่างๆ

ซึ่งประกอบด้วยทุน9ประเภท ได้แก่
    1.ทุนการศึกษาระดับเปรียญธรรม6,7,8และ9
    2.ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
    3.ทุนพระธรรมทูต
    4..ทุนสำนักเรียน
    5.ทุนพระวิปัสสนาจารย์
    6.โครงการฝึกอบรมพระนักเทศน์เฉลิมพระเกียรติ
    7.ทุนเล่าเรียนพระบาลี
    8.ทุนสถาบันพระบาลีศึกษาดีเด่น และ
    9.ทุนสำนักปฏิบัติธรรม/สถานปฏิบัติธรรมดีเด่น



13 ปี “โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย”ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์และสามเณร 7,000 กว่าทุนแล้ว ฯพณฯ พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรีเป็นประธานโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความห่วงใยต่อการศึกษาพระธรรม-บาลีของพระภิกษุ สามเณร อยากให้รู้ลึกซึ้งในธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง จึงทรงตั้งเป็นทุนเริ่มต้นไว้ 13 ล้านบาท

จากนั้นก็มีผู้สมทบทุนเพิ่มเติมบ้าง แต่ก็ไม่มากมายอะไรนัก โอกาสต่อไปอาจจะขยายให้ถวายแด่พระภิกษุสามเณรเพื่อไปเรียนต่างประเทศบ้าง ที่สำคัญอยากช่วยอุดหนุนพระนักเผยแผ่ให้มากขึ้นเพื่อท่านจะได้มีความรู้และสอนเป็น เช่นเดียวกับครูถ้าไม่มีความรู้ก็ไม่สามารถสอนนักเรียนได้ โดย การเทศน์สอนธรรมะควรมีทุกครั้งที่มีพิธีสงฆ์ซึ่งจะดีกว่าการสวดมนต์อย่างเดียวที่สวดเป็นภาษาบาล

ฯพณฯ พล.อ.อ.กำธน กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ได้รับพระราชทานพระราชดำริมาก็คือว่า ประการแรก ต้องการให้พระสงฆ์ สามเณรได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าโดยถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ท่านตรัสรู้ การพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงฯมาถึง 7 ปีแล้ว

ขณะนี้ มมร. มจร. และแม่กองบาลีสนามหลวง ได้เผยแผ่ธรรมะไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งพระธรรมทูตออกไปชี้แจงว่าหลักการของพระพุทธศาสนานั้นคืออะไรผ่านการเทศน์ แม้เดี๋ยวนี้อาจจะจางหายไป คนไปฟังเทศน์ก็น้อยลง จึงควรมีการพัฒนาการเทศน์ให้มากขึ้น เช่น การเทศน์ไม่จำเป็นต้องเข้าวัด หรือเป็นวันพระ งานบุญขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด วันแต่งงาน งานศพ งานทั่วไปก็เทศน์ได้ โดยการเทศน์ไม่ควรใช้เวลานาน เลือกเรื่องที่เหมาะสม ไม่ใช่เน้นแต่พิธีสงฆ์เท่านั้น

ประการที่สอง ธรรมะเริ่มหายจากระบบสังคมทั่วไป ในระดับการศึกษาประถมน้อยลง มัธยมจะยิ่งไม่ค่อยมี พอเข้ามหาวิทยาลัยจะไม่ได้พูดถึงธรรมะ จบออกมาเป็นคนที่มีความรู้มาก แต่มีความรู้สึกที่จะเป็นคนดีน้อยลง หรืออีกอย่างหนึ่ง คนเก่งมีเยอะ คนดีมีน้อย จึงอยากนำพระธรรมไปสู่ระบบของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา จึงอยากขอให้พระสงฆ์ในโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ เป็นผู้นำสายธรรมไปสู่เด็กกลุ่มนี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเอกชน หน่วยราชการและหน่วยงานใหญ่ๆของบ้านเมือง จะเป็นรัฐวิสาหกิจ ปตท. กฟผ.ให้เห็นความสำคัญของการเผยแผ่นั้นขอให้มุ่งไปที่ตัวผู้บริหารหน่วยงานก่อน จากนั้นขยายสู่ระดับล่างลงไป นิสิต นักศึกษา ขอฝากเป็นการบ้านที่ฝ่ายพระสงฆ์ต้องไปขบคิด เพราะศาสนาทำให้สังคมเราสงบสุข ถ้าเราเอาธรรมะไปเผยแพร่ได้ จะช่วยให้คนไทยมีสังคมที่อบอุ่น



น.ต.เกริก ตั้งสง่า กรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เล่าว่า โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เป็นทุนที่ให้กับพระภิกษุสงฆ์และสามเณร รวมถึงผู้บริหารสถาบันการศึกษา โดยทางโครงการเป็นผู้มองทุนและให้สถาบันการศึกษา สถาบันสงฆ์ บริหารจัดการพิจารณาความเหมาะสม กำหนดเกณฑ์ คำนึงถึงความต้องการพระภิกษุ สามเณร ที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนแต่ขาดโอกาส อีกทั้งจะมีการให้ทุนแก่สำนักเรียน หมายถึงโรงเรียนที่สอนบาลี หรือวัดที่เปิดสอนบาลี พระพุทธศาสนา แล้วส่งเสริมให้ทุกคนมีผลสอบที่ดี พระบาลีศึกษาดีเด่น สำนักปฎิบัติธรรมดีเด่น

ไม่เพียงเท่านั้น  เมื่อปีการศึกษา 2552 คณะกรรมการโครงการกองทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ได้อนุมัติถวายทุนฯเพิ่มเติมจำนวน 3,075 ทุน เพื่อสนับสนุนคณะสงฆ์ในการผลิตบุคลากรด้าน วิปัสสนาจารย์ แก่วงการพระสงฆ์ไทย แบ่งเป็นทุน 2 ประเภท คือ ระดับประกาศนียบัตร จำนวน 3,000 ทุน และระดับมหาบัณฑิต จำนวน 75 ทุน

โดยถวายทุนฯ เริ่มต้นผ่านศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 เป็นเงิน 6,750,000 บาท ดังนี้
        1.ทุนวิปัสสนาภาวนา ระดับมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) จำนวน 75 ทุน ทุนละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,750,000 บาท
        2.ทุนวิปัสสนาภาวนา ระดับประกาศนียบัตร สำหรับปีการศึกษา 2552 จำนวน 600 ทุน ทุนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 3,000,000 บาท
โดยจะมอบให้อีกปีละ 600 ทุน จนครบ 3,000 ทุน ในระยะเวลา 5 ปี (2552-2556) รวมเป็นเงิน 15,000,000 บาท

“ทุนเล่าเรียนหลวงวิปัสสนาจารย์ เป็นการผลิตพระวิปัสสนาจารย์สำเร็จผลตามเจตจำนงที่มุ่งทำนุบำรุง และสืบสานพระพุทธศาสนาของคณะกรรมการกองทุนเล่าเรียนหลวง และสนองพระราชศรัทธาของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งทุนดังกล่าว รวมถึงเป็นการเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่หันมาหาวัด ปฎิบัติธรรมที่วัดมากขึ้น จึงรณรงค์ให้ทุนเพื่อสร้างวิปัสสนาอาจารย์ ที่ไปสอนปฎิบัติอย่างเต็มที่



ขณะนี้ได้มอบทุนไปแล้ว 4000 รูป กระตุ้นให้วัด ไปสร้างสำนักปฎิบัติธรรม สร้างเกณฑ์หรือตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ประเมิน พบว่าช่วยกระตุ้นให้พุทธศาสนิกชนปฎิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้น 15 ล้านคนต่อปี (นับปฎิบัติธรรมแบบเทศกาลพิเศษ) จากอดีตมีพุทธศาสนิกชน ประมาณ10ล้านคน ต่อปี”น.ต.เกริก กล่าว

ทุนเล่าเรียนหลวงวิปัสสนาจารย์ ตั้งเป้าหมายโดยพุทธศาสนิกชนเป็นที่ตั้ง เพื่อเผยแพร่การปฎิบัติธรรม พระพุทธศาสนา น.ต.เกริก เล่าอีกว่า ขณะนี้การเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าวัด ปฎิบัติธรรมนั้น ยอมรับว่าถ้ามองในรูปแบบเช่นเดียวกับธุรกิจนั้น จะเห็นได้ว่าต้องแข่งขันกับปัญหาทางสังคม แข่งกับศาสนาด้วยกันเอง ดังนั้น ต้องมองว่าจะทำอย่างไรถึงรักษา และช่วยเผยแพร่พุทธศาสนา ให้สร้างคุณธรรม จริยธรรมให้ประชาชนได้รับรู้ และเข้ามามีส่วนร่วม ฉะนั้น การให้ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ไทย เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการทะนุบำรุง เผยแพร่พระพุทธศาสนา

เหนืออื่นใด ปี 2559 ทุนเล่าเรียนหลวงฯ ถวายแด่พระภิกษุ สามเณรทั้งสิ้น 456 ทุน เป็นเงิน 9,875,000 บาท ประกอบด้วย
    1.ทุนเล่าเรียนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของกองบาลีสนามหลวง
    2.ทุนเล่าเรียนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยสงฆ์
    3.ทุนเล่าเรียนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของกองงานพระธรรมทูต
    4.ทุนเล่าเรียนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
    5.ทุนเล่าเรียนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของกองธรรมสนามหลวง
ซึ่งพระองค์ได้วางรากการศึกษาให้แก่คณะสงฆ์ไทย ตลอดระยะเวลา 70 ปี พระองค์ทรงงานตลอดเวลา เพื่อประชาชน พสกนิกรไทย



ขอบคุณข้อมูล และภาพจากเว็บไซต์ โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
ขอบคุณที่มา http://www.komchadluek.net/news/edu-health/246308
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 19, 2016, 09:54:22 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ