ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ยาดม ยาอม ยาหม่อง” กับ 8 คำถาม ที่คุณอาจลืมว่า เคยสงสัย.!!  (อ่าน 1395 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“ยาดม ยาอม ยาหม่อง” กับ 8 คำถาม ที่คุณอาจลืมว่า เคยสงสัย.!!

ยาสามัญประจำบ้านภูมิปัญญาไทยสุดฮิต สุดฮอต ที่ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยก็ครองใจสังคมไทย ตั้งแต่เด็กจนโตขนาดที่ไม่มีใครไม่รู้จัก คงหนีไม่พ้น “ยาดม ยาอม ยาหม่อง” มิตรคู่เรือนที่คุ้นเคยของใครหลายคน แต่อย่าให้ความใกล้ทำให้คุณละเลยที่จะรู้จักยาทั้งสาม วันนี้ Men’s Health ของเราจึงขอพาทุกคนมาหาคำตอบกับ 9 ประเด็นคาใจที่หลายคนอาจสงสัยจนลืมไปแล้ว จากหลากผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ความรู้แก่เรากัน



1. “ติดยาดม” จริงหรือ.?

ในทางการแพทย์การ “ติดยา” หมายถึง ร่างกายไม่สามารถหยุดใช้ยานั้นได้ หากหยุดจะมีอาการถอนยาหรือลงแดง แต่การติดยาดม เป็นลักษณะการติดเป็นนิสัย คล้ายกับการที่เราชอบหมุนปากกา ชอบรับประทานอาหารเผ็ด หรือติดหมอนข้างนั่นล่ะครับ วันที่ลืมพกยาดม จะมีอาการอย่างมากคืออยากสูดดมบ้าง แต่เมื่อทำงานหรือเรียนในระหว่างวันเราก็ละเลยความคิดนั้นไปได้ เรื่องของเรื่อง คือ ทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชัดว่าหากใช้ยาดมหลอดติดต่อกันในระยะยาวจะมีผลให้เราติดหรือไม่อ่ะนะ


2. ทำไมจมูกจึงโล่ง.?

ตัวยาอย่าง เมนทอล (Menthol) มีฤทธิ์ช่วยลดการทำงานของปลายประสาทรับความรู้สึกระคายเคืองที่ทำให้เราจาม เมื่อสูดยาดมจึงรู้สึกว่าลดอาการจามได้ นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นปลายประสาทรับความเย็น จึงรู้สึกเย็น ซ่า ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าหายใจได้โล่งขึ้นนั่นเอง


3. ควรดมยังไง… ขนาดไหน.?

สำหรับคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเมนทอล หรือการบูร (Camphor) รวมถึงสารอื่นๆ ในยาดม ล้วนแล้วแต่มีโอกาสทำให้โพรงจมูกระคายเคือง อักเสบ เมื่อใช้ความเข้มข้นสูงๆ จึงไม่ควรยัดหลอดยาเข้าในจมูกค้างไว้ และควรใช้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ยาหม่องน้ำ (อีกด้านหนึ่งของปลายหลอด) อย่าหยดลงในจมูกโดยตรง แต่ควรป้ายสำลีหรือผ้าเช็ดหน้า หรือทาบางๆ ที่หน้าอกแล้วสูดไอระเหิด หรือทาด้านนอกของจมูกในปริมาณที่น้อย รายที่แพ้สารบางอย่างซึ่งเป็นส่วนประกอบในยาดม หรือมีโรคเกี่ยวกับโพรงจมูก ควรเลี่ยงไปเลยก็จะดี




4. อมได้เรื่อยๆ หรือไม่.?

ยาอมลูกกลอน โดยทั่วไปทำจากผงสมุนไพรไทย เช่น มะขามป้อม ชะเอมเทศ ฯลฯ (ผู้ผลิตแต่ละรายมักใช้ส่วนผสมที่แตกต่างหลากหลาย) ประสานให้เกาะกันโดยตัวเชื่อม เช่น น้ำผึ้ง เม็ดอมเหล่านี้มีฤทธิ์ในการ “บรรเทา” ได้จริง เช่น ช่วยละลายเสมหะ ลดการระคายคอ ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาถูกต้องไม่ว่าคุณจะมีอาการป่วยหรือไม่ ก็ควรรับประทานในปริมาณที่ฉลากกำหนด เพราะนั่นคือปริมาณที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ว่าอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย ผู้ที่มีแนวโน้มแพ้สมุนไพร หรือเป็นโรคเบาหวาน ควรระวังเป็นพิเศษและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา


5. เลือกยาอมยังไงถึงจะดี.?

ก่อนอื่นที่คุณต้องมองหาคือ เลขทะเบียนตำรับยา โดยกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วยตัว “G” เช่น G432/48 (หรือจ่ายโดยแพทย์แผนไทยที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ) ผู้ผลิต ปริมาณบรรจุ ครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ และเมื่อต้องหยิบใช้ให้คุณสังเกตเสมอว่า หากมีจุดสี หรือฝุ่นขาวเกาะตามเม็ดยา เม็ดอมเยิ้มติดกัน สีเปลี่ยน หรือหากอมแล้วพบว่ามีรสชาติเปลี่ยนไป ก็โยนลงถังขยะได้เลย




6. “กลิ่น” เกี่ยวหรือไม่.?

น้ำมันหอมระเหยในยาหม่องหลายชนิดที่มาจากสมุนไพรอย่างไพล เสลดพังพอน หรือน้ำมันสกัดอื่นๆ อย่างน้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันกานพลู น้ำมันเปปเปอร์มินต์ นอกจากจะซึมผ่านผิวหนังแล้ว โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจากการสูดดมยังมีผลต่อระบบลิมบิก (Limbic System) ในสมอง กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) เอนเคฟาลิน (Enkephalin) และเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและเมื่อยล้า (แต่มีข้อแม้ว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นจะต้องใช้น้ำมันหอมระเหยแท้จากสมุนไพรธรรมชาติและมีคุณภาพได้มาตรฐาน)


7. นวดไปทำไม.?

การนวดช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนมากขึ้น และลดกรดแลคติค (Lactic Acid) ซึ่งคั่งค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้คลายความเมื่อยล้าและกล้ามเนื้อฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่อันที่จริงอาการปวดเมื่อยหลังออกกำลังกายตามธรรมดา เพียงแค่หยุดพักก็สามารถหายได้เป็นปกติได้โดยไม่ต้องใช้ยาทา

8. หม่องไทยกับออฟฟิศซินโดรม.?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) โรคฮิตเรื้อรังของหนุ่มสาวออฟฟิศ ไม่ได้เกิดจากสารคั่งค้างในกล้ามเนื้ออย่างเดียว แต่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อจนเป็นก้อนเล็กๆ เรียกว่า จุดกดเจ็บ (Trigger Point) ทำให้มีการปวดและชาบริเวณรอบจุดนั้นๆ การใช้น้ำมันสมุนไพรและนวดอย่างถูกวิธีนั้นมีประโยชน์มาก แต่ไม่ใช่เท่านั้นเพราะการออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อช่วงบ่า ไหล่ และหลังแข็งแรง ก็สำคัญมากเช่นกัน

แม้กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งนับว่ามีความปลอดภัยในการใช้สูง และก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อย แต่เมื่อเป็น “ยา” โดยมีการขึ้นทะเบียนยา ก็ย่อมมีข้อบ่งใช้ที่คุณต้องพึงระวัง และหากไม่มีความผิดปกติใดๆ ก็ไม่มี “ความจำเป็น” ต้องใช้ แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้และใช้อย่างถูกต้องแล้ว ควรจับสังเกตร่างกายตัวเองตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าจนเป็นนิสัย หากมีสิ่งผิดปกติจากยาที่ดูไร้พิษภัยเหล่านี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


เรื่อง ล่ามยา รูปประกอบ นริศรา


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
www.mhthailand.com/uncategorized/ยาดม-ยาอม-ยาหม่อง
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ