
ถึงช่วงเวลาหน้าหนาว แม้บางที่ เช่น กรุงเทพฯ คนที่อาศัยอยู่จะไม่รู้สึกหนาวเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองผลิตความร้อน มีแต่เครื่องจักรเครื่องยนต์ เป็นเมืองคอนกรีต ที่มีรถราวิ่งกันขวักไขว่ตลอด 24 ชั่วโมง…เหตุฉะนี้ จึงไม่รู้สึกหนาว แม้ว่าจะไม่รู้สึกหนาว แต่ร่างกายบางคนก็สามารถรับคลื่นความหนาวได้ เช่น อาจจะปากแห้ง ผิวแห้งกว่าที่เคย ตื่นเช้าขึ้นมารู้สึกคัดจมูก เป็นต้น อย่างข้าพเจ้า แม้จะไม่หนาวแต่ร่างกายดูเหมือนจะรับรู้ว่าอากาศหนาวมาแล้ว เมื่อเกิดอาการไอตอนช่วงกลางคืนมากเหมือนคนแพ้อากาศ แต่ก็เป็นเฉพาะตอนช่วงหน้าหนาว (ไม่ว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะไม่หนาวก็เถอะ) ฉะนั้น เราจึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ตอนวัยเยาว์ไม่เคยซึ้งใจกับคำอวยพรของผู้ใหญ่ที่ว่าอย่าเจ็บไข้ ได้ป่วย เพิ่งมารู้ซึ้งตอนที่เข้าสู่วัย... ผู้ใหญ่แล้วว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” นี้ เป็นจริงที่สุดและเป็นสุดยอดของความปรารถนา
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีงานเสวนา หัวข้อ “ผ่อนคลายสบาย (กาย) ใจ รับลมหนาว”...ในงาน Art of Living @ Mini TK หนึ่งในกิจกรรมที่ทางอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park โดยมี นิภาพร พุ่มกลั่น วิทยากรพิเศษจาก TK park มาแนะนำ ด้านต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ เช่น...ในหน้าหนาวร่างกายจะสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้เซลล์สมองเหี่ยว เรา จึงควรที่จะดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ 8-10 แก้ว โดยเน้นที่การจิบบ่อย ๆ ในระหว่างวัน
นอกจากน้ำเปล่าแล้ว เครื่องดื่มอุ่น ๆ เหมาะที่สุดในช่วงบรรยากาศหนาวและแห้ง อย่างชาสมุนไพรจากธรรมชาติ เช่น ชากุหลาบ ชาแอปเปิ้ล ชาบลูเบอรี่ ชาเกสรบัวที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ แต่เครื่องดื่มที่ต้องหลีกเลี่ยงในช่วงอากาศแบบนี้ คือ กาแฟและเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะ กาเฟอีนไปกระตุ้นการขับปัสสาวะให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “การออกกำลังกาย” ไม่ว่าจะในฤดูไหนก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อสุขภาพร่างกาย การเลือกการออกกำลังให้ถูกวิธี บวกกับการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการมากนัก เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มาจากธรรมชาติที่แท้จริง ข้อดีอีกอย่างของการออกกำลังกายก็คือการผ่อนคลายและ ช่วยให้ร่างกายหลั่งสารความสุขที่สามารถ ป้องกันโรคซึมเศร้าได้
แต่มีชาอีกชนิดหนึ่งที่อยากแนะนำ เนื่องจากปัจจุบัน มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร รวมถึงกลุ่มโอทอปต่าง ๆ ของไทย ผลิตชาชนิดนี้ขึ้นมามากมาย เป็นการสนับสนุนเกษตรกรด้วย ขอแนะนำ ชาหม่อน ซึ่งเป็นชาที่ได้จากใบหม่อน มีข้อมูลระบุว่า มีสรรพคุณทางด้านโภชนาการ คนไทยเพิ่งรู้จักนำหม่อนมาทำเป็นชาเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากปล่อย ให้เป็นอาหารของตัวไหม แต่เพียงผู้เดียว มาตั้งนาน จากข้อมูลระบุว่าหม่อน มีแร่ธาตุและวิตามินที่เป็นประโยชน์ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 และวิตามินซี
จากรายงานของ Preventive Effect of Mulberry leaves on Adult diseases (ข้อมูลจาก ม.เกษตรศาสตร์) พบว่า ชาหม่อนมีคุณสมบัติ ในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้โดยมีการศึกษาในหนูทดลอง สรุปได้ดังนี้ ลด ระดับคอเลสเตอรอล สาร Phytosterol เป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด โดยยับยั้งการดูดซึมคอเลส เตอรอลจากลำไส้ ลดน้ำตาลใน เลือด สารที่เรียกว่าดีอ๊อกซิโนจิริมายซิน ซึ่งมีอยู่ 0.1% ซึ่งสารนี้จนกระทั่งปัจจุบันจะพบเฉพาะในใบหม่อนเท่านั้น ซึ่งมีผลในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ย่อยสลายน้ำตาล และชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ ซึ่งมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต สาร Gamma-amino butyric acid ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต บำรุงร่างกาย นอกจากมีสารที่เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์แล้ว ยังพบว่าในการวิเคราะห์ชาเขียวจาก ใบหม่อนพบแร่ธาตุต่าง ๆ และโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
....เห็นได้ว่า เป็นคำแนะนำที่มีคุณค่า ทุกคนต่างก็รู้กันดีว่าหากปฏิบัติตามแล้ว ย่อมส่งผลดีต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอน ที่สำคัญการปฏิบัติตามคำแนะนำมิใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญแต่ประการใด เป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น ดื่มน้ำให้มากขึ้น คือบางคนดื่มน้ำในแต่ละวันน้อยมาก ส่งผลให้ผิวแห้ง หน้าตา,ผิวพรรณไม่สดชื่น ช่วงนี้ก็หันมาดื่มชาแทนกาแฟก็แล้วกัน ส่วนการออกกำลังกายนั้น อย่าอ้างเชียวว่าไม่มีเวลา ก็เอาเวลาที่จะไปทำอย่างอื่นเอามาออกกำลังกายแทนดีไหม เพื่อสุขภาพของเราเอง.
"เธียรภัทร ศรชัย"