« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 24, 2017, 07:06:59 am »
0
ข้อคิดสำหรับศีลข้อหนึ่ง ศีลข้อหนึ่ง มีความมุ่งหมายเพื่อมิให้มีการฆ่าสัตว์โดยเจตนา มีแง่คิดบางประการที่ยังเป็นปัญหาข้อโต้เถียงกันอยู่ คือควรกินเนื้อหรือกินผัก ท่านโลกนาถภิกขุชาวอิตาเลียนมีหลักประจำตัวว่า ภิกษุและอุบาสกอุบาสิกาไม่ควรกินเนื้อสัตว์เลย โดยอ้างว่าเป็นการล่วงศีลข้อหนึ่ง โดยทางอ้อมและเป็นการเสียเมตตาไป พวกเราชาวสยามผู้มีเลือดเนื้อเป็นพุทธมาหลายชั่วอายุคนแล้วยังไม่เคยรู้สึกหรือจะรู้สึกอย่างท่านโลกนาถ เพราะเราเชื่อด้วยเหตุผลตามพระโอวาทว่า ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นกรรมอันจะให้ผล ซึ่งเป็นหลักอันใครจะค้านมิได้ ข้าพเจ้าก็เป็นผู้หนึ่งแห่งพุทธบริษัทชาวสยาม และยังมีความเห็นตรงในหลักนี้ทุกประการ แต่ข้าพเจ้ามีข้อคิดบางอย่าง ซึ่งเห็นว่าเราไม่ควรนิ่งกันอยู่ ควรเผยแพร่ให้รู้สึกไว้ทั่วกันเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยรู้สึก
การทำให้สัตว์ตายโดยไม่มีเจตนานั้นไม่บาป เราเคยรังเกียจไหม ในความจริงประจำวันหนึ่งๆ คือ ทุกๆ ครั้งที่เราหายใจวิทยาศาสตร์บอกแก่เราว่า จุลินทรีย์ (germs) อาจติดลมหายใจเข้าไปด้วยหลายพันตัวต่อหนึ่งครั้ง มันมีชีวิตอยู่ในอากาศ และมันเข้าไปตายในปอดของเรา โดยเราหายใจเข้าไป นี่บาปไหม ? ถ้าบาป ก็อย่าหายใจเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ จำนวนหลาย-หลาย-ล้านล้านๆ ไว้ในชั่วชีวิตเราคนหนึ่งๆ ถ้ามิฉะนั้น จะเศร้าหมองใจคือบาป
@@@@@@
ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่บาป เพราะเราหายใจเพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่หายใจเพื่อฆ่าตัวจุลินทรีย์เหล่านั้น หากเช่นนี้เป็นบาปแล้ว เราจะเคลื่อนไหวตัวมิได้เลย ใครจะนับได้ว่า เนื้อที่ชั่วฝ่าเท้าที่เหยียบลงไป จะมีชีวิตซึ่งเรามองไม่เห็นอยู่กี่ชีวิต แต่เราทายได้ และมันก็เป็นความจริงว่ามี แต่ไม่ทราบจำนวนว่ากี่ชีวิต. เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจว่า ไปบาปเพราะไม่มีเจตนา มิฉะนั้นแล้วเราไปไหนไม่ได้เลย จะทำงานอาชีวะ เช่น ไถนา เผาไร่ ขุดสวน ก็ไม่ได้หมด เพราะรู้อยู่ชัดว่าสัตว์จะต้องตาย แต่เราทำได้โดยไม่บาปก็เพราะเราไม่มีเจตนามิใช่หรือ หลักที่บาปทั้งไม่มีเจตนานั้นเป็นหลักแห่งลัทธิเดียรถีย์อื่น
ซึ่งมีอยู่ก่อนพุทธกาล และยังคงมีมาจนถึงบัดนี้ เรียกกันว่า ศาสนาเชนหรือไชนะ ลัทธินี้เขาถือว่ามีชีวิตกระทั่งเม็ดกรวดเม็ดทรายเคลื่อนไหวไปถูกมันเข้าก็บาปแล้ว เพราะทำให้มันเจ็บช้ำหรือตาย เขาถือว่า มีศีลบริสุทธิ์เฉพาะเมื่อนั่งอยู่กะที่เท่านั้น ใช้ของอ่อนนุ่ม เช่น หางนกยูงปัดฝุ่นแล้วนั่งบริกรรม จึงจะเป็นเวลาที่บริสุทธิ์ ขอให้คิดดูว่าที่ลัทธินี้มีก่อนพุทธกาล กระทั่งบัดนี้ได้แผ่ออกไปได้กี่มากน้อย กี่คนในโลกเป็นบริษัทของลัทธินี้ ? ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุผลได้บ้างกระมังว่า เพราะเขาถือจัดเกินไปจนเสียประโยชน์หรือเหตุผลอันจะน้อมโลกให้เลื่อมใส
@@@@@@
ปาณาติปาตา เวรมณีสิกขาปทํ สมาทิยามิ = "ข้าพเจ้าสมาทานบทแห่งสิกขา คือเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการทำสัตว์มี ปาณะ ให้ตกล่วง" นี่เป็นการแปลตรงตัวสิกขาบททุกตัวอักษร สัตว์มีปาณะคืออะไร ? อะไรคือปาณะ ?
ปาณะเป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเรียกว่า ปราณ, ปราณคืออะไร ข้อนี้มีคำอธิบายมากเกินกว่าที่จะถกกันให้ละเอียดในที่นี้ จะกล่าวตามความเห็นของคนทั่วไปอย่างย่อๆ ตามหลักที่รับรองกัน ปราณคือชีวิตที่ละเอียดผสมอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่ยังเป็นอยู่ หมดปราณหรือวายปราณก็ตาย อรรถกถาแก้คำนี้ไว้ว่า ปาณํ ปรมตฺถโต ชีวิตินฺทริยํ = "กล่าวโดยปรมัตถ์ ชีวิตินทรีย์ ชื่อว่าปราณ" หรือจะกลับกันว่า ปราณคือชีวิตินทรีย์ก็ได้ ชีวิตินทรีย์ก็คือชีวิตหรือความเป็นอยู่ ในตัวสิกขาบท ก็ห้ามสิ่งที่มีปราณ (ไม่ได้บ่งว่าต้องมีวิญญาณด้วย), เพราะฉะนั้น การฆ่าสัตว์ที่มีปราณก็คือปาณาติบาต
@@@@@@
ต้นไม้มีปราณไหม ? ตัวจุลินทรีย์ (germs) มีปราณไหม ? ข้อนี้ออกจะพิสูจย์ยาก ถ้าต้นไม้มีปราณ การฆ่าต้นไม้ด้วยเจตนาก็บาปแน่ ภิกษุฆ่าต้นไม้ทรงปรับอาบัติเท่ากับฆ่าสัตว์ 1 (1 หมายถึงอาบัติปาจิตตีย์เท่ากัน ตามสิกขาบทที่หนึ่ง แห่งภูตคามวรรค, และสิกขาบทที่หนึ่ง แห่งสัปปาณวรรค) ถ้าทำลายพืชของต้นไม้ เช่น เมล็ดพันธุ์ผักที่ยังเพาะงอก ก็เป็นอาบัติรองลงมา นี่เพราะมันมีปราณหรือ ?
กล่าวกันว่า ทรงบัญญัติข้อนี้เพราะเพื่ออนุโลมตามธรรมเนียมยุคพุทธกาล ส่วนข้าพเจ้ายังไม่เคยพบพุทธาธิบายในเรื่องนี้ มีแต่มติส่วนตนว่า พระองค์ทรงเห็นว่า ต้นไม้มีชีวิต เมล็ดพืชก็มีชีวิต แต่ว่าเป็นชีวิตที่ต่ำเตี้ยลงมา ยังน้อยจนไม่ควรจะห้ามสำหรับฆราวาสผู้ยัง "หนา" อยู่ แต่มากพอที่จะบัญญัติห้ามสำหรับพวกที่ออกบวช หรือผู้ที่ "บาง" แล้ว จึงทรงบัญญัติว่า บาปเฉพาะภิกษุ ภิกษุใช้เขาถอนต้นไม้ หรือ "ฆ่า" ต้นไม้ บาปเท่ากับใช้ให้ฆ่าสัตว์ ภิกษุกินผักโดยเจตนา ก็ควรบาปหรือไม่บาปเท่ากับกินเนื้อสัตว์โดยเจตนา เพราะของสองสิ่งนี้ ทรงวางไว้สำหรับภิกษุโดยเสมอกัน การที่ภิกษุประกาศให้เขาฆ่าต้นไม้-ผัก เจาะจงตน ก็ควรเหมือนหรือเท่ากับการบอกให้เขาฆ่าสัตว์เจาะจงตน ชาวบ้านฆ่าผักหรือต้นไม้เจาะจงพระ ก็ต้องเท่ากับฆ่าสัตว์เจาะจงพระ สำหรับส่วนตัวพระ คือพระคงฉันไม่ได้เช่นเดียวกัน
@@@@@@
แต่ขอให้เข้าใจว่า พระยังมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่บาป ก็คือรับอาหารจากชาวบ้านมาตามแต่เขาจะให้อะไร และเป็นอาหารที่เขาไม่ได้มีเจตนาฆ่าเจาะจงพระ เป็นอาหารบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น พระจึงไม่มีทางเลือก หรือจำกัดอาหารได้เลยเป็นอันขาด มันจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เมื่อเป็นอาหารที่กินได้สำหรับมนุษย์และไม่ผิดวินัย ก็รับมาฉันก็แล้วกัน มิฉะนั้นจะเกิดบาปขึ้นโดยส่วนใดส่วนหนึ่งแน่นอน ในเมื่อบอกว่าต้องการผักหรือเนื้อ แล้วระบุให้เขาไปฆ่ามาให้ แต่อาจมีโอกาสในเมื่อมีผู้ฆ่าขายอยู่ตามธรรมดาทั้งผักและเนื้อ โดยไม่บาปหรืออาจบาปได้เท่ากัน โดยไม่มีข้อแตกต่างระหว่างเนื้อกับผักสำหรับพระ สำหรับกรณีที่บาป
ส่วนสำหรับชาวบ้านโดยเฉพาะนั้น ผิดกัน เพราะมีข้อยกเว้นเช่นเดียวกับสิกขาบทอื่นๆ เป็นอันมาก เนื่องจากอยู่ในชั้นที่ยัง "หนา" ดังว่ามาแล้ว เขาฆ่าต้นไม้ได้โดยไม่บาป เพราะศีลของเขาจำกัดความแค่นั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงฆ่าผักกินเองก็ได้ถวายพระด้วยก็ได้ แต่เขาจะฆ่าสัตว์กินเองไม่ได้ แม้จะถวายพระด้วยก็ตาม นี่เพราะสิกขาบทผิดกันในชื่อที่เรียกเหมือนกัน
@@@@@@
นอกจากสิกขาบทปาณาติบาตนี่แล้ว ยีงมีอีกหลายสิกขาบทที่จำกัดความสูงต่ำกว่ากัน เช่น น้ำเมา เป็นอจิตตกอาบัติสำหรับภิกษุดื่มทั้งไม่รู้ว่าเป็นน้ำเมา ก็เป็นอาบัติ, แต่อุบาสกไม่มีโทษ อุบาสกทำเมถุนกรรมได้โดยให้ถูกต้องตามประเพณี แต่ภิกษุเป็นทำไม่ได้เลยทุกประการ อุบาสกลักทรัพย์แล้วสมาทานศีลได้อีก, อวดอุตริมนุสสธรรมแล้ว ก็ต่อศีลข้อสี่อีกได้ แต่ภิกษุลักทรัพย์เข้าขีด 5 มาสก หรืออวดอุตริมนุสสธรรมแล้ว ก็ "ตาย" จากภิกษุเอาทีเดียว, เหล่านี้พอเป็นตัวอย่าง
รวมความว่า ภิกษุกับฆราวาสมีความหมายแห่งศีลต่างกันคนละขั้น โดยเฉพาะสำหรับสิกขาบทที่ 1 นี้ สรุปได้เป็นใจความว่า ภิกษุฆ่าเองหรือให้ฆ่าซึ่งสัตว์เป็นบาปเช่นเดียวกับฆราวาส ภิกษุฆ่าเองหรือให้ฆ่าซึ่งต้นไม้เป็นบาป แต่ไม่เช่นเดียวกับฆราวาสคือฆราวาสไม่บาป นี้หมายเฉพาะที่มีเจตนารู้อยู่ ถ้าไม่มีเจตนาแล้ว ไม่มีใครบาปเลย
@@@@@@
เช่นเดียวกับการหายใจทำให้จุลินทรีย์ตายหรือเดินกลางคืนเหยียบปลวก ซึ่งยกฝูงออกหากินกลางคืนตาย เป็นต้น เราไม่ควรถือโดยอ้อมค้อมค้านกันไปมาเลย จะกลายเป็นการทำให้หดสั้นเข้า แทนการเผยแพร่ออกไปสำหรับพระศาสนา เราจะต้องถือให้ตรง ! ให้มีเหตุผลเพียงพอ ! มิฉะนั้นแล้ว ภิกษุจะใช้เทียนไขก็ไม่ได้ ปลาวาฬจะถูกฆ่าเอาน้ำมันมากขึ้น, จะฉันยาถ่ายท้องก็ไม่ได้ พยาธิไส้เดือน ฯลฯ จะตาย จะถ่ายอุจจาระลงในถานก็ไม่ได้ หนอนในหลุมบางตัวจะตาย ฯลฯ ดูมันเกินไปเสียแล้วกระมัง !
ท่านโลกนาถได้กล่าวผิดพลาดไปหรือ ? ภิกษุควรฉันเนื้ออีกต่อไปหรือ ? แต่ก่อนจะตัดสิน ขอให้ท่านเข้าใจว่า ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ไม่ได้มีส่วนในการเป็นคำตอบของปัญหาสองข้อนี้เลย ท่านโลกนาถกล่าวไม่ผิด ! ถ้าไม่จำเป็นแล้ว ภิกษุไม่ควรฉันเนื้อสัตว์เป็นอันขาด ! นี่คือหลักประเด็นที่จะได้อธิบายกันต่อไป
@@@@@@
ในข้อแรกขอกล่าวเสียก่อนว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนฝ่ายโลกนาถภิกษุอิตาเลียน หรือฝ่ายใดหมด นอกจากฝ่ายที่ประกอบด้วยเหตุผล ข้าพเจ้าเคยไปสนทนากับท่านโลกนาถเป็นเวลานาน บางตอนถึงกับกลายเป็นการโต้วาทะกันก็มี อย่างน้อยก็คงทำให้ข้าพเจ้ารู้จักท่านได้บ้าง ข้าพเจ้ากล้ากล่าวว่า ท่านโลกนาถกล่าวไม่ผิด ก็เพราะส่วนใหญ่กล่าวไม่ผิดจริง และเพราะข้าพเจ้าเป็นนักเพ่งแต่ฝ่ายดี จึงไม่สนใจถึงการกล่าวพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของท่านโลกนาถนั้นเลย อีกประการหนึ่งเราจะต้องต้อนรับแขกต่างประเทศของเราด้วยเจตนาดีอย่างเดียวเสมอ เราเป็นศิษย์พระพุทธองค์ ควรประกอบกรรมดีโดยส่วนเดียว
ส่วนใหญ่ที่กล้ากล่าวว่า ท่านโลกนาถกล่าวไม่ผิดนั้น หมายถึง การชักชวนให้เราก้าวหน้าในการอบรมใจ ดีกว่าที่จะนิ่งเฉยอยู่ เรื่องบางเรื่องที่มีผู้เห็นเป็นสำคัญ แต่ข้าพเจ้าเห็นเป็นเพียงเกร็ดของเรื่องก็มีอยู่มาก เช่น การพิสูจน์ว่า พระพุทธองค์ฉันเนื้อหรือไม่ เป็นต้น ความจริงพระพุทธองค์ต้องทรงฉันเนื้อแน่ๆ แต่เป็นส่วนน้อยที่สุด เพราะหาฉันยากตามประเพณีพื้นเมืองของอินเดีย แต่ท่านโลกนาถพยายามพิสูจน์ว่าปัจฉิมบิณฑบาตเป็นเห็ดนั้น ขอให้เราให้อภัยแก่ท่านอย่างเดียวกับที่โบราณาจารย์ของเราหวังดีต่อเรา อ้างว่าบนสวรรค์มีนางฟ้าเท่านั้นเท่านี้ เราจะยึดเอาเป็นกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการบำเพ็ญบุญอย่างนั้นอย่างนี้อันเป็นการต้อนคนเข้ามาในการปฏิบัติดีงาม แต่เราไม่ถือว่าท่านกล่าวเท็จ กล่าวผิด หรืออะไรหมดก็แล้วกัน เพราะเราเป็นคนเพ่งดีท่าเดียว
@@@@@@
ข้อสำคัญ อยู่ที่โลกนาถภิกขุประสงค์ให้เราก้าวหน้าในสัมมาปฏิบัติ ! ข้าพเจ้าจึงว่าท่านกล่าวไม่ผิด เพราะเจตนาของท่านดี
การให้เว้นเนื้อเสพผัก เป็นการก้าวหน้าในสัมมาปฏิบัติอย่างไร ก็เข้ากับปัญหาในประเด็นหลังของข้าพเจ้าแล้ว จะถือโอกาสตอบพร้อมกันไปคราวเดียวกัน ดังต่อไปนี้
คำว่า "จำเป็น" หมายถึง ความจำเป็นของภิกษุ ที่จะเลือกสั่งอาหารไม่ได้ ต้องฉันตามแต่ที่จะได้มา ดังกล่าวมาแล้วในวันก่อน แต่ขอให้เข้าใจว่า สำหรับประเทศซึ่งนิยมกินผักปนเนื้อเช่นประเทศเรานั้น เกือบจะไม่มีการจำเป็นอะไรนัก ที่จะต้องสั่งอาหารผัก เพราะอย่างไรเสีย อาหารนั้นก็คงปรุงกันมาทั้งเนื้อและผัก ซึ่งเราอาจเว้นเนื้อ ฉันแต่ผักได้เสมอไป และยังมีผลไม้อันอุดมกว่าเมืองหนาวอีกเป็นอันมาก ความจำเป็นโดยเฉพาะมักเกิดในคราวเดินทาง หรือในการสมาคมกับพวกที่ชอบกินเนื้อล้วนๆ เป็นต้น แต่เพราะเราจะต้องสมาคม เพื่อประกาศพระศาสนาแก่คนทุกประเภท เราจึงมีข้อแม้ในเมื่อมีเหตุจำเป็น ทั้งเพื่อไม่ให้มีการเลี้ยงยากเป็นพิเศษเกิดขึ้นด้วย
ทำไมเราจึงไม่ควรกินเนื้อสัตว์ (ในเมื่อไม่จำเป็น)..? เพราะว่า เป็นการทำเพื่อยึดเอาประโยชน์ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม เป็นการก้าวหน้าของสัมมาปฏิบัติอันหนึ่ง ซึ่งได้ผลมากแต่ลงทุนทางฝ่ายวัตถุน้อยที่สุด ไปมากอยู่ทางฝ่ายใจ, ซึ่งจะแยกอธิบาย ดังนี้
ฝ่ายธรรม เช่น
1. เป็นการเลี้ยงง่ายยิ่งขึ้น เพราะผักหาง่ายในหมู่คนยากจนเข็ญใจ มีการปรุงอาหารด้วยผักเป็นพื้น นักเสพผักย่อมไม่มีเวลาที่ต้องกระวนกระวายเพราะอาหารไม่ถูกปากเลย ส่วนนักเสพเนื้อต้องเลียบเคียงเพื่อได้อุททิสมังสะบ่อยๆ ทายกเสียไม่ได้ โดยในทีก็พยายามหาให้ ทายกที่มีใจเป็นกลางเคยปรารภกับข้าพเจ้าเองหลายต่อหลายนักแล้ว ว่าสามารถเลี้ยงพระได้ตั้ง 50 องค์ โดยไม่ต้องมีการรู้สึกลำบากอะไรเลย ถ้าไม่เกี่ยวกับปลากับเนื้อ ซึ่งบางคราวต้องฝืนใจทำไม่รู้ไม่ชี้กันมากๆ มิใช่เห็นแก่การที่มีราคาแพงกว่าผัก แต่เป็นเพราะรู้ดีว่ามันจะต้องถูกฆ่าเพื่อการเลี้ยงพระของเรา มีอีกหลายคนทีแรกที่ค้านว่าอาหารผักล้วนทำให้วุ่นวายลำบาก แต่เมื่อได้ลอง เพราะบางคราวไม่ต้องติดไฟเลยก็มี ตัณหาของนักเสพผักกับนักเสพเนื้อ มีแปลกกันอย่างไร จักกล่าวในข้อหลัง เฉพาะข้อนี้ขอจงทราบไว้ว่า คนกินเนื้อเพราะแพ้รสตัณหา, กินเพราะตัณหา, ไม่ใช่เพราะให้เลี้ยงง่าย
2. เป็นการฝึกในส่วนสัจธรรม คนเราห่างจากความพ้นทุกข์ เพราะมีนิสัยเหลวไหลต่อตัวเอง, สัจจะในการกินผักเป็นแบบฝึกหัดที่น่าเพลิน บริสุทธิ์สะอาด ได้ผลสูงเกินที่คนไม่เคยลองจะคาดถึง. มันเป็นอาหารที่จะหล่อเลี้ยง "ดวงความสัจจะ" ในใจของเราให้สมบูรณ์ แข็งแรง ยิ่งกว่าแบบฝึกหัดอย่างอื่น ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดที่ค่อนข้างง่ายโดยมาก, หรือยากที่จะได้ฝึกเพราะไม่สามารถนำมาเป็นเกมฝึกหัดประจำทุกๆ วัน เราต้องฝึกทุกวัน จึงจะได้ผลเร็ว การฝึกใจด้วยเรื่องอาหาร อันเป็นสิ่งที่เราบริโภคทุกวัน จึงเหมาะมาก อย่าลืมพระพุทธภาษิตที่มีใจความว่า สัจจะเป็นคู่กับผ้ากาสาวพัสตร์
@@@@@@
3. เป็นการฝึกในส่วนทมธรรม (การข่มใจให้อยู่ในอำนาจ) คนเราเกิดมีทุกข์เพราะตัณหาหรือความอยากที่ข่มไว้ไม่อยู่ ข้อพิสูจน์เฉพาะเรื่องผักกับเนื้อง่ายๆ เช่น ข้าพเจ้าเห็นชาวตำบลป่าดอนสูงๆ ขึ้นไป อุตส่าห์หาบอาหารผักลงมาแลกปลาแห้งๆ ทางบ้านแถบริมทะเล ขึ้นไปรับประทาน, ทั้งที่ต้องเสียเวลาเป็นวันๆ และทั้งที่กลางบ้านของเขามีอาหารผักพวกเผือกมัน, มะพร้าว, ผัก, ฟัก ฯลฯ อย่างสมบูรณ์ และทั้งที่อาหารเหล่านั้นยังเป็นของสดรสดี, สามารถบำรุงร่างกายได้มากกว่าปลาแห้งๆ จนราจับ ที่อุตส่าห์หาบขนไปไว้เป็นเสบียงกรังเป็นไหนๆ ผู้ที่ไม่มีการข่มรสตัณหา จักต้องเป็นทาสของความทุกข์และถอยหลังต่อการปฏิบัติธรรม การข่มจิตด้วยอาหารการกินก็เหมาะมาก เพราะอาจมีการข่มได้ทุกวันดังกล่าวแล้ว การข่มจิตเสมอเป็นของคู่กับผ้ากาสาวพัสตร์
ควรทราบว่า มันเป็นการยากอย่างยิ่ง ที่คนแพ้ลิ้นจะข่มตัณหา โดยเลือกกินแต่ผัก จากจานอาหารที่เขาปรุงด้วยเนื้อและผักปนกันมา ! จงยึดเอาเกมที่เป็นเครื่องชนะตน อันนี้เถิด ในการเลี้ยงพระของงานต่างๆ ข้าพเจ้าเคยเห็น เคยได้ยินเสียงเรียกเอ็ด แต่อาหารเนื้อ ส่วนอาหารผักล้วนดูเหมือนเป็นการยากที่จะได้ถูกเรียกกับเขา แล้วยังเหลือกลับไปอีก แม้อาหารที่ปรุงระคน ก็หายไปแต่ชิ้นเนื้อ ผักคงเหลือติดจานกลับไปก็มี และยิ่งกว่านั้นก็คือ ควรทราบว่า แม่ครัวหรือเจ้าภาพเขารู้ตัวก่อนด้วยซ้ำ เขาจึงปรุงอาหารเนื้อไว้มากกว่าอาหารผักหลายเท่านัก ทั้งนี้ ก็เพราะตัณหาทั้งของฝ่ายทายกและปฏิคาหก ร่วมมือกัน "เบ่งอิทธิพล"
@@@@@@
4. เป็นการฝึกในส่วนสันโดษ (การพอใจเท่าที่มีที่ได้) ชีวิตพระย่อมได้อาหารชั้นพื้นๆ โดยมาก ข้าพเจ้าเคยเห็นบรรพชิตบางคนเว้นไม่รับอาหารจากคนยากจน เพราะเลวเกินไป คือเป็นเพียงผักหรือผลไม้ชั้นต่ำ แม้จะรับมาก็เพื่อทิ้ง นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่มีความสันโดษ หรือถ่อมตน การฝึกเป็นนักเสพผักอย่างง่ายๆ จะแก้ปัญหานี้ได้หมด สันโดษเป็นทรัพย์ของบรรพชิตอย่างเอก
5. เป็นการฝึกในส่วนจาคะ (การสละสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบหรือพ้นทุกข์) นักเสพผักมีดวงจิตบริสุทธิ์ผ่องใสเกินกว่าที่จะนึกอยากในเมื่อเดินผ่านร้านอาหารนอกกาล หรือถึงกับนึกไปเอง ในเรื่องจะบริโภคให้มีรสหลากๆ เพราะผักไม่ยั่วในการบริโภค มากไปกว่าเพียงเพื่ออย่าให้ตาย, ต่างกับเนื้อซึ่งยั่วให้ติดรสและมัวเมาอยู่เสมอ ความอยากในรสที่เกินจำเป็นของชีวิต, ความหลงใหลในรส, ความหงุดหงิด เมื่อไม่มีเนื้อที่อร่อยมาเป็นอาหาร ฯลฯ เมื่อไม่มีเนื้อที่อร่อยมาเป็นอาหาร ฯลฯ เหล่านี้ ข้าพเจ้ารับรองได้ว่า ไม่มีในใจของนักกินผักเลย ส่วนนักเสพเนื้อนั้น ย่อมทราบของท่านได้เอง เป็นปัจจัตตัง เช่นเดียวกับธรรมะอย่างอื่น
@@@@@@
6. เป็นการฝึกในส่วนปัญญา (ความรู้เท่าทันดวงจิตที่กลับกลอก) การกินอาหารจะบริสุทธิ์ได้นั้น ผู้กินต้องมีความรู้สึกแต่เพียงว่า "กินอาหาร" (ไม่ใช่กินผักหรือเนื้อ, คาวหรือหวาน) และเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ การที่จะปรับปรุงใจให้ละวางความยึดมั่นว่า เนื้อ-ผัก หวาน-คาว ดี-ไม่ดี ฯลฯ เหล่านี้เป็นแบบฝึกหัดที่ยาก แต่ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของการยึดมั่นในชื่ออาหารมามีความสำคัญแต่เพียงว่าเป็น "อาหาร" ที่บริสุทธิ์แล้วก็บริโภคอยู่เสมอแล้ว
นี่ก็เป็นการก้าวก้าวใหญ่ของการปฏิบัติธรรม ไม่มีอะไรดีไปกว่าอาหารผัก ที่จะเป็นอารมณ์อันบังคับให้ท่านต้องใช้ปัญญาพิจารณามันอยู่เสมอทุกมื้อ, เพราะเนื้อทำให้หลงรส ผักทำให้ต้องยกใจขึ้นหารส เหมาะแก่สันดานของสัตว์ ซึ่งมีกิเลสย้อมใจจับแน่นเป็นน้ำฝาดมาแต่เดิม แต่ปัญญาของท่านต้องมีอยู่เสมอว่า ไม่ใช่จะไปนิพพานได้เพราะกินผักเป็นเพียงการช่วยเหลือในการขูดเกลากิเลสทุกวันเท่านั้น ไว้นานๆ จะทดลองความรู้สึกในใจของท่านว่า จะบริสุทธิ์สะอาดพอหรือยัง ด้วยการลองรสอาหารที่ยั่วลิ้นเสียคราวหนึ่ง, คือเนื้อที่ปรุงให้มีรสวิเศษนั่นเองก็ได้
@@@@@@
ข้าพเจ้าเองไม่ได้มีความเห็นว่า ฝ่ายที่จะช่วยเหลือการขูดเกลาจิตใจต้องเป็นผัก, ความจริงมันควรเป็นอาหารชั้นเลวๆ ไปประณีตก็พอแล้ว แต่เมื่อใคร่ครวญดูไปๆ ก็มาตรงกับอาหารผัก เพราะเนื้อนั้นทำอย่างไรเสีย ก็ชวนกินอยู่ตามธรรมชาติ, แม้เพียงแต่ต้นเฉยๆ มันก็ยังยั่วตัณหาอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นฝ่ายที่จะปราบตัณหาจึงกลายเป็นเกียรติยศของผัก, คือหารที่จะข่มตัณหาได้, และมีแต่ทางบริสุทธิ์อย่างเดียวโดยไม่มีการระวังเลยก็ได้, เหมาะสำหรับผู้ที่ระแวงภัยในความประมาทอยู่เสมอ
(ยังมีต่อ...)