ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'ภูมิพโลภิกขุ' พระผู้ครองพระองค์ ตามพระธรรมวินัย  (อ่าน 1016 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28596
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




'ภูมิพโลภิกขุ' พระผู้ครองพระองค์ ตามพระธรรมวินัย

สัปดาห์นี้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่าถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะทรงออกผนวชและเสด็จฯ ออกบิณฑบาตหมือนภิกษุทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวชในบวรพุทธศาสนาเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระองค์ทรงได้รับฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ” หลังจากนั้นเสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ในระหว่างที่ทรงประทับจำพรรษาอยู่นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกให้ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง)

พระองค์ทรงผนวชโดยมีพระราชดำริว่า...พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติที่ประชาชนส่วนใหญ่เลื่อมใส เมื่อทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นเพราะได้ทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า “พระธรรม” ซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและเป็นความจริงแท้ (สัจธรรม)

ในระหว่างที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศ ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นเดียวกับภิกษุทั้งหลายด้วยความเคร่งครัดยิ่ง เช่น เสด็จฯ ลงพระอุโบสถ ทรงทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรม ทรงออกรับบิณฑบาตเหมือนภิกษุทั่วไป



ในรุ่งเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 ซึ่งเป็นวันที่ 14 แห่งการทรงผนวชได้เสด็จฯ ออกบิณฑบาตโดยไม่มีหมายกำหนดการ เสด็จฯ ไปตามถนนย่านบางลำพูแล้วเสด็จฯ ประทับรถของสถานีวิทยุ อ.ส. ภายในบริเวณโรงเรียนวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ออกไปทางสะพานเฉลิมวันชาติ ผ่านหน้าวังสวนกุหลาบ ถนนราชวิถี ถนนพระรามที่ 6 อ้อมไปทางสะพานควาย แล้วกลับมาทางถนนพหลโยธินและถนนพญาไท

ทรงแวะรับบิณฑบาตที่บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ชาวพุทธที่ตักบาตรกันตามปกติในเช้าวันนั้นต่างพากันรู้สึกตื่นเต้นและยินดีที่มีโอกาสตักบาตรแด่พระองค์ และเมื่อเสด็จฯ กลับถึงวัดบวรนิเวศราชวรวิหารแล้วยังมีผู้มารอถวายบิณฑบาตหน้าวัดอีกหลายคน

@@@@@@

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้ทรงเล่าว่า “…จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้มีความรู้สึกว่าพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงผนวชตามราชประเพณีอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า “หัวใหม่” ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้นถ้าเป็นบุคลคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า “บวชด้วยศรัทธา” เพราะทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา ประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด…”

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้มีพระลิขิตลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2530 กล่าวถึงพระจริยวัตรของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ในขณะที่ทรงผนวช เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ความว่า...

“สมเด็จพระบรมพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระหว่างทรงผนวช ทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ ได้ทรงปฏิบัติดียิ่งในฐานะเป็นพระภิกษุ ผู้ประกอบด้วยสีลทิฏฐิดีชอบตามพระพุทธธรรมวินัย และในฐานะเป็นพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรงต่อเวลา เมื่อเสียงระฆังทำวัตรเช้าเย็นดังขึ้น จะเสด็จฯ ถึงพระอุโบสถทันที เสด็จฯ ด้วยพระบาทเปล่า มิได้ทรงฉลองพระบาท (แบบพระ) เมื่อเสด็จฯ ไปในที่ใดๆ ทุกแห่ง ทรงเพียบพร้อมด้วยสัปปุริสธรรม 7 คือความรู้จักเหตุ ความรู้จักผล ความรู้จักตน ความรู้จักประมาณ ความรู้จักกาล ความรู้จักประชุมชน ความรู้จักเลือกบุคคล ทรงปฏิบัติถูกต้องเหมาะควรทุกประการ”




สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตกรรมการมหาเถรสมาคม ได้เล่าว่า...

“ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงผนวชอยู่ 15 วัน ขณะนั้นอาตมายังเป็นสามเณรและได้บรรพชาเป็นพระภิกษุสงฆ์พร้อมพระองค์ พำนักอยู่พระตำหนักเดียวกัน อาตมาจึงได้เห็นพระจริยวัตรของพระองค์ขณะที่เป็นพระสงฆ์ แม้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แต่พระองค์ทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งกว่าสามัญชน พระองค์ทรงมีขันติมาก ที่กล่าวว่าพระองค์ทรงมีขันตินั้น เห็นได้จากเหตุการณ์ที่พระองค์เสด็จฯ ไปยังพระอุโบสถเพื่อทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน ในพระอุโบสถนั้นเมื่อหันหน้าเข้าหาพระประธาน ทิศตะวันตกจะเป็นพระสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่าพระองค์ ส่วนทิศตะวันออกจะเป็นพระสงฆ์ที่บรรพชาตามพระองค์ อาตมาสังเกตเห็นพระองค์ประทับนั่งหันพระบาทไปทางทิศตะวันออกและไม่เคยหันพระบาทไปทางทิศตะวันตกเลย พระองค์จะทรงประทับอยู่ท่าเดียวเช่นนี้ทุกวันที่ลงพระอุโบสถ เพราะพระองค์ทรงให้เกียรติพระสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่า ถ้าเป็นพระใหม่รูปอื่น ไม่น่าจะนั่งท่าเดียวได้โดยไม่สลับท่านั่ง นับได้ว่าพระองค์ทรงปฏิบัติเคร่งครัดในศาสนกิจทุกประการอย่างดี”

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ข้าราชการทุกประเภท รวมถึงพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมกับคณะสงฆ์ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าคณะจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีขึ้น จังหวัดละ 89 รูป รวมทั่วประเทศ 6,853 รูป ระหว่างวันที่ 16-30 ตุลาคม 2560 นี้ รวม 15 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนปกติ




การอุปสมบทในครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งที่ผู้เข้ารับการอุปสมบทจะต้องคำนึงถึงหน้าที่ของภิกษุซึ่งมีอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ การศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) ประการที่สอง คือ การปฏิบัติธรรม (วิปัสสนาธุระ) รวมถึงการประพฤติปฏิบัติตนตามสิกขาบทในพระวินัย 227 ข้อ อย่างเคร่งครัดจึงจะเป็นการถวายพระราชกุศลอย่างแท้จริงแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกทั้งยังจะได้รับอานิสงส์จากการอุปสมบทเพื่อน้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อการทำหน้าที่ของข้าราชการที่ดี.


คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ขอบคุณภาพจาก : www.watbowon.com , วิกิพีเดีย
ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก : https://www.dailynews.co.th/article/602326
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ