ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระส่วนเกิน เพลิดเพลินวัตถุสิ่งเสพ กฎเหล็กคณะสงฆ์ ต้องไม่ลูบหน้าปะจมูก  (อ่าน 1213 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


พระส่วนเกิน เพลิดเพลินวัตถุสิ่งเสพ กฎเหล็กคณะสงฆ์ ต้องไม่ลูบหน้าปะจมูก

บ้านย่อมมีกฎบ้าน เมืองย่อมมีกฎเมือง ขณะที่พระสงฆ์ ก็มีกฎของคณะสงฆ์ในการปกครอง

เมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นร้อนในวงการคณะสงฆ์ เมื่อเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะหนเหนือ เจ้าคณะหนใต้ และคณะธรรมยุต ทยอยออกคำสั่งให้พระสังฆาธิการ กวดขันคุมเข้มพฤติกรรมพระภิกษุ สามเณรในปกครอง ห้ามกระทำการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขของประชาชน ให้พระสังฆาธิการกวดขันไม่ให้พระภิกษุ สามเณร มีความประพฤติเสียหาย เป็นที่ติเตียนของประชาชน และให้พระสังฆาธิการกวดขัน ควบคุม ดูแลพระภิกษุ สามเณร ไม่ให้ละเมิดพระธรรมวินัย นอกจากนี้ยังให้ระมัดระวังเรื่องการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก

แต่ในส่วนของคำสั่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง แตกต่างไปจากหนอื่นๆ เพิ่มเติมคือ มีคำสั่งระบุว่า การจัดทำป้ายโฆษณาติดประกาศในที่ต่างๆ เกี่ยวกับพิธีการปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ด้วย (กฎเหล็กพระ-เณร งดวิจารณ์ ทางโลก-การเมือง)

และจากคำสั่งดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่ชาวพุทธจำนวนมากตั้งคำถาม และเคลือบแคลง ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ พระภิกษุจะวางตัวอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ถามความเห็นจาก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่คลุกคลีและเคยทำวิจัยเรื่องพระสงฆ์และทรัพย์สินส่วนตัว มาให้แฟนๆ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ฟัง

 


พระภิกษุ กับ โซเชียลเน็ตเวิร์ก

พระอาจารย์ไพศาล กล่าวว่า ส่วนตัวแล้ว อาตมาเห็นด้วยกับคำสั่งที่ออกมาเกือบทุกข้อ ยกเว้น การห้ามใช้โซเชียลมีเดีย เพราะการห้ามดังกล่าว ไม่ต่างจากการห้ามพระงดใช้โทรศัพท์มือถือ หรืออินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พระทำตามคำสั่ง ยกตัวอย่างเช่น หากพระจะเล่นแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นนามแฝง เป็นฆราวาส แบบนี้ผิดไหม ถ้าแบบนั้นจะออกกฎแบบนี้เพื่ออะไร “เพื่อสร้างภาพ” หรือไม่.. คำถามต่อมาคือ ถ้า “วัดมีเฟซบุ๊ก” เมื่อมีพระเป็นแอดมิน แบบนี้ผิดหรือเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเหวี่ยงแหมากเกินไป จนควบคุมได้ยากและหลีกเลี่ยงได้ง่าย ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติกับผู้ใช้งาน

อ.ดนัย กล่าวเสริมในประเด็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ว่า ส่วนตัวมองว่า พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายรูปที่ใช้สื่อโซเชียลฯ ในทางสร้างสรรค์ ก็ยังมี พระที่ดีมากมายทำให้พุทธศาสนาสามารถเข้าถึงใจคนในยุคนี้ได้ หากเราเอาเครื่องมือโซเชียลฯ มาใช้เป็นคุณ มันจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าออกกฎอะไรมากเกินไป ตนก็คิดว่าทางมหาเถรสมาคม ก็จะไม่สามารถลงรายละเอียดในการดูแลได้ หากเราดูภาพกว้าง อย่างคดีใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น พระยันตระ เณรคำ ธรรมกาย พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว มหาเถรสมาคมก็ยังทำอะไรไม่ได้เลย


รายได้จากการท่องเที่ยวของวัดภูเขาทอง
 


พระภิกษุ กับ การเช่าวัตถุมงคล และการหาเงินเข้าวัด

พระอาจารย์ไพศาล กล่าวว่า อาตมาจำได้ว่า..คำสั่งลักษณะการห้ามขาย หรือโฆษณาวัตถุมงคลนั้น เคยมีคำสั่งลักษณะนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้ทำกันจริงจัง ออกคำสั่งมา แต่ไม่ปฏิบัติตาม สิ่งที่กลัวก็คือ การออกกฎเหล็กครั้งนี้ จะกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งในที่สุด ทั้งที่เรื่องนี้อาตมาก็เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ควรทำมานาน แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มจะทำ หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ กรณี “เงินทอน” และเรื่องอื่นๆ แต่ยังดีที่ยังขยับเรื่องนี้ แต่หากไม่มีมาตรการรองรับก็จะกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไปในที่สุด

“ปัจจุบันเรามีพระ “ส่วนเกิน” เยอะทีเดียว ส่วนเกินในที่นี้หมายถึง “ตัวเงิน” ไม่ใช่ขาดเงิน แต่มีเงินมากเกินไป ทั้งในเงินส่วนตัว และเงินวัด หลายวัดมีเงินเป็นร้อยล้าน บางวัดถึงพันล้าน พระในเมืองบางรูปมีเงินในบัญชีไม่ใช่น้อย ฉะนั้นหากทำตามกฎระเบียบข้อนี้ได้ ก็เชื่อว่าไม่ได้รับความเดือดร้อน ยังอยู่ได้เช่นเดิม โดยมีญาติโยมอุปถัมภ์ การขาดรายได้จากวัตถุมงคล อาตมาเชื่อว่าจะส่งผลกระทบไม่มาก”

หากพระในวัดนั้นๆ วางตัวให้เป็นที่ศรัทธาของญาติโยม ชาวบ้านก็จะมาใส่บาตร ทำบุญ และถ้าพระไม่ได้อยู่แบบฟุ้งเฟ้อมาก ปัจจัยที่ญาติโยมถวาย ก็จะเพียงพอ แต่ปัญหาคือ พระในปัจจุบันใช้ชีวิตแบบคล้อยตามบริโภคนิยมมากขึ้น ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก

 



ด้าน อ.ดนัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพระมีรายรับส่วนหนึ่งจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวัตถุมงคล ซึ่งบางวัดมีรายได้จากวัตถุมงคลเป็นรายได้หลัก แต่ตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว การปลุกเสก หรือทำอะไรในลักษณะนี้ก็มีหมิ่นเหม่ว่าอาจจะผิด เพราะเข้าข่ายเดรัจฉานวิชา เพราะทำให้คนรู้สึกงมงาย ขณะเดียวกัน สังคมไทยเองก็ผูกพันกับสิ่งเหล่านี้มานานพอสมควร ดังนั้นการประกาศในลักษณะนี้ก็ยังงงอยู่ว่า “จะทำได้จริง” หรือไม่..

“ในอดีตจะมีการระดมทุนจากการขายของศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างวัด หรือซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง แต่...พักหลังมานี้ การสร้างพระหรือวัตถุมงคลจะดูกลายเป็นพุทธพาณิชย์มากเกินไป แตกต่างจากสมัยก่อนที่สร้างด้วยใจบริสุทธิ์ แล้วยังมีคติธรรมสอดแทรก เช่น ให้พระรุ่นนี้ไปบูชาแล้วห้ามด่าทอบุพการี หรือบูชารุ่นนี้แล้วห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ซึ่งมีการสอดแทรกศีลธรรม ซึ่งตรงนี้เป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาทางหนึ่ง...จากนั้นวัดก็นำปัจจัยมาสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์”

อ.ดนัย กล่าวต่อว่า มีบางวัดที่นำเงินไปสร้างสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเอื้อประโยชน์ต่อศาสนา โดยศีลธรรมที่เคยกำกับควบคู่มากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เริ่มหายไป กลายเป็นเน้นเรื่องความร่ำรวย เน้นให้เกิดความงมงาย หรืออ้อนวอนขอโชคลาภ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็ขัดต่อหลักพุทธศาสนาที่สอนให้เราพัฒนาตัวเอง ไม่งมงาย แต่กลับกัน พระก็เป็นสถาบันหนึ่งที่ทำให้คนงมงาย


พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต



พระ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง...

ในประเด็นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ถามความเห็นกับ พระอาจารย์ไพศาล และ อ.ดนัย ซึ่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พระสงฆ์เองก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม เป็นผู้นำทางความคิด บางครั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อาจจะไม่เหมาะกับสมณสารูป ถ้าพระไม่เลือกข้าง มีจุดยืน การวิพากษ์วิจารณ์ของพระ สังคมเองก็น่าจะรับฟัง แต่ถ้าปิดโอกาสไม่ให้วิจารณ์เลย มันเป็นการลดทอนความสวยงามของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม เนื่องจากพระสงฆ์บางส่วนนั้นเป็นบุคคลที่มีความรู้และเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในสังคมไม่ด้อยกว่าคนในสังคม ทั้งนี้ ในมุมมองของพระอาจจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตย โดยต้องยอมรับความเห็นต่างได้ นอกจากนี้ก็ควรจะดูขอบข่ายของการวิจารณ์ด้วย ว่าล้ำหน้า ต่อพระธรรมวินัยหรือไม่ ถ้ามากไป คณะสงฆ์ก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินเช่นกัน...

“ในสมัยพุทธกาลนั้น บางครั้ง พระพุทธเจ้าเอง ก็ยังต้องออกมาตักเตือนคนในสังคม หรือพระญาติอยู่บ้าง เพราะเห็นว่าหากไม่ทำอะไร ก็อาจจะเกิดความวุ่นวาย หรือเดือดร้อน ซึ่งพระองค์อยากให้สังคมมีความสุขและสงบ”

ขณะที่ พระอาจารย์ไพศาล กล่าวว่า อาตมาก็ยังเห็นว่า ข้อบังคับกว้างเกินไป คงต้องดูรายละเอียดว่าห้ามแค่ไหน แต่ถ้าเป็นการเตือนสติผู้มีอำนาจ โดยอิงตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อาตมาก็คิดว่าน่าจะทำได้ ทั้งนี้ ในอดีต สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ยังเคยท้วงติงรัชกาลที่ 4 เลย เพียงแต่ท่านทำแบบเหมาะกับสมณสารูป ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง หรือทำให้เกลียดชังกัน แต่...เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ก็เคยมีคำสั่งห้ามพระยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาแล้ว แต่ก็ไม่เห็นนำมาใช้อย่างจริงจัง เรายังเห็นพระมาร่วมชุมนุมทางการเมืองก็เยอะ ดังนั้นอาตมาคิดว่าตัวหนังสือดังกล่าวยังกว้างขวางอยู่

 


ในอดีตเคยมีคำสั่งลักษณะนี้มาแล้ว แต่ไม่ได้ผล

ขณะเดียวกัน พระอาจารย์ไพศาล ยังได้เล่าย้อนถึงอดีต กรณีคำสั่งห้ามในลักษณะเดียวกัน ว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยประมาณ 10-20 ปีก่อน เคยมีคำสั่งห้ามพระสงฆ์กระทำหลายอย่าง แม้กระทั่งเรื่องการถ่ายรูป แต่เดี๋ยวนี้ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ เพราะโทรศัพท์ทุกเครื่องก็มีกล้อง ดังนั้นส่วนตัว จะห้ามพระใช้โซเชียลมีเดีย นี่จึงแทบเป็นไปไม่ได้ การห้ามทำอะไรก็แล้วแต่ อยากจะให้ยึดหลักตามความเหมาะสม เพราะหากห้ามแล้วทำไม่ได้ กฎเหล็กที่ว่าก็จะมีปัญหา คนไม่เชื่อถือ

“ของแบบนี้ต้องไม่ลูบหน้าปะจมูก ปัญหาคือ มหาเถรสมาคม หรือเจ้าคณะหน สามารถควบคุมวัดทั้งประเทศได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องคิดกัน เพราะปัญหาของพระสงฆ์ หรือวัด ไม่ได้มีแค่นี้ แต่ถ้าทำเพียงแค่นี้เหมือนกับเป็นการแก้ปัญหาแบบฉาบฉวย หรือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ตามกระแส อาตมาอยากจะเห็นมาตรการสืบเนื่องจากนี้ไปด้วย”

 :96: :96: :96: :96:

นอกจากนี้ เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ยังให้คำแนะนำด้วยว่า สิ่งที่ทางมหาเถรสมาคม ควรจะทำคือ มาตรการเชิงบวก เพราะการห้าม เป็นมาตรการเชิงลบ ซึ่งคณะสงฆ์ไม่ควรจะทำเพียงแค่นี้ เพราะข้อห้ามที่พูดมานั้น เป็นปัญหาแค่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุคือ การที่พระขาดการศึกษา ความเข้าใจในธรรมะและวินัยอย่างถูกต้อง ทั้งการที่ไม่ได้ปฏิบัติตนจนเข้าถึงความสันโดษ ความเรียบง่าย พระทุกวันนี้เข้าถึงธรรมะน้อยลงทุกที เกิดความหลงใหลในสิ่งเสพ ก็เลยตกเป็นทาสของวัตถุ วัตถุจึงเป็นเรื่องนำหน้าธรรมะ ถ้าเริ่มแก้ตรงนี้คือ จัดให้พระสงฆ์มีการศึกษาอย่างทั่วถึง ปัญหาแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ

“การศึกษาที่ว่า ไม่ใช่การเรียนนักธรรม การเรียนบาลี หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์อย่างเดียว แต่อาตมากำลังพูดถึงการศึกษาในเชิงปฏิบัติ เช่น กรรมฐาน ให้พระพอใจในชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เพลิดเพลินกับวัตถุสิ่งเสพ นี่คือสิ่งที่ขาดหายไป แล้วคณะสงฆ์ก็ไม่กวดขันเอาใจใส่ ออกแต่กฎห้ามนู่น ห้ามนี่ ซึ่งก็จะไม่ได้ผล และบังคับใช้จริงไม่ได้”

 

ส่วนมาตรการรองรับที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่น การห้ามเรี่ยไร หรือติดป้ายโฆษณาวัตถุมงคลนั้น หากจะสั่งไปตามระบบ เช่น เจ้าคณะหนสั่งเจ้าคณะภาค เจ้าคณะภาคสั่งลงไปยังเจ้าคณะอำเภอ แบบนี้อาตมาว่าไม่เวิร์ค สิ่งที่ควรจะมีคือ หน่วยเฉพาะกิจ หรือ ศูนย์ปฏิบัติการที่จะกวดขัน แต่ควรจะมีรายละเอียดว่า ขนาดไหนถึงยอมรับได้ เช่น บางวัด จำเป็นต้องมีรายได้เพื่ออุดหนุนเรื่องการศึกษา พระ เณร บางวัดยังมีโรงเรียน บางวัดมีพระ เณร รวมกันนับร้อยรูป อาหารบิณฑบาตยังไม่พอ ก็ต้องอาศัยรายได้จากการขายวัตถุมงคล หากไม่มีรายได้ทางนี้ จะหารายได้จากไหน คณะสงฆ์จะช่วยเหลืออย่างไร

ขณะที่ อ.ดนัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การออกกฎดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อะไรที่มันสุดโต่ง มันอาจจะให้คุณและโทษ ดังนั้นผู้มีอำนาจควรที่จะพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบว่าจะกระทบกับฝ่ายที่เชิงสร้างสรรค์ด้วยหรือไม่ แต่หากประกาศไปแล้วการบังคับใช้ไม่เข้มงวด ประกาศไปก็เหมือนเสือกระดาษ เพราะไม่มีใครสามารถควบคุมใครได้ เหมือนกฎหมายบ้านเรา ซึ่งก็สะท้อนไปถึงสังคมสงฆ์ซึ่งอยู่ในสังคมและบริบทเดียวกัน

 :25: :25: :25: :25:

ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ตระเวนตรวจสอบวัดหลายแห่งในพื้นที่ กรุงเทพฯ อาทิ วัดราชบพิธฯ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดชนะสงคราม วัดสามพระยา และวัดสระเกศฯ จากการลงพื้นที่พบว่าในแต่ละวัดนั้น ไม่พบการติดป้ายโฆษณาวัตถุมงคลในวัดแต่อย่างใด แต่บริเวณหน้าวัดบวรนิเวศฯ ที่มีประชาชนตั้งแผงให้เช่าพระ ขณะที่ วัดสระเกศฯ ทางวัดได้มีการหารายได้จากการเปิดให้ขึ้นชมทิวทัศน์บริเวณภูเขาทอง

ทั้งนี้ ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พระมหาอุดร ซึ่งเป็นพระวัดสามพระยา ระบุว่าทางวัดเองไม่ได้หารายได้จากการขายวัตถุมงคลอยู่แล้ว เพราะเป็นวัดที่เน้นเรื่องการส่งเสริมการศึกษา อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมข่าวฯ จะขออนุญาตสัมภาษณ์ พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา หนึ่งในกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นเจ้าคณะกรุงเทพ ถึงรายละเอียดการออกกฎเหล็กนั้นว่า ทางพระพรหมดิลก ได้ตอบผ่านพระมหาอุดรว่า ก็อยากให้ยึดหลักคำสั่งของ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการ มส. ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง.

    ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน



ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก
https://www.thairath.co.th/content/1096947
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 19, 2017, 06:26:36 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ