พระมหาธาตุแก่นนคร
วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนคร)
ประวัติตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดหนองแวงเมืองเก่าซึ่งเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ มหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานปากแห วัดหนองแวง เดิมชื่อวัดเหนือ
ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2332 พร้อมกับวัดกลาง และวัดธาตุ โดยท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก ณ บ้านบึงบอน (บึงแก่นนคร) พ.ศ. 2354 ท้าวจามมุตร ท้ายเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนที่ 2 ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ เขตเมืองมหาสารคาม (บ้านโนนเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่าตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันตั้งอยู่ เลขที่ 593 ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2442 โดยพระยานครศรีบริรักษ์(อู๋) และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2527 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร มีเนื้อที่ดินที่ตั้งวัด 26 ไร่ 65 ตารางวา โดยมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์เป็นโฉนด 713 เลขที่ 28 หน้าสำรวจ 794 เล่มที่ 8 หน้า 13
ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบเรียบ เป็นลักษณะ 6 เหลี่ยม มีหมู่บ้านล้อมรอบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด เคยได้รับรางวัล เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ปี พ.ศ. 2524 เป็นวัดพัฒนาดีเด่น ปี พ.ศ. 2526 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวง ปี พ.ศ. 2527ภายในองค์พระธาตุมีอยู่ 9 ชั้น คือ
ชั้นที่ 1 เมื่อเดินขึ้นภายในพระธาตุบริเวณชั้นแรก เป็นหอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกและพระประธาน 3 องค์อยู่ตรงกลาง ท่านจะพบกับที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ ๑๐๐ องค์ ที่บรรจุอยู่ในโถแก้ว จะอยู่ในตู้กระจกด้านซ้ายมือของที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ถัดจากโถงตรงกลางมาด้านซ้ายมือประมาณสองเมตร จะเป็นโต๊ะที่เตรียมไว้สำหรับตักบาตร ที่เรียกว่า “ ตักบาตร 108” โดยใช้เหรียญในการตักบาตรนั้น ทั้งนี้เชื่อว่าหากใครได้ตักบาตร ซึ่งสมมติว่าเป็นตัวแทนพระสาวกของพระพุทธเจ้า ทั้ง 108 องค์ และจะเกิดความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
เมื่อเดินตรงไปจะเห็นพระประจำวันเกิดมี่ทางวัดนำมาประดิษฐานไว้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้สักการะพระพุทธรูปประจำวันเกิดของตนเอง เพื่อความเป็น ศิริมงคลต่อตนเอง และเมื่อบูชาพระประจำวันเกิดเรียบร้อยแล้ว หากใครต้องการจะทำนายโชคชะตาด้วยตนเอง ก็สามารคเสี่ยงเซียมซีหรือยกช้างทองเหลือง เพื่อเสี่ยงทายว่าจะสมดังปรารถนาหรือไม่ชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวอีสาน โดยเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในอดีตที่ค่อนข้างหาดูได้ยากในปัจจุบัน พร้อมทั้งทีการวาดลวดลายบนผนังที่เกี่ยวกับข้องห้ามของคนอีสาน ที่เรียกว่า “คะลำ” ซึ่งเป็นแนวประพฤติตนในการอยู่ร่วมกันของชาวอีสาน โดยแต่ละภาพก็หมายถึงข้อห้ามแต่ละข้อ ซึ่งมีทั้งหมด 35 ข้อ
ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติ บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม เป็นนิทานที่ได้เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวอีสาน และในชั้นที่สามนี้ได้รวบรวมตาลปัตร พัดยศ และเครื่องอัฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดขอนแก่นชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของเก่า บานประตูหน้าต่าง ภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศ
ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์ มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดบานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพพุทธชาดกชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌาจารย์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร
ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันต์สาวก บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตมีย์มีใบ้ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรม เป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนามีพระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น
ชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธ ตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้น และสามารถชมทัศนียภาพของตัวเมืองขอนแก่นได้ทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของบึงแก่นนครที่สวยงามทางวัดได้จัดให้มีมัคคุเทศก์น้อยนำชม อธิบายภาพเขียนต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งของที่จัดแสดงไว้ เพื่อความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/พระมหาธาตุแก่นนคร