ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "บุพเพสันนิวาส" เป็นอะไรที่มากกว่า..เรื่องของ 'คู่ครอง'  (อ่าน 1044 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



"บุพเพสันนิวาส" เป็นอะไรที่มากกว่า..เรื่องของ 'คู่ครอง'

บุพเพสันนิวาส นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ใครๆ ก็รู้จัก ใครไม่รู้จักถือว่าเชยมาก แถมยังเป็นนิยายขายดี ตีพิมพ์ซ้ำสามสิบกว่าครั้งแล้ว (คุณพระ…ตาเถรยายชีช่วย!) สร้างเป็นละครโทรทัศน์ก็ปังระเบิดพานักแสดงเกิดกันเป็นแถว เกิดปรากฏการณ์ทางภาษา กระแสคำฮิตติดปากว่า “ออเจ้า” ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างรวดเร็ว

กระแสแต่งชุดไทยไปเที่ยวกรุงเก่าจนกระทั่งวัดไชยวัฒนารามถึงกับซุ่มเลย พากิจการเช่าชุดไทยรุ่งเรืองไปเป็นแถว แม่หญิงการะเกศสุรางค์ทำอะไรออกมาก็ชวนน้ำลายไหล ทำให้ธุรกิจอาหารทะเลเผา หมูกะทะ น้ำปลาหวาน พากันรวยไปตามๆกัน

@@@@@@

นอกจากความสนุกที่ชวนให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และภาษาของคนกรุงศรีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว แต่ยังแฝงด้วยคติความเชื่อทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับภพชาติและกฎแห่งกรรมที่เรียกว่า “บุพเพสันนิวาส”ไว้อย่างเหมาะสมและละไม

บุพเพสันนิวาสเป็นคำที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า เป็นเรื่องของความรักที่อธิบายได้ด้วยผลแห่งบุญที่ได้ทำร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน บุพเพสันนิวาสในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่เรื่องของความรักข้ามภพข้ามชาติระหว่างคู่ครอง แบบคุณพี่ขุนศรีวิสารวาจา (หรือคุณพี่หมื่นแห่งชาติ) กับแม่หญิงการะเกศสุรางค์เท่านั้นหนา แต่ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น เคยเป็นพ่อแม่ ลูก พี่น้อง เพื่อน กันมาแต่ชาติก่อน ดังปรากฏในชาดกเรื่องสาเกตชาดก



ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตพร้อมด้วยพระภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ผู้หนึ่งเมื่อเห็นพระพุทธเจ้าถึงกับกล่าวถึงว่า “ลูกไปอยู่ที่ใดมา อันธรรมดาบุตรควรเลี้ยงบำรุงมารดาบิดาเมื่อยามชรามิใช่หรือ”พราหมณ์ผู้นั้นวิงวอนให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเรือนของตน

นางพราหมณีเห็นพระพุทธเจ้าก็กล่าวขึ้นเช่นเดียวกับพราหมณ์ผู้เป็นสามี
“ลูกไปอยู่ที่ใดมา อันธรรมดาบุตรควรเลี้ยงบำรุงมารดาบิดาเมื่อยามชรามิใช่หรือ”
พราหมณ์ให้บุตรธิดากราบไหว้พระพุทธเจ้าในฐานะพี่ชาย

@@@@@@

เหล่าพระภิกษุทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมพราหมณ์ทั้งสองจึงกล่าวเช่นนี้ต่อพระองค์ ทั้งๆที่พระบิดาของพระองค์คือ พระเจ้าสุทโธทนะ และพระมารดาของพระองค์คือ พระนางสิริมหามายา

พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า
“พราหมณ์ผู้นี้เกิดเป็นบิดาของเรามา 500 ชาติ เป็นอาของเรามา 500 ชาติ และเป็นปู่ของเรามา 500 ชาติ ส่วนนางพราหมณีผู้นี้เกิดเป็นมารดาของเรามา 500 ชาติ เป็นน้าของเรามา 500 ชาติ และเป็นย่าของเรามา 500 ชาติ เราได้รับการอุ้มชูและเลี้ยงดูจนเติบโตจากพราหมณ์ทั้งสองมาแล้ว 3000 ชาติ”



ชาดกเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การได้พบกันระหว่างบุคคลเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีมาแต่ปางก่อน เช่น พราหมณ์กับนางพราหมณีเห็นพระพุทธเจ้าก็จำได้ว่าพระองค์คือลูกของตน ด้วยความผูกพันที่เป็นพ่อแม่ลูกกันมาถึง 3000 ชาติ

ในนิยายเล่าถึงสาเหตุที่วิญญาณของเกศสุรางค์มาอยู่ในร่างแม่นายการะเกดว่า เกศสุรางค์และการะเกดเป็นพี่น้องกันมาทุกภพทุกชาติ แต่ด้วยวิบากกรรมให้มีคนใดคนหนึ่งต้องสิ้นบุญไปก่อนกัน เช่น สมัยอยุธยาเกศสุรางค์เกิดเป็นพี่สาวของการะเกด แต่ด่วนจากไปตั้งแต่ยังเป็นทารก พอมาในสมัยปัจจุบันการะเกดเกิดเป็นน้องสาวของเกศสุรางค์แต่สิ้นบุญไปตั้งแต่ยังเล็กมาก

@@@@@@

การที่เกศสุรางค์ได้พบการะเกดในห้วงกาลเวลาแห่งอดีต เป็นเพราะบุพเพสันนิวาสที่ทั้งสองเกิดเป็นพี่น้องกันมา ด้วยความสัมพันธ์นี้ จึงทำให้เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกดต้องพยายามลบล้างความผิดที่การะเกดสร้างไว้ก่อนตาย ให้ทุกคนเชื่อว่าแม่หญิงการะเกดก็เป็นคนดีกับเขาเหมือนกัน เกศสุรางค์อุทิศผลบุญ ให้แก่การะเกดเสมอมาตั้งแต่มาถึงกรุงศรีอยุธยา โดยไม่ล่วงรู้เลยว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องกัน

สุดท้ายแล้ว แม่หญิงการะเกดอาจพ้นจากวิบากกรรมที่ประทุษร้ายผู้อื่น หวังว่าอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาสของเกศสุรางค์และการะเกดคงช่วยส่งเสริมให้การะเกดได้พ้นจากขุมนรก แล้วทั้งสองได้เกิดเป็นพี่น้องที่มีอายุยืนยาวไปด้วยกันในภายภาคหน้า



ผู้เขียน : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์
รูปภาพจาก : ch3 Thailand
http://goodlifeupdate.com/healthy-mind/84922.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 04, 2018, 06:27:05 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ