อิตถีรัตนะ (นางแก้ว)
ด้วยพระบุญญาธิการของพระยามหาจักรพรรดิราชจะมีนางแก้วนางหนึ่งมาเป็นคู่พระบารมี หรือบางครั้งจะมีหญิงผู้ได้ทำบุญกุศลแต่ปางก่อนไว้มาก มาเกิดในแผ่นดินชมพูทวีปนี้ ในตระกูลกษัตริย์ในเมืองมัทราช คนทั้งหลายกล่าวขานกันว่าพระนางประสูติมาเพื่อเป็นพระอัครมเหสีคู่พระบารมีของพระยามหาจักรพรรดิโดยแท้
ถ้าไม่มีนางแก้วผู้มีบุญญาธิการมาเกิดในแผ่นดินนี้ไซร้ เดชอำนาจพระบุญญาบารมีของพระมหาจักรพรรดิจะบันดาลให้นางแก้วในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปมาเป็นพระอัครมเหสีคู่บารมี พร้อมด้วยอาภรณ์เครื่องประดับตกแต่งทุกอย่าง ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ รุ่งเรืองสดใสงดงามยิ่ง โดยเหาะมาเฝ้าทางอากาศ เหมือนนางฟ้าเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ฉะนั้น แล้วเข้าเฝ้าพระยามหาจักรพรรดิราช
พระนางแก้วนั้นมีพระสิริโฉมงดงามยิ่ง พระวรกายไม่สูงไม่ต่ำเกินไป พระฉวีไม่ดำไม่ขาวเกินไป ไม่อ้วนไม่ผอมเกินไป ทรงเป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้ได้พบเห็น มีพระฉวีวรรณสะอาดหมดจดเกลี้ยงเกลางดงามยิ่ง ปราศจากมลทินสิ่งเศร้าหมองทุกอย่าง ฝุ่นละอองธุลีแม้น้อยนิดก็มิได้แปดเปื้อนเลย เหมือนดอกบัวถูกน้ำแล้วไม่ติดน้ำฉะนั้น
@@@@@@
พระสิริรูปโฉมของพระนางแก้วมีลักษณะอันงามครบถ้วนทุกประการ เป็นที่ติดตาตรึงใจของคนทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้ แม้กระนั้นก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับความงามของนางฟ้าเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ความงามของพระนางแก้วจัดว่ายังเป็นรอง เพราะรัศมีในพระวรกายของพระนางแก้วมีน้อยกว่าของนางฟ้ามาก เหล่านางฟ้าในสำนักของพระอินทร์มีรัศมีแผ่ซ่านกระจายออกไปไกลมาก ส่วนรัศมีของพระนางแก้วแผ่ซ่านไปไกลได้เพียง ๑๐ ศอกเท่านั้น รอบๆพระวรกายแม้จะมืดสักเพียงใด ไม่ต้องใช้แสงสว่างจากแสงเทียนหรือตะเกียงนำทางเลย
พระนางแก้วมีพระพักตร์ผ่องใสโสภาเกลี้ยงเกลายิ่งนัก พระนางมีพระวรกายอ่อนนุ่มดังสำลีบริสุทธิ์ที่วางทับซ้อนกันเป็นร้อยชั้น แล้วชุบด้วยน้ำมันเปรียงโคจามจุรีสีสดใสงดงามยิ่ง พระนางปรนนิบัติพระยามหาจักรพรรดิราชเจ้าเป็นที่ถูกพระราชหฤทัยยิ่งนัก ในเวลาที่พระวรกายของพระยามหาจักรพรรดิราชหนาวเย็น พระวรกายของพระนางแก้วอุ่น แต่ในเวลาที่พระวรกายของพระยามหาจักรพรรดิราชร้อน พระวรกายของพระนางแก้วกลับเย็น
อนึ่ง พระวรกายของพระนางแก้วนั้นมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นแก่นจันทน์และกฤษณา ซึ่งบดและปรุงด้วยคันธารสอันหอมทั้ง ๔ ประการ[๕] หอมฟุ้งอยู่ตลอดเวลา____________________________________________________________
[๕] คันธารส ๔ = กลิ่นเกิดจากราก กลิ่นเกิดจากแก่น กลิ่นเกิดจากเปลือก กลิ่นเกิดจากดอก

ในเวลาที่พระนางแก้วทรงเจรจาหรือทรงแย้มสรวล กลิ่นที่ฟุ้งออกจากพระโอษฐ์หอมเหมือนกลิ่นดอกบัวนิลุบลและจงกลนีที่แย้มบานและหอมฟุ้งอยู่ตลอดเวลา
ในยามที่พระยามหาจักรพรรดิราชเสด็จมาหาพระนางแก้ว เมื่อพระนางแก้วได้ทอดพระเนตรเห็น พระนางจะไม่ประทับนั่งอยู่ จะเสด็จลุกไปทรงต้อนรับพระยามหาจักรพรรดิราช แล้วตามเสด็จไปยังพระแท่นบรรทมแก้ว ทรงนำหมอนทองมาประทับนั่งถวายงานพัด ทรงปรนนิบัติบีบนวดเฟ้นพระบาทและพระกรของพระราชสวามี แล้วเสด็จลงประทับนั่งอยู่เบื้องต่ำ ไม่เสด็จขึ้นเหนือพระแท่นบรรทมแก้วก่อนพระยามหาจักรพรรดิราชแม้แต่ครั้งเดียว และเสด็จลงจากพระแท่นแก้วก่อนพระราชสวามีเสมอ
@@@@@@
ไม่ว่าพระนางแก้วจะทรงกระทำการสิ่งใดก็จะกราบทูลให้พระราชสวามีทรงทราบก่อนทุกครั้ง และทรงกระทำเฉพาะสิ่งที่พระยามหาจักรพรรดิราชมีรับสั่งให้ทรงกระทำเท่านั้น ทรงไม่ฝ่าฝืนหรือละเมิดพระบรรหารของพระยามหาจักรพรรดิราชแม้แต่ครั้งเดียว
เพราะฉะนั้น กิจการที่พระนางแก้วทรงกระทำจึงเป็นที่โปรดปรานของพระยามหาจักรพรรดิราชทุกประการ แม้จะทูลเจรจาปราศรัยก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระยามหาจักรพรรดิราชยิ่งนัก และผู้ที่จะได้เป็นพระราชสวามีของพระนางแก้วมีเฉพาะพระยามหาจักรพรรดิราชเท่านั้น ไม่ทั่วไปแก่บุรุษเหล่าอื่น พระนางแก้วนั้นทรงมีความจงรักภักดีต่อพระราชสวามีเป็นที่ยิ่ง ไม่ทรงประพฤติล่วงละเมิดนอกพระทัยพระยามหาจักรพรรดิราชเจ้าแม้แต่น้อยเลย
จบเรื่องนางแก้วโดยย่อเพียงเท่านี้
ที่มา : ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ โดยคณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน
vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/บทที่-๕-แดนมนุษย์ ขอบคุณภาพจากเฟซบุ้ค พุทธธิดา รัตนมหาอุบาสิกา และ Nattunyarach Waiyanate