พระอมตมหานิพพาน สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพสมเด็จพระพุทธเจ้าของเราผู้เป็นพระสัพพัญญูตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการไว้ให้สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งคือ
๑. ความทุกข์มีจริง
๒. สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง
๓. ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง
๔. ข้อให้ปฏิบัติถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง
นี่แหละเรียกว่าอริยสัจสี่ คือ เป็นความจริงสี่ประการซึ่งเพิ่มอริยเข้าอีกคำหนึ่งนั้น คือ อริย แปลว่าพระผู้รู้อย่างหนึ่ง พระผู้ไกลจากกิเลสอย่างหนึ่ง รวมอริยสัจจะสองคำเป็นนามเดียวกัน เรียกว่า อริยสัจ
@@@@@@
พระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิดแก่เจ็บตาย เป็นที่ดับทุกข์จริงแลสุขจริง พระอริยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้งประจักษ์ในธรรม ๔ อย่างดังนี้ แลสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริง เพื่อจะให้ละทุกข์ เข้าหาความสุขที่จริง แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างแต่เล็กน้อย ไม่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์ เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง พวกปุถุชนเลยเห็นกลับไปว่า เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ดี ไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ จะกลัวทุกข์ทำไม
บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ได้เกิดที่ดีๆ เป็นท้าวพระยาเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติมากมายแล้ว ก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น
บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวารเป็นสุขสำราญชื่นอกชื่นใจดังนั้นแล้ว ถึงจะตายบ่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร
บ้างก็ว่า ถ้าไปอมตมหานิพพาน ไปนอนเป็นสุขอยู่นมนานแต่ผู้เดียว ไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกีย์ชนย่อมเห็นไปดังนี้
@@@@@@
อมตธรรม ธรรมที่ทำให้ไม่ตาย คือ พระนิพพานนี้ ใครได้ดื่มแล้วจะไม่ต้องมาเวียนว่ายเกิดในโลกสงสารอีก ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นิพพานมีอยู่ แต่ในนิพพานไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขอย่างเดียว
ครั้งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้พระนครราชคฤห์ ท่านพระสารีบุตร กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรอาวุธโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข ดูกรอาวุธโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข”
ท่านพระอุทายี ขณะนั้นยังเป็นเสขบุคคล บุคคลที่ยังต้องศึกษาต่อไป กล่าวถามท่านพระสารีบุตรว่า
“ดูกรอาวุธโสสารีบุตร นิพพานไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร”
เวทนา คือ อารมณ์สุข ทุกข์หรือเฉยๆ เมื่อในนิพพานไม่มีอารมณ์ เช่นนั้นแล้ว พระอุทายีจึงเกิดความสงสัยดังกล่าว
ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบ
“ดูกรอาวุธโส นิพพานนี้ไม่มีเวทนา นั้นแหละเป็นสุข”
“สุข” ในที่นี้ ตามพระสารีบุตรกล่าวถึงในพระนิพพาน จึงมิใช่ความสุขแบบโลกียสุขซึ่งเป็นของคู่กับทุกข์อีก ในภาษาธรรมมักเรียกว่า “เกษม” นั่นเอง
ในนิพพานมีความ “เกษม” นิพพานจึงมิใช่สูญเปล่า มิใช่เฉยไม่รู้ไม่ชี้เหมือนพรหมลูกฟัก มิใช่ไม่มีความรู้สึกอะไรเลยเหมือนชาด้าน เพราะในนิพพานยังมี “อายตนะ” คือความรู้เชื่อมต่อดังที่พระพุทธองค์ตรัส
@@@@@@
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลาย
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ในอายตนะนั้นไม่มีดินน้ำไฟลม ไม่มีอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกอื่น ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีพระอาทิตย์ ทั้งสอง เราย่อมกล่าวอายตนะนั้นว่า มิใช่การมา มิใช่การไป มิใช่การตั้งอยู่ มิใช่การจุติ มิใช่การเกิดขึ้น ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีความเป็นไป ไม่มีอารมณ์ นั้นแหละ เป็นที่สุดแห่งทุกข์”
ในนิพพานมีความรู้เชื่อมต่อคือ ความรู้สึกอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์มีความสุขสถานเดียวที่เรียกว่า ความเกษม
ผู้ปรารถนานิพพาน จะยังไม่ถึงนิพพาน เพราะอะไร……….
เพราะ “ปรารถนา” เป็นความประสงค์ ความต้องการ ความอยาก เป็นกิเลส จึงไม่นำสู่ความเกษมอันแท้จริง ในอภิธรรมปิฎกมีกล่าวไว้
“ศรัทธาและโมหะ เป็นปัจจัยแห่งราคะ”
ตัวศรัทธานั่นแหละคือ ปรารถนาเป็นตัวติดทำให้เกิดตัณหาราคะ จึงทำให้ไปไม่ถึงดวงดาวคือ นิพพาน ผู้จะถึงนิพพานจำต้องหลุดพ้นแม้กระทั่งศรัทธาเป็นที่สุด
แต่การจะเริ่มต้นไปสู่นิพพานคือ อมตธรรมนั้น จะต้องเริ่มที่ศรัทธา ดังที่พระพุทธองค์ทรงกล่าว
“เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์เหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด”
@@@@@@
ต้องเริ่มที่ศรัทธาเป็นตัวต้นและปล่อยศรัทธาเป็นตัวสุดท้าย ความที่สุดแห่งทุกข์จะพึงบังเกิดนิพพานจะปรากฏ ใครๆ ก็ไปนิพพานได้ ถ้าศรัทธาปรารถนาเสียแต่เดี๋ยวนี้ แต่เมื่อปรารถนาปุ๊บจะถึงนิพพานปั๊บนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะคำปรารถนามันเริ่มง่ายแต่ตัดยาก การจะตัดตัวอยากตัวเดียวนี่แหละองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้เวลา ๔ อสงไขยกับแสนกัป ความจริงมากกว่านั้นนับแต่การปรารถนาเวียนว่ายตายเกิดในโลกสงสารของพระพุทธองค์ พระองค์เกิดตายมาหลายชาติหลายภพ ก่อนที่จะมาเกิดเป็นสุเมธดาบสในสมัยพระเจ้าทีปังกรพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑ ในพุทธวงศ์
พราหมณ์สุเมธ เกิดศรัทธาตั้งแต่ที่ได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า “พุทโธ” ก่อนที่พระพุทธเจ้าทีปังกรพุทธเจ้าจะเสด็จมาให้เห็น เมื่อได้พบเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้ว ได้กระทำการปรนนิบัติเป็นเอกอุปวารณาอธิษฐานอธิการบารมีเพื่อบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามพ้นโอฆสงสารต่อไปภายภาคหน้า
นับจากพราหมณ์สุเมธอธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้า จากสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า จนบรรลุเป็นพระสมณโคดมพุทธเจ้า เป็นพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๕ แห่งพุทธวงศ์ ใช้เวลาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารอีก ๔ อสงไขยแสนกัป จึงปล่อยตัว “อยาก” หลุดไปได้
“………การบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว”
ทรงเปล่งพระพุทธอุทานในวรรคสุดท้ายของประโยคแรกแห่งการตรัสรู้ไว้เช่นนั้น
@@@@@@
ระยะเวลาอันยาวนาน แม้จะมีแต่ผลที่เกิดชั่ววิบเดียวก็สำเร็จแล้ว ปัจจุบันแห่งการบรรลุสั้นนัก ยิ่งกว่าลมหายใจเข้าออกของตัวเอง ถ้ามีจุดเริ่ม ต้องมีจุดจบ ตรงกับธรรมจักษุที่กล่าวรับรอง “สิ่งใดมีเกิด สิ่งนั้นมีดับ”
จงปล่อยศรัทธามาเถิด เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว แน่นอนสักวันหนึ่งมันย่อมดับลง เมื่อเริ่มศรัทธาเป็นตัวต้น วันหนึ่งมันจะดับเป็นตัวสุดท้าย วันนั้นท่านจะหลุดพ้น จะเป็นวันที่บรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้วของท่าน นิพพานจะมาถึงท่านเอง เพราะความปรารถนาหมดไป
ถ้าไม่ปล่อยศรัทธาออกมา ความรู้แจ้งก็ไม่บังเกิด ไม่มีความรู้จริงที่จะไปดึงศรัทธาออกดับลงได้ เมื่อศรัทธายังเป็นปัจจัยแห่งราคะในกมลสันดาน ตราบนั้นตัณหาเจ้าแห่งกิเลสก็จะเจริญงอกงามขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด โลกสงสารที่ห่อหุ้มด้วยความทุกข์ก็จะยิ้มร่าต้อนรับท่านอยู่ตลอดไป จนกว่าศรัทธาจะเริ่มต้นปล่อยออกมาสู่ประตูอมตะที่พระพุทธองค์ทรงเปิดรับ เมื่อนั้นจุดจบแห่งความทุกข์ในอนาคตจึงจะเริ่มขึ้น
จงรีบปล่อยศรัทธาออกมาเถิดขอขอบพระคุณและโมทนาบุญอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :-
• สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี. หลวงปู่โต : อนุสรณ์ ๑๓๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี: ทีมงานพระเครื่องเมืองพระพุทธบาท เรียบเรียง, ๒๕๔๕. หน้า ๓๙-๔๐.
• หลวงพ่อพุทธะ. “หลวงพ่อพุทธะ จุดจบต้องมีจุดเริ่ม” โลกลี้ลับ ๑๔๑ ปีที่ ๑๓ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๓๙: บัญช์ บงกช เรียบเรียง. หน้า ๑๐๒-๑๐๙.
ขอบคุณที่มา :
http://www.dannipparn.com/thread-40-1-1.html