หลวงพ่อแช่ม "เสกของดี" สู้กับ อั้งยี่ยึดเมืองภูเก็ตอั้งยี่ ตามความหมายของพจนานุกรมของราชบัณฑิต คือ สมาคมลับของคนจีน ชื่อความผิดอาญาฐานเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เรียกว่าความผิดฐานเป็นอั้งยี่
ต่อจากตอนที่แล้ว ..กลุ่มอั้งยี่ที่อพยพหนีลงเรือมาจากเมืองจีน แห่กันไปทำงานเป็นกรรมกรเหมืองแร่ที่เมืองภูเก็ต แบ่งกันเป็นอั้งยี่ 2 แก๊ง นับพันคน ยกพวกถล่มกัน เหตุเพราะขัดผลประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ดีบุกในเมืองภูเก็ต
เหตุอั้งยี่ก่อจลาจล มิได้เกิดเฉพาะในสยาม ทางราชการสยามใช้วิธีเดียวกับรัฐบาลสิงคโปร์คือเลี้ยงอั้งยี่ กล่าวคือ ใช้วิธีการเลือกคนจีนมาตั้งเป็นหัวหน้าต้นแซ่ คอยห้ามปรามไม่ให้แรงงานชาวจีนตีกัน ทั้งยังมีหน้าที่รวบรวมปัญหาเสนอรัฐบาล
@@@@@@
ผมขออ้างอิงพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ครับ
“…ต่อมาในปี พ.ศ.2419 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้เป็นการจลาจลครั้งใหญ่อั้งยี่ ‘กลุ่มปุนเถ้าก๋ง’ ไม่พอใจที่นายเหมือง ไม่จ่ายค่าแรง เนื่องจากภาวะราคาดีบุกตกต่ำประกอบกับมีความแค้นเคืองเจ้าเมืองเป็นทุนเดิม จึงได้มีการรวบรวมสมัครพรรคพวกกว่า 2,000คน ก่อการกบฏ
อั้งยี่ ฝ่ายละ 2,000-3,000 คน วิวาท ห้ำหั่นกันกลางเมือง ถือว่าเป็นสงครามย่อยๆ นะครับ กลุ่มอั้งยี่พร้อมอาวุธ เข้าล้อมศาลากลางภูเก็ต ปล้น-ฆ่าราษฎรไทย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ เกินกำลังเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในท้องถิ่นจะควบคุมได้ ต้องขอกำลังจากส่วนกลางมาสนับสนุน
@@@@@@
อั้งยี่ ควบคุม สั่งการกรรมกรเหมืองแร่ชาวจีนอพยพเป็นจำนวนนับพันคนพร้อมอาวุธ แยกกันก่อเหตุวุ่นวาย ถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดภูเก็ต ชาวบ้านไม่มีพลังที่จะต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลอง ชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือน ปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือน หมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ จนกระทั่งบัดนี้
กลุ่มชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง นิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มหลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มท่านไม่ยอมหนี หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโพกศีรษะคนละผืน คนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด หอก ดาบเตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่
@@@@@@
พวกอั้งยี่ ชะล่าใจ ประมาท รุกไล่ฆ่าชาวบ้านเข้าไปถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียด ไล่ฆ่าฟันอั้งยี่แตกหนีไป ชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ทำให้ชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมารวมกำลังกันอย่างคึกคัก ณ วัดฉลอง
หลวงพ่อแช่มได้ปลุกเสก มอบผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านทุกคนโพกหัว เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจในการต่อสู้ จนพวกอั้งยี่เรียกพวกชาวบ้านว่า พวกหัวขาว เมื่อคนพร้อม อาวุธพร้อม ของขลังครบ ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถปราบอั้งยี่ได้สำเร็จ ผู้คนในเมืองภูเก็ตกล่าวยกย่องหลวงพ่อแช่ม แล้วยกมือท่วมหัว เหตุจลาจลในภูเก็ตยุติลง
@@@@@@
หลังเหตุการณ์อั้งยี่คิดกบฏจะยึดเมืองภูเก็ตสงบลง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงทราบเรื่อง จึงโปรดเกล้าฯให้หลวงพ่อแช่มเดินทางเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง ที่กรุงเทพฯ แล้วพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูวิสุทธิ-วงศาจารย์ญาณมุนี มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น
โอกาสเดียวกันก็พระราชทานนามวัดฉลองเป็น ไชยธาราม แต่ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ก็ยังติดปากกันว่าหลวงพ่อแช่มวัดฉลอง หลวงพ่อแช่ม เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวภูเก็ตตั้งแต่นั้นมา
หลวงพ่อแช่มไม่เพียงเป็นที่เคารพนับถือของคนภูเก็ตเท่านั้น ชาวมาเลเซียและปีนังก็ให้ความเคารพศรัทธาท่านด้วย เมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อนใดก็พากันมาบนบาน ให้หลวงพ่อช่วยเหลือเสมอจากคอลัมน์ภาพเก่าเล่าตำนาน : ไปที่ไหนๆ ก็มีไชน่าทาวน์(4) : หลวงพ่อแช่มเสกของดี สู้กับอั้งยี่ ยึดเมืองภูเก็ต
โดยพลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ,วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ,13:10 น.
ขอบคุณเว็บไซต์ :
https://www.matichon.co.th/article/news_1209975