« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2019, 08:02:35 pm »
0
แสดงสรณคมน์ขาด ไม่ขาด และผล
บัดนี้จะแสดงสรณคมน์ขาดเป็นต้น ที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จะแสดงสรณคมน์ขาดและไม่ขาดทั้งผล ทั้งสรณะที่ควรถึง ดังต่อไปนี้.
การขาดสรณคมน์ ของบุคคลผู้ถึงสรณคมน์อย่างนี้ มี ๒ อย่าง คือ มีโทษและไม่มีโทษ
- การขาดสรณคมน์เพราะการตาย ชื่อว่าไม่มีโทษ
- การขาดสรณคมน์เพราะหันไปนับถือศาสดาอื่น และประพฤติผิดในพระศาสดานั้น ชื่อว่ามีโทษ.
การขาดแม้ทั้ง ๒ นั้นย่อมมีแก่พวกปุถุชนเหล่านั้น สรณะของปุถุชนเหล่านั้นย่อมชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะประพฤติไปด้วยความไม่รู้ ความสงสัยและความรู้ผิด และเพราะประพฤติไม่เอื้อเฟื้อเป็นต้นในพระพุทธคุณทั้งหลาย
@@@@
ส่วนพระอริยบุคคลหามีสรณะที่ขาดไม่ และหามีสรณะเศร้าหมองไม่ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฎฐิ(สัมมาทิฎฐิ) จะพึงนับถือศาสดาอื่น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส"
ส่วนพวกปุถุชน ยังไม่ถึงการขาดสรณะตราบใด ตราบนั้น ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้มีสรณะไม่ขาด การขาดสรณะของปุถุชนเหล่านั้น ย่อมมีโทษ มีความเศร้าหมองและอำนวยผลที่ไม่น่าปรารถนา การขาดสรณะที่ไม่มีโทษ ก็ไม่มีผล เพราะหาวิบากมิได้.
@@@@
ส่วนการไม่ขาดสรณะว่าโดยผล ก็ย่อมอำนวยผลที่น่าปรารถนาอย่างเดียว เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
"ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นละกายมนุษย์ไปแล้ว ก็จักไม่เข้าถึงอบายภูมิ จักทำหมู่เทพให้บริบูรณ์ ดังนี้."
ก็ในข้อนั้น พึงทราบอธิบายแห่งคาถาอย่างนี้ว่า
ชนเหล่าใด ถึงสรณะด้วยการตัดอุปกิเลสได้ขาดด้วยสรณคมน์ ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบาย ส่วนชนนอกนั้น จักไม่ไปอบาย ก็ด้วยการถึงสรณะ.
แสดงสรณะขาดไม่ขาดและผลเพียงเท่านี้ก่อน.
แสดงสรณะที่ควรถึง
ในการแสดงสรณะที่ควรถึง ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ในคำนี้ว่า ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ผู้นั้นจะพึงถึงพระพุทธเจ้าหรือสรณะ แม้ทั้งสองคำ การกล่าวแต่คำเดียว ก็ไร้ประโยชน์ เพราะเหตุไร เพราะมีแต่กิริยาคือการถึง ไม่มีสองกรรม ความจริง นักคิดทางอักษรศาสตร์ ไม่ประสงค์กรรม ๒ กรรมในข้อนี้ เหมือนในคำว่า อชํ คามํ เนติ เป็นต้น ฉะนั้น.
ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า การกล่าวแม้คำทั้งสองมีแค่ประโยชน์อย่างเดียว เหมือนในคำว่า คจฺฉเตว ปุพฺพํ ทิสํ คจฺฉติ ปจฺฉิมํ ทิสํ นักคิดอักษรศาสตร์ไม่ประสงค์อย่างนั้นดอก เพราะท่านไม่ประสงค์ว่า พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน ความจริงเมื่อประสงค์ว่า พระพุทธเจ้าและสรณะเหล่านั้น เป็นตัวเหตุเท่าๆ กันแล้ว บุคคลแม้มีจิตขุ่นเคือง เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก็จะพึงชื่อว่า ถึงพระพุทธเจ้า ถึงสรณะน่ะสิ สรณะนั้นใดทำให้ต่างไปว่า พระพุทธเจ้า. ผู้นั้น ก็ชื่อว่าถึงสรณะนั้นทั้งนั้น.
@@@@
ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า ท่านประสงค์เอาความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน เพราะบาลีว่า
เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ
สรณะนั่นแลเกษม ปลอดภัย สรณะนั้นอุดมสูงสุด
ไม่ประสงค์เช่นนั้นดอก เพราะในบทคาถานั้น มีแต่พระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น.
ความจริง ในบทคาถานั้นนั่นแล ท่านประสงค์ถึงความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน อย่างนี้ว่า สรณะทั้งเกษมทั้งอุดม เพราะพิจารณาเน้นถึงพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั้น ในความเป็นสรณะ ที่นับได้ว่า กำจัดภัยแก่ผู้ถึงสรณคมน์ได้จริง
@@@@
ส่วนในบาลีประเทศอื่น เมื่อมีความสัมพันธ์ด้วยผู้ถึงสรณคมน์ ท่านก็ไม่ประสงค์ความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน เพราะไม่สำเร็จเป็นสรณคมน์ ดังนั้น คำนี้จึงสาธกไม่ได้.
ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า น่าจะประสงค์เอาความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กัน เพราะสำเร็จเป็นสรณคมน์ แม้เมื่อมีความสัมพันธ์ด้วยผู้ถึงสรณคมน์ได้ในบาลีนี้ว่า
เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ
บุคคลอาศัยสรณะนั้น ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงดังนี้
ไม่ใช่เช่นนั้นดอก เพราะขัดข้องด้วยโทษที่กล่าวมาก่อนแล้ว.
@@@@
ความจริง แม้ในข้อนั้น ก็จะพึงขัดข้องด้วยโทษที่กล่าวมาก่อนว่า เมื่อมีความที่พระพุทธเจ้าและสรณะเป็นตัวเหตุเท่าๆ กันอยู่ บุคคลแม้มีจิตขุ่นเคืองอาศัยสรณะ คือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ก็จะพึงหลุดพ้นจากทุกข์ได้หมดน่ะสิ แต่จะว่าไม่ขัดข้องด้วยโทษก็หามิได้ ดังนั้น คำนั้นจึงสาธกไม่ได้.
พึงทราบอธิบายในข้อนั้น อย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเมื่อจะหลุดพ้น ด้วยอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นกัลยาณมิตร ท่านก็กล่าวว่า อาศัยกัลยาณมิตรจึงหลุดพ้น ได้ในบาลีนี้ว่า
"ดูก่อนอานนท์ ก็สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติความเกิดเป็นธรรมดา อาศัยเราตถาคตเป็นกัลยาณมิตร ย่อมหลุดพ้นจากชาติดังนี้ ฉันใด แม้ในที่นี้ บุคคลเมื่อจะหลุดพ้น ด้วยอานุภาพแห่งสรณะ คือพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์ ท่านก็กล่าวว่า บุคคลอาศัยสรณะนี้ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้ ก็ฉันนั้น."
@@@@
ความที่พระพุทธเจ้าเป็นคมนียะ ควรถึงก็ไม่ถูก ความที่สรณะเป็นคมนียะควรถึงก็ไม่ถูก ความที่พระพุทธเจ้าและสรณะทั้งสอง เป็นคมนียะควรถึงก็ไม่ถูก แม้โดยประการทั้งปวงอย่างนี้
คมนียะสิ่งที่ควรถึงของผู้ถึงสรณคมน์ ที่ท่านอธิบายว่า ข้าพเจ้าถึงสิ่งที่พึงปรารถนา ควรกล่าวถึง ต่อนั้น ก็ควรกล่าวข้อยุติคือข้อที่ถูก ในเรื่องนี้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวข้อยุติดังต่อไปนี้
ในข้อยุตินี้ พระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นคมนียะ แต่เพื่อแสดงอาการคือการถึง คำกล่าวถึงสรณะนั้นมีว่า
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นสรณะของข้าพเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นปรายนะนำหน้าของข้าพเจ้า เป็นผู้กำจัดทุกข์ เป็นผู้ทรงประโยชน์ ข้าพเจ้าถึง คบ เสพ เข้าใกล้ชิดพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ด้วยความประสงค์ดังกล่าวมานี้ หรือว่าข้าพเจ้ารู้ทราบอย่างนี้
@@@@
จริงอยู่ คติเป็นประโยชน์ของธาตุเหล่าใด แม้ความรู้ก็เป็นประโยชน์ของธาตุเหล่านั้น.
ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า ข้อนั้นไม่ถูก เพราะไม่ประกอบ อิติ ศัพท์ คำทักท้วงนั้นก็ไม่ถูก ข้อยุติที่ถูกในเรื่องนั้น พึงมีดังนี้. หากว่าความในเรื่องนั้น พึงมีอย่างนี้ไซร้. แต่นั้น ก็พึงต้องประกอบอิติศัพท์ ดังในประโยคทั้งหลายเป็นต้นว่า
อนิจฺจํ รูปํ อนิจฺจํ รูปนฺติ ยถาภูตํ ปชานาติ
ย่อมรู้ชัดรูปที่ไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า รูปไม่เที่ยง ดังนี้.
แต่อิติศัพท์ท่านหาประกอบไว้ไม่ เพราะฉะนั้น ข้อทักท้วงนั้นจึงไม่ถูก
แต่ข้อนั้นไม่ถูกเพราะเหตุไร เพราะความของอิติศัพท์มีอยู่ในตัวนั้นแล้ว ความของอิติศัพท์แม้ในที่นี้ ก็มีอยู่พร้อม ดังในประโยคทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ว่า
โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
ก็ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ดังนี้
@@@@
แต่มิใช่จะต้องประกอบอิติศัพท์ไว้ในที่ทุกแห่ง เพราะมีความอยู่พร้อมในตัวแล้ว บัณฑิตพึงทราบความของอิติศัพท์แม้มิได้ประกอบไว้ เหมือนดังประกอบไว้ในที่นั้น ทั้งในที่อื่นซึ่งมีกำเนิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น อิติศัพท์จึงไม่มีโทษ (ไม่ผิด)
ถ้าผู้ทักท้วงกล่าวว่า คำใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า ก็เพื่อแสดงอาการคือถึง จึงต้องกล่าวระบุสรณะดังนี้ คำนั้นก็ไม่ถูก เพราะสรณะเท่านั้นเป็นคมนียะ สิ่งที่ควรถึง ได้ในบาลีเป็นต้นว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตการบรรพชา ด้วยสรณคมน์สาม ดังนี้"
คำที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้น ไม่ใช่ไม่ถูก เพราะเหตุไร เพราะคำนั้นมีความอยู่พร้อมในตัว.
ความจริง ความของอิติศัพท์นั้นก็มีอยู่พร้อมในคำแม้นั้นเอง เพราะเหตุที่แม้ไม่ประกอบอิติศัพท์ไว้เช่นคำก่อน ก็พึงเห็นเหมือนดังประกอบอิติศัพท์ไว้
นอกจากนี้ก็พึงขัดข้องด้วยโทษที่กล่าวมาก่อนนั่นแหละ เพราะฉะนั้น พึงถือเอาตามที่ท่านสอนไว้เท่านั้น.
แสดงสิ่งที่ควรถึงดังกล่าวมาฉะนี้
@@@@@@
ชี้แจงสรณะคือพระธรรมและพระสงฆ์
บัดนี้จะกล่าวอธิบายต่อไป. ในคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า แม้ในสรณะทั้งสองมีว่า ธมฺมํ สรณํ เป็นต้น ก็รู้กันแล้วว่ามีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. นัยแห่งการพรรณนาความนี้ใด ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคำนี้ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ก็พึงทราบนัยแห่งการพรรณนาความนั้น
ในสองบทนี้ว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ. จริงอยู่ ในข้อแม้นั้น ว่าโดยอรรถและพยัญชนะของพระธรรมและพระสงฆ์ ก็มีเพียงการชี้แจงเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน นอกนั้นก็เหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น เพราะจะกล่าวอธิบายเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน ในพระธรรมและพระสงฆ์นี้ ดังนี้
อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มรรค ผล นิพพาน ชื่อว่า พระธรรม. ขันติ ความชอบใจหรือมติของพวกเราว่า มรรคและวิราคะเท่านั้น ชื่อว่าพระธรรมในอรรถนี้ เพราะทรงผู้เจริญมรรคผล และผู้ทำให้แจ้งพระนิพพานแล้ว โดยไม่ให้ตกไปในอบายทั้งหลาย และทำให้โปร่งใจอย่างยิ่ง ขอยกอัคคัปปสาทสูตรนั่นแลเป็นข้อสาธก
@@@@
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอัคคัปปสาทสูตรนั้นเป็นต้นอย่างนี้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมมีเพียงใด อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ท่านกล่าวว่าเป็นยอดของสังขตธรรมเหล่านั้น. กลุ่มของบุคคลทั้งหลาย ผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค ๔ อย่าง และผู้มีขันธสันดานอบรมยิ่งด้วยสามัญผล ๔ ชื่อว่าพระสงฆ์ เพราะรวมตัวกันด้วยการรวมทิฏฐิและศีล"
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
"ดูก่อนอานนท์ เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงเพื่อรู้ยิ่งสำหรับเธอทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อานนท์เธอจะไม่เห็นภิกษุแม้ ๒ รูป มีวาทะต่างกันในธรรมเหล่านี้เลย."
@@@@
จริงอยู่ พระสงฆ์โดยปรมัตถ์นี้ อันบุคคลพึงถึงว่าเป็นสรณะ ในพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
"พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลียกมือไหว้ เป็นนาบุญของโลกยอดเยี่ยม."
สรณคมน์ของผู้ถึงสรณะนั้นย่อมไม่ขาด ไม่เศร้าหมอง ด้วยการทำการไหว้เป็นต้น ในภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แม้หมู่อื่น หรือพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข หรือสมมติสงฆ์ต่างโดยสงฆ์จตุวรรคเป็นต้น หรือแม้ในบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งบวชเจาะจงพระผู้มีพระภาคเจ้า ความต่างกันในสังฆสรณะที่มีเท่านี้ ส่วนวิธีการขาดและไม่ขาดเป็นต้นแห่งสรณคมน์นี้และที่สอง นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้ว
การพรรณนาความข้อนี้ว่า แม้ในสองสรณะว่า ธมฺมํ สรณํ เป็นต้น ก็รู้กันแล้วว่านัยนี้เหมือนกัน มีเท่านี้ก่อน.
.....ยังมีต่อ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 06, 2019, 10:11:40 am โดย raponsan »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ