เช็ก 5 อาการจิตป่วย ทดสอบอารมณ์ส่อโรค วิตกกังวล
วิตกกังวล เป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พบได้เป็นปกติในมนุษย์ เพื่อเตรียม พร้อมในการเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ความเครียดต่างๆ ซึ่งแสดงออกทั้งในทาง ความคิดและความรู้สึกทางกาย ผลักดันให้คนเราแก้ปัญหาและคิดพัฒนาสิ่งต่างๆ แต่ถ้าความคิดวิตกกังวลนั้นมากเกิน ควบคุมไม่ได้ หรือไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ก็จัดเป็นความผิดปกติแบบหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลรักษา
ว่าด้วย “โรคกลุ่มวิตกกังวล”
นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ประจำกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา อธิบายไว้ว่า “ความกังวลเล็กน้อยนั้นเป็นผลดี เพราะทำให้รู้จักเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต แต่ถ้ามากเกินไปจนเป็นผลกระทบต่อการทำงานหรือชีวิตประจำวัน ก็ถือได้ว่าเป็นอาการของโรคกลุ่มวิตกกังวล” ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท
@@@@@@
1. โรควิตกกังวล…ความกลัวเกินเหตุ
การวิตกกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป ซึ่งมักเกิดความวิตกในเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจมาก่อน บางเรื่องผ่านไปสักพักอาจลืม แต่บางเรื่องอาจยังฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก จนเกิดความอึดอัดหรือหวาดกลัวอันตรายมากเกินไป คืออาการของโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)
2. หวาดกลัวรุนแรง
จากหนังสือจิตเวชศาสตร์รามาธิบดี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้ไว้ว่า ความกลัวจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัย 2 อย่างควบคู่กัน
อย่างแรกคือ ตัวกระตุ้นที่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นวัตถุ
อย่างที่สองคือ ระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีความกลัวรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้นซ้ำๆ และไม่สามารถระงับความกลัวนั้นได้ อาการหวาดกลัวจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะและรวดเร็วกว่าคนปกติ เมื่อตกอยู่ในเหตุารณ์หรือสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว
3. ย้ำคิดย้ำทำ
ข้อมูลจากหนังสือการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช 1 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อธิบายโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) ไว้ว่า โรคนี้มักพบในคนที่มีภาวะเศรษฐกิจและสังคมระดับกลางและสูง มีเชาว์ปัญญาดี มีการศึกษาดี เป็นคนที่ชอบคิดชอบทำงานและรับผิดชอบงานที่ทำ เกิดจากสาเหตุทางจิตใจและความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อเซโรโทนิน(Serotonin)ต่ำกว่าปกติ
โดยผู้ป่วยมักมีความรู้สึกนึกคิดหรือจินตนาการ ที่ผุดขึ้นมาซ้ำๆ ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่สามารถหยุดความคิดเหล่านี้ได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เช่น คิดซ้ำๆว่าจะทำร้ายหรือทำสิ่งไม่ดีกับคนที่ตนรัก คิดซ้ำๆว่าลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดซ้ำๆว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อกประตู
4. เครียดหนักหลังเหตุสะเทือนใจ
โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD: Post-traumatic Stress Disorder) เกิดได้ไม่บ่อยนัก แต่มีความรุนแรง คุณหมออภิชาติ อธิบายรายละเอียดว่า “เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อยู่ใน เหตุการณ์ร้ายแรง ภัยพิบัติทาง ธรรมชาติ ถูกทำร้ายร่างกายโดนปล้น ถูกทารุณกรรมทางเพศ หรือพบเห็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
5. ตื่นตระหนก
โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) ซึ่งผู้ที่เป็นจะมีความกังวลอย่างมากกับอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น กลัวประสบอุบัติเหตุหรือเจอภัยพิบัติ กลัวเป็นโรคร้าย กลัวขโมยขึ้นบ้าน เป็นต้น โดยผู้ที่เป็นจะมีอาการแบบนี้ซ้ำๆ บางคนอาจเป็นสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง หรืออาจมีอาการวันละหลายๆครั้ง แบบเฉียบพลันและรุนแรง ทำให้ผู้ที่เป็นตกใจกลัวว่าจะเป็น โรคหัวใจ เป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ หรือกลัวว่าจะเสียชีวิต
@@@@@@
หากคุณมีลักษณะอาการแบบนี้ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและหาทางรักษาให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติค่ะสนับสนุนข้อมูล : คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 400
ขอบคุณ :
https://goodlifeupdate.com/healthy-body/72672.htmlBy darika ,19 January 2018