อย่าริอาจคิด จองเวร วิบากกรรมจะติดตามคุณไปทุกชาติ
เมื่อพูดถึงเรื่องการ จองเวร หลายคนคงจะสันหลังวาบ หรือขนลุกพอง ชวนสยองเกล้า อารมณ์เหมือนความเชื่อเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ที่มักมีภาพแทนเป็นผีเหมือนในภาพยนตร์เรื่องชัตเตอร์ที่อนันดาแสดงเป็นพระเอก ทำให้เราไม่เจริญรุ่งเรือง แต่เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ จะทำให้เห็นถึงโทษของการคิดจองเวรต่อกัน เพราะมันจะทำให้ต้องจองเวรข้ามภพข้ามชาติอย่างไม่รู้ที่สิ้นสุด
มีนางยักษ์ตนหนึ่งชื่อ “กาลี” ในอรรถกถาคาถาธรรมบทเรียกนางยักษ์ว่า “กาลียักษิณี” อาจหมายถึงนางยักษ์ที่มีผิวดำก็เป็นได้ นางยักษ์ตนนี้เป็นบริวารของท้าวเวสสุวรรณ เทวดาผู้เป็นเจ้าแห่งยักษ์และภูตผีทั้งปวง เป็นหนึ่งในเจ้าสวรรค์ชั้นจาตุงมหาราชิกา
ครั้งนางมีหน้าที่ตักน้ำจากสระอโนดาตในป่าหิมพานต์ไปถวายท้าวเวสสุวรรณ เมื่อนางว่างก็จะออกจับมนุษย์กินเป็นอาหาร จนวันหนึ่งนางได้กินทารกซึ่งเป็นบุตรของกุลธิดานางหนึ่งในกรุงสาวัตถี เมื่อใดที่กุลธิดาคลอดบุตร นางยักษ์ก็จะจำแลงร่างเป็นเพื่อนสนิทของกุลธิดา แสดงว่ามามาเยี่ยมแล้วจับทารกกินทันทีเป็นครั้งที่สอง พอกุลธิดาท้องลูกครั้งที่สามจึงขอสามีกลับไปคลอดที่บ้านเกิด เพื่อเป็นการรักษาชีวิตของบุตรไว้
นางยักษ์ก็ตามไปที่บ้านของกุลธิดาเพื่อจะจับทารกกินเป็นอาหาร กุลธิดาทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งเดียวของนางและลูกในเวลานี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นครูแห่งมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย นางจึงพาบุตรไปยังพระเชตวันมหาวิหารของอนาถบิณฑิกเศรษฐี และถวายบุตรของเธอแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า “พระองค์ผู้เจริญโปรดรับบุตรของดิฉันและคุ้มครองบุตรของดิฉันด้วยเถิด”
@@@@@@
เมื่อนางยักษ์ติดตามมาถึงพระเชตวันมหาวิหาร เทวดานามว่า “สุมนเทพบุตร” ขว้างไม่ให้นางยักษ์เข้าพระวิหาร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระอานนท์พานางยักษ์เข้ามา พระองค์ทรงแสดงธรรมต่อนางยักษ์ จนนางเข้าใจแล้วว่าหากนางทำเช่นนี้ต่อไป ในชาติต่อไปกุลธิดาก็จะมากินลูกของนางอีก ชาติต่อไปนางยักษ์ก็จะตามกินลูกของกุลธิดาเป็นแบบไปอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด จากนั้นนางก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จากนั้นนางก็ร้องไห้ แล้วทูลถามว่าหากนางมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยและถือศีล ไม่อาจจับมนุษย์กินได้อีกต่อไป แล้วนางจะกินอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต
พระพุทธองค์จึงให้นางยักษ์ไปพักอาศัยในบ้านของกุลธิดา แล้วให้กุลธิดาเป็นผู้หาอาหารมามอบให้คือข้าวสุก จากนั้นนางยักษ์และกุลธิดาจึงเป็นมิตรที่ดีต่อกัน
อรรถกถา คาถาธรรมบทได้เล่าย้อนกลับไปเมื่ออดีตชาติของกุลธิดาและนางยักษ์ว่า ครั้งกุลธิดาเกิดเป็นภรรยาหลวง นางยักษ์เป็นภรรยาน้อย ภรรยาหลวงเป็นหมันจึงวางยาพิษให้ภรรยาน้อยแท้งลูกถึงสามครั้งจนนางตาย ภรรยาน้อยจึงผูกพยาบาทขอจองเวรภรรยาไปทุกชาติ เมื่อภรรยาหลวงเกิดเป็นแม่ไก่ ภรรยาน้อยเกิดเป็นแม่แมว ก็กินไข่ของแม่ไก่ไปถึงสามครั้งรวมถึงแม่ไก่ด้วย ต่อมาแม่ไก่เกิดเป็นแม่เสือ ส่วนแม่แมวเกิดเป็นกวาง แม่เสือก็ไล่กินลูกของแม่กวางถึงสามครั้ง รวมถึงแม่กวางด้วย เป็นเช่นนี้สลับกันไปกันมาไม่มีสิ้นสุด
ภรรยาหลวงเกิดเป็นแม่ไก่ ส่วนภรรยาน้อยเกิดเป็นแมว
การจองเวรต่อกันข้ามภพข้ามชาติของภรรยาหลวงและภรรยาน้อยได้มาสิ้นสุดลงในสมัยของพระสมณโคดมนั่นเอง พระพุทธศาสนามีเรื่องการจองเวรอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องพระเจ้าพิมพิสารกับพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นอริกับพระบิดามาตั้งแต่อยู่ในพระครรภ์ของพระนางเวเทหิ หลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระองค์ก็ถูกพระโอรสสังหาร
แม้แต่พระพุทธเจ้าเองครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงคิดจองเวร เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งพระพุทธองค์เป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น เจ้าชายนามว่า “ทีฆาวุกุมาร” พระบิดาและพระมารดาถูกพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชจับตัวไป และสั่งประหารทั้งสองพระองค์ พระบิดาได้สั่งสอนพระโพธิสัตว์ว่า
“ลูกเอ่ย เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว และอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะการจองเวรเลย เวรทั้งหลายระงับได้เพราะการไม่จองเวร“
@@@@@@
เจ้าชายทีฆาวุกุมารเจ็บแค้นพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชที่ทรงประหารพระบิดาและพระมารดา พระองค์รอโอกาสจะเอาคืนจนกระทั่งพระองค์เจริญวัยและได้เข้ามาเป็นองครักษ์ โดยที่พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเองก็ไม่ล่วงรู้ วันหนึ่งทีฆาวุกุมารได้โอกาสจะสังหารพระองค์ แต่เมื่อรำลึกถึงคำสอนของพระบิดา จึงปล่อยวางจากความแค้น
ความหมายของโอวาทแห่งพระบิดามีความหมายว่า “อย่าเห็นแก่ยาว” หมายถึงอย่าจองเวรให้ยืดเยื้อ “อย่าเห็นแก่สั้น” หมายถึง อย่าแตกร้าวจากมิตรเร็วนัก “เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะการจองเวรเลย” หมายถึง ถ้าทีฆาวุกุมารตามสังหารพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชต่อไป ลูกหลานของพระองค์ย่อมจองเวรตามสังหารทีฆาวุกุมารต่อไป และลูกหลานของทีฆาวุกุมารก็จะตามฆ่าลูกหลานของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช จะเป็นเช่นนี้สืบต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น “ เวรทั้งหลายระงับได้เพราะการไม่จองเวร “ หากเลิกความเคียดแค้นจองเวรลงได้ วงจรแห่งการจองวรจะยุติลงเมื่อนั้น
อารมณ์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน เมื่อมีคนมาทำไม่ดีต่อเรา เราย่อมอยากทำสิ่งนั้นตอบกลับ ซึ่งสิ่งนี้พระพุทธเจ้าทรงเคยรู้สึกมาก่อนตอนเสวยพระชาติเป็นทีฆาวุกุมาร แต่ผลที่ตามคือ ทำให้เราต้องถูกเขาทำกลับเช่นกัน แล้วเราต้องทำเขากลับอีก หากผูกพยาบาทจองเวรต่อกันอีก วงจรนี้ก็จะเกิดขึ้นสืบไปอย่างไม่จบสิ้น การตัดจากวงจรนี้ได้คือการให้อภัย ดังที่ทีฆาวุกุมารและนางยักษ์ได้ทำไปนั่นเองที่มา : อรรถกถา คาถาธรรมบท กาลียักษิณี ,ทีฆาวุภาณวาร
ภาพ :
https://pixabay.com ,
http://storyuponme.blogspot.comขอบคุณ :
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/167022.htmlBy nintara1991 ,30 July 2019