ไม่ทำบุญก็เป็นเทวดาได้ ด้วยอานิสงส์แห่งการเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าหากถามว่าคนเกิดเป็นเทวดาเพราะอะไร คำตอบของคนส่วนใหญ่มักจะตอบว่า ทำบุญ สร้างวัด ถวายสังฆทาน และอื่น ๆ แต่เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เชื่อว่าหลายคนอาจประหลาดใจ หรืออาจจะปลื้มปีติที่ได้ฟัง เพราะเป็นเรื่องของคน ไม่ทำบุญก็เป็นเทวดาได้
ครั้งสมัยพุทธกาลมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า “อทินนปุพพกะ” เป็นพราหมณ์ที่มีทรัพย์สินมากแต่ขี้ตระหนี่ ตรงตามชื่อของเขา ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ไม่เคยให้อะไรแก่ใคร” เว้นแต่ตุ้มหูทองคำที่ทำให้ลูกชาย เด็กชายคนนั้นจึงมีชื่อว่า “มัฏฐกุณฑลี” (กุณฑลี แปลว่า ตุ้มหู)
จนกระทั่งมัฏฐกุณฑลีเติบโตเป็นหนุ่ม แต่ไม่นานความโชคร้ายก็มาเยือนเพราะอยู่ ๆ เกิดป่วยหนัก พราหมณ์ผู้เป็นพ่อก็ไม่กล้าให้หมอมารักษา เกรงว่าทรัพย์สินเงินทองจะหมดไปกับการรักษา จึงนำบุตรชายไปนอนนอกชานของเรือน
@@@@@@
พระพุทธเจ้าทรงแผ่พระญาณไปทั่วจักรวาล
ขณะนั้นเองพระพุทธเจ้าทรงแผ่พระญาณไปทั่วทั้งจักรวาล ภาพของมัฏฐกุณฑลีซึ่งกำลังนอนป่วยอย่างน่าเวทนา พระองค์ทรงตรวจด้วยทิพยญาณแล้วว่า อีกไม่นานมาณพผู้นี้จะต้องตาย พระองค์ปรารถนาอนุเคราะห์มัฏฐกุณฑลีจึงเสด็จไปยังเรือนของอทินนปุพพกพราหมณ์ พระองค์ดำริว่าหากมาณพได้เห็นรัศมีของพระองค์ แล้วเกิดจิตเลื่อมใสในขณะนั้น หลังจากสิ้นลมก็จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระพุทธองค์ทรงแผ่พระรัศมีให้มาณพเห็น มัฏฐกุณฑลีเห็นก็อยากพนมมือขึ้นบูชา แต่ด้วยอาการป่วยทำให้ร่างกายอ่อนล้า ไม่สามารกยกขึ้นพนมมือได้ ทำได้แต่เพียงใช้จิตใจน้อมรำลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างเลื่อมใส เมื่อมาณพลืมตาขึ้นก็พบว่าตนเองนอนอยู่ในวิมานทองคำเสียแล้ว
มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร สงสัยว่าตนเองมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ได้หยิบจับสมบัติทิพย์ที่สวยงาม กลับทำให้เทพบุตรระลึกถึงตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้วทรงแผ่รัศมีได้ เพราะกุศลจิตที่ได้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั่นเองทำให้ได้เกิดเป็นเทวดา และจดจำที่เรื่องราวต่าง ๆ ได้
เทพบุตรคิดถึงครอบครัวและทราบว่าบิดาอยู่ที่ป่าช้า จึงจำแลงกายเป็นพราหมณ์หนุ่มไปหาบิดา อทินนปุพพกพราหมณ์กอดกองกระดูกของบุตรชายอยู่ไม่ห่าง พราหมณ์จำแลงจึงเดินร้องไห้เข้าไปหาพราหมณ์ผู้เป็นบิดา
อทินนปุพพกพราหมณ์เห็นดังนั้นจึงถามพราหมณ์หนุ่มว่า “เจ้าร้องไห้ทำไม”
เทพบุตรตามทันทีว่า “ข้าหาคนทำล้อเกวียนคู่หน้าให้ข้าไม่ได้เลย”
“เจ้าอย่าได้เสียใจได้ เดี๋ยวข้ารับทำให้ แต่เจ้าอยากได้ล้อขนาดใด”
“ข้าอยากได้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์บนฟากฟ้ามาเป็นเกวียนคู่หน้าของข้า”
“เจ้าน่าจะบ้าไปแล้ว ความคิดของเจ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
“แล้วดูท่านสิ ร้องไห้หวังให้บุตรชายฟื้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน”
อทินนปุพพกพราหมณ์ได้สติและตกตะลึงว่ามาณพคนนี้รู้ได้อย่างไรว่ากองกระดูกนี้คือบุตรชายของตน จึงถามไปว่า “ท่านเป็นใคร คน หรือเทวดา”
“เราก็คือเจ้าของร่างที่ท่านกอดอยู่” จากนั้นเทพบุตรจึงเผยร่างที่แท้จริง อทินนปุพพกพราหมณ์ไม่เชื่อสายตาตัวเองเลยว่ากำลังคุยอยู่กับเทวดาผู้เป็นบุตรชาย
“ลูกพ่อ เจ้าเป็นเทวดาได้อย่างไร”
“เป็นพระเมตตาของพระสมณโคดม ได้เสด็จมาที่นอกเรือน และทรงแสดงพระรัศมีให้ข้าเห็น จิตตอนนั้นปีติและน้อมเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากนั้นพอลืมตาขึ้นมากลับได้เกิดเป็นเทวดาไปเสียแล้ว ข้อขอร้องท่านพ่อและท่านแม่ ท่านทั้งสองโปรดนำทรัพย์ที่มีอยู่มากมาย จัดทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก พร้อมทั้งฟังธรรมเทศนาจากพระองค์เถิด”
พระพุทธเจ้าทรงแผ่พระรัศมีให้มัฏฐกุณฑลีเห็น
พราหมณ์ผู้เป็นบิดาถึงกับซาบซึ้งในพระเมตตาของพระพุทธเจ้า ความเศร้าโศกเรื่องการตายของบุตรได้มลายหายไป กลายเป็นความปีติยินดี เมื่อเทพบุตรกลับลากลับไปวิมานแล้ว อทินนปุพพกพราหมณ์ได้ชักชวนภรรยาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และอาราธนาพระองค์พร้อมด้วยพระสาวกมาฉันภัตตาหารที่เรือน
เมื่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกมาถึงเรือน พราหมณ์ผู้ตระหนี่กลับจัดเตรียมอาหารอย่างดี และให้บริวารคอยรับใช้พระพุทธองค์และพระสาวกอย่างได้บกพร่อง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมมีใจความว่า
“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัวฉะนั้น”
เฉกเช่นมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ที่ได้ทำจิตให้ผ่องใสคือมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ความสุข (กุศล) ได้ติดตามเขาไปแม้กระทั่งโลกหน้า คือการได้เกิดเป็นเทวดา เหมือนดั่งเงาตามตัว นั่นเองที่มา : อรรถกถ คาถาธรรมบท เรื่อง มัฏฐกุณฑลี
ภาพ :
https://pixabay.comขอบคุณ :
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/167006.htmlBy nintara1991 ,30 July 2019