ลาวแคน (หรือลาวแพน) คือลาวเป่าแคน หรือขับฟ้อนในกรุงเทพฯ [ภาพและคำบรรยายภาพจาก “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน--สุจิตต์ วงษ์เทศ]
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ “ลาว” สมัย ร.3-4 จากบันทึกสังฆราชปาลเลกัวซ์“คนชาติลาวมีลักษณะคล้ายคลึงคนสยามและพม่า แต่ผิวพรรณผ่องกว่าเท่านั้น รูปร่างได้ส่วนสัด แข็งแรง และส่วนใหญ่มีสุขภาพอันมั่นคง หางตาเชิดขึ้นเล็กน้อย จมูกเล็กไม่สั้น ใหญ่และกว้างอย่างนิโกร และทำให้หน้าตาดูแปลกไปเพราะฟันสีดำ ผมยาว ตั้งตรงและเส้นแข็งหยาบ ส่วนมากสีดำสนิท…”
นี่คือคำอธิบายชาว “ลาว” ของสังฆราช ปาลเลกัวซ์ ในตอนที่สองเรื่อง เมืองขึ้นของประเทศสยาม ในหนังสือ เล่าเรื่องเมืองไทย นักบวชคริสต์ศาสนาที่เดินทางเข้ามาในสยามตั้งแต่รัชกาลที่ 3-4 และมีโอกาสได้สัมผัส “ชีวิต” ของผู้คนในดินแดนสยามและดินแดนใต้ปกครองของสยาม
สังฆราช ปาลเลกัวซ์อธิบายว่าชาวลาวนั้นมีพื้นเพดั้งเดิมเช่นเดียวกับชาวไทย “ชาวลาว” ท่านได้ระบุว่าหมายถึง “ลาวพุงดำ” คือผู้คนในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน และ “ลาวพุงขาว” คือผู้คนในเมืองหล่มศักดิ์และหลวงพระบาง โดย โดยเฉพาะเรื่องภาษาที่คล้ายคลึงกันมากจนสื่อสารกันรู้เรื่องกันดี
ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ สังฆราช ปาลเลกัวซ์ อธิบายว่า “…อาณาจักรลาวอันประกอบไปด้วย เชียงใหม่ ลำพูน นคร (ลำปาง) เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหล่ม (ศักดิ์) และหลวงพระบาง” ฉะนั้นคำอธิบายถึง “ชาวลาว” ในที่นี้ (และเนื้อความต่อจากนี้) จึง “น่าจะ” หมายถึงชาวลาวตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ (หล่มศักดิ์) ขึ้นไป และตั้งแต่เชียงใหม่ทางตะวันตกไปจรดหลวงพระบางทางตะวันออก มากกว่าการหมายถึงชาวลาวในภาคอีสานของไทยในปัจจุบันหรือในเขต
@@@@@@
อุปนิสัย
ชาวลาวเป็นคนสุภาพ ไม่เดียงสา รักสงบ อ่อนน้อม อดทน มัธยัสถ์ ซื่อสัตย์ ถือโชคลาง ไว้ใจคนง่าย หูเบา แต่สิ่งที่ชาวลาวเกลียดชังมากคือการลักขโมย มีเรื่องเล่ากันว่ากษัตริย์ลาวองค์หนึ่งทรงลงโทษผู้กระทำผิดข้อหาลักขโมยด้วยการจับตัวลงไปต้มในหม้อน้ำมันเดือด แต่การลักขโมยก็อุบัติขึ้นเมื่อบ้านเมืองเผชิญความยากลำบากเมื่อเกิดสงคราม มีขโมยอย่างชุกชุม บ้างทำไปเพราะความอดอยาก บ้างทำไปเพราะความอาฆาตแค้น
นอกจากนี้สังฆราช ปาลเลกัวซ์ ยังอธิบายว่า คนลาวไม่ได้เกิดมาเพื่อทำสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับอุปนิสัยที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ชาวลาวจึงยอมอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์เพื่อนบ้าน ไม่มีความคิดที่จะปลดแอกตนเอง แม้จะมีการกระด้างกระเดื่องบ้าง แต่เมื่อเจ้าประเทศราชปราบปราม คนลาวก็จะยอมเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจเช่นเดิม ท่านถึงกับนิยามคนลาวว่าเป็นทาสผู้ภักดี ตามความว่า
“คนลาวมิได้เกิดมาเพื่อทำสงคราม ยอมอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของกษัตริย์เพื่อนบ้าน และไม่คิดที่จะสลัดแอกอันหนักนั้นเลย หากจะคิดกระด้างกระเดื่องขึ้นมาบ้าง ก็จะกลับเข้าอยู่ในร่องในรอย ดังทาสผู้ภักดีอย่างเก่าอีกภายในไม่ช้า เมื่ิอประจักษ์ว่าเจ้าอาณานิคมทรงพิโรธโกรธกริ้วขยับไม้เรียวจะลงทัณฑ์”
ภาพเต็ม ลายเส้นการสักของคนลาวพุงดำ
การแต่งกาย
“ผู้ชายนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อนอกตัวสั้น ๆ ลางทีก็สวมเสื้อคลุมด้วยผ้าฝ้ายมีลายดำกับแดงทับอีกชั้นหนึ่ง ขุนนางผู้ใหญ่สวมเสื้อชั้นนอกคล้ายแบบอินเดียน หรือเสื้อแพรสีแปลก ๆ ปักด้วยดื้นทองและดิ้นเงิน ผู้ชายไว้ผมทรงคนสยาม กล่าวคือไว้ผมหน้าหย่อมหนึ่งที่ตรงกลางกระหม่อม สองข้างโกนเกลี้ยงทุกวันหนึ่งค่ำของเดือนใหม่ ผู้หญิงนุ่งซิ่นสั้น ๆ มีลายเป็นแถบสวยสีต่าง ๆ แล้วคล้องผ้าคล้องคอแพรคุมอก ปล่อยให้ชายปลิวไสว… เมื่อผู้หญิงจะออกจากบ้าน ก็สวมเสื้อชั้นนอกรัดติ้ว แล้วใช้ผ้าแพรสีแดงผูกคอ…”
ส่วนทรงผมของผู้หญิง สังฆราช ปาลเลกัวซ์อธิบายว่า จะมวยผมหลวม ๆ ไว้บนศีรษะ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะไม่นิยมสวมรองเท้า หากสวมก็จะสวมรองเท้าที่ทำจากหนังควาย มีสายหนังผูกโยงกับหลังเท้า และเครื่องประดับนิยมสวมสร้อยคอร้อยลูกปัด สวมกำไลทองคำหรือเงินที่ข้อมือและข้อเท้า
@@@@@@
ภูมิปัญญา
สังฆราช ปาลเลกัวซ์ ชื่นชมว่าดนตรีของชาวลาวนั้นอ่อนหวาน ไพเราะ ฟังแล้วจับใจ ในวงประกอบไปด้วยคนเป่าแคน คนตีกรับ และคนร้อง เพียง 3 คนเท่านั้น เครื่องดนตรีสำคัญอย่างแคนนี้ท่านอธิบายว่า “…แคนลาวนั้นประกอบด้วยไม้ซางเนื้อบางและยาว 16 ลำยึดรวมกันไว้เป็นตับด้วยชิ้นไม้มะเกลือ มีทางเป่า สูดลมเข้าและออก แจกเสียงต่าง ๆ ด้วยลิ้นทำด้วยแผ่นเงินบาง ๆ สอดไว้ในไม้ซางทุกลำตรงที่มีรูเจาะให้ลมเข้าออก ออกเสียงไพเราะด้วยการพรมนิ้วไปบนรูต่าง ๆ ที่เจาะไว้นั้น…”
การรักษาโรคเป็นเรื่องประหลาดใจสำหรับสังฆราช ปาลเลกัวซ์มาก การเป็น “หมอ” ได้รับการนับถือจากชาวลาวมาก แต่หมอนั้นมียาที่มีส่วนผสมแปลก ๆ ที่ถือคติเรื่องของความเชื่อ โชคลาง และไสยศาสตร์ เช่น กระดูกแร้ง กระดูกเสือ กระดูกงู กระดูกนกเค้าแมว ดีงู ดีเสือ ดีหมี ดีค่าง นอแรด ไขมันจระเข้ ก้อนแข็งที่ขึ้นในท้องของสัตว์บางชนิด (bézoard) และยังมีส่วนผสมอื่น ๆ อีกที่อ้างว่ามีสรรพคุณรักษาโรคได้ จนสังฆราช ปาลเลกัวซ์ถึงกับระบุว่า
“…เครื่องยานั้นมักนิยมใช้กันตามความเคยชินมากกว่าจะได้มีการทดสอบกันด้วยเหตุและผล และประกอบไปในทางไสยศาสตร์เป็นอันมาก…”
และยาวิเศษที่ใช้กันทั่วไปคือ “น้ำมนต์” ซึ่งก็สามารถรักษาคนให้หายป่วยได้จริง จนท่านเองก็ถึงกับคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มากที่คนไข้สามารถหายจากสมุนไพรหรือส่วนผสมในยาที่ไม่เป็นที่รู้จักกันในทวีปยุโรป อย่างส่วนผสมที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นนั้น
@@@@@@
ความเชื่อ
ชาวลาวนับถือพระพุทธศาสนา เคารพพระสงฆ์และกราบไหว้พระพุทธรูป แต่สังฆราช ปาลเลกัวซ์ชี้ว่าพวกเขาดูเหมือนจะนิยมไปบนบานศาลกล่าวต่อผีสางเทวดามากกว่าจะบูชาพระพุทธองค์จริง ๆ ซึ่งมิใช่เรื่องผิดแปลกอันใดเพราะก่อนที่ศาสนาพุทธจะแพร่เข้ามาสู่ดินแดนนี้ ศาสนาผีถือเป็นเรื่องที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตคนท้องถิ่นมาเนิ่นนาน ชาวลาวจะนับถือผี 4 ประเภทคือ ผีป่าหรือผีไพร ผีหลอก ผีปอบ และผีอารักษ์หรือเทวดา
ผีป่าหรือผีไพรเป็นพี่ที่อยู่ในป่าเขา เชื่อกันว่าหากเดินทางเข้าไปในป่าแล้วไม่เคารพเซ่นไหว้แล้วมีเหตุให้ค้างแรมในป่า ส่วนมากจะกลายเป็นผู้หายสาบสูญ บ้างก็เล่าว่าผีป่าได้พาตัวไปเมืองมหัศจรรย์แห่งหนึ่งเป็นแรมปีก็จะหนีรอดออกจากป่ามาได้
ผีหลอก คือผีที่มาหลอกหลอนทำให้ตกใจด้วยวิธีการต่าง ๆ เชื่อว่าจะออกมาเพ่นพ่านตามถนนหนทางหรือไม่ก็จะด้อม ๆ มองๆ รอบบ้านเรือน คอยดักพบผู้คนแล้วจึงปรากฏตนในรูปร่างอัปลักษณ์สยดสยองน่าเกลียดน่ากลัว
ผีปอบ คือผีจำพวกให้ร้าย เป็นผีตะกละและน่ากลัว เชื่อว่าหมอผีเลี้ยงผีจำพวกนี้ไว้เพื่อทำร้ายบุคคลอื่น โดยหมอผีจะส่งปอบไปสิงบุคคลนั้น ผีปอบก็จะกัดกินตับไตไส้พุงเรื่อย ๆ จนบุคคลนั้นผอมแห้งลงไปทุกวันแล้วก็จะตายไปในที่สุด
ผีอารักษ์หรือเทวดา เป็นผีประจำเรือนที่คอยอารักษ์คนในบ้านเรือนจากภยันตรายรูปแบบต่าง ๆ เช่น เสือ งูพิษ ภูติ ผี ปีศาจ เชื่ิอกันว่าหากไม่เซ่นไหว้ให้ดีจะทำให้คนในบ้านเจ็บป่วย ข้าวในนาเสียหาย เจ้าของบ้านเรือนต้องประสบแต่เรื่องทุกย์ยาก โดยจำต้องสร้างศาลไว้ใกล้ ๆ ปักเสา มีหลังคาคลุม แล้วโยงสายสิญจน์จากศาลไปศุ่ตัวเรือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผีอารักษ์จะลงจากเรือนแล้วไต่เข้าไปสถิตในศาลเพื่อทำหน้าที่ปกป้องบ้านเรือน
หลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. 2418 คราวเกิดสงครามปราบฮ่อ
บ้านเรือนบ้านเมือง
“เรือนที่อยู่อาศัยเป็นกระท่อมฝากระแชงสานขัดอย่างสวยงาม ยกพื้นด้วยเสาไม้ 8 หรือ 10 ต้น หลังคามุงด้วยใบตองตึงหรือแฝก ใต้ถุนเรือนเป็นคอกควาย วัว หมู หรือเล้าไก่และเป็ด บนเรือนคนในครอบครัวก็นอนกันระเกะระก่าย ด้วยตามปรกติจะมีห้องเพียงห้องเดียวเท่านั้น นอกนั้นเป็นชานซึ่งอาศัยใช้ทำครัวด้วย” นี่คือคำพรรณาของสังฆราช ปาลเลกัวซ์ถึงสภาพบ้านเรือนของชาวลาว
ตามบ้านเรือนชาวบ้านทั่วไปยากที่จะหาภาชนะจานชามเป็นเครื่องดินเผาหรือเครื่องกระเบื้อง ของใช้ในบ้านเรือน เช่น กระเช้า เปล ทำมาจากหวายหรือไม้ไผ่สาน ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีม้านั่ง ไม่มีเตียงนอน มีแต่เพียงเสื่อที่ใช้เป็นทั้งที่นั่ง ที่กิน และที่นอนรวมกัน
ส่วนบ้านเมืองนั้น ท่านบันทึกว่ามีตึกก่อด้วยอิฐถือปูนอยู่บ้าง และวัดก็งดงามมาก บางวัดก็ทาทองระยิบระยับทั้งข้างในและข้างนอก แต่เมืองนี้ท่านไม่ได้ระบุว่าเป็นเมืองใด
@@@@@@
อาหารการกิน
ชาวลาวก็ไม่แตกต่างจากคนทั่วไปในยุคสมัยนั้นที่สังคมยังเป็นแบบเกษตรกรรม เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์ ชาวลาวจะเพาะปลูกโดยเริ่มจากเลือกพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ไม่ไกลมากนัก แล้วโค่นต้นไม้และเผาป่าเพื่อให้ดินมีปุ๋ยดี พวกเขาปลูกมันเทศ ฟักทอง พริกแดง แตงโม และข้าว โดยเฉพาะข้าวเหนียวซึ่ง “เป็นอาหารที่พวกลาวนิยมบริโภคกัน แต่คนไทยกับคนจีนมักนำเอามาทำขนม หรือเอามาทำเหล้าโรงเท่านั้น…”
ส่วนพืชผักอื่น ๆ ก็หาได้จากป่าที่อุดมสมบูรณ์ เนื้อสัตว์ก็มีทั้งเลี้ยงและล่า บริโภคทุกอย่างตั้งแต่ ปลา ไก่ หมู กวาง ควายป่า งู แย้ ค้างคาว หนูนา กบ และอาหารโปรดของชาวลาวคือ “ปลาร้า” โดยจะนำปลาไปตากแดดพอให้ออกกลิ่นนิด ๆ แล้วนำไปหมัก เมื่อจะนำมารับประทานจะเอามาคลุกกับข้าวหรือปั้นข้าวเหนียวจิ้มผสมกับเม็ดพริกแดง
สังฆราช ปาลเลกัวซ์ เคยมีโอกาสพบเห็นพวกเด็ก ๆ ชาวลาวมีความชำนาญในการใช้ฉมวกล่าปลามาก ส่วนการล่าสัตว์บกก็ชำนาญด้วยการใช้ปืน หน้าไม้ และหลอดลูกดอกที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งแม่นยำและไม่ค่อยพลาดเป้า
@@@@@@
เศรษฐกิจ
ดังกล่าวมาทั้งหมดคงจะเห็นสภาพชาวลาวได้ว่ายังอยู่ในสังคมแบบเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ แต่พวกเขาก็ทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนต่างถิ่นบ้าง เช่น การค้าขายกับชาวจีน โดยชาวลาวจะหาของป่ามาขายให้ เช่น งาช้าง หนังสัตว์ ผงทองคำ แร่เงิน ทองแดง รง ผลกระวาน ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้สำหรับทำสีย้อมผ้า ฝ้าย ไหม ฯลฯ ซึ่งการค้าขายนั้นจะใช้เหรียญกษาปณ์ ลักษณะเป็นแท่งรูปรี ๆ เป็นโลหะไม่บริสุทธิ์ขุดจากเหมืองมาอย่างไรก็หลอมไปอย่างนั้น คือไม่มีการแยกให้เป็นโลหะบริสุทธิ์เสียก่อน
แม้หลักฐานชิ้นนี้ไม่ได้ระบุรายละเอียดเจาะลึกข้อมูลลงไปมากนักจึง แต่บันทึกของสังฆราช ปาลเลกัวซ์ก็ทำให้เราเห็นวิถีชีวิตในสภาพกว้าง ๆ ของผู้คนในสมัยนั้นได้ในระดับหนึ่งอ้างอิง : ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์. (2506). เล่าเรื่องเมืองไทย. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร : อักษรสัมพันธ์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2562
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/culture/article_38471เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563