ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เย้ายวนอวลกลิ่น "ผการ็อมดวล" เทศกาลดอกลำดวนบาน...ที่ศรีสะเกษ  (อ่าน 1169 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เย้ายวนอวลกลิ่น "ผการ็อมดวล" เทศกาลดอกลำดวนบาน...ที่ศรีสะเกษ

ผการ็อมดวล หรือ ร็อมดวล เป็นภาษาเขมร หมายถึง ดอกลำดวน ที่นอกจากจะเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษแล้ว ยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชาด้วย

คนเขมรโบราณนิยมใช้ดอกลำดวนมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีผึ้งทาริมฝีปากสำหรับผู้หญิง เรียกว่า การ็อมอวล ร็อมดวล เป็นสัญญะของความงาม ที่นิยมนำมาใช้ประพันธ์ในบทเจรียงกันตรึมหรือบทร้องของชาวเขมร และชาวอีสานใต้เชื้อสายกัมพูชาในประเทศไทย ใช้ในพิธีมงคลต่างๆ



ทุกๆปีจังหวัดศรีสะเกษจะจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน ในช่วงที่ต้นลำดวนกว่า 45,000 ต้น ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จะพากันบานสะพรั่งอวดโฉมความงดงาม และในช่วงเย็นไปจนถึงพลบค่ำ ดอกลำดวนจะอวลกลิ่นหอม เย็นๆ ตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ

ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์ ส่งเสียงตามสายชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลดอกลำดวนบาน ที่ปีนี้ยังคงจัดยิ่งใหญ่ แม้จะมีสถานการณ์ของโควิด-19 แต่ทางจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การันตีความปลอดภัย ด้วยการเตรียมความพร้อมทั้งหน้ากาก เจลล้างมือ อีกทั้งสถานที่ก็เป็นพื้นที่เปิดโล่ง กว้างขวาง ไม่แออัด โอกาสจะติดเชื้อโรคมีไม่มาก เท่ากับความติดใจในความสวยงามของดอกลำดวนสีเหลืองที่บานพร้อมกันทั่วบริเวณ




“ลำดวนเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นทั้งต้นไม้ และดอกไม้ประจำจังหวัด ซึ่งในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ก็มีต้นลำดวนกว่า 45,000 ต้น ถือว่าเป็นสวนที่มีต้นลำดวนมากที่สุดในโลก จะสวยงามที่สุดตอนที่ดอกลำดวนบานในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี และปีนี้นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมความสวยงามของดอกลำดวนแล้ว

จังหวัดศรีสะเกษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย ร่วมกันจัดงานในธีมเทศกาลดอกลำดวนบานสืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ มีการแสดงแสง สี เสียง อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร ตอน สืบราชมรรคา ศรีชยราชา ชัยวรมันที่ 7 ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่ อลังการ ควรค่าแก่การมาเที่ยวชม” ผอ.ธมลวรรณ บอก




ขณะที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ วิชิต ไตรสรณกุล เสริมว่า ในช่วงกลางวัน วันที่ 11-15 มี.ค.63 ตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้าเป็นต้นไป นักท่องเที่ยวจะได้เที่ยวชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การแสดงประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชน 4 เผ่าไทศรีสะเกษ การจำหน่ายและสาธิตอาหารพื้นเมือง นิทรรศการภาพเขียน งานศิลปะ ของศิลปินท้องถิ่น การประกวดผลิตภัณฑ์พื้นเมือง สินค้า OTOP ผลผลิตทางการเกษตร ถ่ายรูปติดแสตมป์ที่ระลึก

ส่วนกลางคืน วันที่ 13-15 มี.ค. 2563 ตั้งแต่ 19.00 น. จะมีการแสดงแสง สี เสียงอันยิ่งใหญ่ ตำนานการสร้างเมืองศรีสะเกษ เรื่อง “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร” ตอน สืบราชมรรคา ศรีชยราชา ชัยวรมันที่ 7 สามารถชมการซ้อมใหญ่ได้ตั้งแต่คืนวันที่ 11 มี.ค.

รื่นรมย์กับงานดอกลำดวนบานแล้ว แนะนำให้หาเวลาไปท่องเที่ยว สถานที่ต่างๆในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งหลายที่มีมนตร์ ขลังของประวัติศาสตร์ ที่มีเสน่ห์จากกลิ่นอายอารยธรรมขอม เห็นได้จากโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ชนเผ่า 4 เผ่า ลาว เขมร ส่วย เยอ และชนเผ่าพื้นเมือง “เขมรป่าดง” ที่ถือว่าเป็นคนดั้งเดิมพื้นถิ่นของศรีสะเกษ



ที่ที่เป็นไฮไลต์ของศรีสะเกษ ที่ไม่ควรพลาด ก็คือ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ หรือจะขึ้นไปชมจุดชมวิว ผามออีแดง หน้าผาหินสีแดงที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตา จากจุดนี้สามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ก่อนจะวกกลับลงมาชม ภาพสลักนูนต่ำ ทางทิศใต้ของผามออีแดง

ซึ่งมีบันไดให้ลงไปชมได้สะดวก เป็นภาพเทพสามองค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างผู้แกะสลัก ก่อนที่จะทำการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร และ สถูปคู่ ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของผามออีแดง ตัวสถูปทำจากหินทรายตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ด้านบนกลมมนตั้งอยู่คู่กัน ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ในสมัยนั้น



ก่อนกลับไหว้พระเอาฤกษ์ เอาชัยกันที่ วัดหนองตะเคียน ในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ วัดที่สร้างอุโบสถตามศิลปะแบบขอม-ล้านนา สีขาวสว่างสุกใส พร้อมลานกว้างที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เรียงรายเป็นแถวสวยงามแปลกตา และ พระธาตุเรืองรอง พระธาตุที่สร้างขึ้นโดยการผสมศิลปะอีสานใต้สี่เผ่าไท ได้แก่ ลาว เขมร ส่วยและเยอ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ด้านบนสุดยังเป็นที่ชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ

ไปสัมผัสมนตร์เสน่ห์ของดอก ผการ็อมดวล แล้วจะรู้ว่า ดอกไม้ที่ไม่สวยมากแต่งดงามในความทรงจำนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร...!!!




ขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/thaitravel/1788663
ไทยรัฐฉบับพิมพ์ ,7 มี.ค. 2563 ,05:08 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ