'พระพอเพียง' แห่งเมืองคอน แนะวิธีสู้เศรษฐกิจฝืดเคือง“พระพอเพียง” เมืองนครศรีฯ เดินตามรอยพ่อหลวง ร.9 ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงใช้พื้นที่หลังวัดปลูกผักสวนครัวไว้บริโภค เหลือนำไปถวายวัดต่างๆ-โรงเรียนฯ พร้อมสอนญาติโยมกลับไปปลูกกินเองในครัวเรือน
เรียกว่าทุกคนมีโอกาสเป็น-โอกาสตายเท่ากัน สำหรับสถานการณ์ไวรัสมรณะ“โควิด-19” เนื่องจากวงการแพทย์ทั่วโลกยังไม่มีวิธีรักษา อาการวิกฤติหนักสุดคือตาย เหตุการณ์ดังกล่าวหากไปพูดกับคนเฒ่าคนแก่ท่านก็จะบอกว่าแล้วแต่บุญแต่กรรม ทำบุญมาเยอะก็ไม่เป็นไร ตรงกันข้ามบุญน้อยบาปหนักเมื่อถึงเวลาก็ต้องพบกับวาระสุดท้าย มองดี ๆ จะเห็นว่าท่านกำลังสอนทางอ้อมเรื่องการทำบุญแล้วจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะคนสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัดทำบุญกันมากนัก การสะสมบุญเป็นเรื่องที่ดีควรปฏิบัติต่อเนื่อง...ปล่อยวางจากโลกโซเชียลฯที่มันมาพร้อมกับความรุนแรง-หยาบคาย-หลอกลวงบ้างก็จะดีไม่น้อย
บางคนบอกสิ่งที่น่ากลัวกว่าเจ้าโควิด-19 คือผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศ แทบไม่ต้องบอกเลยว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพไหน ปิดโรงงาน เลิกจ้าง ส่งออกไม่ได้ การท่องเที่ยวทรุดหนัก...จากสภาพตอนนี้ถามว่าคนไทยควรรับมือปัญหาอย่างไร คำตอบคือ...สิ่งที่มีค่าที่สุดที่พ่อของแผ่นดินได้มอบให้กับคนไทยทุกคน...หลักเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักกิน-รู้จักใช้ ประหยัดอย่างมีสติ และไม่ฟุ่มเฟือย ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง 
เกริ่นนำเรื่องเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งเหววีคนี้มีเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์รูปหนึ่ง คือพระวิชาญ ฐิตนโม อายุ 55 ปี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“หลวงมอ” บวชมา 17 พรรษา เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดควนอุโบสถ หมู่ 3 ต.ปริก อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช พระที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพ่อ ร.9 มาประยุกค์ใช้ในวัด พร้อมกับสอนให้ชาวบ้านเข้าใจ-เข้าถึง พิสูจน์ให้เห็นว่าหลักเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี-มีประโยชน์กับทุกคน แม้กระทั่งพระที่ไม่ต้องยึดติดกับอะไร แต่ทำไมท่านถึงทำสิ่งนี้.... “พระวิชาญ” บอกว่า เป็นพระอยู่ที่วัดแห่งนี้มานานแล้ว ทุกเช้าหลังจากสวดมนต์เสร็จจะต้องมารดน้ำพืชผักสวนครัว บริเวณที่ดินว่างหลังวัด ปลูกเป็นแปลงผักสวนครัวเอาไว้ทุกชนิด มีทั้งถั่ว ฟัก แฟง แตง บวบ ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาด และอีกมายมายหลายชนิด แปลงผักดังกล่าวพระครูโสภณ ธรรมประดิษฐ์ เจ้าอาวาสฯ ปลูกเอาไว้เป็นต้นแบบ ช่วงหลังท่านไม่ค่อยมีเวลาเนื่องจากต้องไปสอนหนังสือ อีกทั้งมีภารกิจทางสงฆ์มาก จึงเข้ามาดูแลแทนเกือบ 10 ปีแล้ว พระพอเพียง บอกอีกว่า เมื่อมาสืบสานต่อก็ขยายพื้นที่ให้มากขึ้นประมาณ 2 ไร่ ทำเองหมดทุกอย่างรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย ทำจนกลายเป็นกิจวัตร ทำจนเกิดความชอบ ที่สำคัญเพื่อให้ได้ผลผลิตมาเป็นประโยชน์กับวัดและชาวบ้าน โดยใช้เวลาว่างจากกิจของสงฆ์ มาทำกิจกรรมดี ๆ พร้อมกับส่งเสริมให้ญาติโยมที่มาทำบุญในวัดได้เห็นเป็นแบบอย่างเรื่องการพอเพียง ประหยัด สอนแนะนำให้เขากลับไปปลูกที่บ้าน เพราะการประหยัด-ความพอเพียง-ไม่ฟุ่มเฟือยจะทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น
“ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพ่อหลวง ร.9 มาปรับใช้ ผักที่เก็บมาหลังจากเหลือกินเหลือใช้แล้วทางวัดจะนำใส่ถุงไปวางไว้บนโต๊ะหน้าวัดฯเพื่อให้ญาติโยมที่ผ่านไปผ่านมาแวะซื้อกลับบ้าน ในราคาถูก ใครไม่มีเงินอยากเอาไปกินก็เอาไปได้ โดยนำเงินใส่ในตู้รับบริจาคของวัดตามกำลังศรัทธา เพื่อนำไปเป็นค่าน้ำค่าไฟของวัดต่อไป อีกทั้งยังนำผักเหล่านี้มาบริโภคในวัด มีมากก็จะนำไปถวายวัดที่อยู่ใกล้เคียงใช้ประกอบอาหารเวลามีงานพิธีต่าง ๆ รวมถึงมอบให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย”ด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ “เหยี่ยวขาว” บอกได้คำเดียวทุกคนต้องช่วยตัวเอง รัดเข็มขัดประหยัด (อย่างมีสติ)ไม่ฟุ่มเฟือย นี่ขนาดท่านเป็นพระแท้ ๆ ยังให้ความสำคัญกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญทำเพราะต้องการเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน....เป็นพระแท้ที่สมควรกราบไหว้ยิ่งนัก.คอลัมน์ ”คนดีของสังคม” โดย “เหยี่ยวขาว”
ข้อมูล-ภาพ “ไพรวัลย์ อุบลกาญจน์ ” เดลินิวส์ออนไลน์ จ.นครศรีธรรมราช
ขอบคุณที่มา :
https://www.dailynews.co.th/article/763714เสาร์ที่ 21 มีนาคม 2563 มเวลา 10.00 น.