"คำสอนแก่ชาวพระนคร" ธรรมะเตือนสติจาก หลวงปู่หลุย จันทสาโรในอดีตสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่หลุย จันทสาโร ได้มีโอกาสมาอบรมเทศนาญาติโยมชาวกรุงเทพฯหลายครั้ง ท่านจึงมีคำสอนที่เหมาะแก่ชาวกรุง เพื่อนำไปพิจารณาให้ตระหนักและแสวงหาธรรม เพียรขัดเกลาตนต่อไป ดังนี้
“ชาวจังหวัดพระนครใช้ชีวิตประจำวันเช่นไร ตื่นขึ้นมาแต่งตัวไปทำงานอย่างเฉิดฉาย ลุกลนทำงานแต่เช้าจรดเย็น เราคิดกันว่าเราก้าวหน้าในชีวิต มีเกียรติ มีคนนับหน้าถือตา ธุรกิจเจริญก้าวหน้า ต้องมีเลขานุการจดรายการนัดประชุม ใครจะมาพบต้องนัดหมายก่อน เพราะเราเป็นคนสำคัญ อาหารการกิน เลือกแต่ที่ประณีต หรูหรา ราคาแพงอวดกัน ภูมิใจกัน ว่าเราเก่ง เรารวยกว่า เรามีความสำคัญกว่า
“คนจนอยู่ในพระนครไม่ได้ เพราะใช้เงินเปลืองมา ไปไหนๆ ก็ต้องขึ้นรถขึ้นรา อาหารการกินอย่างประณีต สุขุมมาก เขาถือการกินเป็นใหญ่ บุคคลที่สนใจทางธรรมะมีน้อยกว่าต่างจังหวัด ชอบใช้ไหวพริบไปทางโกงโดยมาก ซื่อตรงแต่บุคคลเป็นอุบาสกอุบาสิกา ผู้ที่รักใคร่ในศีลธรรม เป็นคนชอบแต่งตัวสะอาด ทั้งบ้านเรือนที่อยู่ ไม่เศร้าหมอง สะอาดงามมากในครัวเรือน”
@@@@@@
“คนกรุงเทพฯชอบเป็นหนี้สินกันโดยมาก ชอบแต่งตัวกันวันละหลายครั้ง เปลืองเครื่องสำอางต่างๆ เช่น น้ำอบน้ำหอม เครื่องย้อมเครื่องทา
“คนกรุงเทพฯใจสูง ทะเยอทะยานนั้นมาก ไม่รู้จักประมาณใช้จ่ายเงิน
“คนกรุงเทพฯชอบผักชีโรยหน้า ชอบยอ ไม่เหมือนคนต่างจังหวัด
“คนกรุงเทพฯชอบฟังเทศน์ แต่ไม่ปฏิบัติตาม บำเพ็ญรักษาศีล ภาวนา เป็นคนหัวสูงทางกิเลสตัณหา ไม่ยอมปฏิบัติศาสนาให้เต็มที่ จับปลาสองมือ ทางอาชีพหนึ่ง ทางศาสนาหนึ่ง คนกรุงเทพฯมีทิฐิมานะมาก โดยไม่ลงคนง่าย…
@@@@@@
“คนกรุงเทพฯรักษาศีลภาวนาไม่ได้ ก็เพราะเครื่องยั่วยวนนั้นมาก เป็นเมืองใหญ่ ประเพณีของเมืองใหญ่ต้องเป็นเช่นนั้น โอ้อวดกัน แข่งกันด้วยกิเลสตัณหาทุกอย่าง เพราะคนเมืองใหญ่ จึงโอกาสปล้นลักกัน ฆ่ากัน ตีชิงวิ่งราวมิได้ขาดสาย ทำบาปบ่อยๆ คนมีศีลธรรมนั้นน้อยมาก
“อยู่ป่าสบายที่สุด สุขที่สุด อยู่กรุงเทพฯนั้นทุกข์ที่สุด ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งวาจา ทุกข์ทั้งใจที่สุด จะเอาเงินวันหมื่นๆ ก็ไม่เอา การที่มากรุงเทพฯชั่วคราวนั้น ก็เห็นแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้นจึงทำให้อดทนอยู่” ที่มา : ชุดสุดยอดสงฆ์ 2 : หลวงปู่หลุย จันทสาโร โดย พรชนก ชาติชำนิ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
ภาพ : วิกิพีเดีย, ลานธรรมจักร
Secret Magazine (Thailand)
ขอบคุณ :
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/202338.htmlBy ying ,22 April 2020