ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ไขปริศนาภาพ “ยูเดีย” ภาพกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่และงดงามสุด  (อ่าน 1022 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ภาพ “ยูเดีย” วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ไขปริศนาภาพ “ยูเดีย” ภาพกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่และงดงามสุด

เมื่อฮันนีมูนทริป(ก.ค. ๒๕๖๐) ผมขอแฟนไปอัมสเตอร์ดัม เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์ เพื่อดูภาพๆ หนึ่ง ภาพที่มีความหมายสำหรับผม และคนไทยทุกคน

ผมน่าจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่เปิดเผยว่าภาพนี้ใครวาด วาดเมื่อไหร่ เคยแขวนที่ไหน และอยู่รอดมาได้อย่างไร

ไม่อยากเชื่อว่าภาพกรุงศรีอยุธยา เก่าแก่และงดงามสุด เกือบถูก (ฝรั่ง) ทำลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ ภาพยูเดียหรือกรุงศรีอยุธยาเป็นภาพมุมกว้าง (๙๗ x ๑๔๐ ซม.) วาดในขณะที่สิ่งปลูกสร้างและสถานที่สำคัญต่างๆ ยังอยู่ครบสมบูรณ์ ทำให้เราสามารถจินตนาการสภาพภูมิทัศน์ รูปลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยา

ว่าเป็นเกาะเมืองห้อมล้อมด้วยแม่น้ำหลายสาย ตัวเมืองมีกำแพงอิฐล้อมรอบ ป้อมปืนและประตูเมืองเรียงรายเป็นระยะๆ พื้นที่พระนครแบ่งออกเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย จัดเป็นระเบียบสวยงาม อีกทั้งถนนและคูคลองล้วนเชื่อมโยงต่อกันดุจตาข่าย จนราชธานีได้รับสมญานามว่า “เวนิสตะวันออก”


ภาพ “ยูเดีย” แขวนอยู่เหนือหัวผมพอดี ถ่ายโดยภรรยาเมื่อ ๒ ก.ค. ๒๕๖๐

ภาพวาดสีน้ำมัน “ยูเดีย” เป็นงานวิจิตรศิลป์ สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากความวิจิตรโอฬารของพระราชวังหลวง อาคารบ้านเรือนและศาสนสถาน ถนนที่ปูด้วยอิฐ สะพานที่ก่อด้วยไม้หรือศิลาแลง ล้วนแลดูตระการตา ภาพนี้จึงเป็นผังเมืองกรุงศรีอยุธยาที่น่าทึ่งที่สุด

เอกสารไทยล้วนระบุว่า ภาพนี้วาดโดยจิตรกรนิรนามชาวฮอลันดาในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ตรงกับสมัยพระเจ้าปราสาททอง ข้อเท็จจริงคือภาพนี้เป็นผลงานของโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) จิตรกรและนักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา วาดราว พ.ศ. ๒๒๐๕-๐๖ ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (VOC) ได้ว่าจ้างให้จิตรกรวาดภาพเมืองท่าสำคัญในเอเชียตะวันออกจำนวน ๑๐ ภาพ

ซึ่งกรุงศรีอยุธยาคือหนึ่งในนั้น ภาพชุดนี้เคยแขวนประดับบนผนังห้องประชุม Heren XVII (สุภาพบุรุษทั้ง ๑๗) หรือคณะผู้บริหารของบริษัท ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ฮอลันดา ภายหลังที่บริษัทยุติบทบาท ภาพเหล่านี้ได้ถูกนำไป “เก็บรักษา” ที่กระทรวงอาณานิคม กรุงเฮก


ภาพ “ยูเดีย” (ขวาล่าง) เคยแขวนไว้ด้านหลังโต๊ะประชุมกรรมการ (Heren XVII) บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ (ปลายรัชกาลที่ ๓) ข้าราชการนิรนามท่านหนึ่งได้เขียนบันทึกว่าภาพจำนวน ๓ ภาพได้ถูกทำลาย และในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ (ต้นรัชกาลที่ ๕) ข้าราชการอีกท่านนาม V. de Stuers รายงานว่าภาพที่หลงเหลืออีก ๗ ภาพ (รวมถึงภาพ “ยูเดีย”) ถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างกองดินเตรียมทำเป็นปุ๋ย หากปล่อยไว้ อีกไม่นาน มรดกวัฒนธรรมของฮอลันดา(และสากล) อาจสูญหายไปอย่างถาวร

บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในเมืองอัมสเตอร์ดัม

รายงานชิ้นนี้ทำให้ทางการตื่นตัว ขนย้ายภาพ “ยูเดีย” และภาพเมืองท่าสำคัญอื่นๆ ที่วาดโดยวิงโบนส์ อาทิ Canton (กวางตุ้ง), Lawec (ละแวก), Couchyn (โคชิน) ฯลฯ ไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ไรคส์มิวเซียม (Rijksmuseum) อัมสเตอร์ดัม

ใครแวะไปอัมสเตอร์ดัม นอกจากจะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Van Gogh, บ้าน Anne Frank ผมอยากเชิญชวนให้แวะไปพิพิธภัณฑ์ไรคส์ (เดินจากพิพิธภัณฑ์ Van Gogh ราว ๕-๑๐ นาที) บอกลายแทงให้เลย ห้อง ๒.๙ ครับ

เขียนเสียยาว อยากบอกเล่าความเป็นมาของภาพกรุงเก่า อยากให้เราภูมิใจในแผ่นดินครับ


 
หาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” (มติชน, ๒๕๔๙, น.๔๑-๔๕) แต่งโดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช (ชื่อคุ้นๆ)
ผู้เขียน : ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ผู้เขียนหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง”
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2560
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_10944
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ