ขอคุยต่อนะครับ กรณีของวิปัสสนากรรมฐาน การวัดความสำเร็จ คือ
การเป็นอริยบุคคลขั้นต่างๆ ซึ่งต้องพิจารณาถึงการตัดสังโยชน์
สังโยชน์ ๑๐ (กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล)
๑. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตน เป็นต้น)
๒. วิจิกิจฉา (ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ )
๓. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร)
๔. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ)
๕. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง)
๖. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ)
๗. อรูปราคะ (ความติใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ)
๘. มานะ (ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
๙. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
๑๐. อวิชชา (ความไม่รู้จริง, ความหลง)
ที่มา พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม(ป.อ.ปยุตโต)
โสดาบันและสกทาคามี ตัดสามข้อแรกได้
อนาคามีตัดห้าข้อแรกได้
อรหันต์ตัดได้ทั้งหมด
แต่ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ เราจะวัดกันอย่างไรว่า กิเลสเบาบาง
ผมคิดเอาเองว่า น่าจะดูอุปกิเลส ว่ามีอยู่มากน้อยเท่าไร
ส่วนคนที่ขึ้นวิปัสสนาได้แล้ว ก็ควรต้องพิจารณา วิปัสสนูกิเลส
อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส ๑๖ (ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งทีทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี)
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร)
๒. พยาบาท (คิดร้ายเขา)
๓. โกธะ (ความโกรธ)
๔. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ)
๕. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น)
๖. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน)
๗. อิสสา (ความริษยา)
๘. มัจฉริยะ (ความตระหนี่)
๙. มายา (มารยา)
๑๐. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด)
๑๑. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง)
๑๒. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน)
๑๓. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน)
๑๔. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา)
๑๕. มทะ (ความมัวเมา)
๑๖. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ)
ข้อ ๒ มีต่างออกไป คือ ในธัมมทายาทสูตร เป็น โทสะ (ความคิดประทุษร้ายเขา)
วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, ธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้ได้ตรุณวิปัสสนา หรือวิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นเหตุขัดขวางให้ไม่ก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ )
๑. โอภาส (แสงสว่าง)
๒. ญาณ (ความหยั่งรู้)
๓. ปีติ (ความอิ่มใจ)
๔. ปัสสัทธิ (ความสงบเย็น)
๕. สุข (ความสุขสบายใจ)
๖. อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ, ศรัทธาแก่กล้า, ความปลงใจ)
๗. ปัคคาหะ (ความเพียรที่พอดี)
๘. อุปัฏฐาน (สติแก่กล้า, สติชัด)
๙. อุเบกขา (ความมีจิตเป็นกลาง)
๑๐. นิกันติ (ความพอใจ, ติดใจ)
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)