สำหรับนาม พระสาสนโสภณ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์พระราชทานตามนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช คือ สา ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า
“พระสรสาตรพลขันธ์ (สมบุญ) เคยเล่าให้หม่อมฉันฟังว่า เมื่อทูลกระหม่อมจะทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ เมื่อยังเรียกกันว่า อาจารย์สา ให้เป็นพระราชาคณะ ทรงประดิษฐ์ราชทินนามเอานามเดิมของท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม ๑ พระสาสนโสภณ นาม ๑ โปรดให้พระสรสาตรไปถามว่าท่านจะชอบนามไหน ท่านว่า นามสาสนดิลก นั้นสูงนัก ขอรับพระราชทานเพียงนามสาสนโสภณ ก็ได้นามนั้น คนทั้งหลายเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา ได้ความเข้าที”
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นับเป็นพระสาสนโสภณรูปแรก และทรงโปรดนามนี้มากแม้จะทรงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕ ก็คงใช้นามว่า “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม” เท่ากับทรงพระกรุณาโปรดให้ยกตำแหน่งที่พระสาสนโสภณขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองในครั้งนี้
@@@@@@@
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๒๒ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสาสนโสภณ (สา) ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และไม่ได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามพระสาสนโสภณเป็นเวลาถึง ๒๑ ปี กระทั่งปี พ.ศ.๒๔๔๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อ่อน อหึสโก) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตยมหาสีมารามรูปที่สอง เป็นที่พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย นับแต่นั้นมาสมณศักดิ์ตำแหน่งที่พระสาสนโสภณ ได้เป็นตำแหน่งของเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สืบมาจนปัจจุบัน
ความไว้พระทัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพระสาสนโสภณ (สา) ยังเห็นได้จากภายหลังการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๗ เพื่อให้เป็นวัดสำหรับพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายใช้ศึกษาเล่าเรียน และให้ผู้ที่ศรัทธาในพระธรรมยุติกานิกายใช้ทำบุญ อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟมีโรงทานสำหรับทำบุญของชาวบ้านมาก่อน รวมทั้งให้สอดคล้องกับธรรมเนียมการสร้างวัดประจำเมืองสมัยโบราณที่ต้องมีวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน
เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสร็จสิ้นจึงโปรดเกล้าฯให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๐๘ โดยในวันนั้นโปรดเกล้าฯให้มีขบวนแห่ประกอบด้วยธงทิว พิณพาทย์ และรถอีกหลายคันรับพระสาสนโสภณจากวัดบวรนิเวศวิหารมายังพระอารามแห่งใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตรเป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรมแด่พระสาสนโสภณ (สา) อีกด้วย
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕
พระสาสนโสภณ (สา) นอกจากจะช่วยดูแลพระอารามแห่งใหม่แล้วยังช่วยพระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดีเช่นที่พระเทพกวี (แย้ม อุปวิกาโส) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามได้บันทึกไว้ว่า
“สมเด็จพระสังฆราชนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดว่าเป็นผู้แต่งเทศน์ดี แต่ครั้งเสด็จดำรงอยู่ในพระผนวช ภายหลังเมื่อเป็นพระสาสนโสภณแล้ว ถ้าพระราชาคณะหรือเปรียญจะถวายเทศน์ ต้องมาให้ตรวจเสียก่อน ถ้าใครไม่ชำนาญในการแต่งเทศน์ก็ทรงแต่งให้ แลได้ทรงรจนาหนังสือที่เป็นพระสูตรแลกถามรรคต่างๆมาก แลได้ทราบได้เห็นมีอยู่ในที่วัดอื่นๆที่ใช้เทศน์กันอยู่ก่อนๆหรือปัจจุบันนี้ เป็นหนังสือที่ทรงรจนามาก”
นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมอบหมายให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งสำคัญแล้ว สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความสัมพันธ์ในฐานะพระอาจารย์และศิษย์หลวง คือพระจริยวัตรที่แสดงถึงความสนิทสนมกันดังที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกดังนี้
“เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูกระหม่อมไปวัดราชประดิษฐ์อยู่เนืองๆ คราวหนึ่งได้ยินตรัสถามสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) ครั้งยังเป็นพระศาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่ สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี ทรงชี้เอาเราซึ่งนั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แนะชื่อคน แต่นั้นเราสังเกตว่าทรงพระสรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน”
@@@@@@@
อีกส่วนหนึ่งมาจากระยะทางระหว่างพระบรมมหาราชวังและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักทำให้เดินทางสะดวกโดยไม่จำกัดเวลา เช่นที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจโดยมากจะเสด็จฯทรงพระแคร่คนหาม ออกทางประตูเทวาพิทักษ์มายังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แล้วประทับสนทนากับสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อยู่ที่กุฏิของท่านนานๆ จนบางคราวถึงกับลงบรรทมคว่ำสนทนากัน หรือในบันทึกของนัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา บุตรของพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ล.ศิริ อิศรเสนา) กล่าวในลักษณะเดียวกันว่า
“สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงว่างพระราชกิจในเวลาราตรี มักจะเสด็จไปทรงคุยธรรมะกับพระสาสนโสภณ (สา) ในโบสถ์วัดราชประดิษฐ์เป็นเวลาจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ทรงเล่าว่า เจ้านาย พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอเล็กๆที่ตามเสด็จไปพร้อมกับเจ้าจอมมารดา ต้องนอนหลับตากยุงอยู่บนแท่นสี่มุมโบสถ์วัดราชประดิษฐ์ จนกระทั่งเสด็จฯกลับ”
สายสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังปรากฏอยู่เสมอจวบจนวาระแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ปีมะโรง อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาของพระสงฆ์ ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องนมัสการ
พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เข้าในพระที่บรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์เป็นมคธภาษา ทรงลาและขมาพระสงฆ์จากนั้นทรงโปรดฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เชิญไปอ่านในที่ประชุมสงฆ์ภายในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พอถึงเวลา ๙ นาฬิกา (๒๑.๐๐ น.) ก็เสด็จสวรรคต เล่ากันว่าครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ท่านนั่งฟังด้วยน้ำตาไหลหมายเหตุ : ผู้อ่านสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้ในบทความ “๒๐๐ ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยของพระมหากษัตริย์ ๒ รัชกาล” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๑๐ (ส.ค. ๒๕๕๖), หน้า ๑๐๘-๑๒๘
อนึ่งทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามก็ได้จัดพิมพ์หนังสือพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สามารถสอบถามไปได้ที่เพจวัดราชประดิษฐฯ https://web.facebook.com/Watrajapradit/]ผู้เขียน : นนทพร อยู่มั่งมี
เผยแพร่ : วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ. 2562
ขอบคุณ :
https://www.silpa-mag.com/history/article_6802