ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มิตรภาพไทย-ลาว "ม่วนซื่น" เพิ่มสะพานข้ามโขง แห่งที่ 5-6  (อ่าน 1124 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


มิตรภาพไทย-ลาว "ม่วนซื่น" เพิ่มสะพานข้ามโขง แห่งที่ 5-6

สัปดาห์นี้จะพาไปดูความม่วนซื่นของมิตรภาพไทย-ลาว ที่มีสัญลักษณ์ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวถึง 4 แห่ง ภายใน3-5 ปีนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลสปป.ลาวเตรียมสร้างสะพานแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) และแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน)

โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งใหม่ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) เริ่มกันที่สะพานแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,630 ล้านบาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,300 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ในส่วนของไทยแบ่งเป็น 3 สัญญา ได้แก่

สัญญาที่ 1. การก่อสร้างถนนฝั่งไทย วงเงิน 831 ล้านบาท
สัญญาที่ 2. ด่านพรมแดน ศุลกากร อุปกรณ์ต่างๆ และถนนภายในด่าน วงเงิน 883 ล้านบาท
ส่วนสัญญาที่ 3. ตัวสะพาน งบประมาณรวม 1,263 ล้านบาท แบ่งเป็นฝั่งไทย วงเงิน 787 ล้านบาท และ ฝั่งลาว วงเงิน 476 ล้านบาท กู้เงินจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.



สัญญาที่ 1 และ 2 ได้ผู้รับจ้างแล้ว อยู่ระหว่างขออนุมัติเรื่องวงเงินก่อสร้าง คาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลเร็วๆนี้ ส่วนสัญญา 3 ตัวสะพานอยู่ในขั้นตอนประกวดราคา เมื่อลงนามสัญญากับผู้รับเหมาได้ทั้ง 3 สัญญาจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 63 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จปี 66 เพื่อเปิดบริการต่อไป จะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางและขนส่งสินค้ารวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ

รายละเอียดโครงการมีระยะทาง 16.18 กม. แบ่งเป็นถนนฝั่งไทย 13 กม. และถนนฝั่งลาว 3.18 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไดสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ มุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 และตัดทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย

และยกข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร ข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทางจราจรและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาวสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ของสปป.ลาว กม.ที่ 136+677 ที่บ้านกล้วยเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ

รูปแบบสะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องไปกลับ ด้านละ 1 ช่อง กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตร และทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว





ส่วนสะพานแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ทล.ได้สำรวจและออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการพิจารณาหารือของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและ สปป.ลาวเพื่อสรุปแนวทางดำเนินโครงการร่วมกันให้เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาติดปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การประชุมหารือล่าช้าบ้าง

คาดว่าภายในปี 63 จะได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายพิจารณาหากได้รับความเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการขออนุมัติโครงการตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะของบฯก่อสร้างปี 65 ก่อสร้างได้อย่างเร็วปลายปี 65หรืออย่างช้าต้นปี 66 แล้วเสร็จปี 68

เบื้องต้นใช้วงเงินดำเนินโครงการ 4,270 ล้านบาท ความยาวสะพานรวม 1,607 เมตร ตัวสะพานยาว1,020 เมตร และงานทางลาดลงจากตัวสะพาน ความยาวฝั่งไทย 517 เมตร ฝั่งลาว 70 เมตร ข้ามแม่น้ำโขงเป็นสะพานแบบโค้ง(Arch Bridge) ขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ ขนาดช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.00 เมตรแบ่งทิศทางจราจรด้วยแถบกลางกว้าง 1.20 เมตร พร้อมทางเท้า 1.25 เมตร เชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 2112 อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี กับทางหลวงหมายเลข 13 เมืองละครเพ็ง สปป.ลาว

มีถนนฝั่งไทย 4.325 กม. ถนนฝั่งลาว 17.509 กม. ขนาด 4 ช่องไปกลับด้านละ 2 ช่อง อาคารด่านควบคุมชายแดน Border ControlFacilitates (BCF) ในไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งจุดเปลี่ยนทิศทางการจราจรอยู่ในฝั่งไทย





สะพานแห่งที่ 6 จาก จ.อุบลราชธานีเชื่อมแขวงสาละวัน จะช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปเมืองละครเพ็งสปป.ลาว ได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้นจากปัจจุบันขนส่งทางเรือผ่านด่านพรมแดนบ้านปากแซง ต.พะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เท่านั้น

รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งสินค้าพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าระหว่าง2ประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนขนส่งตลอดจนเพิ่มโครงข่ายการขนส่งไปท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม และประเทศจีนด้วย ขณะเดียวกันการเดินทางระหว่างจ.อุบลราชธานี กับแขวงสาละวัน จะประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น



ปัจจุบันมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 แห่ง ได้แก่
    สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์)
    สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)
    สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 (นครพนม-คำม่วน) และ
    สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

มิตรภาพของ 2 ประเทศเพื่อนบ้านจะงดงามตลอดไป อนาคตสะพานข้ามแม่น้ำโขงไม่หยุดที่เลข 6 แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ 2 ฝั่งพี่น้องไทย-ลาว




คอลัมน์ : มุมคนเมือง โดย "เทียนหยด"
ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/article/792753
อังคารที่ 1 กันยายน 2563 เวลา 08.00 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 03, 2020, 06:06:52 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ