ธาตุเป็นไฉน.? ความหมาย(วจนัตถะ)ของ คำว่า ”ธาตุ”
ธาตุเป็นไฉน.? ความหมาย(วจนัตถะ)ของคำว่า”ธาตุ” มีดังนี้
วิทหตีติ ธาตุ : ธรรมชาติใดจัดหาธรรมชาตินั้น เรียกว่า “ธาตุ” ความว่า จัดหา สังสารทุกข์ มีอเนกประการ เช่นเดียวกับแร่ ต่างๆ มีแร่ทองเป็นต้นที่จัดหาทองให้
ธียเตติ ธาตุ : ธรรมชาติใดที่สัตว์ทั้งหลายทรงไว้ ธรรมชาตินั้นเรียกว่า ”ธาตุ” ความว่าเป็นธรรมชาติที่สัตว์ทั้งหลายทรงไว้ เช่นเดียวกับภาระที่ผู้นำภาระทรงไว้
วิธานนฺติ ธาตุ : การดำรงไว้ เรียกว่า “ธาตุ” ความว่าธรรมชาติเหล่านั้นเป็นเพียงการดำรงทุกข์ไว้เท่านั้น หามีผู้จัดการ คือ ผู้สร้าง ผู้บันดาลไม่ เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ
วิธียเต เอตายาติ ธาตุ : เพราะเป็นเหตุทรงทุกข์ไว้ จึงเรียกว่า ”ธาตุ” ความว่า สังสารทุกข์ที่สัตว์ทั้งหลายเผชิญอยู่ ก็เพราะธาตุอันเป็นเหตุเหล่านั้น
ธียติ เอตฺถาติ ธาตุ : เพราะเป็นที่ทรงทุกข์ไว้ จึงเรียกว่า ”ธาตุ” ความว่า สังขารทุกข์ที่สัตวทั้งหลายเผชิญอยู่ ล้วนตั้งอยู่ในธาตุเหล่านั้น
@@@@@@@
ความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ
– เรียกว่า “ธาตุ” เพราะมีความหมายว่า ทรงใว้ซึ่งสภาวของตน ปฏิเสธอัตตาซึ่งไม่มีอยู่จริงโดยสภาวะ
– คำว่า “ธาตุ” นั้นเป็นชื่อเรียกของสภาวะ สักแต่ว่าไม่ใช่สัตว์ จริงอย่างนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องธาตุเพื่อถอนขึ้น ซึ่งความสำคัญว่าเป็นชีพ(อัตตา)ไว้ในคัมภีร์ มัชฌิมนิกาย อุปปริปัณณาสก์ว่า
“ภิกษุ บุรุษนี้มีธาตุ ๖ มีผัสสายตนะ(แดนเกิดแห่งผัสสะ) ๖ มีมโนปวิจาร(ความนึกหน่วงทางใจ) ๑๘ มีอธิษฐานธรรม(ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ) ๔ เมื่อความกำหนดหมาย ซึมซาบไม่ถึงบุรุษผู้คงอยู่ในอธิษฐานธรรม บัณฑิตจึงเรียกบุรุษนั้นว่า ‘มุนีผู้สงบแล้ว’ บุรุษไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาแต่ทางสงบเท่านั้น นี้เป็นอุทเทสแห่งธาตุวิภังค์ ๖ ประการ” ดังนี้ เป็นต้น
@@@@@@@
สภาวธรรมธาตุ 18 อย่าง คือ
1. จักขุธาตุ ได้แก่ ประสาทตา
2. รูปธาตุ ได้แก่ รูปร่าง(ภาพ)
3. จักขุวิญญาณธาตุ ได้แก่ การเห็น
4. โสตธาตุ ได้แก่ ประสาทหู
5. สัททธาตุ ได้แก่ เสียง
6. โสตวิญญาณธาตุ ได้แก่ การได้ยิน
7. ฆานธาตุ ได้แก่ ประสาทจมูก
8. คันธธาตุ ได้แก่ กลิ่น
9. ฆานวิญญาณธาตุ ได้แก่ การได้กลิ่น
10. ชิวหาธาตุ ได้แก่ ประสาทลิ้น
11. รสธาตุ ได้แก่ รส
12. ชิวหาวิญญาณธาตุ ได้แก่ การรู้รส
13. กายธาตุ ได้แก่ ประสาทกาย
14. โผฏฐัพพธาตุ ได้แก่ ความเย็นร้อน ความอ่อนแข็ง ความหย่อนตึง
15. กายวิญญาณธาตุ ได้แก่ ความรู้สึกเย็นร้อน,อ่อนแข็ง,หย่อนตึง
16. มโนธาตุ ได้แก่ จิตที่รับรู้การกระทบกัน ระหว่างอารมณ์มีรูปารมณ์ เป็นต้น กับประสาทมีประสาทตา เป็นต้น และจิตที่รับช่วงรูปารมณ์ เป็นต้นนั้น ต่อจากการเห็น เป็นต้น
17. ธรรมธาตุ ได้แก่ สภาวธรรมที่เหลือทั้งหมด จากธาตุ 16 อย่างข้างต้น และมโนวิญญาณธาตุ
18. มโนวิญญาณธาตุ ได้แก่ จิตต่างๆที่นอกจากวิญญาณธาตุต่างๆ มีจักขุวิญญาณธาตุ เป็นต้น รวมทั้งมโนธาตุที่มา : วิสุทธิมรรค มหาฎีกา ปฏิสัมภิทามรรค นิสสยอักษรปัลลวะ อักษรสิงหล)
ขอบคุณ :
dhamma.serichon.us/2020/12/04/ธาตุเป็นไฉน-ความหมายวจ/ ธาตุเป็นไฉน.? ความหมาย(วจนัตถะ) ของคำว่า”ธาตุ”
บทความของ : สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
4 ธันวาคม 2020 ,post by admin.