ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ที่มาของ "ภาพพระพุทธเจ้า" ที่แพร่หลายในปัจจุบัน  (อ่าน 2394 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ขอบคุณภาพจาก https://f.ptcdn.info/


ที่มาของ "ภาพพระพุทธเจ้า" ที่แพร่หลายในปัจจุบัน
ภาพพระพุทธเจ้า Posted on พฤษภาคม 23, 2013 ,by DrRonEnv

เนื่องในวันวิสาขบูชา ผมจึงเขียน เรื่องเกี่ยวกับภาพพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นธรรมทาน ภาพที่เห็นข้างบนนี้คงเป็นที่คุ้นตา หลายคนเพราะเป็นภาพที่มีการเผยแพร่กันมาก แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงที่มาที่ไปของภาพ

บ้างก็เชื่อว่า เป็นภาพถ่ายที่มีคนไปถ่ายรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา แล้วมีภาพพระพุทธเจ้าติดมาในฟิล์ม บ้างก็เชื่อว่า เป็นภาพที่วาดโดยโอรสของรัชกาลที่ ๕ บ้างก็เชื่อว่า เป็นภาพวาดของจิตรกรชาวฝรั่งเศส

ซึ่งความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนแต่ผิดทั้งสิ้น ความจริงแล้วรูปต้นฉบับนั้นเป็นภาพวาดที่วาดโดยใช้สีน้ำมันบนผ้าใบขนาด กว้าง 290 ซม. ยาว 366 ซม. ดังนี้ครับ


ภาพวาดพระพุทธเจ้า สี original

ภาพวาดพระพุทธเจ้าขาวดำ ,ขอบคุณภาพจาก https://topicstock.pantip.com/

Eduardo Chicharro จิตรกรชาวสเปน

แต่แหล่งข้อมูลบางแห่งแปลงภาพนี้ให้เป็นสีขาวดำ เพื่อให้ภาพดูเก่าและดูขลังขึ้น ภาพดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาสเปนว่า Las tentaciones de Buda (ตรงกับภาษาอังกฤษคือ The temptation of Buddha) วาดโดยจิตรกรชาวสเปน ที่ชื่อ Eduardo Chicharro

จิตรกรท่านนี้ได้รับแรงบันดาลใจในศาสนาตะวันออกจาก รพินทรนาถ ฐากูร ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นคนเอเชีย คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยได้รับใน สาขาวรรณกรรม Eduardo Chicharro ได้วาดภาพนี้ขึ้นระหว่าง ปี พศ. 2459 – 2464 (ใช้เวลาวาดประมาณ 5-6 ปี) ปัจจุบันภาพนี้แขวนอยู่ที่ La Academia de Bellas Artes de San Fernando (The Academy of fined arts of St. Ferdinan) กรุงมาดริดประเทศสเปน

ส่วนเหตุการณ์ในภาพนั้น เป็นเหตุการณ์หลังจากที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระสมณโคดมพุทธเจ้า) ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว 1 ปี เมื่อทรงได้ตรัสรู้แล้ว ที่ใต้ต้น “อัสสัตถพฤกษ์” หรือ ต้นโพธิ์ (papal tree) เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา หรือเมื่อประมาณ 2600 ปีก่อน ตามความเชื่อของคนไทย ตามข้อมูลจากพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระองค์ก็เสวยวิมุตติสุขอยู่ 4 สัปดาห์ (แต่ข้อมูลจากอรรถกถากล่าวว่าเสวยวิมุตติสุข 7 สัปดาห์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยคลิก –> ที่นี่) แล้วจึงทรงแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์โลกเรื่อยมา

พอ 1 ปีให้หลังจากวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ทรงกลับมารำลึกความหลัง ที่ต้น อชปาลนิโครธ (ต้นไทรซึ่งเป็นที่เลี้ยงแพะ/แกะ) ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา ฯ อีกครั้ง และก็มีมารผู้มีบาปตนหนึ่ง ที่เฝ้าหาโอกาสจะเข้ามาใกล้ๆ เพื่อก่อกวน มารตนนี้จ้องหาโอกาสมา ตั้งแต่ สมัยที่พระพุทธเจ้ายังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะที่พึ่งจะออกบวชจนกระทั่งตรัสรู้ (ใช้เวลา 6 ปี) ก็ยังไม่มีโอกาส ต้องรอจังหวะอีกปีนึง จึงมีโอกาสเข้ามาหาพระพุทธเจ้า (รวมเวลาที่รอคอยโอกาสทั้งหมด 7 ปี)



ซึ่งมารผู้มีบาปพยายามเข้ามาก่อกวนพระพุทธเจ้า แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นมารจึงเสียใจและนั่งบนพื้นเอาไม้ขีดดินเล่น และลูกสาวมารมาเห็นเลยสงสาร และขออาสาไปทำให้พระพุทธเจ้ากลับมาอยู่ใต้อำนาจให้ได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ เพื่อยั่วยุพระพุทธเจ้าให้ แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายพระพุทธเจ้าก็ได้ขับนางเหล่านั้น ผู้มีรูปน่าทัศนายิ่ง ให้หนีไป เหมือนลมพัด ปุยนุ่น

ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เหตุการณ์นี้เกิดตอนที่พึ่งตรัสรู้ใหม่ๆ ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุข แต่เมื่อศึกษาข้อมูลจากในพระไตรปิฎกและอรรถกถา สัตตวัสสสูตร และ มารธีตุสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) จึงพบว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปแล้ว 1 ปี ซึ่งผมขอวิจารณ์ความสมจริงของภาพดังนี้ครับ

ภาพในส่วนสภาพแวดล้อม : ในส่วนของต้นไม้ ไม่ค่อยสมจริงเท่าใดนัก เพราะตามหลักฐานในพระไตรปิฎก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ที่ต้นไทร แต่ในรูปกลับเป็นต้นโพธิ์ ซึ่งคาดว่า จิตรกรท่านนี้ คงไม่ได้ศึกษารายละเอียดในพระไตรปิฎก อย่างไรก็ตามก็เคยมีจิตรกรไทย วาดภาพเหตุการณ์นี้เหมือนกันคือ อ.เหม เวชกร ซึ่งวาดสภาพแวดล้อมได้ถูกต้องตามเหตุการณ์ในพระไตรปิฎก ดังนี้

ภาพในส่วนของพระพุทธองค์ : นับว่าสมจริงมากจนเมื่อมีคนแปลงภาพเป็นสีขาวดำและ crop เอามาเฉพาะภาพในส่วนที่เป็นพระพุทธเจ้า ทำให้คนที่ไม่รู้ที่มาหลายคน นึกว่าเป็นภาพที่ถ่ายติดมาโดยบังเอิญจากต้นพระศรีมหาโพธิ์เลยทีเดียว และขอแนะนำให้ลองเทียบภาพพระพุทธองค์กับลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ลักขณสูตร ดังนี้

    @@@@@@@

    ดูกรภิกษุทั้งหลายมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการนั้น เป็นไฉน ซึ่งพระมหาบุรุษประกอบแล้วย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ
    อนึ่ง ถ้าพระมหาบุรุษนั้น เสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหาบุรุษในโลกนี้
   ๑. มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี ภิกษุทั้งหลาย การที่พระมหาบุรุษมีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี นี้เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษฯ
   ๒. ณ พื้นภายใต้ฝ่าพระบาท ๒ ของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ภิกษุทั้งหลาย แม้การที่พื้นภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกงมีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง นี้ก็มหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษฯ
   ๓. มีส้นพระบาทยาวฯ
   ๔. มีพระองคุลียาวฯ
   ๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่มฯ
   ๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่ายฯ
   ๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำฯ
   ๘. มีพระชงฆ์รีเรียวดุจแข้งเนื้อทรายฯ
   ๙. เสด็จสถิตยืนอยู่มิได้น้อมลง เอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำได้ถึงพระชาณุทั้งสองฯ
  ๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝักฯ
  ๑๑. มีพระฉวีวรรณดุจวรรณะแห่งทองคำ คือ มีพระตจะ ประดุจหุ้มด้วยทองฯ
  ๑๒. มีพระฉวีละเอียด เพราะพระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงมิติดอยู่ในพระกายได้ฯ
  ๑๓. มีพระโลมชาติเส้นหนึ่งๆ เกิดในขุมละเส้นๆฯ
  ๑๔. มีพระโลมชาติมีปลายขึ้นช้อยขึ้นข้างบน มีสีเขียว มีสีเหมือนดอกอัญชัญ ขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏฯ
  ๑๕. มีพระกายตรงเหมือนกายพรหมฯ
  ๑๖. มีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถานฯ
  ๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะฯ
  ๑๘. มีระหว่างพระอังสะเต็มฯ
  ๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์พระกายของพระองค์ก็เท่ากับวาของพระองค์ ฯ
  ๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันฯ
  ๒๑. มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันดีฯ
  ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ฯ
  ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ฯ
  ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกันฯ
  ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างฯ
  ๒๖. มีพระทาฐะขาวงามฯ
  ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ฯ
  ๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหม ตรัสมีสำเนียงดังนกกรวิกฯ
  ๒๙. มีพระเนตรดำสนิท [ดำคม]ฯ
  ๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาแห่งโคฯ
  ๓๑. มีพระอุณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างพระขนง มีสีขาวอ่อน ควรเปรียบด้วยนุ่นฯ
  ๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ฯ


@@@@@@@

ส่วนเหตุต้นผลกรรมที่ทำให้ได้มาซึ่งลักษณะแต่ละอย่างนั้นลองอ่านรายละเอียดใน ลักขณสูตร ดูนะครับ นอกจากนี้ ยังมี อสีตยานุพยัญชนะ หรือ อนุพยัญชนะอีก 80 ประการ (ไม่รู้ว่ารายละเอียดมีที่มาจากไหน แต่มีพูดถึงในอรรถกถาลักขณะสูตร โดยไม่ระบุรายละเอียด คาดว่ารายละเอียดคงอยู่ใน ฎีกา หรือ อนุฏีกา) ซึ่งเป็นลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ ดังนี้

๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม
๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย
๓. นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี
๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง
๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้นงอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง
๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย
๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก
๘. พระบาททั้งสองเสมอกัน มิได้ย่อมใหญ่กว่ากัน มาตรว่าเท่าเมล็ดงา
๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ
๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช
๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์
๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน
๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน
๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก
๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี
๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง
๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก
๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ
๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี
๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี
๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้
๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย
๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง
๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง
๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง
๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง
๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ
๒๘. มีพระนาสิกอันสูง
๒๙. สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม
๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก
๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน
๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์
๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์
๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย
๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน
๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก
๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว
๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด
๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง
๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ
๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์
๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน
๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด
๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม
๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม
๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ
๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม
๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง
๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง
๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว
๕๔. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน
๕๕. พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม
๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้
๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด
๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ
๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่
๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร
๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย
๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ
๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ
๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย
๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น
๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย
๖๙. ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
๗๐. พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม
๗๑. กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล
๗๒. พระเกสาดำเป็นแสง
๗๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ
๗๔. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ
๗๕. พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น
๗๖. พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น
๗๗. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด
๗๘. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง
๗๙. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น
๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ

@@@@@@@

นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังมีพระฉัพพรรณรังสี หรือรัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า เป็นสีต่างๆ คือ
     ๑. นีล เขียวเหมือนดอกอัญชัน
     ๒. ปีต เหลืองเหมือนหรดาลทอง
     ๓. โลหิต แดงเหมือนตะวันอ่อน
     ๔. โอทาต ขาวเหมือนแผ่นเงิน
     ๕. มัญเชฐ สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
     ๖. ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก




ขอบคุณข้อมูลที่ใช้อ้างอิงจาก :-
- สัตตวัสสสูตร : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=15&A=3952&Z=4009&pagebreak=0
- มารธีตุสูตร : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=15&A=4010&Z=4136&pagebreak=0
- ลักขณสูตร : http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3182&Z=3922&pagebreak=0
- มหาปทานสูตร : http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=0&Z=1454&pagebreak=0
- พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของ พระ อ.ปยุต ปยุตโต เรื่องอนุพยัญชนะ : https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อนุพยัญชนะ
- พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของ พระ อ.ปยุต ปยุตโต เรื่องฉัพพรรณรังสี : https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ฉัพพรรณรังสี
- รายละเอียดเกี่ยวกับภาพ : http://www.mryuse.com/?p=1919
- คุณ Ratthee แห่งเว็บ http://www.palungjit.com นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะสเปน

ขอบคุณที่มา : https://drronenv.wordpress.com/2013/05/23/ภาพพระพุทธเจ้า/
ภาพพระพุทธเจ้า Posted on พฤษภาคม 23, 2013 ,by DrRonEnv
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 07, 2020, 09:18:19 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ที่มาของ "ภาพพระพุทธเจ้า" ที่แพร่หลายในปัจจุบัน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 07, 2020, 09:31:00 am »
0



ประวัติรูปถ่ายพระพุทธเจ้า

ประวัติมีอยู่ว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2523 ได้มีฝรั่งชาวอังกฤษท่านหนึ่งชื่อ นายแพทย์เบอร์นาร์ด ได้มาเที่ยวที่ประเทศอินเดียและได้มาพบเห็นประเพณีโบราณหลายอย่าง บางอย่างก็ดูทารุณโหดร้าย บางอย่างก็สกปรก บางอย่างล้าสมัยเหยียดหยามกัน นึกตำหนิอยู่ในใจ เมื่อได้เที่ยวมาถึงพุทธคยาได้มาชมประเพณีเวียนเทียนวันวิสาขบูชาที่เจดีย์พุทธคยา ได้เห็นประชาชนเวียนเทียนกราบไหว้ต้นโพธิ์ที่สัมมาสัมพุทธเจ้าเคยประทับนั่งตรัสรู้ก็นึกตำหนิในใจว่า ประชาชนพวกนี้โง่มากขาดกราบไหว้ต้นไม้ได้

ครั้งสอบถามได้รับตอบว่าเป็นต้นไม้โพธิ์ที่ประทับนั่งตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะ ในครั้งแรกทำให้เกิดศาสนาพุทธขึ้น ฝรั่งผู้นี้ก็นึกในใจว่าเรื่องเจ้าชายสิทธัตถะเป็นเพียงนิยายที่แต่งขึ้นมานับถือเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องมีจริง นึกเหยียดหยามชาวพุทธอยู่ในใจว่าโง่เง่างมงาย แต่ไม่พูดอะไรกลัวมีเรื่อง

ครั้งกลับที่พักแล้วตอนดึกของคืนนั้นนอนหลับฝันไปว่าตนเองได้ย้อนกลับมาที่พุทธคยานี้อีก แต่เห็นสถานที่เป็นป่าแปลกตาออกไป เห็นต้นโพธิ์ใหญ่มีพระนั่งอยู่องค์หนึ่งมีรัศมีงดงาม จึงได้เข้าไปถามว่าท่านเป็นใคร มานั่งที่นี่ทำไม ได้รับคำตอบว่า เราชื่อพระสิทธัตถะ สละราสมบัติมาบวชและได้เคยมานั่งค้นคว้าพระธรรมที่นี่จนได้ตรัสรู้



ฝรั่งสงสัยจึงย้อนถามว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีจริงหรือ ทรงตอบว่าใช่ เจ้าชายสิทธัตถะมีจริงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจริง ณ โคนต้นไม้โพธิ์นี้เป็นที่แรกตรัสรู้ของเรา ท่านไม่เชื่อเพราะไม่เคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อนเลย ท่านเก่งทางวิทยาศาสตร์แต่ท่านไม่ได้เก่งเรื่องธรรมะ ถ้าท่านได้ศึกษาธรรมะท่านก็จะรู้ได้และจะไม่ไปตำหนิคนอื่นเขาอย่างนี้อีก สิ่งใดที่เราไม่เคยเรียนไม่เคยรู้ไม่เคยค้นคว้าศึกษามาก่อน แล้วจะไปว่าคนที่เขาศึกษาค้นคว้าโง่เง่าอะไรนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าท่านได้ศึกษาแล้ว พิสูจน์แล้วหากปรากฏว่าเหลวไหลไร้สาระจริงจึงประณามก็สมควรทำ ท่านไม่ศึกษาเลยแล้วมาประณามเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ควรทำ เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม อาจผิดพลาดได้

ในฝันของฝรั่งคิดในใจว่า ถ้าตนเอากล้องถ่ายรูปมาจะถ่ายภาพพระสิทธัตถะองค์นี้ออกอวดชาวโลกว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีจริง จะได้แก้ข้อสงสัยของชาวโลกได้ แต่ในฝันตนลืมกล้องถ่ายรูปไป ได้สนทนาได้รับคำตอบที่ถูกใจมากจนลากลับ และได้ตื่นขึ้นในตอนเช้า

ครั้นตื่นแล้วติดใจในความฝัน ลุกขึ้นค้นหากล้องถ่ายรูปคิดว่าจะไปถ่ายรูปนี้มาให้ได้ ครั้นอาบน้ำ รับประทานอาหารแล้วได้ไปซื้อฟิล์มมาใหม่ 1 ม้วน ใส่กล้องออกเดินทางมาที่พุทธคยานี้อีกครั้ง ตั้งต้นถ่ายรูปไปทีละฟิล์มรอบต้นโพธิ์ นึกในใจว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีจริงหรือ นั่งตรงไหนจึงได้ตรัสรู้ ถ้าจริงขอให้ติดสักภาพเถิดจะได้ไปอวดเขาได้ว่า พระสิทธัตถะมีจริง ได้ถ่ายรอบต้นโพธิ์ทุกแง่ทุกมุม


@@@@@@@

เสร็จแล้วถอดฟิล์มให้ช่างล้างให้ ปรากฏว่าได้มาภาพเดียวคือภาพนี้ ภาพที่ถ่ายมาด้วยกันไม่ติดอะไรเลยแม้แต่ต้นหญ้า ทั้งนี้เพราะฝรั่งตั้งใจขอภาพเดียว จึงได้ภาพเดียว

ครั้งได้แล้วก็ดีใจกลับประเทศของตน อวดลูกอวดเมียก็ไม่เชื่อ อวดใครก็ไม่เชื่อ ซ้ำยังถูกว่าโง่เง่าเชื่อในสิ่งเหลวไหลอีก จึงได้เก็บใส่กระเป๋าคงอยู่ในอัลบั้มอย่างนั้น ไม่ได้อวดใครอีกต่อไป ฝรั่งผู้นี้ไม่รู้ว่า การปิดภาพบุคคลที่ทำบุญบารมีมาเพื่อโปรดสัตว์ ทำบารมีมามากมายหลายร้อยหลายพันชาติจนได้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกได้จริงเช่นนั้นเป็นบาป อย่างน้อยที่สุดใส่กรอบแขวนไว้ข้างฝาก็จะพ้นบาป ไม่ผิดสัจจะที่ขอมาว่าจะให้ชาวโลกเขาดู

เมื่อผิดสัจจะอย่างนี้ฝรั่งผู้นี้จึงประสบวิกฤติส่วนตัว รู้สึกสิ้นหวังได้คิดถึงคำสอนของพระสิทธัตถะที่ว่า ให้ทดลองศึกษาธรรมะดูบ้างเพราะวิทยาศาสตร์ศึกษาจนจบแล้ว ได้ตันสินใจหิ้วกระเป๋าใบเก่ากลับมาขอบวชอยู่ที่วัดพุทธคยา เมื่อคนไทยไปเที่ยวคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ได้ไปสนทนากับท่าน ถามท่านว่ามีเหตุอะไรจึงได้มาบวช จึงได้ทราบเรื่องราวดังกล่าว



ขอบคุณ : https://www.dek-d.com/board/view/1986595/
บทความ : ประวัติรูปถ่ายพระพุทธเจ้า ,By Phantom's rose ,21/11/53 ,14:45
แก้ไขล่าสุด : 21 พ.ค. 55 ,15:19 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ