ภัยของชีวิต | ชีวิตดำรงอยู่ได้ในแต่ละขณะ ดุจดังชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายภัยของชีวิตมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงภัยร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากความไม่สะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ภัยจากการเจ็บป่วย ภัยจากธรรมชาติ ล้วนแต่เป็นภัยที่ก่อให้เกิดความยากลำบาก และความเดือดร้อนทั้งสิ้น ประการสำคัญภัยที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ)
ชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในสุคติภูมินี้แตกต่างไปจากชีวิตที่เกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉานในทุคติภูมิหรืออบายภูมิซึ่งต่างอาศัยอยู่ในโลกเดียวกัน สัตวโลกจึงเป็นที่ดูของบุญและบาป ผลของบุญและบาป ซึ่งบุญเป็นสภาพคุณงามความดีของจิตคิดดี (กุศลจิต) และความจงใจดี (กุศลเจตนา) ในการกระทำดี (กุศลกรรม)
ส่วนบาปเป็นสภาพความชั่วช้าเลวทรามของจิตคิดชั่ว (อกุศลจิต) และความจงใจชั่ว (อกุศลเจตนา) ในการกระทำชั่ว (อกุศลกรรม) การกระทำดีเป็นเหตุนำไปสู่ผลของการกระทำดี (กุศลวิบาก) การกระทำชั่วเป็นเหตุนำไปสู่ผลของการกระทำชั่ว (อกุศลวิบาก)
@@@@@@@
เมื่อผลของการกระทำดีได้ส่งผลให้มาเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดในประเทศที่สมควร พบพานและนับถือพระพุทธศาสนาเป็นความโชคดียิ่ง ผู้ที่สะสมความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาแต่ในอดีตชาติ และมีการฟังธรรมตามกาลในปัจจุบันชาติ จะเป็นผลดีต่อการดำเนินชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ส่วนผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่ศึกษาพระธรรมโดยไม่ฟังธรรมตามกาล ย่อมจะเป็นผู้มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการดำเนินชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ฉะนั้นจึงไม่ควรประมาทต่อการดำเนินชีวิต เพราะภัยของชีวิตมีมากมายนานัปการ
ภัยของชีวิตมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงภัยร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากความไม่สะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ภัยจากการเจ็บป่วย ภัยจากธรรมชาติ สาธารณภัยต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นภัย ของชีวิตทั้งสิ้นที่ก่อให้เกิดความยากลำบากและความเดือดร้อน ประการสำคัญที่สุดคือภัยที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด(สังสารวัฏ) ซึ่งเป็นภัยของชีวิตที่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยมีความเศร้าหมอง (กิเลส) ทั้งความโลภ ซึ่งมีทั้งความโกรธและความหลง เป็นเหตุปัจจัยต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้น
@@@@@@@
เพื่อให้ชาวพุทธได้ตระหนักถึงชีวิตอันเล็กน้อยที่เปราะบางของแต่ละคน ซึ่งมีปัจจัยที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ในแต่ละขณะ ดุจดังชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย มีข้อความในพระสุตตันตปิฎก สลลสูตร ว่าด้วยความเป็นธรรมดาของสัตว์โลก ดังนี้
1. ชีวิตเนื่องด้วยลมหายใจเข้าและหายใจออกที่แผ่วและสม่ำเสมอ
2. ชีวิตเนื่องด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม (มหาภูตรูป 4) เมื่อใดธาตุเหล่านั้นทำหน้าที่ของกันและกันอย่างเป็นปรกติ ย่อมนำไปได้เสมอ เมื่อนั้นชีวิตก็ยังเป็นไปได้
3. ชีวิตเนื่องด้วยอาหารที่บริโภค (กวฬีการาหาร) เพื่อยังอัตภาพให้อยู่ได้
4. ชีวิตเนื่องด้วยไออุ่น เมื่อสิ้นไฟเกิดจากกรรม ที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น และอาหารที่บริโภคย่อย
5. ชีวิตเนื่องด้วยจิต(วิญญาณ) เมื่อใดที่จุติจิตเกิดและดับ เมื่อนั้นก็ไม่มีชีวิตอีกต่อไปการมีมิตรชั่วเป็นภัยของชีวิตที่ทำให้ชีวิตเสื่อมลง
ประการสำคัญเป็นเหตุให้มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ในความจริงอันถึงที่สุด(อริยสัจธรรม) ดังที่ปรากฎอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มิตตามิตตชาดก มีว่าลักษณะของมิตรที่ไม่ควรคบ คือ ผู้ที่ไม่มีความละอายชั่ว (หิริ) จึงไม่ควรเข้าไปใกล้ชิดกับบุคคลผู้นั้น เพราะจะทำให้เกิดโทษภัย
บุคคลที่ไม่ใช่มิตร....
- เห็นเพื่อนแล้วไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส
- ไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน
- ไม่แลดูเพื่อน
- กล่าวคำย้อนเพื่อน
- คบหาศัตรูของเพื่อน
- ไม่คบหามิตรของเพื่อน
- ห้ามผู้กล่าวสรรเสริญเพื่อน
- สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน
- ไม่บอกความลับแก่เพื่อน
- ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน
- ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน
- ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน
- ยินดีในความพินาศของเพื่อน
- ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน
- ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนให้ได้ลาภ
@@@@@@@
ชีวิตของแต่ละคนมีความไม่แน่นอนอาจเกิดเหตุเภทภัยได้ทุกเมื่อ แม้แต่ความตาย ฉะนั้นจึงอย่าได้ประมาทในการกระทำดี ไม่ต้องรอคอยใคร ไม่ต้องรอคอยฤกษ์งามยามดีประการใด ดังความตอนหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก สุปุพพัณหสูตร มีว่า
“…พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่านั้นประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นเป็นฤกษ์ที่มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และเป็นการบูชาดีในพรหมจารีบุคคล
บุคคลทั้งหลายทำกรรมประกอบด้วยความเจริญแล้ว ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์อันประกอบด้วยความเจริญถึงซึ่งความสุข งอกงามในพระพุทธศาสนา เป็นผู้หาโรคมิได้ สำราญกาย ใจ พร้อมด้วยญาติมิตรทั้งหลาย”
@@@@@@@
ความเป็นไปของบ้านมืองในเวลานี้กำลังประสบกับวิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในทั่วโลก ในขณะที่โลกประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในรอบศตวรรษ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตของคนไทยทั่วทั้งแผ่นดิน
ฉะนั้นข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการแก้ปัญหาจะต้องทุ่มเทสรรพกำลัง กำลังคนและงบประมาณอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนรอดพ้นจากภาวะวิกฤตินี้ไปให้ได้ จิตคิดดีและความจงใจดีจะเป็นเหตุให้กระทำดีตามบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของตน ขอให้มั่นใจว่าความละอายชั่วกลัวบาปจะนำตนไปสู่ความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้าคอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ขอบคุณที่มา :
https://www.dailynews.co.th/article/817144พฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น.