"พุทธศาสนา" เป็นศาสนาแห่งปัญญา “ปัญญา” เป็นตัวตัดสินพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญา “ปัญญา” เป็นตัวตัดสินในการเข้าถึง “จุดหมายของพระพุทธศาสนา”
“มนุษย์เรานี้มีประสบการณ์ในเรื่องศาสนากันมาเป็นเวลายาวนาน มีนักคิดมากมายเกิดขึ้น แล้วก็ค้นคว้าหาหลักความจริงมาสอนมนุษย์ เกิดเป็นลัทธิศาสนาต่างๆมากมาย ซึ่งอาจแยกประเภทได้ดังนี้
@@@@@@@
ศาสนาประเภทที่ ๑.
ย้ำเรื่อง “ศรัทธา” เขาบอกว่า ให้ฝากชีวิตมอบจิตมอบใจไว้ในองค์เทพสูงสุด แล้วทำตามคำสั่งสอนไป ไม่ต้องสงสัยอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้เป็นศาสนาที่ใช้ศรัทธาเป็นเครื่องตัดสิน ศรัทธาเท่านั้นจะให้ท่านเข้าถึงจุดหมายของศาสนา
ศาสนาประเภทที่ ๒.
คือ พวกที่ถือ “ศีลวัตร” เป็นตัวตัดสิน พวกนี้จะถือระเบียบ แบบแผน กฎเกณฑ์ ที่วางไว้ให้ แล้วประพฤติปฏิบัติตามนั้น ถือว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นเข้าถึงจุดหมายของศาสนาด้วย “ศีลวัตร” ดังมีคำในคัมภีร์เรียกว่า “สีเลน สุทฺธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยศีล” คือเพียงว่ายึดถือศีล ข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ อย่างเดียวเท่านั้น ให้เคร่งครัดเข้มงวด เมื่อปฏิบัติไปตามนั้นได้จริงแล้ว ก็จะหลุดพ้นถึงจุดหมายของศาสนาได้เอง อันนี้ พระพุทธศาสนาเรียกว่า “สีลัพพตปรามาส” ก็เป็นหลักการของศาสนาประเภทหนึ่ง
ศาสนาประเภทที่ ๓.
ได้แก่ พวกที่ยึดเอา “สมาธิ” เป็นตัวตัดสิน คือบำเพ็ญข้อปฏิบัติทางจิตใจ ให้จิตดื่มด่ำ จนกระทั่งในขั้นสุดท้าย จิตจะเข้ารวมกลืนหายกลายเป็นหนึ่งเดียวกับภาวะสูงสุด ซึ่งอาจจะเป็นเทพสูงสุด หรือเป็น “ปรมาตมัน” อะไรก็ตาม ศาสนาประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อย เป็นศาสนาขั้นที่ประณีตมาก
รวมแล้วก็มี ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
๑. พวกปลงศรัทธา มอบจิตฝากใจให้ไปเลย
๒. พวกถือศีลวัตร ตัดสินด้วยความเคร่งครัดเข้มงวด
๓. พวกถือสมาธิ มุ่งให้จิตดื่มด่ำเข้ารวมกับภาวะสูงสุด
แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้ถืออย่างนั้น พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งแก่ศรัทธา ทั้งแก่ศีลวัตร และแก่สมาธิ ถือว่าเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการเข้าถึงจุดหมาย แต่..ไม่ใช่ตัวตัดสิน
#อันนี้เป็นข้อที่ควรต้องระวัง.! ไม่ใช่ว่า..พระพุทธศาสนาจะไม่ให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านั้น ทั้งศรัทธา ทั้งศีลวัตร และสมาธิ เป็นบาท เป็นฐาน และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
@@@@@@@
สำหรับ “ศรัทธา” นั้นพระพุทธเจ้ายังเคยตรัสว่า
“สทฺธา ตรติ โอฆํ แปลว่า บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา”
ข้ามโอฆะ คืออะไร.?
ข้ามโอฆสงสาร ก็คือข้ามวัฏฎสงสาร หมายความว่า พ้นจากการเวียนว่ายในความทุกข์ แสดงว่าพระพุทธเจ้ายอมรับว่าเราจะพ้นทุกข์ได้ด้วยศรัทธา นี่ถ้ามองเผินๆเราก็บอกว่า..เอาแค่ศรัทธาก็พอ
ในกรณีของ “ศีล” ก็สามารถอ้างคำบาลีอีกแห่งหนึ่ง เวลาพระให้ศีลจบท่านก็สรุปทุกครั้งว่า
“สีเลน สคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุคึ ยนฺติ"
คือบอกว่า บุคคลย่อมไปนิพพาน คือ “นิพฺพุตึ” ด้วยศีล
อ้าว.! ถึงนิพพานได้ด้วยศีลแล้วนี่ ก็แสดงว่ายอมรับว่าศีลทำให้ไปนิพพานได้ พอแล้ว
สำหรับ “สมาธิ” ก็มีตัวอย่างคำสอนมากมายที่จะยกมาอ้าง ถ้าจะอ้างกันแบบง่ายๆว่า สมาธิก็พอที่จะถึงนิพพาน ก็สามารถยกตัวอย่างนิพพานขั้นต้นๆ อย่างที่เรียกว่า “นิโรธ” ในนิโรธ ๕ มี
“วิกขัมภนนิโรธ” เป็นข้อแรก ได้ฌานสมาบัติก็ถือว่าถึง “วิกขัมภนนิโรธ”
หรือในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง “ตทังคนิพพาน” และ “ทิฏฐธัมมนิพพาน”
พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า ปฐมฌานก็ตามทุติยฌานก็ตาม จนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเป็นสมาธิในระดับประณีต สูงขึ้นไปโดยลำดับนี้ แต่ละอย่างเป็นนิพพานได้โดยปริยาย พระองค์ตรัสไว้อย่างนั้น แต่ยังไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริง
พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่หลักธรรมเหล่านั้น แต่พระองค์ย้ำว่า “ปัญญา” นี่แหละ.! เป็นตัวตัดสิน ศรัทธาก็เพื่อปัญญา ศีลวัตรก็เพื่อประคับประคองจนกระทั่งเกิดปัญญา โดยเฉพาะสินวัตรนั้นช่วยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็ต้องนำไปสู่ปัญญา ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นเพียงสมาธิที่นำไปสู่ภาวะที่ดื่มด่ำทางจิตเท่านั้น เป็นเรื่องของสมถะไม่ถึงนิพพาน
@@@@@@@
ตกลงว่า จะต้องให้ถึงขั้นสูงสุดคือปัญญา มีอุปมาเหมือนอย่างจะตัดต้นไม้ เราต้องมีอะไรบ้าง ขอให้คิดดู
๑. เราจะต้องโน้มจิตใจโน้มตัวเข้าไปหาการตัดต้นไม้นั้น ใจเอาด้วยกับการที่จะตัดต้นไม้ แล้วมุ่งเข้าไปที่ต้นไม้
๒. ต้องมีที่เหยียบยัน ถ้าตัวเราไม่มีที่ยืนยัน ไม่มีที่ยืนตั้งตัวไว้ เราก็ทำอะไรไม่ได้
๓. ต้องมีกำลังในการที่จะยกมีดขวานขึ้นตัด
๔. ต้องมีมีดขวานที่คมหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตัดได้
- ในอุปมานี้ การหันหน้ามุ่งเข้าไปหาสิ่งนั้นก็คือ “ศรัทธา”
- พื้นดินที่เหยียบยันก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เสมอว่า “ศีล” เปรียบเหมือนพื้นดินเป็นที่เหยียบยัน ทำให้เราทำการงานได้
- ประการที่ ๓ เรี่ยวแรงกำลังของเรา ในการหยิบยกมีดขวานขึ้นมาตัด นั่นก็คือ “สมาธิ”
- แล้วสุดท้ายตัวมีด หรือ ขวาน ที่คมนั้น ก็คือ “ปัญญา”
ตัวที่ตัด ที่ทำให้ขาด ทำให้หลุด ทำให้สำเร็จกิจ คืออะไร.? คือ มีดหรือขวาน มีดขวานนั้นเป็นตัวตัด ทำให้งานสำเร็จบรรลุจุดหมาย แต่ถ้าเราไม่มี ๓ อย่างแรก ทั้งที่มีมีดมีขวาน เราก็ตัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ๓ อย่างแรกก็ขาดไม่ได้ แต่ตัวตัดสินคืออันที่ ๔ ได้แก่ตัว “ปัญญา”
พระพุทธศาสนาสอนว่า “ปัญญา” เป็นตัวตัดสิน จึงถือว่าปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญ เป็นเอก ปัญญาในขั้นสูงสุดคือ ปัญญาในขั้นที่จะทำงานรู้เท่าทัน“สัจธรรม” ที่จะตัด“สังโยชน์” เครื่องผูกมัดสัตว์ไว้กับวัฏสงสาร ไว้กับความทุกข์ ได้แก่ปัญญาที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “วิปัสสนา” วิปัสสนาก็คือ“ปัญญา”นั่นแหละ! แต่เป็นปัญญาในระดับหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ซึ่งเราเรียกชื่อเฉพาะว่าเป็น “วิปัสสนา”
ขอบคุณที่มา : ปาฐกถาธรรม ณ สำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสลฺ) เมื่อ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๒ จากหนังสือ “ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา” ลักษณะที่ ๗ ศาสนาแห่งปัญญา โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
เว็บไซต์ :
hamma.serichon.us/2021/04/03/พุทธศาสนา-เป็นศาสนาแห่ง/ 3 เมษายน 2021 ,By admin