« เมื่อ: เมษายน 19, 2021, 05:18:29 am »
0
(กิโยติน)'ศึกษา เผยแผ่ ปฏิบัติ พุทธศาสนา อย่าให้เพี้ยน' : ท่าน ว.วชิรเมธีสืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวว่าพระรูปหนึ่งตัดหัวตัวเองด้วยเครื่องสังหารกิโยติน โดยอ้างว่าถวายเป็นพุทธบูชาจนถึงแก่มรณภาพตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น ต่อประเด็นนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ได้เขียนบทความอธิบายเรื่องราวดังกล่าว เพื่อไขข้อข้องใจของสื่อมวลชนที่สอบถามกันเข้ามาว่า ที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร คำตอบทั้งหมดมีอยู่ในบทความดังต่อไปนี้
“ศึกษา เผยแผ่ ปฏิบัติ พุทธศาสนา อย่าให้เพี้ยน" พระเมธีวชิโรดม (ท่านว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน
@@@@@@@
๑. ศึกษาพุทธศาสนาต้องรู้ว่า มีภาษาคน ภาษาธรรม เวลาศึกษาธรรมะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า มีการใช้ภาษา ๒ ประเภทอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ
ประเภทที่ ๑ เรียกว่า “ภาษาคน”
ประเภทที่ ๒ เรียกว่า “ภาษาธรรม”
ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้” ถ้าอ่านประโยคนี้ตามตัวอักษรแบบภาษาคน ก็จะเข้าใจตื้นๆ ว่า “ทรงสอนให้ตัดไม้ทำลายป่า...” แต่หากมองในภาษาธรรม (ตามความหมายที่แท้) ก็คือ “ท่านสอนให้ตัด-กิเลส-ที่เป็นดุจป่ารกเรื้อในใจคน อันได้แก่ความรัก (ราคะ) ความโกรธ (โทสะ) และความหลง (โมหะ)” ตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้ จึงหมายถึง ตัดกิเลสในใจตน แต่อย่าตัดต้นไม้ทำลายป่า
อีกประโยคหนึ่ง เช่น ข้อความว่า พระภิกษุรูปนั้นบวช “ถวายอกแด่พระพุทธศาสนา” (อุรํ ทตฺวา) ข้อความนี้เป็นสำนวนภาษาบาลี ซึ่งก็มิได้มีความหมายตื้นๆ แบบภาษาคนว่า “ต้องผ่าหน้าอกถวายเป็นพุทธบูชา” แต่ความหมายแท้ที่ท่านต้องการหรือมุ่งหมายในกรณีนี้ก็คือ “การบวชตลอดชีวิต”
“การบวชถวายอกเป็นพุทธบูชา” จึงหมายความว่า “บวชจนตายคาผ้าเหลือง อยู่เป็นพระไปจนแก่จนเฒ่าแล้วก็มรณภาพไปตามธรรมชาติ”
ถ้าเข้าใจภาษาคน (ตามตัวอักษร) และภาษาธรรม (ความหมายแท้ที่ซ่อนอยู่เมื่อกล่าวถ้อยคำนั้นๆ รวมถึงบริบทแวดล้อมที่ข้อความนั้นๆ ถูกเอ่ยอ้างขึ้นมา) ซึ่งจะเข้าใจชัดก็ต้องมีการศึกษา หาความรู้ ที่ถูกต้องถ่องแท้ ก็จะไม่มีการตีความข้ออรรถ ข้อธรรมต่างๆ ตรงๆ ตามอักษรอย่างพาซื่อ เช่น หากไปอ่านเจอข้อความว่า “ท่าน...ตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้าเป็นพุทธบูชา” ซึ่งความหมายของท่านแท้ๆ ก็คือ พระรูปนั้น โยมคนนั้น...ตั้งใจประพฤติดี ปฏิบัติชอบตลอดชีวิต เหมือนหลวงปู่หลวงตาทั้งหลาย ที่ตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยการรักษาศีล รักษาวินัย แม้จะยากลำบากถึงปางตาย ก็ไม่ยอมละเมิดพระวินัย
อย่างนี้เป็นต้น จึงจะเรียกว่าปฏิบัติเหมือนถวายหัวเป็นพุทธบูชา หรือปฏิบัติเหมือนถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา
เวลาอ่านคัมภีร์หรืออ่านตำราทางศาสนา ถ้ารู้จักจับเอาความหมายแท้ๆ อย่างนี้ได้ ก็จะไม่มีใครฆ่าตัวตายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า แด่พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือแด่ครูบาอาจารย์ของตัวเอง
เรื่องนี้เกิดขึ้นมาจากการ “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด” หรือ “อ่านหนังสือไม่แตก” โดยแท้ก็ว่าได้
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์สอนให้เราเคารพชีวิตทุกชีวิต ชั้นแต่มดและปลวกก็ไม่ให้ฆ่า ไม่ให้เบียดเบียน พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเมตตาการุณย์ เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ พุทธศาสนาไม่ส่งเสริมการเข่นฆ่าราวี การเบียดเบียนบีฑา การใช้ความรุนแรงในทุกกรณี ไม่ว่าฆ่าเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า ฆ่าตัวเองหรือไปฆ่าคนอื่น ท่านถือว่า ผิดทั้งนั้น ศีลข้อที่ ๑ ในศีล ๕ ก็เริ่มจากการ “ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” (ปาณาติปาตา เวรมณีสิกขาปะทัง สมาทิยามิ) ดังนั้น คงไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ไหน จะทรงยินดีปรีดา ถ้าหากมีใครมาตัดหัวของตัวเองแล้วยื่นถวายพระองค์เป็นพุทธบูชา
เรื่องนี้ เกิดจากการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยขาด “ครูบาอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตร” ประเภท อ่านเอง คิดเอง ตีความเอง ปฏิบัติเอง เพี้ยนเอง นำมาสอนเอง จนกลายเป็นที่มาของลัทธินิกายที่วิปริตผิดเพี้ยนในปัจจุบัน
@@@@@@@
๒. การศึกษาพระพุทธศาสนาต้องใช้ปัญญา นำ ศรัทธา การศึกษาพระพุทธศาสนา หากไม่ทำอย่างระมัดระวัง อาจมีปัญหาได้ เพราะเราต้องไม่ลืมว่า คัมภีร์ในพระพุทธศาสนามีมากมายหลายระดับ คัมภีร์บางเล่มก็น่าเชื่อถือ แต่บางเล่มก็ไม่น่าเชื่อถือ อาจถูกเขียนขึ้นมาในภายหลัง หรือถูกปรับแต่งเนื้อหาสาระให้ผิดเพี้ยนออกไปจากแนวทางหลักของพระพุทธศาสนา บางเล่มอาจเขียนขึ้นโดยใครสักคนหนึ่งที่ไม่รู้จริงบางคนที่ตั้งตัวเป็นเจ้าลัทธิ เจ้าสำนัก
จากนั้นลูกศิษย์ลูกหาที่ไม่รู้เรื่องธรรมะ ก็ยกให้ครูบาอาจารย์ของตนเป็นผู้วิเศษ เป็นอริยสงฆ์ หรือเป็นอรหันต์ (ปลอม) คนที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาจริงๆ เหล่านี้แหละ ที่มักนำเอาความเชื่ออย่างผิดๆ ของตนปลอมปนลงไปในตำหรับตำรา หรือคำเทศน์คำสอน พอมีคนไม่รู้จักพุทธศาสนาที่เป็นเนื้อแท้มาอ่าน ก็หลงเชื่อตาม ปฏิบัติตาม และนี่แหละคือที่มาของอาการ “ศรัทธาวิปริต ความคิดวิปลาส” ทั้งหลาย ตัวอย่างใกล้ที่สุดก็เรื่อง คนปกติธรรมดาสามัญที่อ้างว่าตนเป็นพระศรีอริยเมตไตรโพธิสัตว์มาโปรดโลก ทั้งๆ ที่วัตรปฏิบัติก็ไม่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ก็เห็นๆ กันอยู่ว่า เพี้ยน แต่ก็มีคนไปเชื่อมากมาย
การศึกษาพระพุทธศาสนา จึงต้องศึกษาอย่างมีครูบาอาจารย์ หรือศึกษาอย่างเป็นวิชาการให้ถูกต้องถ่องแท้จากสำนักที่เชื่อถือได้เสียก่อน ไม่ใช่ศึกษาเอง อ่านเอง ตีความเอง โดยไม่ปรึกษาหารือใคร ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด และวิปริตออกไปนอกทาง ท่ีกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่ใจแคบ แต่กล่าวเพราะอยากให้ของดีที่สุดคือธรรมะ ถูกส่งต่อไปถึงมือชาวโลกอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ที่สุด ไม่ใช่ไปหยิบมาเพียงแง่เดียว มุมเดียว ซ้ำยังหยิบมาผิดๆ อีกต่างหาก แล้วเอามาส่งต่อกัน เผยแผ่กันอย่างผิดๆ จนวิปริตออกไปในวงกว้าง
@@@@@@@
๓. การบูชาในพุทธศาสนา คือ บูชาด้วยการปฏิบัติตามธรรม การบูชาในพุทธศาสนามี ๒ ประเภท
หนึ่ง. อามิสบูชา บูชาด้วยวัตถุ เช่น ดอกไม้ ของหอม ปัจจัยสี่ เป็นต้น
สอง. ธรรมบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือด้วยการนำเอาหลักธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ในการบูชา ๒ อย่างนี้ การบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอนทรงยกย่องว่า ประเสริฐที่สุดกว่าการบูชาทุกชนิด และควรย้ำว่า ในหลักการบูชาพระพุทธเจ้านี้ ไม่มีข้อใดระบุให้ตัดหัว ฆ่าตัวตายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเลย
@@@@@@@
๔. การบำเพ็ญบารมีในพุทธศาสนา ต้องเพื่อปัญญาและด้วยปัญญา มักมีการอ้างว่า การบำเพ็ญบารมีในพุทธศาสนามี ๓ ระดับ ระดับต้น เช่น ทานบารมี หมายถึง สละทรัพย์สินเงินทองข้าวของ ระดับกลาง หมายถึง สละอวัยวะ (เช่น บริจาคอวัยวะเป็นทาน อาทิ บริจาคเลือด บริจาคดวงตา (เมื่อตายแล้ว) บริจาคร่างกายหลังตายแล้วเป็นอาจารย์ใหญ่ในการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์) และระดับสูง สละชีวิตเป็นทาน
คำว่า “สละชีวิตเป็นทาน” ท่านไม่ได้หมายถึง จู่ๆ ก็ตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชาต่อหน้าพระพุทธเจ้าจริงๆ
แต่ท่านหมายถึง หากเป็นเหตุวิสัยจะยื้อชีวิตไว้ไม่ได้จริงๆ ไม่มีทางเลือกจริงๆ จึงยอมตายถวายชีวิตโดยไม่ประหวั่นพรั่นพรึง เช่น เผชิญหน้ากับเสือ เผชิญหน้ากับงูพิษ หรือนั่งภาวนาอยู่ถูกช้างป่าบุกมาจนถึงหน้ากลด หรือแม้แต่ว่า หากป่วยหนักจนรู้แล้วว่าไม่รอดแน่แล้ว (กรณีพระสารีบุตรที่ป่วยหนักแต่ไม่กลัวตาย ยินดีรักษาธรรมไว้ให้บริสุทธิ์ โดยไม่ละเมิดพระวินัยเพื่อความอยู่รอดหรือเห็นแก่ปากท้องของตัวเอง) ก็ยอมรับชะตากรรมอย่างไม่หวาดกลัว แต่ถือเอาวาระเช่นนั้นเป็นโอกาสทองของการปฏิบัติธรรมเสียเลย รอดก็ได้ ตายก็ดี กรณีเช่นนี้คือเหตุสุดวิสัยเท่านั้น
หรือให้ต่อให้มีคนบ้าทำอย่างนั้นจริงๆ ก็คงไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนทรงเห็นดีเห็นงามตามไปด้วยแน่ๆ เพราะผิดปกติ ผิดศีล ผิดธรรม และผิดทาง ถ้าอยากเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วต้องตัดหัวเป็นพุทธบูชากันหมด ถ้าเชื่ออย่างนี้กันจริงๆ ลัทธินี้ก็ไม่คู่ควรจะเป็นศาสนา เพราะไร้เมตตาอาทร ขาดสติ ขาดปัญญา วิปริตผิดมนุษย์ แค่เริ่มต้นก็เพี้ยนแล้ว แล้วจะไปช่วยชาวโลกได้อย่างไร มันบั่นทอนสันติสุขของชาวโลกต่างหาก
ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความหมายของการสละชีวิตเป็นทาน คืออะไร.?
คำตอบก็คือ ท่านหมายถึง การตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างดีที่สุด อย่างถึงที่สุด อย่างที่พระโพธิสัตว์ท่านตั้งปณิธานก่อนตรัสรู้ว่า
“หากเรานั่ง (สมาธิ) ลงไปในคราวนี้แล้ว ไม่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ต่อให้เลือด เนื้อ จะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามทีเถิด ถึงอย่างนั้น เราก็จะไม่ลุกขึ้นเป็นอันขาด”
นี่คือ ความหมายของงการถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา คือ เร่งฝึกหัดปฏิบัติธรรมโดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากแม้ตายก็ไม่กลัว
ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา เป็นลักษณะของจิตใจที่มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย โดยไม่ระย่อท้อถอยต่ออุปสรรคที่เป็นอันตรายแม้ต่อชีวิตของตน
ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ท่านไม่ได้หมายถึง การฆ่าตัวตายเพื่อให้พระพุทธเจ้าพอใจ หรือเพื่อให้ได้อานิสงส์จะกลับมาตรัสรู้เป็นพุทธเจ้า แต่หมายถึง การยินดีปฏิบัติธรรมจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต หรือยินดีปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัยชนิดวางชีวิตลงเป็นเดิมพัน อย่างที่หลวงพ่อชาท่านสอนลูกศิษย์ว่า ในการปฏิบัติธรรมนั้น “ถ้าไม่ดี ก็ให้มันตาย ถ้าไม่ตาย ก็ให้มันดี”
หมายความว่า “จงปฏิบัติให้ถึงที่สุดชนิดไม่ห่วงหาอาลัยในชีวิต จงปฏิบัติจริง ทำจริง ไม่เหลาะแหละ เหลวไหล หรือทำอะไรเล่นๆ แต่จับเรื่องไหนต้องทำให้จริง ทำให้ถึงที่สุด ไม่ถึงที่สุดไม่ล้มเลิก...ทำให้สุด ขุดให้ถึงตาน้ำแห่งโพธิญาณ...ไม่รู้แจ้งเห็นจริง ไม่เลิกเป็นอันขาด ตายเป็นตาย...”
ความหมายของการถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ก็เป็นอย่างนี้ คือ ยินดีแลกชีวิตเพื่อให้ได้รู้แจ้ง เห็นจริงบนเส้นทางของการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ จู่ๆ สร้างเครื่องกิโยตินไว้เตรียมตัดหัวถวายพระพุทธเจ้า ตัดแขนถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่มีทางที่พระพุทธเจ้าพระองค์ไหน ผู้เปี่ยมด้วยพระปัญญาและมหากรุณาธิคุณจะทรงเห็นดีเห็นงามด้วยแน่ๆ
พูดสั้นๆ ว่า เวลาศึกษาพระพุทธศาสนา หรือศาสนาอะไรก็ตามเถิด ต้องศึกษาด้วยปัญญา พิจารณาถึงความสมเหตุสมผล อย่าศึกษาโดยเอาศรัทธาล้วนๆ ขึ้นมานำ เพราะศรัทธาที่ปราศจากปัญญาพิจารณาเหตุผลจะเป็นที่มาของความเชื่ออย่างงมงาย และกลายเป็นที่มาของความคลั่งลัทธินิกาย อันจะนำมาซึ่งภาวะสุดโต่งทางความคิด ความเชื่อ และการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งในที่สุดก็จะนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม เช่น การหลับหูหลับตากินปัสสาวะของครูบาอาจารย์แทนการกินยา ในยามเจ็บป่วย การเผาตัวตายเพื่ออุทิศให้กับเทพสูงสุด การรมแก๊ซพิษประชาชนผู้บริสุทธิ์ การกินยาพิษตายหมู่เพื่อรอวันสิ้นโลก เป็นต้นขอบคุณ :
https://www.naewna.com/likesara/566810วันอาทิตย์ ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564, 20.13 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 19, 2021, 07:25:57 am โดย raponsan »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ