ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมถึงมี “วงรัศมี” รอบศีรษะบุคคล สำคัญทางศาสนาทั้งฝั่งตะวันตก-ตะวันออก.?  (อ่าน 856 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29319
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ภาพประกอบเนื้อหา


ทำไมถึงมี “วงรัศมี” รอบศีรษะบุคคล สำคัญทางศาสนาทั้งฝั่งตะวันตก-ตะวันออก.?

ศาสนาหรือลัทธิความเชื่อต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ ฮินดู โซโรคัสเตอร์ หรือแม้แต่เทพปกรณัมของกรีก มักถูกมองว่าล้วนมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อดูงานศิลปะอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาต่างๆ เหล่านี้แล้วกลับพบว่า ยังมีบางสิ่งที่พอจะเชื่อมโยงความเชื่อทางศาสนาเหล่านั้นเข้าด้วยกัน สิ่งนั้นก็คือ สัญลักษณ์วงรัศมี

หากสังเกตในงานศิลปะทางศาสนา หลายคนน่าจะพอจำสัญลักษณ์วงรัศมีซึ่งปรากฏอยู่รอบศีรษะของบุคคลซึ่งถูกมองว่ามีสถานะความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของแต่ละกลุ่ม

วงรัศมีในงานศิลปะมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นประกายแบบที่ปรากฏในเทพีเสรีภาพ หรือแบบที่เป็นลักษณะเปลวเพลิงในงานศิลปะแบบอิสลาม ทั้งในจักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิโมกุล กระทั่งจักรวรรดิเปอร์เซีย

เหตุผลในการประดิษฐ์สัญลักษณ์วงรัศมีนี้ มีผู้สันนิษฐานไปในทิศทางต่างๆ นานา โดยแหล่งข้อมูลบางแห่งอ้างว่า เดิมทีวงรัศมีนี้เป็นรูปแบบของมงกุฎ หรือบ้างก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ที่แผ่ออกมาจากจิตใจของผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ หรืออาจเป็นข้อเสนอที่เรียบง่ายกว่านั้น โดยอ้างว่าเป็นเพียงการประดับตกแต่ง

นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานที่แหวกแนวออกไปอีกว่า วงรัศมีนี้พัฒนามาจากแผ่นที่ติดอยู่กับรูปปั้นเพื่อป้องกันมูลนกตกใส่ศีรษะของรูปปั้นทวยเทพ


@@@@@@@

แมทธิว วิลสัน (Matthew Wilson) ผู้เขียนบทความเรื่อง “สัญลักษณ์วงรัศมีซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก” ในเว็บไซต์ BBC อธิบายว่า การค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดเชิง “หน้าที่” ของสัญลักษณ์วงรัศมีในงานศิลปะทางศาสนาที่ผ่านมาพบว่า สามารถสืบข้อมูลย้อนกลับไปได้ไกลถึงแค่ช่วงระหว่าง 100 ปีก่อนคริสตกาลถึงช่วง 1 ปีก่อนคริสตกาล และแม้ว่าวงรัศมีนี้จะไม่มีปรากฏอย่างโดดเด่นในศาสนาใดๆ มาก่อนหน้านี้ แต่เพียงไม่กี่ศตวรรษถัดมา มันได้กลายส่วนหนึ่งของศาสนาต่างๆ ไปทั่วยูเรเซีย

ตามมุมมองของแมทธิว วิลสัน เขาอธิบายว่า สัญลักษณ์วงรัศมีนี้มีแนวโน้มว่าวิวัฒนาการมาจากศิลปะในยุคแรกๆ ของอียิปต์โบราณ ซึ่งมีเทพรา (Ra) ผู้เป็นสุริยเทพที่มักจะมีรูปทรงกลมอันเป็นตัวแทนแห่งดวงอาทิตย์ปรากฎอยู่บริเวณเหรือศีรษะ

โดยลักษณะในทำนองเดียวกันนี้ยังพบที่เมือง Mohejo-daro (ในหุบเขา Indus ปากีสถาน) ช่วงทศวรรษ 2,000s ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งรัศมีเหล่านี้ปรากฏลักษณะประกายแบบเปล่งออร่าทั่วร่างกาย ไม่ได้เป็นแค่เพียงบริเวณศีรษะเท่านั้น

หรือแม้แต่ในศิลปะของกรีกโบราณยังสามารถพบมงกุฎที่แผ่รัศมีออกมาจากบริเวณศีรษะของวีรบุรุษในตำนาน ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นพลังอันศักดิ์สิทธิ์ แต่วงรัศมีที่พบเห็นในปัจจุบันนี้ แมทธิว มองว่าเป็นผลมาจากการประดิษฐ์ในยุคหลัง ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากแนวคิดทางศาสนาที่เฉพาะตัว

@@@@@@@

ตัวอย่างแรกสุดของวงรัศมียุคแรกๆ ที่เป็นลักษณะจานทรงกลมมาจากในงานศิลปะทางศาสนาของอิหร่านโบราณเมื่อทศวรรษ 300s ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมักจะถูกรับรู้ว่าเป็นลักษณะเด่นของ Mithra ผู้เป็นเทพแห่งแสงในศาสนาโซโรคัสเตอร์ มีข้อเสนอแนะว่า แนวคิดเรื่องความรุ่งโรจน์อันศักดิ์สิทธิ์ในโซโรคัสเตอร์เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับแนวคิดการแผ่รัศมีของดวงอาทิตย์ ซึ่งการใช้วงรัศมีในบริบทนี้เป็นการสื่อสารเชิงภาพในแง่ที่พยายามเชื่อมโยงคุณลักษณะของวงรัศมี(เชิงดวงอาทิตย์)มาผูกเข้ากับลักษณะของ Mithra แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเทพรา (Ra)

เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 100 เริ่มพบสัญลักษณ์วงรัศมีในสถานที่ที่กว้างไกลออกไป เช่น เมือง El Djem ในตูนิเซีย เมือง Samosata ในตุรกี หรือเมือง Sahri-Bahlol ของปากีสถาน เรื่อยมาจนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 400 สัญลักษณ์วงรัศมีถูกผนวกเข้ากับศิลปะแบบคริสเตียนในกรุงโรม รวมถึงศิลปะทางพุทธศาสนาในประเทศจีน ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ศตวรรษ สัญลักษณ์วงรัศมีก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ในหลายศาสนาแถบยูเรเซียไป

Matthew Wilson อธิบายอีกว่า อิทธิพลของสัญลักษณ์วงรัศมีที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เริ่มจากการเคลื่อนตัวออกจากอิหร่าน ซึ่งอาจถือว่าเป็นถิ่นกำเนิดของมันออกไปสู่ทั้งแถบตะวันออกและตะวันตก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 เมื่อชาวอินโด-ไซเธียน (ชนเผ่าเร่ร่อนจากอิหร่าน) และคูชาน (จากบักเตรียในอัฟกานิสถาน) รุกรานพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนที่ปัจจุบันคือพื้นที่ของปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอินเดียตอนเหนือในปัจจุบัน ทั้งสองอาณาจักรซึ่งอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมอิหร่านโบราณ นำระบบเงินตราที่ปรากฏเหรียญซึ่งสื่อถึงเทพ Mithra อันมีวงรัศมีปรากฏอยู่เข้ามาด้วย


@@@@@@@

เทพซึ่งมีลักษณะน่าสนใจและมีรัศมีแห่งเทพเจ้าเป็นสิ่งที่ชวนดึงดูดความสนใจผู้คนในแถบเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) แมทธิว ชี้ว่า แม้แต่ภาพของพระพุทธองค์ที่เชื่อกันว่าเป็นงานภาพยุคแรกๆ ที่นำเสนอภาพของพระพุทธองค์อย่างภาพภายนอกที่เก็บพระธาตุ Bimaran (ซึ่งอาจมีขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1) ยังแสดงให้เห็นพระพุทธเจ้าพร้อมวงรัศมี แบบที่พบในความเชื่อของกลุ่ม Mithra

เวลาต่อมา Mithras ยังมีอิทธิพลต่อการเขียนรูปลักษณ์ของของเทพโรมันอีกองค์หนึ่ง คือ Sol Invictus เทพเจ้าทั้งสององค์ล้วนผนวกเอาร่างกายที่สง่างามเข้ากับพลังศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อมโยงกับการแผ่รัศมีและอำนาจของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำในสังคมเคารพบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจักรพรรดิแห่งโรมันอย่างคอนสแตนติน (จักรพรรดิในปีค.ศ. 306-337) ซึ่งยอมรับสัญลักษณ์ของวงรัศมีในเชิงอำนาจของมัน คอนสแตนตินกับทายาทจึงใช้วงรัศมีนี้ในงานศิลปะที่แสดงให้เห็นภาพของพวกเขา

จากนั้น เมื่อศาสนาคริสต์ในจักรวรรดิโรมันเริ่มได้การยอมรับมากขึ้น ศิลปินจึงเริ่มสร้างงานศิลปะแบบที่นำเสนอภาพของพระเยซูพร้อมวงรัศมี การประยุกต์ใหม่ในทางสัญลักษณ์ในหมู่คริสเตียนนี้ปรากฏขึ้นในช่วงราวทศวรรษที่ 300s หลังจากมันปรากฏในศาสนาพุทธมากกว่า 200 ปี

สัญลักษณ์วงรัศมีนั้นคงอยู่ในงานศิลปะของคริสเตียนนับแต่นั้นมา แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

@@@@@@@

สำหรับศาสนาพุทธ เชน และฮินดู ทั้งสามศาสนาปรากฏที่ทางอยู่ในอินเดียร่วมกันได้ในช่วงพันปีแรกของคริสต์ศตวรรษ ทั้งสามความเชื่อแชร์ไอเดียและการเขียนรูปลักษณ์ในงานศิลปะรวมถึงสัญลักษณ์วงรัศมีด้วย

งานแกะสลักยุคแรกๆ ที่ปรากฏรูปวงรัศมีจากศาสนาในอินเดียมาจากศูนย์กลางการผลิตงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่สองแห่ง ได้แก่ Gandhara (ที่ชายแดนของปากีสถานและอัฟกานิสถาน) และ Mathura (ห่างจากทางตอนใต้ของเมืองเดลี 90 ไมล์)

ในยุคโบราณตอนปลายและยุคกลาง Gandhara อยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเครือข่ายเส้นทางการค้าขนาดใหญ่ที่ทอดยาวไปถึงจีนทางตะวันออกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันตก

วัดทางพุทธศาสนาจึงปรากฏขึ้นตามจุดเชื่อมต่อหลักของเส้นทางการค้า และวัดทางพุทธศาสนานี้เอง เป็นสถานที่ให้เหล่าพ่อค้าได้พักผ่อน สวดมนต์ และพักฟื้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่พระพุทธศาสนาแผ่ขยายวงกว้างไปทั่วจีน รวมทั้งการเขียนรูปลักษณ์ทางศาสนาในงานศิลปะ เมื่อเวลาผ่านไป สัญลักษณ์วงรัศมีก็ปรากฏในงานศิลปะในแถบเกาหลีและญี่ปุ่น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 500

การเผยแพร่แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับศาสนาฮินดูเช่นกัน โดยแพร่กระจายไปทั่วเอเชียผ่านเส้นทางการค้าทางบกและทางทะเล รวมถึงได้นำแนวคิดความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปะมาสู่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และดินแดนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้





อ้างอิง :-
- Wilson, Matthew. The halo: A symbol that spread around the world. BBC. Published 24 JUN 2021. Access 28 JUN 2021. < https://www.bbc.com/culture/article/20210623-the-halo-a-symbol-that-spread-around-the-world>
- Halo. Britannica. Access. 28 JUN 2021. https://www.britannica.com/art/halo-art

เผยแพร่ : วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 30 มิถุนายน 2564
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_70365
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ