วินัยของพระภิกษุสงฆ์ ที่ประชาชนควรทราบ
รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระเทพวิสุทธิญาณ (อุบล นนฺทโก ป.ธ. ๙) วัดบวรนิเวศวิหาร
พุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ควรรู้จักพระวินัยบางข้อ ของพระภิกษุสงฆ์ไว้ด้วย เพราะว่าพระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่อันสำคัญที่สุด คือรักษาตัวอย่าให้มีโทษทางพระวินัย จึงจะสมเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบรมศาสดา และจะได้สมเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นนาบุญของชาวโลก ไม่บริโภคจตุปัจจัยของเขาให้เปลืองเปล่า เปรียบเหมือนอย่างพื้นนาอันปราศจากวัชพืช คือหญ้าที่เป็นโทษ ย่อมจะอำนวยให้ข้าวที่ชาวนาหว่านลงเจริญงอกงามมีผลเต็มเมล็ดเต็มรวง
แต่หากว่านารกไปด้วยวัชพืช ข้าวที่หว่านลงก็มีผลไม่เต็มที่ ข้อนี้ฉันใด พระภิกษุหรือสามเณร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าศีลไม่ขาด ไม่มีโทษทางพระวินัย ก็เท่ากับนาที่ไม่รก พืชบุญที่หว่านลงก็ย่อมมีผลมาก มีกำไรมาก แต่ถ้าศีลขาดมากมีโทษทางพระวินัยมาก ก็เท่ากับที่นารก พืชบุญที่ชาวโลกหว่านลงก็มีผลน้อยมีกำไรน้อย ด้วยเหตุนี้ หระภิกษุสามเณรผู้ตระหนักในหน้าที่ของตน จึงพยายามรักษาตัวมิให้เป็นนาที่รกด้วยวัชพืชก็ในการรักษาตัวนั้น พระภิกษุสามเณรบางรูปบางครั้งบางคราว ไม่สามารถจะให้บริสุทธิ์เท่าที่ควรได้ เพราะคฤหัสถ์หรือบุรุษ สตรีหรือทายกทายิกา ผู้ไม่รู้วินัยของพระ และมีธุระเกี่ยวข้องกับพระในวาระต่างๆ เช่นในคราวทำบุญ แต่ทำไม่ถูกต้องพระวินัย ภิกษุเกรงใจคฤหัสถ์ บางทีคฤหัสถ์เกรงใจภิกษุ
จึงทำให้พระต้องอาบัติ คือต้องโทษทางพระวินัย อย่างนี้คฤหัสถ์ได้บุญก็จริง แต่ได้น้อยเพราะขณะเดียวกันนั้นพระได้บาปต้องโทษไม่บริสุทธิ์ เหมือนนาที่รกเสียแล้ว อนึ่ง บางทีบางรูปไม่รู้วินัยของตนเองดีพอ หรือบางรูปรู้วินัยดีแล้ว แต่ไม่เอื้อเฟื้อในวินัยก็ย่อมเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ในทางที่ผิดๆ และคฤหัสถ์ก็ไม่รู้วินัยของพระจึงพากันปฏิบัติผิดร่วมกันอย่างนี้ จึงรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะกับพุทธศาสนิกชนเลย
ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะให้คฤหัสถ์ บุรุษ-สตรีทั้งหลายช่วยกันรักษาภิกษุสงฆ์ให้บริสุทธิ์เป็นนาบุญอย่างดี จะได้เพิ่มปริมาณผลแห่งพืชบุญที่บริจาคหว่านลงไปให้มากยิ่งๆ ขึ้น จึงได้รวบรวมพระวินัยบางข้อที่คฤหัสถ์ทั้งบุรุษและสตรีควรทราบนำมาเรียบเรียงเป็นข้อๆ พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ ดังต่อไปนี้ ๑. สุภาพสตรี อย่าถูกต้องภิกษุสามเณร(สังฆาทิเสส ข้อ ๒)
๒. สุภาพบุรุษ หรือสุภาพสตรี ไม่ควรวานให้พระชักสื่อชายหญิงให้เป็นสามีภรรยากัน แม้ชั่วครั้งชั่วคราว(สังฆาทิเสส ข้อ ๕)
๓. สุภาพสตรี ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาไปด้วย ไม่ควรเข้าไปหาพระในที่ลับตาหรือลับหู เพราะอาจจะทำให้พระถูกโจทด้วยอาบัติต่างๆ หรือเป็นทางให้เกิดความเสียหายมาก(อนิยต ข้อ ๑-๒)
๔. สุภาพบุรุษหรือสตรี เมื่อศรัทธาจะถวายเงินทองแก่พระภิกษุหรือสามเณรต้องมอบให้แก่ไวยาจักร (ผู้ที่รับทำกิจของท่าน) และแจ้งให้ท่านทราบ อย่ามอบให้ในมือหรือในย่าม หรือในบาตรของท่าน เป็นต้น
(จีวรวรรค ข้อ ๑๐-โกสิยวรรค ข้อ ๘)
๕. บุรุษผู้เป็นไวยาจักร เมื่อรับเงินทองของพระรูปใดไว้เท่าไร ต้องจัดสิ่งของที่พระต้องการถวายพระรูปนั้น ในราคาเท่าเงินทองที่ตนรับไว้นั้น ในเวลาที่ท่านขอ ถ้าเงินทองมากพระขอของน้อย ก็จ่ายเท่าที่ท่านต้องการ เก็บส่วนที่เหลือไว้จ่ายคราวต่อไป(จีวรวรรค ข้อ ๑๐)
๖. บุรุษ-สตรี ผู้เป็นพ่อค้า-แม่ค้า ไม่ควรขายของแก่พระภิกษุ หรือสามเณรผู้ที่จับต้องเงิน (ธนบัตร-เหรียญบาทเป็นต้น) มาซื้อด้วยตนเอง(โกสิยวรรค ข้อ ๙)
๗. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาสิ่งของของตนแลกกับสิ่งของของพระ-ของสามเณร(โกสิยวรรค ข้อ ๑๐)
๘. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาผ้าอาบน้ำฝนถวายพระก่อนเข้าพรรษามากกว่า ๑ เดือน แม้พระขอก็ไม่ต้องถวาย เว้นไว้แต่พระที่เป็นญาติ และพระที่ตนปวารณาไว้(ปัตตวรรค ข้อ ๔)
๙. บุรุษ-สตรี เมื่อเตรียมสิ่งของจะถวายแก่สงฆ์ (ไม่เฉพาะบุคคล) ถ้าพระแนะนำให้ถวายเฉพาะตัวท่านเอง หรือให้ถวายเฉพาะพระรูปใดๆ ก็ตาม ไม่ต้องถวายตามคำแนะนำนั้น(ปัตตวรรค ข้อ ๑๐-สหธรรมิกวรรค ข้อ ๑๒)
๑๐. บุรุษ-สตรี เมื่อเรียนธรรมกับพระ อย่าออกเสียงบทพระธรรมพร้อมกับพระ(มุสาวาทวรรค ข้อ ๔) ๑๑. บุรุษ เมื่อนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระครบ ๓ คืนแล้ว ต้องเว้นเสีย ๑ คืน ต่อไปจึงนอนได้อีก
(มุสาวาทวรรค ข้อ ๕)
๑๒. สตรี ห้ามนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระแม้ในคืนแรก(มุสาวาทวรรค ข้อ ๖)
๑๓. บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ขุดดินเหนียวล้วนหรือดินร่วนล้วน ไม่ควรขุด แต่ถ้าพระแสดงความประสงค์ว่าต้องการหลุมหรือคูเป็นต้น หรือว่าต้องการขุดดินให้สูงเท่านั้นเท่านี้เป็นต้น ก็ควรจัดการให้ตามประสงค์(มุสาวาทวรรค ข้อ ๑๐)
๑๔. บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ตัดต้นไม้ หรือดายหญ้าที่เกิดอยู่กับดิน หรือให้รื้อถอนผักหญ้าต่างๆ ที่เกิดอยู่ในน้ำ ไม่ควร ตัด-ดาย-รื้อถอน แต่ถ้าพระบอกว่า เราต้องการไม้-หญ้า-ผัก หรือว่าเราต้องการทำความสะอาดในที่ซึ่งเกะกะรุงรัง ด้วยต้นไม้หรือผักหญ้าดังนี้เป็นต้น จึงทำให้(ภูตคามวรรค ข้อ ๑)
๑๕. บุรุษ-สตรี นิมนต์พระให้ฉันอาหารอย่าออกชื่อโภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ควรใช้กัปปิยโวหารหรือคำพูดที่สมควร เช่น พูดว่า “ขอนิมนต์ฉันเช้า” หรือว่า “ขอนิมนต์ฉันเพล” และต้องบอกวัน เวลาสถานที่ให้ชัดเจน ทั้งบอกให้พระทราบด้วยว่าให้ไปกันเอง หรือจะมารับ อนึ่งการที่นิมนต์พระให้ฉันนั้นปรารภเรื่องอะไรก็ควรบอกให้ทราบด้วย(โภชนวรรค ข้อ ๒)
๑๖. บุรุษ-สตรี เมื่อเลยเวลาเพลแล้ว คือตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงวันใหม่ อย่านำอาหารไปประเคนพระ หากเป็นของที่เก็บค้างคืนได้ ไม่บูด ไม่เสีย เช่น ข้าวสาร ปลาดิบ เนื้อดิบ อาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง เป็นต้น ก็มอบไว้แก่ไวยาวัจกรของท่านได้(โภชนวรรค ข้อ ๗)
๑๗. บุรุษ-สตรี ถ้าพระที่มิใช่ญาติและตนไม่ได้ปวารณาไว้ ไม่เป็นไข้ ขอโภชนะอันประณีต คือข้าวสุกที่ระคนด้วยเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม แม้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ควรถวาย แต่ถ้าขอเพื่อผู้เป็นไข้ควรถวายโดยแท้(โภชนวรรค ข้อ ๙) ๑๘. บุรุษ-สตรี เมื่อประเคนอาหารหรือยาเป็นต้น ทุกอย่างที่พระจะต้องกลืนกิน (ฉัน) ต้องประเคนให้ถูกวิธี ดังนี้ (โภชนวรรค ข้อ ๑๐)
ก. ภาชนะหรือห่อของนั้น ไม่ใหญ่หรือหนักจนเกินไป ยกคนเดียวได้อย่างพอดี
ข. เข้าอยู่ในหัตถบาสของพระ ห่างจากพระประมาณ ๑ ศอก เป็นส่วนสุดของสิ่งของหรือของบุคคลผู้ประเคน
ค. น้อมกายถวายด้วยความเคารพ
ง. กิริยาที่ถวายนั้น ถวายด้วยมือหรือของที่เนื่องด้วยมือ เช่นช้อน-ภาชนะก็ได้
จ. พระรับด้วยมือ หรือของที่เนื่องด้วยมือ เช่น บาตร-ผ้าก็ได้ ๑๙. สตรีไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ต้องไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดิน ในห้องกับพระ แม้จะมีสตรีหลายคนก็ไม่ได้(อเจลกวรรค ข้อ ๔)
๒๐. สตรีต้องไม่นั่ง ไม่นอนในที่แจ้งกับพระ หนึ่งต่อหนึ่ง ถ้าสตรีหลายคนนั่งได้ แต่การนอนนั่นไม่ควร แม้การยืน การเดินกับพระ หนึ่งต่อหนึ่ง ด้วยอาการซ่อนเร้นก็ไม่ควร(อเจลกวรรค ข้อ ๕)
๒๑. บุรุษ-สตรี ที่ไม่ใช่ญาติของพระ แม้จะเป็นเขย สะใภ้ หรือภรรยาเก่าของพระ (ปุราณทุติยิกา) หากมิได้เกี่ยวข้องทางสายโลหิต ก็ชื่อว่ามิใช่ญาติ ถ้ามีศรัทธาจะให้พระขอปัจจัย ๔ หรือสิ่งของต่างๆ จากตนได้ ก็ต้องปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระขอได้โดยลักษณะ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
ก. กำหนดปัจจัยหรือสิ่งของ เช่น จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง ยา หนังสือ สมุด ปากกา ฯลฯ
ข. กำหนดเวลา คือให้ขอได้ตลอดเท่านั้นวัน เท่านั้นเดือน เท่านั้นปี ตั้งแต่วันที่เท่าไรถึงเท่าไร
ค. กำหนดทั้งปัจจัย-สิ่งของ และเวลา
ง. ไม่กำหนดทั้งปัจจัย สิ่งของและเวลา ถ้าจะให้ขอได้เป็นนิตย์ ต้องบอกว่า นิมนต์ขอได้ตลอดกาลเป็นนิตย์
เมื่อปวารณาแล้ว ถ้าพระขอเกินกำหนดหรือเกิน ๔ เดือน ไม่ควรถวาย เว้นไว้แต่ตนปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์(อเจลกวรรค ข้อ ๗)
หมายเหตุ :- คำว่า ญาติ ได้แก่คนที่เกี่ยวเนื่องกัน ๗ ชั้น คือ ๑. ทวด ๒. ปู่ย่าตายาย ๓. พ่อแม่ ๔. พี่น้อง ๕. ลูก ๖. หลาน ๗. เหลน ๒๒. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาของเสพติดให้โทษ เช่น สุราเมรัย ฝิ่น เฮโรอีน กัญชาถวายพระ
(สุราปานวรรค ข้อ ๑)
๒๓. บุรุษ-สตรี อย่าเอาน้ำที่มีตัวสัตว์ไปตั้งไว้ให้พระบริโภค คือ ดื่ม อาบ ล้างเท้า ใช้สอย
(สัปปาณวรรค ข้อ ๒)
๒๔. บุรุษ-สตรี ผู้นำสินค้าหนีภาษี ไม่ควรเดินทางร่วมกับพระ หรือไม่ควรให้เกี่ยวข้องกับพระ
(สัปปาณวรรค ข้อ ๖)
๒๕. สตรี ไม่ควรชวนพระเดินทางไกล แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง แม้นั่งรถ นั่งเรือ ไปเพียงหนึ่งต่อหนึ่งก็ไม่ควร แม้สตรีหลายคน แต่ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสานั่งไปด้วย ก็ไม่ควร แม้บุรุษไปด้วย หากสตรีขับรถเรือเอง ก็ไม่ควร เว้นไว้แต่เรือข้ามฟาก(สัปปาณวรรค ข้อ ๗)
๒๖. บุรุษ-สตรี จะถวายอาหารแก่พระผู้อยู่ในป่าอันเป็นที่เปลี่ยว ต้องแจ้งข่าวล่วงหน้าก่อน
(ปาฏิเทสนียะ ข้อ ๔)
๒๗. บุรุษ-สตรี เมื่อพระรับบิณฑบาตเต็มบาตรแล้ว อย่าเอาอาหารวางบนฝาบาตร หรืออย่าใส่ถุงให้พระหิ้ว(โภชนะปฏิสังยุตะ ข้อ ๔)
๒๘. บุรุษ-สตรี เมื่อนิมนต์พระมาฉันในบ้านต้องจัดที่ฉันให้พร้อม เช่นน้ำล้างเท้า ผ้าเช็ดเท้า น้ำฉัน น้ำใช้ กระโถน ผ้า-กระดาษเช็ดมือ เช็ดปาก ช้อนส้อมและช้อนกลาง อย่าให้บกพร่อง(โภชนะปฏิสังยุตะ ข้อ ๓๐)
๒๙. บุรุษ-สตรี เมื่อจัดที่ให้พระสวดหรือแสดงพระธรรมเทศนา หรือปาฐกถาธรรม ต้องจัดที่ให้พระนั่ง อย่าให้ยืน และต้องไม่ต่ำกว่าที่ของผู้นั่งฟัง(ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ข้อ ๑๓, ๑๔)
๓๐. บุรุษ-สตรี เมื่อฟังธรรมเทศนาหรือฟังปาฐกถาธรรม ต้องฟังด้วยกิริยาอาการเคารพ แม้ฟังพระสวดในงานมงคลหรืองานศพเป็นต้น ก็ต้องเคารพเช่นเดียวกัน ไม่ควรนั่งคุยกันเลย จะคุยในเวลาพระหยุดสวดได้
(ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ทุกข้อ) ๓๑. บุรุษ-สตรี จะถวายร่มแก่พระต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่สลับสี เช่นร่มผ้าดำล้วน ร่มกระดาษ ร่มพลาสติก สีน้ำตาล สีดำ สีเหลืองล้วน(วิ. ๒/๓๕)
๓๒. บุรุษ-สตรี จะถวายรองเท้าแก่พระต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่มีส้นสูง ไม่มีปกส้น ไม่มีปกหลังเท้า มีแต่สายรัดหลังเท้ากับสายที่คีบด้วยนิ้ว และมีสีหม่นหมอง เช่น สีน้ำตาลแก่(วิ. ๒/๓๖)
๓๓. บุรุษ-สตรี เมื่อจะถวายเตียงตั่งแก่พระต้องเลือกเอาแต่ที่มีเท้าสูงไม่เกิน ๘ นิ้วพระสุคต หรือ ๙ นิ้วฟุต เว้นไว้แต่แม่แคร่ และไม่มีรูปสัตว์ร้ายที่เท้า เช่น เตียงจมูกสิงห์ หรือบัลลังก์ และเตียงนั้นต้องไม่ใหญ่ถึงนอนได้ ๒ คน ที่นอนก็ไม่ใหญ่อย่างเตียง ฟูกเตียง ฟูกตั่ง และที่นั่งที่นอนไม่ยัดนุ่นหรือสำลี
(รตนวรรค ข้อ ๕ และ วิ. ๒/๓๙)
๓๔. บุรุษ-สตรี เมื่อจะถวายหมอนหนุนศีรษะแก่พระ ต้องให้มีขนาดหนุนได้ศีรษะเดียวไม่ถึง ๒ ศีรษะ หมอนข้างไม่ควรถวาย(วิ. ๒/๔๐)
๓๕. สตรี ต้องไม่นั่ง บนอาสนะผืนเดียวกัน บนเตียงม้านั่งเดียวกันกับพระ แม้บนพื้นที่ไม่มีอะไรปูลาดเลย ก็ไม่ควรนั่งเสมอกับพระหรือสูงกว่าพระ ไปในรถ-เรือมีที่จำกัด จะต้องนั่งที่ม้านั่งเดียวกันกับพระต้องให้มีบุรุษนั่งคั่นไว้เสียก่อน(วิ. ๒/๗๐)
๓๖. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาวัตถุอนามาสประเคนพระ วัตถุอนามาส คือสิ่งที่พระไม่ควรแตะต้อง มี ๖ ประเภท ดังนี้ :- (วิ. ๒/๗๓)
ก. คนหญิง คนกะเทย เครื่องแต่งกายของคนเหล่านั้น แต่ที่เขาสละแล้วไม่นับ ตุ๊กตาหญิง สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
ข. ทอง เงิน มุกดา มณี ไพฑูรย์ ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์ที่ขัดแล้ว ศิลาชนิดดี เช่น หยก โมรา
ค. ศัสตราวุธต่างชนิด ที่ใช้ทำร้ายชีวิตร่างกาย
ง. เครื่องดักสัตว์บก-น้ำ
จ. เครื่องประโคม
ฉ. ข้าวเปลือกและผลไม้อันเกิดอยู่ในที่
๓๗. สตรี ไม่ควรเกลี้ยกล่อม ยั่วเย้าพระด้วยการพูดประเล้าประโลม หรือด้วยการแต่งตัวชะเวิกชะวาก หรือล่อด้วยทรัพย์(วิ. ๒/๙๑)
๓๘. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาของเด็กเล่น เช่นเรือน้อยๆ รถน้อยๆ ถวายพระ(วิ. ๒/๑๑๘)
๓๙. บุรุษ-สตรี ไม่ควรชักชวนพระเล่นการพนัน มีแพ้ มีชนะ เช่นหมากรุก หมากแยก ฯลฯ
(วิ. ๒/๑๑๘)
๔๐. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเรียนดิรัจฉานวิชาจากพระ และไม่ควรบอกดิรัจฉานวิชาแก่พระ ดิรัจฉานวิชาคือความรู้ในการทำเสน่ห์ ในการใช้ภูตผีปีศาจทำผู้อื่นให้ถึงความวิบัติในทางอวดฤทธิ์เดชต่างๆ ในทางทำนายทายทักบอกหวยบอกเบอร์ ในทางที่นำให้หลงงมงาย เช่นหุงเงิน หรือทองแดงให้เป็นทอง(วิ. ๒/๑๒๐) ๔๑. บุรุษ-สตรี ไม่ควรใช้พระในกิจนอกพระพุทธศาสนา แต่จะขอให้ช่วยกิจพระพุทธศาสนา เช่นให้ช่วยนิมนต์พระไปในการบำเพ็ญบุญอยู่ได้(วิ. ๒/๑๒๐)
๔๒. บุรุษ-สตรี ไม่ควรนำสิ่งของอันมีค่าฝากไว้กับพระ เพราะอาจเกิดอันตรายแก่พระได้ เช่น อันตรายในการเจริญสมณธรรม ถูกปล้น ถูกเป็นผู้สำนองในเมื่อของนั้นหาย(วิ. ๒/๑๒๒)
๔๓. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาเนื้อสัตว์ที่ไม่นิยมเป็นอาหารถวายพระ เนื้อที่ไม่นิยมเป็นอาหาร คือ เนื้อมนุษย์ ช้าง-ม้า-สุนัข-งู-สีห์-เสือโคร่ง-เสือเหลือง-หมี-เสือดาว(วิ. ๒/๑๓๓)
๔๔. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาเนื้อสัตว์ที่นิยมเป็นอาหารแต่ยังดิบ ไม่สุกด้วยไฟ เช่น ปูเค็ม กุ้งส้ม หอยเค็ม ปลาเค็ม แหนม กะปิ ลาบเนื้อดิบ ไข่ลวกไม่สุก ประเคนพระ ควรมอบไว้แก่กัปปิยการก คือผู้มีหน้าที่ทำให้เป็นของควรแก่พระ(วิ. ๒/๑๓๓)
๔๕. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาอุทิศมังสะถวายพระ อุทิศมังสะ คือเนื้อหรือไข่สัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงภิกษุสามเณร(วิ. ๒/๑๓๓)
๔๖. บุรุษ-สตรี อย่าเอาพีชคาม คือผลไม้มีเมล็ดสุกบางอย่าง เช่นพริกสุก มะเขือสุก อ้อยที่ยังไม่ได้ปอก ผักบุ้ง ขมิ้น กระชาย กระเทียม หอม โหระพา กะเพรา ฯลฯ ที่พ้นจากที่เกิดที่อยู่แล้ว แต่ยังปลูกให้งอกได้อีกถวายพระ ควรทำให้เป็นของที่ไม่อาจปลูกให้งอกได้แล้ว จึงถวายพระ(วิ. ๒/๑๓๕) ๔๗. บุรุษ-สตรี จะทำน้ำปานะถวายพระ ควรเลือกเอาผลไม้สุกที่นิยมเป็นอาหาร ชนิดที่ไม่โตกว่าผลมะตูมหรือผลกระเบา ขนาดเล็กไม่จำกัด เอามาทำความสะอาด คั้นแล้วกรองให้หมดกาก เจือน้ำจืดที่สะอาดบ้างก็ได้ แต่อย่าใช้น้ำร้อน และอย่าต้มน้ำปานะด้วยไฟ จะเจือน้ำตาลเกลือบ้างก็ได้ ทำแล้วต้องถวาย ให้พระฉันในวันนั้น อย่าปล่อยให้ข้ามราตรี(วิ. ๒/๑๓๙)
๔๘. บุรุษ-สตรี ไม่ควรถือเอามรดกของพระผู้มรณภาพไปแล้ว ไม่ว่าพระรูปนั้นจะเป็นพ่อ ลูก ญาติ มิตร หรือเกี่ยวข้องกันโดยสถานะไรๆ ก็ตาม แม้พระได้ทำพินัยกรรมไว้ให้ ก็ถือเอาไม่ได้ เพราะทางวินัยของสงฆ์มีอยู่ว่า มรดกของพระผู้มรณะตกเป็นของสงฆ์ทั้งหมด แม้พระได้พูดไว้ด้วยคำอันเป็นอนาคตว่า “ถ้าฉันตายแล้ว เธอจงเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป” ดังนี้ ก็ถือเอาไม่ได้ แต่สิ่งที่พระมอบให้ด้วยคำเป็นปัจจุบันว่า “ฉันให้สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่เธอ” ก็ถือเอาได้เฉพาะสิ่งที่ระบุถึง หากระบุทั้งหมดก็ถือเอาได้ทั้งหมด(วิ. ๒/๑๕๔/๑๕๕) ๔๙. บุรุษ-สตรี เมื่อจะถือเอาสิ่งของของพระด้วยวิสาสะ ต้องให้ครบองค์ ๓ คือ(วิ. ๒/๑๕๗)
ก. เคยเห็นกัน เคยคบกัน เคยพูดกันไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ข. รู้ว่าถือเอาแล้ว เจ้าของจักพอใจ
ค. เจ้าของยังมีชีวิตอยู่
๕๐. บุรุษ-สตรี เมื่อพยาบาลพระผู้เจ็บหนัก ฉันอาหารไม่ได้ ครั้นถึงเวลาวิกาลหิวจัด หากมิได้อาหารอาจเป็นอันตราย จะต้มข้าวหรือเนื้อสัตว์ที่นิยมเป็นอาหาร (เว้นอุทิศมังสะ) ให้เหลว กรองให้หมดกาก เอาแต่น้ำข้าว น้ำเนื้อที่ใสถวายให้พระดื่มในเวลาวิกาลได้ การที่จะอ้างว่า แพทย์สั่งให้พระป่วยฉันอาหารในวิกาลได้ แล้วนำอาหารชนิดต่างๆ ไปถวายในวิกาลนั้น ไม่ควรเลย หากพระอยากฉันอาหารในวิกาลโดยไม่เอื้อเฟื้อต่อวินัยแล้ว ควรให้สึกเสียก่อน จึงจัดถวายให้รับประทาน(วิ. ๒/๑๗๕)
๕๑. สตรีที่เป็นโสเภณี เป็นหม้าย เป็นสาวเทื้อ เป็นชี และกะเทย ไม่ควรไปมาหาสู่กับพระ โดยไม่เป็นกิจจลักษณะหรือผิดเวลา(วิ. ๒/๑๘๑)
๕๒. บุรุษ-สตรี ไม่ควรนิมนต์พระเข้านั่งในร้านสุรา จะเป็นที่ขาย หรือที่กลั่นสุราหรือที่ดองเมรัยก็ตาม
(วิ. ๒/๑๘๑)
บุรุษหรือสตรีก็ตาม เมื่อหวังความเจริญแก่ตนแก่วงศ์สกุลของตน และแก่พุทธศาสนา ควรศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับวินัยของภิกษุสงฆ์บางข้อ ตามที่รวบรวมไว้นี้ และปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็ย่อมจะเหมาะสมแก่ความเป็นพุทธศาสนิกชน และย่อมช่วยประดับพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองแลที่มา http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-vinai-01.htm