ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สมณสารูป : ความเป็นพระ ธรรมะ และตลกเทศนา.?  (อ่าน 916 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29319
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



สมณสารูป : ความเป็นพระ ธรรมะ และตลกเทศนา.?

ผมมีเรื่องอยากเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวที่มีต่อพระสักหน่อยครับ คือผมมีประสบการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดีเกี่ยวกับพระ โดยเรื่องแรกเป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยโสภาเล็กๆ สำหรับผม

ในสมัยที่ผมยังเป็นรองคณบดี มีภาควิชาหนึ่งในคณะได้จัดกิจกรรมนิมนต์พระวิทยากรซึ่งเป็นพระรุ่นใหม่วัยใกล้เคียงกับผมมาคุยกับนักศึกษา (ปัจจุบันสึกหาลาเพศไปแล้ว ขออนุโมทนา)

ทางภาควิชานั้นจึงขอให้ผมไปเป็นตัวแทนคณะในการถวายของที่ระลึกเพื่อเป็นเกียรติอะไรทำนองนั้น ขณะที่พิธีกรกล่าวเชิญ พระวิทยากรนั่งอยู่ที่โต๊ะบรรยายกลางเวที ผมก็พุ่งตัวไปยืนถวายของให้ตามความคุ้นชิน แต่พระรูปนั่นพูดขึ้นว่า ให้คุกเข่าลงซะ แล้วค่อยยื่นถวายของ

ตอนนั้นในใจผมปรี๊ดขึ้นมาเลยครับ คือผมก็พอรู้ธรรมเนียมชาววัดบ้าง แต่ในงานแบบนี้ ไม่ใช่ศาสนพิธี คุณ (มึง) ก็แค่ยืนขึ้นมารับของจากตามสากลเขา จะยากเย็นอะไรวะ จะมาเจ้ายศเจ้าพิธีการอะไรในเวลานี้ นี่เหรอพระรุ่นใหม่ (คิดในใจ) แม้ในใจจะมีเป็นหมื่นล้านคำ

แต่ก็ทำไปตามนั้นด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเพื่อไม่ให้งานเขาขลุกขลัก

@@@@@@@

ส่วนกรณีที่ดีนั้นมีเยอะอยู่ นอกเหนือจากครูบาอาจารย์ในสายธรรมต่างๆ มีพระที่ผมเคารพมากๆ อยู่รูปหนึ่ง เป็นรุ่นพี่ที่อายุต่างกันไม่มาก พระรูปนี้สนใจใคร่รู้สิ่งต่างๆ มักจะลงเรียนคอร์สอะไรต่อมิอะไร โดยเฉพาะความรู้ “ทางเลือก” หรือวิชาของพวกฮิปปี้ เราจึงได้เจอกันเสมอ ท่านเร่ร่อนไปอยู่ตามที่ต่างๆ แม้จะมีวัดสังกัด จะป่าเขาหรือที่ไหนๆ ก็อยู่ได้ มีความรู้ภาษาดี และเป็นมิตรกับทุกคนอย่างจริงใจ

ด้วยความที่ท่านเป็นนักดนตรีเก่า บางครั้งเมื่อพวกเราคุยกันจนดึกดื่น จู่ๆ ท่านจะคว้ากีตาร์ขึ้นมาบรรเลงและร้องเพลงจากมนตราทิเบตบ้าง แต่งเพลงเกี่ยวกับธรรมะสดๆ ในตอนนั้นเลยบ้าง แต่ผมไม่เคยเห็นท่านเอาเพลงทางโลกหรือเพลงฮิตมาร้องนะครับ โอ้ย เพลงที่ท่านแต่งนั้นไพเราะจนน้ำตาไหล

บางครั้งคุยกันยาว เพื่อนบางคนเคยยุให้ผมถวายอาหารว่างให้ท่านฉันในตอนดึกๆ เพราะกลัวท่านหิว ท่านอึกอักแต่ก็รับไปฉันต่อหน้าเรานั่นแหละ แม้จะรู้ว่าเป็นอาบัติเล็กน้อยทั้งท่านและคนถวาย แต่ผมกลับรู้สึกมีความสุขอย่างประหลาดที่ได้ถวายข้าวเย็นให้พระ

นอกเวลาที่เรียนหรือสนทนากับพวกเรา ท่านจริงจังกับการภาวนาหรือแสวงหาคำตอบของชีวิตด้านใน ใช้เวลาไปกับการภาวนาหลีกเร้นหรือหาความรู้จากพุทธศาสนานิกายต่างๆ เวลาคุยหรือเถียงกับเราไม่เคยยกความเป็นพระมาสู้ ท่านมีชีวิตเรียบง่าย ไม่สั่งสม จริงใจ มักให้กำลังใจและความเป็นมิตรอย่างมาก แม้จะชอบหยอกล้อต่อเถียงกัน

นี่เป็นพระที่ผมกราบได้อย่างสนิทใจรูปหนึ่ง สมัยนี้ผมมักมือแข็งกับพระ เพราะพระตอแหลมีมาก แสร้งว่าเคร่งครัดแต่เลวทรามกว่าฆราวาสก็เยอะ หรือหากไม่ตอแหลก็มักไม่ค่อยมีความเป็นกัลยาณมิตรกับโยม


@@@@@@@

อาจารย์อนุสรณ์ ติปยานนท์ เคยเล่าถึงพระเกจิต่างจังหวัดรูปหนึ่ง เป็นพระฉันเหล้า เป็นคนดุ แต่ชาวบ้านนับถือมาก แม้จะทราบว่าท่านฉันเหล้า หรือชาวเหนือที่ส่งข้าวเย็นให้พระฉันก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป

แม้แต่องค์ทะไลลามะยังเคยพูดอะไรตลกๆ ท่านเล่าว่า บางครั้งท่านก็แอบฉันคุกกี้ตอนกลางคืนเพราะหิว ก็รู้ว่าอาบัติแต่มันหิวนี่นา ท่านเล่าด้วยอารมณ์ขันอย่างไม่ปิดบัง

ผมไม่ได้กำลังบอกว่าพระควรฉันข้าวเย็นหรือดูถูกวินัยเล็กๆ น้อยๆ นะครับ

แต่สำหรับผมและหลายๆ คน ความเป็นพระมิได้อยู่ที่ศีลพรตที่ต้องยึดถืออย่างตายตัวตามตัวอักษรจนกลายเป็น “สีลัพพตปรามาส” คือยึดถือศีลพรตจนกลายเป็นสิ่งที่ส่งเสริมอัตตา แทนที่ศีลพรตจะเป็นสิ่งที่ช่วยถ่ายถอนอัตตาตัวตน แต่สารัตถะของความเป็นพระ คือการเลือกวิถีชีวิตของการสละละวาง ซึ่งมิได้หมายความว่าจะต้องปลดปลงกับทุกสิ่งและบีบเค้นตนเองราวกับพวกฤษีสักประเภทหนึ่ง

ศีลพรตที่ควรเป็นจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด แต่คือการเข้าใจเจตนารมณ์ของศีลและวินัยเหล่านั้นด้วย ซึ่งมีขึ้นเพื่อรักษา “ความเป็นปกติ” ของชีวิตพระหรือฆราวาสให้ราบรื่น ดำเนินไปโดยปราศจากความกังวลและความทุกข์ร้อน

เราต้องไม่ลืมว่า การสละละวาง มิได้เป็นเพียงรูปแบบภายนอก แต่คือคุณลักษณะของจิตใจด้วยนะครับ

@@@@@@@

อีกอย่าง ผมคิดว่า ศิลปะของชีวิตพระคือการหาความสมดุลระหว่างการละวางและปลีกเร้นภาวนา กับการทำประโยชน์แก่ชุมชนและเพื่อนมนุษย์ กระนั้น ที่สุดแล้วหัวใจของชีวิตพระคือการภาวนานั่นแหละครับ ชีวิตที่ถูกออกแบบมาให้พึ่งพาคนอื่นเลี้ยงชีพก็มีเพื่อเป้าหมายนี้ หากพระไม่ละทิ้งการภาวนาหรือแสวงหาชีวิตด้านใน เข้าใจศีลพรตอย่างถูกต้อง จะทำอะไรอื่นๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมเลย

หากไม่มีการภาวนา ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเข้านั่งสมาธิกรรมฐานเท่านั้น แต่คือกระบวนการเรียนรู้ชีวิตด้านในทุกรูปแบบ พระก็จะกลายเป็นเพียงอาชีพอันหนึ่งเท่านั้น ที่ออกจะได้รับอภิสิทธิ์ในทางวัฒนธรรมอยู่มากเสียด้วย

ที่พูดมานี้ ผมไม่ได้พยายามทำให้พระกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงส่งหรือต้องมีความเคร่งครัดตามอุดมคติอะไรเลยนะครับ พระก็คน ก็ลูกชาวบ้านนี่แหละ และเรากับพระควรจะเป็นเพื่อนกันได้ พระควรจะบอกตัวเองเช่นนี้เพื่อจะลดท่าทีของการทำตัวเหนือกว่าชาวบ้านทั้งๆ ที่ชาวบ้านคือผู้เลี้ยงดูพระ ส่วนชาวบ้านก็ไม่ควรคิดว่าตนนั้นด้อยกว่าพระในทุกทาง เราก็มีสิทธิ์จะตักเตือนหรือชี้แนะพระได้ด้วย

ทำไมเราเห็นพระฝ่ายมหายานหรือวัชรยานทำกิจกรรมบางอย่างคล้ายฆราวาส เช่น ทำครัว ขับรถ เล่นดนตรี ร้องเพลง แต่ศาสนิกทางนั้นเขาไม่รู้สึกเดือดร้อน ผมคิดว่า คำตอบที่ผมพูดไปแล้วคือท่านเหล่านี้ไม่ได้ละทิ้งชีวิตของการภาวนาและทำประโยชน์ รวมทั้งเหล่าศาสนิกเองก็มุ่งพิจารณาคุณลักษณะทางจิตใจของท่านมากกว่ารูปแบบภายนอกนั่นเอง

เหตุไฉน ในบ้านเรา คนมักสนใจความเคร่งครัดของพระ โดยเฉพาะที่ปรากฏอย่างเป็นรูปแบบภายนอก เช่น ความสำรวม ท่วงท่าวาจา มากกว่าตัวคุณลักษณะของจิตใจ หรือที่จริงมันมาจากมุมมองที่เรามีต่อพุทธศาสนาและมุมมองที่มีต่อพระซึ่งเราถูกหล่อหลอม ตอกย้ำ ผลิตซ้ำกันในปัจจุบัน


@@@@@@@

มีคนเคยพูดว่า เราอาจนับถือคนละ “พุทธศาสนา” กับบรรพชนของเราในดินแดนนี้ เพราะการปฏิรูปทางศาสนาที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่ การวางรากฐานการศึกษาของคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ห้า ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรืออิทธิพลของการศึกษาจากส่วนกลางที่ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นแบบเดียวและเป็นแบบที่เรารู้จัก

แม้หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า เราน่าจะนับถือทั้งมหายานและวัชรยานมาก่อนเถรวาทลังกาวงศ์ แต่ไม่ต้องย้อนไปถึงเพียงนั้นก็ได้ แค่ประมาณร้อยปีมานี้ ก่อนหน้าที่พุทธศาสนาจากกรุงเทพฯ จะกลายเป็นพุทธศาสนากระแสหลัก เรามีพุทธศาสนาที่หลากหลายในท้องถิ่นต่างๆ มีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันในหมู่พระสงฆ์องค์เจ้า รวมทั้งเรายังมีมุมมองต่อพุทธศาสนาและพระอย่างหลากหลายเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในปัจจุบัน คนจำนวนมากจึงเห็นว่าพุทธศาสนาของไทยน่าจะมี “มาตรฐาน” อะไรบางอย่าง และควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งมุมมองที่มีต่อพระและวัตรปฏิบัติของท่านด้วย

ทว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่ได้เติบโตมากับการกล่อมเกลาทางศาสนาดังเช่นคนรุ่นก่อน หรืออย่างน้อยๆ ก็สมาทานค่านิยมที่ไม่เหมือนกัน มีมุมมองเกี่ยวกับพุทธศาสนาและพระต่างออกไป ซึ่งนำมาสู่ข้อถกเถียงในพื้นที่ออนไลน์ในเวลานี้

@@@@@@@

กรณี “พ.ส.” หรือ “พระสงฆ์” (ตามคำที่ท่านเรียกตัวเอง) สองรูป ได้แก่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ได้จัดสนทนา (ที่ท่านเรียกคำว่า แบตเทิล) ผ่านไลฟ์ทางสื่อออนไลน์ด้วยความตลกขบขัน สร้างเสียงหัวเราะให้คนดูเป็นอย่างมาก กลายเป็นกระแสที่สื่อให้ความสนใจ นอกจากเสียงชื่นชมโดยเฉพาะจากวัยรุ่นแล้ว ยังมีกระแสติติงว่า ไม่เหมาะสม ทำไมพระมาเล่นตลก ไม่สำรวม ไม่สมกับ “สมณสารูป” ควบคู่ไปด้วย

ผมกำลังสนใจเรื่องนี้ เพราะที่จริง “การเทศน์ตลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย กว่าเราจะเทศนาแบบปาฐกถาหรือเรียบเรียงคำเทศน์อย่างบรรยายเช่นที่คุ้นกัน ก็ล่วงมาถึงกลางๆ รัตนโกสินทร์แล้ว และมาแพร่หลายในยุคท่านปัญญานันทะและท่านพุทธทาสแล้ว กว่าเราจะมีคตินิยมเทศนาธรรมะขั้นโลกุตระตรงๆ เนื้อหาการเทศน์แต่เก่าก่อน ผมเข้าใจว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เราคุ้นกัน

แต่เนื้อที่หมดแล้ว เราจะทบทวนเรื่องการเทศน์และสมณสารูปที่เชื่อมโยงกับกรณีข้อถกเถียงนี้ ในคราวหน้าครับ





ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 กันยายน 2564
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน   : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ.2564
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/religion/article_465133
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29319
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: สมณสารูป : ความเป็นพระ ธรรมะ และตลกเทศนา.?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 05, 2021, 09:19:44 am »
0





สมณสารูป : ความเป็นพระ ธรรมะ และตลกเทศนา.? (จบ)

ในประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จากบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ค้นพบและรวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2473 มีเนื้อหาจำนวนมากเล่าถึงบทบาทการเป็น “นักเทศน์” ที่มีชื่อเสียงของสมเด็จโต

แม้บันทึกดังกล่าวจะบันทึกขึ้นในสมัยรัชกาลที่เจ็ด หลังสมเด็จโตมรณภาพไปแล้วหลายสิบปี (สมเด็จโตถึงแก่มรณภาพในสมัยรัชกาลที่ห้า) และมีผู้วิจารณ์ว่า หลายเรื่องในนั้นเป็นการแต่งเติมเข้าไปแบบนิยายโดยผู้บันทึกเอง กระนั้นก็ช่วยให้ภาพชีวิตความเป็นอยู่และลักษณะสำคัญบางประการของสมเด็จโตได้

อีกทั้งในประกาศสถาปนาสมเด็จพุฒาจารย์โต ในปี 2407 ยังมีการกล่าวว่า “แลฉลาดในโวหารนิพนธ์เทศนาปริวัติวิธีแลทำกิจในสุตนั้นด้วยดีไม่ย่อหย่อน” คือท่านเทศน์เก่งนั่นเอง

แสดงว่านี่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของท่าน

@@@@@@@

ที่กล่าวมานี้ เพราะในบันทึกดังกล่าว มีหลายตอนที่บอกว่าสมเด็จโตนั้น ท่านเทศน์ “ตลก” นะครับ

เช่น ไปเทศน์ที่บ้านท่านสมเด็จเจ้าพระยา ท่านเทศน์แหล่ชูชกจนคนหัวเราะกันทั้งเรือน หรือไปเทศน์ในทำนองยียวนคู่เทศน์ด้วยกันเอง หรือยียวนคนฟังอยู่หลายครั้งหลายครา กระนั้นก็ยังได้รับการยกย่องในเรื่องนี้

ที่จริงการเทศนาในสมัยก่อน ผมเข้าใจว่า มีนัยยะ “เชิงพิธีกรรม” มากกว่ามุ่งเน้นการสอนสั่งทางศีลธรรมหรือข้อปฏิบัติล้วนๆ เช่น การจัดบุญพิธีต่างๆ เช่น เทศน์มหาชาติ ตั้งธรรมหลวง บุญผะเหวด โดยมีเนื้อหาหลักคือเล่าเรื่อง “ชาดก” ต่างๆ เพราะเชื่อว่า ชาดกเหล่านี้ให้อานิสงส์มากทั้งยังเป็นมงคลต่อชุมชน

เทศน์อย่างโบราณจึงเป็นการเล่านิทาน (story telling) มากกว่าจะเป็นการสั่งสอน (teaching) ข้อธรรมตรงๆ เพราะต้องไม่ลืมนะครับว่า ในวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมอุษาคเนย์ เป็นเรื่องปกติที่จะมีการเล่าเรื่องตำนานต่างๆ ที่ทั้งศักดิ์สิทธิ์และบันเทิงไปพร้อมๆ กันแก่ชุมชนด้วย ซึ่งกระทำโดยหมอผีหัวหน้าเผ่า หมอลำ นักขับ ฯลฯ และต่อมาบทบาทนี้จะกลายเป็นของพระ

พลังของเรื่องเล่า ก่อร่างความศักดิ์สิทธิ์บางประการทางศาสนา มันมีมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกซึ่งง่ายต่อการซึมซับ ก่อให้เกิดอุดมคติและการกล่อมเกลาในปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันก็สร้างอุดมการณ์บางอย่างในสังคมไปด้วย

ดังนั้น การเล่าเรื่องเหล่านี้จึงมักต้องเป็นทำนอง (เพราะเป็นธรรมเนียมศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมแต่ก็ทำให้บันเทิงไปพร้อมกัน) มีเอื้อน มีลีลายักย้าย ยามเศร้าก็ต้องสร้างความโศกาอาดูร ยามสุขก็ตลกสนุกสนาน

จะสอดแทรก “คำสอน” หรือ “ท่าที” ทางศาสนาก็แนบเนียน ไม่ต้องมาสั่งซึ่งโดยมากคนจะเบื่อหน่ายและไม่ทำตาม


@@@@@@@

ไม่ว่าจะภูมิภาคไหน ก็มีเทศน์ในลักษณะเช่นนี้ อย่างเทศน์ “ตุ๊จก” หรือกัณฑ์ชูชกอันโด่งดังของตุ๊ลุงทอง (พระครูโสภณบุญญาภรณ์ (บุญทอง สุวณฺโณ)) ที่ไม่ว่าไปเทศน์ที่ไหนคนก็ฟังกันล้นหลาม เพราะสนุกและตลก ผมผู้เป็นคนต่างถิ่นไปเรียนเชียงใหม่ ยังได้รู้จักกิตติศัพท์ของท่าน คิดดูล่ะครับว่าท่านโด่งดังเพียงใด

ทั้งนี้ การเทศนาธรรมที่ไม่ได้เป็นการเล่านิทานก็มีอยู่ คือการเทศนาธรรมโดยการ “อ่าน” หรือดูหนังสือเทศน์ ที่เป็นตัวพระธรรมคำสอน อันนี้ผมเข้าใจว่าเป็นธรรมเนียมชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ที่คงมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การเทศน์แหล่สนุกสนานคงเป็นที่นิยมของชาวบ้านจริงๆ ดังนั้น ในสมัยรัชกาลที่หนึ่งจึงมีการออกกฎหมายคณะสงฆ์ มิให้พระเทศตลกคะนอง ผมขอคัดมาดังนี้

“แลทุกวันนี้อาณาประชาราษฎรทั้งปวง ลางบ้างให้มีพระมหาเวศสันดรชาฎกนี้ มิได้มีความสังเวศเลื่อมไสยเปนธรรมคาวระ ฟังเอาแต่ถ้อยคำตลกคะนองอันหาผลประโยชนมิได้ พระสงฆ์ผู้สำแดงนั้น ลางจำพวกมิได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก ได้แต่เนื้อความแปลร้อยเปนกาพกลอน แล้วก็มาสำแดงถ้อยคำตลกคนองอยาบช้า” และ

“ห้ามอย่าให้เทศนาแลฟังเทศนาเปนกาพย์กลอนแลกล่าวถ้อยคำตลกคะนองเปนการเล่นหัวเราะชื่นชมด้วยกัน ประมาทให้ผิดจากพระวินัยเปนอันขาดทีเดียว แลให้พระภิกษุสงฆ์เถรเณรฝ่ายคันธธุระวิปัศนาธุระ แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงประพฤดิ์ตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้” (สะกดตามแบบเดิม)

ผมคิดว่าแม้จะทรงออกเป็นกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจริงก็ยังมีเทศน์ตลกอยู่ เพราะพระและชาวบ้านคงได้รักษาจารีตตามเดิมต่อไป คงเว้นกันอยู่แต่ในพระนครที่ใกล้พระเนตรพระกรรณ

@@@@@@@

ครั้นล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่สี่ ก็เริ่มมีการเทศน์ในลักษณะบรรยายโดยใช้ปฏิภาณโวหารขึ้น โดยรัชกาลที่สี่เองก็ทรงเทศนาแบบนี้และทรงสั่งสอนศิษย์ให้ทำตามด้วย

ผมเข้าใจเอาเองโดยยังไม่ได้ค้นคว้าว่า อาจทรงได้แบบอย่างจากการเทศน์ของคริสต์ศาสนา เราต้องไม่ลืมว่า ทรงสนิทสนมกับสังฆราชปาลเลอกัวซ์ และในพิธีมิสซาของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก จะมีช่วงหนึ่งที่ให้บาทหลวงทำการเทศนาสั่งสอนได้ นอกเหนือจากการอ่านพระคัมภีร์

กระนั้น ก็ยังคงมีการหัดเทศนาแบบเก่าอยู่ในพระบรมมหาราชวังเช่นกัน โดยรัชกาลที่ห้าทรงเล่าไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า เมื่อเจ้านายทรงผนวชสามเณร ก็จะฝึกให้เทศน์เวสสันดรชาดกเผื่อจะสามารถเทศน์หน้าพระที่นั่งได้ เป็นธรรมเนียมที่มีมาจนถึงรัชกาลของพระองค์

สุดท้ายมีการปรับปรุงกิจการคณะสงฆ์ที่ใช้การปกครองแบบรวมศูนย์ ทำให้พระเมืองอื่นๆ ต้องรับเอาการเทศนาแบบกรุงเทพฯ คือการเทศน์ธรรมที่ไม่มีแหล่ไม่มีตลก เพราะคนชั้นสูงนิยมแบบนี้ว่าเป็นเรื่องสมควรแก่สมณสารูปและพระวินัย แต่ก็คงปนๆ กันกับธรรมเนียมพื้นเมืองตามความนิยมของคนในชุมชนอยู่ดี


@@@@@@@

ความเปลี่ยนแปลงในการเทศนาเกิดขึ้นอีกครั้งโดยท่านพุทธทาสภิกขุและท่านปัญญานันทะ ซึ่งเริ่มเทศโดยไม่ขึ้นนั่งธรรมาสน์ แต่ยืนเทศน์บนโพเดียม ท่านพุทธทาสบันทึกไว้ว่า

“ความคิดที่จะใช้ปาฐกถาแทนเทศน์ มันเกิดจากรู้สึกว่าของเดิมเต็มสมัยแล้ว คิดจะเอาอย่างสากลเสียบ้าง ยืนบรรยายแบบสากล แต่มันผิดวินัยตามตัวหนังสือห้ามพูดกับผู้ฟังที่นั่งอยู่ ไม่เป็นไข้ ยืนแสดงธรรมกับผู้นั่งเป็นอาบัติทุกกฎ แต่เราตีความวินัยว่าเป็นคนละยุค คนละสมัย คนละถิ่น คนละประเทศ”

สมัยนั้นท่านโดนต่อต้านไม่น้อย ทั้งจากการถือธรรมเนียมเดิมว่า พระต้องนั่งเทศน์บนธรรมาสน์ (ที่จริงธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่อินเดีย มีเรื่องเล่าว่าพระในนาลันทาและวิกรมศีล ต่างพากันเอาเบาะนั่งของตนวางเรียงให้ผู้เทศนานั่งสูงกว่าคนอื่น นับว่าเป็นการเคารพพระธรรม) หรือจากฝ่ายที่ยึดพระวินัยที่ท่านพุทธทาสยกมาข้างต้น แต่สุดท้ายการเทศนาแบบนี้ก็เป็นที่ยอมรับ

ถึงตอนนี้การเทศนาแบบบรรยายกลายเป็นวิธีหลัก ยิ่งคนมีมุมมองต่อพระแบบบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือนิยมพระสายวัดป่า ก็ยิ่งทำให้การเทศน์แบบบรรยายและเน้นเนื้อหาโลกุตระสำคัญมากขึ้น

เทศน์แหล่หรือเทศน์ตลกจึงกลายเป็นของชาวบ้านหรือมีไว้ในบางประเพณีท้องถิ่นเท่านั้น แต่คนชั้นสูงและชั้นกลางรังเกียจ คนที่อยากให้พุทธศาสนาบริสุทธิ์จริงแท้ก็รังเกียจ

@@@@@@@

ที่จริงคนที่อ้างพระวินัยมาโจมตีพระนักเทศน์ตลกทั้งหลายก็มีความลักลั่นย้อนแย้งอยู่นะครับ คือบอกว่าทำเช่นนี้ผิดพระวินัย (ในข้อเล็กน้อย) ซึ่งก็จริงอยู่ แต่กลับไม่เคยพูดว่ามีการละเมิดพระวินัยอีกมากอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การให้พระรับเงิน รับเงินเดือน (นิตยภัต) มีสมณศักดิ์หรือมีตำแหน่งปกครองคือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ทีงี้ไม่บอกว่าผิดพระวินัยบ้างล่ะครับ ถ้าจะอ้าง “ราชานุวัตร” หรือ “โลกานุวัตร” หรือจะอ้างว่าชาวบ้านติเตียน (โลกวัชชะ) อ้าว เป็นแบบนี้ก็เท่ากับพระวินัยเล็กกว่าคตินิยมชาวโลกไปเสียฉิบ ขัดแย้งกันเองในตัวอีก

พูดง่ายๆ คือ ตีความพระวินัยเฉพาะที่เป็นประโยชน์แก่ตัว และเอาไว้จัดการพระที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตัวเท่านั้นเอง

ผมคิดว่า สุดท้ายการเทศนาเป็น “อุปายะวิธี” หรือเครื่องมือหนึ่งให้คนเข้าถึงธรรมในบรรดาเครื่องมือหลายอย่าง หากการเทศนานั้นรักษาท่าทีของพุทธศาสนา คือส่งเสริมความรักความเมตตาต่อกัน ให้เห็นแก่ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ จะตลกหรือไม่ตลกก็ดีทั้งนั้น แต่หลายครั้งคำสอนในเทศนาก็หลุดไปจาก “ธรรม” กลายเป็นเครื่องมือช่วยให้สบายใจคล้ายโค้ชชิ่งแล้วละเลยการเข้าถึงทุกข์หรือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือกลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงข้ามกับท่าทีของพุทธศาสนา

ที่เลวร้าย คือหลายครั้งพระก็เทศน์เพราะอยากได้หน้า ได้สมณศักดิ์ แถมรู้ด้วยนะครับว่าต้องเทศน์แบบไหน

อย่างนี้อย่าไปฟังเลยครับ เหม็นขี้ฟัน





ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 กันยายน 2564
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน   : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 23 กันยายน พ.ศ.2564
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/religion/article_468051
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ